Skip to main content
sharethis

4 ก.ค.2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มนักวิชาการ นิสิตจากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมกันเข้าเยี่ยม 7 ผู้ต้องขังประชามติ วันสุดท้าย ก่อนจะมีการควบคุมฝากขังต่อศาลทหารผัดที่สองในวันที่ 5 ก.ค.นี้

โดย เบญจรัตน์ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นว่า การจับกุมดังกล่าวมีผลกระทบที่สำคัญต่อบรรยากาศการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่พึงเป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม จึงขอให้ฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาทบทวนการปฏิบัติในเรื่องนี้ โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้

1. การจัดออกเสียงประชามติที่แท้จริงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการถกเถียงเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” การรณรงค์ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่ง จึงสามารถกระทำได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

2. การที่จะพิจารณาว่าการกระทำใด “ไม่ขัดต่อกฎหมาย” นั้น น่าจะถือตามมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ดังกล่าว ความว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” การรณรงค์ด้วยการแจกเอกสาร สวมเสื้อ พูดคุย ฯลฯ โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคามผู้อื่น ย่อมไม่ขัดต่อข้อบัญญัติข้างต้น

3. การรณรงค์ประชามติเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอันพึ่งกระทำได้ กรณีการจับกุมดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว แทนที่จะสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเสรีและกว้างขวาง ก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญในวันลงประชามติ

4. ผู้ที่รณรงค์ประชามติย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ หากเจ้าหน้าที่จะเลือกตั้งข้อหาที่เลี่ยงข้อเท็จจริงเฉพาะแก่ฝ่ายที่รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้การลงประชามติขาดความเที่ยงธรรม

ด้วยเหตุผลข้างต้น สถาบันฯ จึงขอเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณายกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาว่าผู้รณรงค์ประชามติฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมือง พร้อมทั้งประกาศอย่างชัดเจนว่า การรณรงค์ประชามติเป็นสิ่งที่ไม่ใช่การให้ข้อมูลเท็จ ใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่สามารถกระทำได้ ในทางกลับกัน หากผู้มีอำนาจหน้าที่จะส่งเสริมการรณรงค์ประชามติที่กระทำโดยสุจริตใจ ก็จะช่วยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสินใจลงประชามติอย่างรอบคอบและรู้เท่าทันมากขึ้น

เพื่อย้ำจุดยื่นของเครือข่ายนักวิชาการ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการแจ้งข้อกล่าวหา การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ของ 7 นักศึกษา เนื่องจากมองว่า การกระทำของนักศึกษา ไม่น่าจะเข้าเงื่อนไขความผิด เนื่องจาก ทาง กกต. ได้มีการออกมาแถลงว่าการรณรงค์ไม่ผิดกฏหมาย ในนามคณาจารย์จึงมีความเห็นใจและขอเรียกร้องให้ศาลทหารปล่อยตัว ทั้ง 7 นักศึกษาในการยื่นคำร้องฝากขังผัดที่สองในวันพรุ่งนี้

อนุสรณ์ กล่าวว่า กรณีที่นักศึกษา ยืนยันไม่ขอประกันตัวจนกว่าจะมีประชาธิปไตย คาดว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน แต่เป็นเพราะไม่ต้องการเสียเงินค่าประกันตัวจากคดีที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด นอกจากนี้ ทางนักวิชาการยังได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลกลับไปหารือและพูดคุยกันว่าการรณรงค์ โหวตโนหรือโหวตเยส เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ทางรัฐบาลเองก็มีความเห็นแตกออกเป็นสองฝั่ง อย่างไรก็ตามหวังว่าในวันที่ 5 กรกฎาคม ศาลจะพิจารณาให้ยกคำร้องในการขอฝากครั้งผลัดที่ 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net