Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



(1)

ขอต้อนรับสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี สุภาพชน สู่หอประชุมศรีบูรพา แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง วันนี้ วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่เราต้องมายืนยันสิทธิชองเราในการลง “ประชามติร่างรัฐรรมนูญ” 7 สิงหาคม ว่า การรณรงค์ให้รับ หรือ ไม่รับ หรือ ไม่ออกเสียง นั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมาย

เหตุที่เราต้องมาร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ก็เนื่องจากเยาวชนคนหนุ่มสาวของเรา 7 คน อันประกอบด้วย

1. รังสิมันต์ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2. กรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 24 ปี บํณฑิตเอกประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. นันทพงศ์ ปานมาศ อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

4. สมสกุล ทองสุกใส อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

5. อนันต์ โลเกตุ อายุ 21 ปีนักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

6. ยุทธนา ดาศรี อายุ 27 ปี บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

7. ธีรยุทธ นาบนารำ อายุ 27 ปี บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต้องถูกจองจำด้วยเหตุว่า พวกเขาเหล่านั้นออกมารณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร


(2)

ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์ ผมขอเริ่มด้วยการมองประวัติศาสตร์ในช่วงยาว ว่า สยามประเทศไทยเรา มีวิกฤตรัฐธรรมนูญมากว่า 132 ปี

เมื่อ รศ.103/พ.ศ.2427 หรือ 132 ปีมาแล้ว เจ้าและขุนนางหัวก้าวหน้า ทำคำร้องขอรัฐธรรมนูญ ร.5 สมบูรณาญาสิทธิราชา ทรงให้รอ สยามยังไม่พร้อม (ไม่เหมือนญี่ปุ่น)

เมื่อ รศ.130/พ.ศ.2454 หรือ 105 ปีมาแล้ว ทหารหนุ่มวางแผนปฏิวัติ ยึดอำนาจ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ร.6 สมบูรณาญาสิทธิราชาทรงจับขังคุกฐาน 'กบฏ' (หมอเหล็ง ศรีจันทร์)

เมื่อ รศ.151/พศ.2475 / ค.ศ.1932 หรือ 84 ปีมาแล้ว ทหารและขุนนางกฏหมายในนาม 'คณะราษฎร' ทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจจาก สมบูรณาญาสิทธิราชา ร.7 สำเร็จ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2 ปี 2475

เมื่อ 14 ตุลา รศ.192 / พ.ศ.2516 / ค.ศ.1973 หรือ 43 ปีมาแล้ว

นักเรียน .นิสิตนักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ประท้วงรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิอำมาตยาเสนาธิปไตย ถนอม/ประภาส/ณรงค์ รัฐบาล กระทำอาชญากรรม ปราบปรามหนัก แต่รัฐบาลล้มครืน ประชาชนประเทศชาติ ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ปี 2517

เมื่อ พฤษภา รศ.211 / พ.ศ.2535 / ค.ศ.1992 หรือ 24 ปีมาแล้ว ประชาชน คนชั้นกลาง ประท้วงรัฐธรรมนูญ เรื่องอนุญาตให้มี นายกฯ คนนอก รัฐบาลสุจินดา ก่ออาชญากรรม ปราบปรามหนัก แต่รัฐบาลก็ล้มครืนอีกครั้ง ประชาชนประเทศชาติได้ประชาธิปไตยครึ่งใบ

เมื่อ รศ.216 / พ.ศ.2540 / ค.ศ.1997 หรือ 19 ปีมาแล้ว ประชาชน คนชั้นกลาง เคลื่อนไหว 'ปฏิรูปการเมือง' จนได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับที่สิบหก ปี 2540 นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อ รศ.225 / พ.ศ.2549 / ค.ศ.2006 หรือ 10 ปีมาแล้ว รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อำมาตยาเสนาธิปไตย ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ล้มรัฐธรรมนูญ แล้วร่างใหม่ ฉบับที่ 18 ปี 2550

เมื่อ รศ.233 / พ.ศ.2557 / ค.ศ.2014 หรือ 2 ปีมาแล้ว รัฐสมบูรณาญาสิทธิอำมาตยาเสนาธิปไตย ในนาม 'คสช.' นำโดยประยุทธ/ประวิตร ทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาลเพื่อไทย/ยิ่งลักษณ์ ล้มรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วดำเนินการร่างใหม่ ฉบับที่ 20 ปี 2557

ที่ในการทำ ประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่น่าจะต้องมีการรณณรงค์ ให้รับ หรือ ไม่รับ หรือใดใด ก็ตาม เยี่ยงขนบธรรมเนียมอารยะประชาธิปไตย

แต่.....แต่ และ แต่

กล่าวโดยย่อ สยามประเทศไทยเรา ที่ถูกบังคับ ถูกนำโดยเสนา อำมาตยา ตุลาการ นายทุน ขุนศึกฯนั้น ได้นำพาประชาชน และประเทศชาติ "พายเรือในอ่าง" วังวน ซ้ำๆ ซากๆ มาเป็นเวลา 100 กว่าปี


(3)

คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าผลของประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 (ถ้าจะมี) นั้นจะออกมาเช่นไร แต่เราคงจะรู้ได้แน่ ๆ ว่าการที่คณะรัฐประหาร จับกุมเอาคนหนุ่มสาวไปขังในคุกนั้น เป็นสิ่งที่ผิดอย่างแน่นอน

ผมเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สังคมใดก็ตาม ที่จับเอาคนหนุ่มสาวมาขังคุก สังคมนั้นไม่มีอนาคต และยิ่งจะไม่มีอนาคตมากขึ้น เมื่อคนที่จะมากำหนดอนาคตของประเทศ กลับกลายเป็นบรรดาผู้สูงวัย มีอายุกว่า 60 ปีถึง กว่า 90 ปี

แต่ท่ามกลางความหดหู่สิ้นหวัง ผมขอให้เรามองไปยังคนหนุ่มสาว ดังที่ประวัติสาสตร์ได้บอกเล่าเรื่องราวว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนั้น เกิดได้ด้วยคนหนุ่มสาว แทบทั้งสิ้น

คณะที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ. 130 นั้นเป็นนายทหารหนุ่มทั้งสิ้น ร้อยเอก นายแพทย์ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือนายเหล็ง ศรีจันทร์ นั้นมีอายุเพียง 30 ปี

นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร นั้นอายุเพียง 32 ปี เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ขณะที่เยาวชนคนหนุ่มสาวในยุค 14 - 6 ตุลา นั้นยังไม่มีใครอายุเกิน 30 ปีเลย

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลก ก็เกิดจากเยาวชนคนหนุ่มสาวแทบทั้งสิ้น
 

(4)

สำหรับการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 นั้นผมคิดเช่นไรกับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร 2557 นั้น ผมบอกได้แต่เพียงว่า ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับ ร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร 2549 ซึ่งผมขอนำจุดยืนของผมต่อการประชามติ 19 สิงหาคม 2550 เมื่อ 9 ปีมาแล้ว มากล่าวซ้ำอีกครั้ง

1. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีที่มาและจิตวิญญาณเป็น "อประชาธิปไตย" ขาดกลไกและเจตนารมณ์ของการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติในยามวิกฤติเช่นนี้

2. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระที่เป็น "อำมาตยา/เสนา/ตุลาการธิปไตย" ต้องการรักษาผลประโยชน์ของหมู่คณะของตน ดังตัวอย่างของมาตราที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา ที่ให้มีการแต่งตั้ง เป็นลักษณะของการถอยหลังกลับไปกว่า 75 ปี

3. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้อำนาจตุลาการ เข้าไปพัวพันก้าวก่ายในองค์กรอิสระ ทำให้ขาดความเป็นกลาง และความน่าเชื่อถือ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหลักการ "แบ่งแยกอำนาจ" ของสังคมไทยที่ว่าด้วย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ

4. เพราะองค์กรและตัวแทนของรัฐ ที่รับผิดชอบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ ขาดความเที่ยงธรรม บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่า หากไม่รับร่างนี้แล้ว ก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งอยู่ ไม่ช้าก็เร็ว และยังแอบอ้างบางสถาบันหรือใช้สีบางสี โน้มน้าวทำประชาสัมพันธ์ และทำการตลาดให้ประชาชนต้อง "รับ" หรือ "ไม่รับ" เพียงหนึ่งในสองทางเลือกเท่านั้น ซึ่งแม้แต่ในองค์การสหประชาชาติ ก็ยังมีการลงมติด้วย "การงดเว้นออกเสียง" ได้ คือ มีสามทางเลือก Yes-No-Abstain

5. เพราะการกระทำในข้อ 4 ข้างต้น ทำให้สังคมไทย ขาดบทเรียนและความทรงจำ ที่ว่าการแก้ไขปัญหาของชาติ แม้จะใช้กำลังอาวุธกับความรุนแรง แม้จะขาดหลักการและกระบวนการทางกฎหมายและหลัก "นิติธรรม" ก็สามารถทำได้ กลายเป็น "อำนาจศีลธรรม" นี้เป็นตัวอย่าง ที่ไม่ดีและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตของเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่จะไม่เห็นความจำเป็นของ "สันติประชาธรรม"

6. เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขาดจิตสำนึกและเจตนารมณ์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคี และความปรองดองในชาติ ยังคงดึงดันที่จะใช้นามประเทศว่า "ไทย และ Thailand ต่อไปตามแบบฉบับของ อำมาตยาเสนาตุลาการธิปไตย" นับตั้งแต่ พ.ศ.2482 เป็นต้นมา แทนที่จะใช้นามประเทศว่า "สยาม" หรือ Siam ตามหลักการของประชาธิปไตย ดังเช่นในฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 ที่ใช้นามว่า "แผ่นดินสยาม" หรือตามหลักการของความปรองดองกัน ดังเช่นในฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 ที่ใช้นามประเทศว่า "ราชอาณาจักรสยาม" Siam

7.และดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่ตระหนักถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศของเรา ที่เป็นที่อยู่และเป็นแผ่นดิน ที่รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อ ไทย..ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย มลายู แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ จาม ขวา ซาไก มอแกน ทมิฬ บ่าทาน เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ชีน เวียด ยอง ลั๊ว ละว้า มัง เย้า กะเหรี่ยง บ่ะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ฮะมู มลาบุรี ซอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชนชาติต่างๆ) แขก (ชนชาติต่างๆ) ลูกผสมลูกครึ่งต่างๆ อีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ สมานฉันท์ สามัคคี ปรองดอง และเป็น "ประชาธิปไตย"

ผมขอเรียกร้อง ให้ปลดปล่อยเยาวชนคนหนุ่มสาว ทั้ง 7 รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมคุมขังมาก่อนหน้านี้ และที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ และในวันข้างหน้า ผมขอเรียกร้องให้มีการรณณรงค์ เชิญชวน ให้มีการทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ในวิถีทางที่เป็นอารยะ เป็นประชาธิปไตย และเป็น สันติประชาธรรม ผมขอให้ผู้บริหาร ผู้กุมอำนาจ ผู้กุมกลไกของความรุนแรง ได้เปิดตาเปิดใจ มองเห็นความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และความเป็น พลเมือง ของสยามประเทศไทย บ้านเมืองของเรา เสียเวลามามากแล้ว เราต้องเลิกพายเรือในอ่าง (น้ำเน่า) และที่สำคัญที่สุด เราต้องออกไปจากกะลา ไปให้พ้น ความมืดบอด อคติ และความเห็นแก่ตัว แก่เพียงหมู่คณะของตนเอง

ครับ เราต้องตั้งมโนสติ ที่ยึดในคำมั่นสัญญาว่า เราจะเป็น อยู่ คือ “ชาติ และราษฎร” ของสยามประเทศ ครับ ขอบคุณครับ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

3 กรกฎาคม 2559/2016

ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในกิจกรรม "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย"


0000

 

ที่มา: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net