Skip to main content
sharethis

4 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ลานพ่อขุนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มแรงงาน นักกิจกรรมรวมการเฉพาะกิจ อ่านแถลงการณ์ "ประชามติต้องเสรี" และส่งกำลังใจให้นักศึกษาที่ถูกจับกุม 7 คน หลังออกมารณรงค์แจกเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนักศึกษาและนักสหภาพแรงงานผู้รณรงค์ประชามติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่อาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเวลา 11.00 น. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส.ม.ร.) นำโดย มารุต หนูแก้ว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ รหัส 53 ในฐานะประธานสภานักศึกษา จากพรรคตะวันใหม่ และสมาชิก ส.ม.ร.จากพรรคตะวันใหม่ แถลงการณ์จุดยืนของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียกร้องไม่ให้กลุ่มบุคคลนำมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปหาผลประโยชน์ทางการเมือง จากกรณีที่กลุ่มเครือข่ายสลัม แรงงาน นักศึกษา นักกิจกรรมเพื่อเสรีภาพ ได้นัดจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิดจำนวน 100 ลูก ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังกล่าว
       
โดยยืนยันว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นของบุคคลภายนอก นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่เกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนแต่อย่างใด พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษารามคำแหง 5 คนที่ร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยขอให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็ว และขอให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้  มารุต ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และความจริงใจในการแก้ปัญหาประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องการ

นักกิจกรรมเพื่อสังคม มร. สวนเป็นกิจกรรมมีทั้งศิษย์ปัจจุบัน-เก่า

ด้าน ภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม ม.รามคำแหง ออกแถลงการณ์โต้ ประธานสภานักศึกษาดังกล่าวว่า โดยเห็นว่าการแสดงท่าที และข้อเรียกร้องของ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขาดการศึกษาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน

กลุ่มภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงขอชี้แจง เพื่อเกิดความเข้าใจต่อกรณีจับกุมนักศึกษานักกิจกรรมดังต่อไปนี้ 1. การที่สภานักศึกษา เรียกร้องให้ผู้ต้องขังประชามติทั้ง 7 คนได้รับอิสระภาพโดยเร็ว และขอให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม หรือ พูดง่ายๆคือเรียกร้องให้มีการประกันตัว ประเด็นนี้กลุ่มภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม ขอยืนยันว่าเพื่อนของเราทั้ง 7 คนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการยัดเยียดข้อหาให้อย่างเลือกปฏิบัติ หากสภานักศึกษาจะเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กระบวนการยุติธรรม ก็ควรจะเรียกร้องกับฝ่ายที่มีการรณรงค์รับร่างฯ ซึ่งไม่เคยถูกดำเนินคดีแม้แต่รายเดียวด้วย อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมายืนยันว่าการรณรงค์ไม่ใช่ความผิดตามพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ

2. ในการจัดกิจกรรม ปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่สภานักศึกษาอ้างว่าบุคคลภายนอกมาทำกิจกรรมนั้น นอกจากจากเป็นบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความไร้วุฒิภาวะ และปฏิเสธความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของนักศึกษา และนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั้ง 5 ราย เนื่องจากข้อเท็จจริงกลุ่มที่จัดกิจกรรมดังกล่าว มีทั้งศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สังกัดองค์การนักศึกษา เช่นชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน ชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด ชมรมค่ายอาสาพัฒนา-รามลานนา ชมรมค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มกล้าคิด

3. การที่สภานักศึกษา ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั่นให้ถึงที่สุด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ของสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะการกระทำของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี และส่วนใหญ่เป็นการกระทำต่อฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ ประเด็นนี้ภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม เห็นว่าสภานักศึกษาควรเรียกร้องกับรัฐ ไม่ใช้เรียกร้องต่อประชาชนที่ยึดกรอบกฎหมาย และใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวมาโดยตลอดอยู่แล้ว

4. การที่สภานักศึกษา อ้างว่าไม่อยากให้นำมหาวิทยาลัยรามคำแหงออกไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าทุกคนรักประชาธิปไตย รักประเทศไทย ประเด็นนี้ทางภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม เห็นว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เปิดสำหรับสาธารณะชน ทั้งการศึกษาทางวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมาใช้สำหรับจัดกิจกรรมอยู่แล้ว รวมถึงกิจกรรมทางเมือง ที่องค์การนักศึกษา และสภานักศึกษามีส่วนร่วมในหลายกิจกรรมด้วยซ้ำไป

อีกทั้งเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในอดีต ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ของประชาชนหลายกลุ่มมาโดยตลอด และเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยทั้ง 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาคมปี 2535 ดังนั้นการพยายามกีดกั้นประชาชนกลุ่มต่างๆในการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จึงสะท้อนความเห็นแก่ตัว และความอับจนทางปัญญา เก็บมหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม

สุดท้ายกลุ่มภาคีนักกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะใช้สติไตร่ตรองข้อเท็จจริง และทบทวนการแสดงท่าที และข้อเรียกร้องดังกล่าว พวกเราพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลอย่างสันติวิธี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net