ไม่มีให้เกรด ไม่มีตารางเรียน รร.ในเยอรมนีสอนแผน 'ก้าวหน้า' เน้นเสริมแรงจูงใจเด็ก

ท่ามกลางการศึกษาที่บีบคั้นให้เด็กและคนหนุ่มสาวต้องดิ้นรนเพื่อการสอบและบั่นทอนแรงจูงใจของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีโรงเรียนในเยอรมนีที่เน้นการศึกษาแบบเสริมสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน ไม่มีการให้เกรดที่จะบั่นทอนกำลังใจ ไม่มีตารางเรียน ไม่มีเลคเชอร์ รวมถึงมีวิชาที่เป็นหัวข้อนามธรรมอย่าง "ความท้าทาย" ที่ทำให้เด็กอายุ 14 ที่กล้าแสดงออกถูกเชิญขึ้นเวทีพูดสุนทรพจน์เสริมกำลังใจต่อหน้าคน 200 คน

บทความจากเว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมวัยรุ่นจากเยอรมนีถึงเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง โดยยกตัวอย่างจากกรณีของอันตัน โอเบอแลนเดอร์ นักเรียนอายุ 14 ปี ผู้มีความสามารถพูดจูงใจได้ดีมากจนสามารถขอตั๋วโดยสารเดินทางไปพักค้างแรมในคอร์นวอลล์ได้ในยามที่เขากับเพื่อนๆ ขาดแคลนเงิน บทความระบุว่าสิ่งที่ทำให้เด็กเยอรมันมีความมั่นใจในตัวเองมาจากระบบการศึกษา

ฟิลิป โอลเตอร์มานน์ หัวหน้าฝ่ายเยอรมนีของเดอะการ์เดียนชี้ว่าสิ่งที่มีผลต่อความมั่นใจในตัวเองของเด็กมาจากการที่ระบบการศึกษาเยอรมนีมีการยกเครื่องระบบการศึกษาแบบเดิมทั้งหมด อาทิ การที่โรงเรียนของโอเบอแลนเดอร์ไม่มีการให้เกรดเด็กเลยจนกว่าจะถึงอายุ 15 ปี ไม่มีตารางการเรียนการสอน ไม่มีการสอนแบบบรรยาย (เลคเชอร์) มีการให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจว่าต้องการจะเรียนวิชาอะไรบ้างและให้กำหนดว่าอยากจะสอบเมื่อไหร่

ไม่เพียงแค่โอเบอแลนเดอร์จะสามารถพูดจูงใจขอตั๋วรถไฟได้เท่านั้น ความสามารถในการจูงใจคนที่ดูเก่งกว่าวัยของเขายังทำให้การรถไฟแห่งชาติเยอรมนีเชิญชวนเขาไปกล่าวสุนทรพจน์สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนงานของพวกเขา 200 คน การที่โอเบอแลนด์เดอร์ต้องการเดินทางไปพักแรมในเมืองชายฝั่งอังกฤษอย่างคอร์นวอลล์นั้น เป็นเพราะในกระบวนวิชาของการศึกษาในเด็กอายุ 12-14 ปี มีวิชาที่ออกเงิน 150 ยูโร (ราว 5,800 บาท) ให้เด็กเลือกออกไปผจญภัยในโลกภายนอกโดยวางแผนเอง เช่น ล่องเรือคายัค ทำงานในฟาร์ม หรือในกรณีของโอเบอแลนเดอร์คือการท่องไปในคอร์นวอลล์

ดูจากวิชาเรียนที่ออกแบบมาไม่เหมือนใครเช่นนี้แล้วอาจจะยิ่งทำให้พ่อแม่ประหลาดใจเมื่อพบว่าแทนที่โรงเรียนในเยอรมนีไม่เพียงมีวิชาบังคับจำนวนไม่มากอย่างภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาเท่านั้นพวกเขายังมีวิชาเกี่ยวกับสิ่งนามธรรมอย่าง "ความรับผิดชอบ" และ "ความท้าทาย" ซึ่งวิชาความท้าทายนี่เองที่ให้เด็กวางแผนการท่องโลกด้วยตัวเอง

ถ้าถามว่าแนวคิดเบื้องหลังนวัตกรรมการเรียนการสอนนี้มาจากไหน คำตอบง่ายๆ คือมันเป็นไปเพื่อตอบรับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวประมวลข้อมูลด้วยวิธีการใหม่ จนถึงขั้นที่มาร์เกร็ต รัสเฟล์ด ครูใหญ่โรงเรียนแห่งหนึ่งบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนจะสอนนักเรียนคือการสอนวิธีให้พวกเขาสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เด็กๆ อายุ 3-4 ปี จะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก พวกเขาอยากไปโรงเรียนแต่พอเข้าไปแล้วโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะลดทอนเด็กเหล่านี้ให้ขาดความมั่นใจเสียเอง

รัสเฟล์ดเป็นครูใหญ่ของศูนย์โรงเรียนอิแวนเจลิคแห่งเบอร์ลิน (Evangelical School Berlin Centre หรือ ESBC) ที่เรียกโรงเรียนของตัวเองว่าเป็นโรงเรียนสายก้าวหน้าที่ต้องการเตรียมคนหนุ่มสาวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง  รัสเฟล์ดยังบอกอีกว่าโรงเรียนในยุคสมัยนี้ควรจะเน้นพัฒนาให้ผู้คนมีความเข้มแข็งด้านบุคลิกภาพ ซึ่งการให้นักเรียนต้องมานั่งฟังครู 45 นาทีในหนึ่งคาบหรือถกครูลงโทษเพียงเพราะมีส่วนร่วมไม่เพียงแค่เป็นการสอนที่ไม่สามารถเข้ากันได้กับงานในโลกสมัยใหม่ แต่ยังถือว่าไม่สร้างสรรค์ด้วย รัสเฟล์ดเชื่อว่าควรจะเสริมสร้างแรงจูงใจของนักเรียนด้วยการทำให้นักเรียนได้ค้นพบความหมายที่แฝงอยู่ในแต่ละวิชาด้วยตัวเอง

โรงเรียนของรัสเฟล์ดจะส่งเสริมการทดสอบนักเรียนด้วยวิธีการที่แปลกใหม่อย่างเช่นให้เด็กเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างเกมของตัวเองแทนการให้นั่งเขียนข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ โอเบอรแลนเดอร์ผู้ไม่เคยออกจากบ้านไปไกลกว่า 3 สัปดาห์เลยก็บอกว่าเขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษตอนที่เขาเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าตอนที่เรียนมาในโรงเรียนตั้งหลายปีเสียอีก

ในเยอรมนี ระบบการศึกษาเป็นแบบสหพันธรัฐ โดยที่แต่ละรัฐจะวางแผนการศึกษาของตนเอง ซึ่งการวางระบบเช่นนี้ทำให้การศึกษาแบบ "เรียนรู้อย่างเสรี" (free learning) แพร่หลาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปล่อยปละละเลยเด็กแต่อย่างใด เช่นโรงเรียนของรัสเฟล์ดมีระบบที่ใช้ลงโทษเด็กผู้ไม่ตั้งใจเรียนให้ต้องมาเข้าเรียนเพิ่มในเช้าวันเสาร์เพื่อตามคนอื่นให้ทันซึ่งรัสเฟล์ดบอกว่า "ยิ่งคุณให้อิสระกับเด็กมากเท่าไหร่ ก็ต้องยิ่งวางระบบโครงสร้างมากขึ้นเท่านั้น"

บทความในเดอะการ์เดียนระบุว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ ESBC มีชื่อเสียงคือการทดลองปรัชญาการเรียนการสอนใหม่ของพวกเขาส่งผลทำให้นักเรียนทำเกรดได้ดีมากจริงๆ จากเดิมที่โรงเรียนนี้มีนักเรียนเพียง 16 คน ในตอนเริ่มเปิดในปี 2550 ในตอนนี้โรงเรียนเปิดดำเนินการอย่างเต็มที่โดยมีนักเรียน 500 คน และมีคนอยากเข้าสมัครอีกจำนวนมาก

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่าโรงเรียนแห่งนี้จะกลายเป็นโรงเรียนที่ดึงดูดแต่ผู้ปกครองที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้าให้ลูกมาสมัครเรียนหรือไม่ รัสเฟล์ดก็โต้แย้งว่านักเรียนในโรงเรียนของพวกเธอมีที่มาต่างกันมีทั้งคนนับถือศาสนาคริสต์ ที่คนที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพร้อยละ 30 และมีร้อยละ 7 ที่มาจากครอบครัวที่ไม่พูดภาษาเยอรมันเลย อีกทั้งค่าธรรมเนียมการเรียนก็ต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอังกฤษและมีนักเรียนร้อยละ 5 ที่ถูกงดเว้นไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน

อย่างไรก็ตามรัสเฟล์ดก็ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาเรื่องการหาครูที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เข้าโรงเรียนได้ยากกว่าการให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับการเรียนของพวกเขา แต่รัสเฟล์ดก็มีแผนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในแบบโรงเรียนของพวกเขาให้กับโรงเรียนที่ต้องการนำแบบแผนการสอนของพวกเขาไปปรับใช้ ซึ่งมีโรงเรียนอยู่ประมาณ 40 แห่งในเยอรมนีที่นำวิธีการบางส่วนหรือทั้งหมดของพวกเขาไปปรับใช้แล้ว รัสเฟล์ดยังได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่าการศึกษาควรมีการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน แทนการรับคำสั่งจากบนลงล่าง

"ในเรื่องของการศึกษานั้น คุณสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แค่จากระดับล่างขึ้นบน ถ้าหากมีคำสั่งจากด้านบนมาโรงเรียนจะทำการต่อต้าน พวกกระทรวงต่างๆ ก็เหมือนเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเปลี่ยนทิศทางได้ เราจึงต้องการเรือเร็วจำนวนมากเพื่อแสดงให้คุณเห็นว่าคุณสามารถทำในสิ่งที่แตกต่างได้" รัสเฟล์ดกล่าว

เรียบเรียงจาก

No grades, no timetable: Berlin school turns teaching upside down, The Guardian, 01-06-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/jul/01/no-grades-no-timetable-berlin-school-turns-teaching-upside-down

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท