Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิสำคัญในการต่อสู้ระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสม์ภายใต้สงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐมองว่าไทยเหมาะสมในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาในรูปแบบที่เจริญรอยตามโลกเสรี การพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชนจึงเป็นอีกหนึ่งสนามต่อสู้ของสองค่ายนี้ ผลดีที่ตามมาคือ การผันงบประมาณและเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากสหรัฐอเมริกาสู่ไทยเป็นจำนวนมาก 

ถึงแม้ข้อจำกัดด้านงบประมาณและความรู้การแพทย์จะถูกผ่อนคลายลงจากการช่วยเหลือของสหรัฐ อย่างไรก็ตามรัฐเวชกรรมไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. สมัยที่ 2 ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถขยายตัวอย่างสะดวกและสามารถสร้างรัฐชาติหนึ่งเดียวได้ ประการแรก การแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสม์ทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างสถานพยาบาล และส่งบุคลากรการแพทย์เข้าไปครอบคลุมได้ในพื้นที่สีแดง ประการที่สอง การแข่งขันระหว่างอำนาจบริหารของรัฐบาลกลาง กับ พระราชอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสถาบันกษัตริย์และราชสำนักเริ่มเข้ามามีบทบาทด้านนโยบายสุขภาพโดยใช้พระราชอำนาจบริหารบ้านเมือง แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วในทางทฤษฎีอำนาจดังกล่าวควรจะหายไปและเปลี่ยนเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถดำเนินนโยบายบริหารประเทศได้ แต่กลับกลายว่าพรมแดนสุขภาพกลายเป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองแห่งแรกระหว่างจอมพล ป. กับพระองค์ เนื่องจากจอมพล ป. และคณะราษฏร์ ต้องการการปกครองแบบ constitutional monarchy สถาบันกษัตริย์ไทยเปรียบเสมือนสัญลักษณ์โดยมิเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ คณะราษฎร์จึงควบคุมค่าใช้จ่ายของราชสำนักและ ออก พรบ.จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ขึ้น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทวงการคลัง  ด้วยการขาดแคลนงบประมาณทำให้ในหลวงไม่สามารถออกเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกลได้ และไม่สามารถออกไปได้จำนวนมากครั้ง  และขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินการโครงการของพระองค์ เพื่อหาเงินสนับสนุนโครงการ ในหลวงทรงเริ่มงานการกุศลเพื่อเรี่ยไรทุนทรัพย์จากประชาชนและผู้มีจิตศรัทธา โดยโครงการแรกในปี 1954 คือการเรี่ยไรเพื่อกองทุนรักษาผู้ป่วยโรคโปลิโอ นอกจากนี้ในปีเดียวกันได้ริเริ่มโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานเพื่อมุ่งให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในเขตทุรกันดาร ในปีต่อมาได้ตั้งกองทุนอานันทมหิดลเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกไปศึกษาด้านการแพทย์ต่อในต่างประเทศ นักเรียนทุนเก่าที่สำคัญ เช่น นพ ประเวส วะสี เป็นต้น

ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลจอมพล ป.สมัยที่ 2 และการขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์ นโยบายสุขภาพกลายเป็นภาคส่วนหนึ่งของวาทกรรมการพัฒนาเพื่อตอบโต้ลัทธิคอมมิวนิสม์ อย่างไรก็ตามการขยายตำรวจการแพทย์และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สีแดงก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก การดำเนินการนโยบายสุขภาพเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของตน ซึ่งการจะชักชวนด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนคล้อยตามก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลานานเนื่องจากความรู้การแพทย์สมัยใหม่มิได้เป็นที่แพร่หลายทั่วถึงในประเทศไทยสมัยนั้น รัฐบาลสฤษดิ์ได้สร้างอัตลักษณ์ชาติขึ้นมาใหม่คือ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ซึ่งส่งผลดีต่อการโน้มน้าวประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ปฏิบัติตามนโยบายสุขภาพที่วางโดยรัฐบาล โดยการที่มีจุดประสงค์เพื่อมนุษยธรรมนั้นทำให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานกลายเป็นหน่วยงานที่ไม่อิงการเมืองที่สามารถเคลื่อนที่ได้อิสระแม้ในเขตทุรกันดารและพื้นที่สีแดง ตรงข้ามกับรัฐบาลจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์เลือกที่จะสนับสนุนการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ถูกโอนให้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งช่วยให้ข้อจำกัดในด้านการเงินเพื่อดำเนินการโครงการหลวงนั้นค่อยๆหมดไป จำวนวนการเสด็จพระราชดำเนินได้เพิ่มมากขึ้นๆและไม่จำกัดเฉพาะในเขตภาคกลางซึ่งใกล้เคียงกับพระราชวังเท่านั้น และเนื่องด้วยการเสด็จพระราชดำเนินในแต่ละครั้งจะมีการนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ติดตามไปด้วย ทำให้ความนิยมชมชอบของประชาชนต่อพระองค์มีมากขึ้นเรื่อยๆ การรอรับเสด็จจะเป็นโอกาสอันดีที่พสกนิกรสามารถสื่อสารต่อพระองค์โดยตรงถึงความขาดแคลนและความต้องการความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการรักษาโดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอคอยความช่วยเหลือสาธารณะจากรัฐบาลกลางที่ติดปัญหาความล่าช้าจากระบบราชการ นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของพระองค์และสถาบันกษัตริย์ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเรี่ยไรระดมทุนและการทำบุญการกุศลเพื่อประโยชน์สาธารณะ โครงการด้านสุขภาพต่างๆที่ริเริ่มได้มีการพัฒนากลายเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงถาวรมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงจากกองทุนอานันทมหิดลกลายเป็น มูลนิธิอานันทมหิดล การก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นต้น และการบริจาคการกุศลโดยภาคเอกชนนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยเพราะมันเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือสังคมแก่ประชาชนที่ยากจน

และถึงแม้หลังรัฐบาลสฤษดิ์ มันก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับทุกๆรัฐบาลในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริและโครงการเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรัฐบาลเปรม สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพัฒนาประเทศและนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ทุกๆโรงพยาบาลของรัฐและตึกในโรงพยาบาลถูกจารึกด้วยพระราชนามของสมาชิกพระราชวงศ์ สมเด็จพระราชบิดากลายเป็นสัญลักษณ์ของบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับสมเด็จย่าที่เป็นสัญลักษณ์ของพระมารดาแห่งการแพทย์และพยาบาล จำนวนมูลนิธิและโครงการต่างๆเกี่ยวกับสุขภาพที่ริเริ่มโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงสมาชิกอื่นๆในราชวงศ์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และกลายเป็นองค์กรถาวรซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคลจากรัฐบาลและทางด้านการเงินจากการบริจาคการกุศลของภาคเอกชน มูลนิธิเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาประเทศและช่วยเหลืองานด้านบริหารประเทศของรัฐบาล 

นอกจากสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในด้านนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ศาสนาพุทธเองก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลด้วยเช่นกัน ในช่วงทศวรรษ 70 ที่ รูปแบบชีวการแพทย์เริ่มถึงทางตัน และแนวโน้มของนโยบายสุขภาพเริ่มเปลี่ยนแปลงกลายเป็นการแพทย์สังคมมากขึ้นโดยมุ่งเน้นการแพทย์แบบองค์รวมและการป้องกันและส่งเสริมโรคให้สำคัญกว่าการรักษาโรค นอกจากนี้องค์กรอนามัยโลกได้มีการประกาศ health for all ที่ Alma ata โดยมุ่งให้สมาชิกแต่ละประเทศดำเนินนโยบายสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมประชากรทุกคน และมีการสนับสนุนเทคโนโลยีการรักษาที่หลากหลายโดยมิต้องพึ่งการแพทย์กระแสหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สนับสนุนสมุนไพรและการแพทย์ท้องถิ่นเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความคิดของเทคโนแครตสุขภาพไทยที่ต้องการจะฟื้นฟูองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและการนำสมุนไพรไทยกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งเพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพแห่งชาติ และการนำเข้าตัวยาจากต่างประเทศซึ่งสภาพการณ์ของสังคมขณะนั้นอยู่ในช่วงต่อต้านจักรวรรดิอเมริกัน และสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูแพทย์แผนไทยซึ่งมีรากฐานความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่นแล้วนั้นย่อมส่งผลให้อิทธิพลของทั้งสองในชีวิตและร่างกายของคนไทยกลับเข้ามาเริ่มเข้มแข็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เทคโนแครตสุขภาพไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันการแพทย์แผนไทยเข้าไปในแผนนโยบายสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 4 ในการสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรไทย ในปี 1993 รัฐบาลได้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์แผนไทยโดยมุ่งหวังจะพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยให้ก้าวหน้าเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในปี 1999 ได้มีการออกกฎหมายเพื่อรับรองกิจกกรรมของแพทย์แผนไทยและผู้ให้บริการแพทย์แผนไทยนั้นถูกกฎหมาย นอกจากนี้มีการบรรจุสมุนไพรบางชนิดเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์แผนไทยในหลักสูตร 3 ปี

ด้วยความพยายามของเทคโนแครตสุขภาพไทยกว่า 30 ปีในการผลักดันพุทธศาสนาเข้าสู่นโยบายสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการบัญญัติคำว่า สุขภาพจิตวิญญาณ เข้าไว้ใน พรบ สุขภาพแห่งชาติปี 2000 และมีการตั้งกองทุน สสส ในปี 2001 ตามมาโดยอาศัยเงินจาก 2 % ของภาษีเหล้าและบุหรี่ โดยมีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆเพื่อขับเคลื่อนหัวข้อที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคมและจิตวิญญาณ เทคโนแครตสุขภาพได้สร้างแนวความคิดเรื่องสุขภาวะขึ้นมาใหม่ที่ใกล้ชิดกับคำสอนของพุทธศาสนา การเจ็บป่วยของโรคเกิดจากความผิดปกติสุขภาพทั้ง 4 มิติที่เชื่อมต่อกัน การทำจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพในมิติอื่นๆ ผลเสียของลัทธิทุนนิยมทำให้สังคมไทยมุ่งเน้นการบริโภคสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ บริโภคยามากเกินความจำเป็น และละเลยการปฏิบัติธรรมซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตวิญญาณ

นอกจากนี้วัดไทยซึ่งมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งจนถึงระดับหมู่บ้าน พร้อมมีสถานที่สาธารณะกว้างขวางและเป็นจุดศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมศาสนาและกิจกรรมอื่นๆของสมาชิกในสังคม รวมถึงเป็นศูนย์รวมบริจาคที่สำคัญของประเทศ วัดเป็นสถานที่ในอุดมคติของเทคโนแครตสุขภาพไทยที่เข้ามาทดแทนการขาดแคลนสถานพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดาร ดังนั้นรัฐบาลจึงสนับสนุนให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ และในบางพื้นที่เงินบริจาควัดเป็นกองทุนสำคัญในการช่วยเหลือให้แก่โรงพยาบาลท้องถิ่นที่ขาดทุน เพื่อนำมาลงทุนสร้างโรงพยาบาลและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่แยกรัฐออกจากศาสนาอย่างฝรั่งเศสที่สถานที่พยาบาลต้องเป็นกลางทางศาสนา และวัดไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงพยาบาลเหมือนในอดีต

ความแตกต่างในด้านการวิวัฒนาการของรัฐเวชกรรมระหว่างของไทยและของยุโรป ทำให้ไม่ใช่แค่รัฐไทยเพียงผู้เดียวที่ใช้วิทยาการความรู้ด้านการแพทย์เป็นเครื่องมือในการปกครองควบคุมประชาชน แต่รัฐต้องแบ่งชีวอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนา ด้วยเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net