Skip to main content
sharethis

ช่วงหลังประชามติ Brexit ก็ยังฝุ่นตลบทั้งในหมู่นักการเมืองอังกฤษและการอภิปรายถกเถียงผลที่ตามมา ทีวี TeleSur ของเวเนซุเอลานำเสนอความคิดเห็นจากนักวิชาการฝ่ายซ้าย ในขณะที่นักปรัชญาจากฝรั่งเศสมองว่า Brexit มีความแตกต่างจากกรณีกรีซ และถึงที่สุดแล้วกระบวนการตัดสินใจก็ยังคงอยู่ในมือเหล่าชนชั้นนำอยู่ดี

ภาพประกอบ: ธงชาติยูเนียนแจ็คของสหราชอาณาจักร และธงของสหภาพยุโรป ในอาคารแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่มา: Dave Kellam/Wikipedia

สถานีโทรทัศน์ Telesur ของเวเนซุเอลา รวบรวมความคิดเห็นจากนักคิดฝ่ายซ้ายที่มีความเห็นแตกต่างกันไปในเรื่องการออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า Brexit ซึ่งทั้งผู้ที่เห็นว่าสหราชอาณาจักรยังควรอยู่กับสหภาพยุโรปและผู้ที่คิดว่าควรออก

นอม ชอมสกี ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวอเมริกันกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ในเดอะการ์เดียนตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้กระตือรือร้นว่าควรจะต้องเลือกอย่างใดเป็นพิเศษ แต่ก็มองว่าการออกจากสหภาพยุโรปเป็นทางเลือกที่แย่กว่าเพราะจะทำให้สหราชอาณาจักรหรืออาจจะเฉพาะอังกฤษ (กรณีที่สก็อตแลนด์แยกตัวออกไป) ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ มากขึ้น อีกทั้งในความเห็นของชอมสกี มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นในยุโรปหลายอย่างตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งควรจะกอบกู้สิ่งเหล่านั้นมาใช้

ทางด้าน เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานของอังกฤษเคยกล่าวไว้ในแถลงการณ์พรรคอย่างเป็นทางการว่าอังกฤษควรอยู่กับอียูเพื่อใช้เป็นเครือข่ายในการค้า การอุตสาหกรรม และความร่วมมือในยุคศตวรรษที่ 21 การคงอยู่ในอียูจะสามารถสร้างงานละการลงทุนได้มูลค่าหลายล้านเพราะอียูเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม คอร์บินยอมรับว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงยุโรปด้วยวิธีการปฏิรูปที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้อียูมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น ควรมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อยังยั้งการใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่ลดงบประมาณและสวัสดิการประชาชนต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงทำให้มีการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมสิทธิคนงานให้เข้มแข็งรวมึงส่งเสริมสิทธิในการให้รัฐบาลและภาคส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่งเสริมรัฐวิสาหกิจและยับยั้งการแปรรูปบริการสาธารณะ แนวความคิดของคอร์บินจึงกลายเป็น "คงอยู่" และ "ปฏิรูป"

สำหรับ ยานิส วารูฟาคิส อดีตรัฐมนตรีการคลังของพรรครัฐบาลฝ่ายซ้ายในกรีซแม้ว่าเขาจะบอกว่าสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มที่น่าอับอายและเป็นความยุ่งเหยิงผุพัง แต่ว่าการออกจากอียูก็ไม่ใช่คำตอบ เขาประเมินว่าการออกจากอียูอาจจะทำให้กลุ่มนี้ล่มสลายเร็วขึ้นซึ่งพวกที่จะได้ประโยชน์จากการล่มสลายของอียูจะมีแต่พวกชาตินิยมสุดโต่งอย่างมารีน เลอ แปน (นักการเมืองขวาจัดฝรั่งเศส) และพวกพรรคนีโอนาซีอย่างโกลเดนดอว์นในกรีซเท่านั้น ทำให้วารูฟาคิสแสดงความกังวลว่าการแยกตัวของยุโรปอาจจะทำให้กลับไปอยู่ในบรรยากาศคล้ายสงครามโลกครั้งที่ 2

ความเห็นอีกมุมหนึ่งมาจาก ทาริค อาลี นักข่าว คนทำภาพยนตร์และนักเขียนเชื้อสายอังกฤษ-ปากีสถาน ผู้บอกว่าอียูเป็น "เครื่องจักรของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่" อาลีบอกว่าการที่สหราชอาณาจักรออกจากอียูจะไม่ทำให้เกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจ อาลียังกล่าวหาว่าอียูทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพวกขวาจัด โดยวิจารณ์การตกลงกับตุรกีในเรื่องการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยว่า "เสื่อมทราม" รวมถึงชี้ให้เห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานประท้วงในฝรั่งเศสไปจนถึงการที่เยอรมนีมีอำนาจนำในอียู

อาลียีงเชื่อว่าการโหวตออกจากอียูจะ "สร้างผลประโยชน์กับทุกคน" และเปิดทางให้เกิดรัฐบาลพรรคแรงงานที่สุดโต่งหน่อยๆ เข้าไปจัดการนโยบายได้

ทางด้านจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์กล่าวว่าทั้งสหราชอาณาจักรและอียูต่างก็เลวร้ายต่อกันและกัน แต่อียูก็ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศเป้าหมายลดน้อยลงเช่นการบังคับให้ประเทศเป้าหมายต้องทำสิ่งต่างๆ เพราะมีการออกกฎจากอียูในข๊ณะที่รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประเทศเองที่เข้าไปอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจในอียู อัสซานจ์กล่าวหาว่าคาเมรอนนำการตัดสินใจของตัวเองไป "ฟอก" ในอียูเพื่อนำการตัดสินใจนั้นมาใช้ในประเทศโดยอ้างว่าเขาไม่สามารถทำอะไรได้

 

หรือที่สุดแล้วเราไม่มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ

อย่างไรก็ตามบทความจากเอเตียนน์ บาลิบาร์ นักปรัชญาและวรรณกรรมเปรียบเทียบชาวฝรั่งเศสเปิดเผยในเว็บล็อกของ Verso ว่าเรื่องนี้สุดท้ายแล้วน่าจะจบที่การตัดสินใจของบุคคลระดับสูงในรัฐบาลยุโรปที่ตัดสินใจจากความผันผวนของตลาดการเงินจนทำให้เกิดรูปร่างของระบบแบบใหม่ในกลุ่มรัฐอียู

บาลิบาร์ระบุอีกว่าการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรนั้นต่างจากการออกจากอียูของกรีซ (Grexit) เพราะกรีซนั้นอ่อนแอเวลาที่อยู่ในอียูจนทำให้เกิดลักษณะของ "การถูกกีดกันแม้เข้าร่วมวงใน" (internal exclusion) ในทางตรงกันข้ามสหราชอาณาจักรมีความเข้มแข็งพอสมควรและมีแรงสนับสนุนในอียูทำให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสภาพ "เข้าไปเล่นวงในแบบอยู่ห่างๆ" (external inclusion) ดังนั้นแล้วผลการลงประชามติในครั้งนี้ก็จะไม่ส่งผลอะไรมาก เพราะสุดท้ายแล้ววาทกรรมการปรับเปลี่ยนยุโรปให้เป็นแบบใหม่ก็ยังอยู่ในมือของนักการเมืองและชนชั้นนำอยู่ดี และตราบใดที่ยังมีระบบที่ชนชั้นนำกุมการตัดสินใจอย่างไม่ยอมให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและผูกขาดการเป็นตัวแทนเช่นนี้ก็คงต้องเคลื่อนไหวกันไปอีกยาวนานกว่าคนส่วนใหญ่จะตาสว่างและสามารถรวมตัวกันได้ในระดับความร่วมมือและประชาธิปไตยข้ามประเทศ

 

เรียบเรียงจาก

What 5 Leading Leftists Think About the UK Leaving the EU, Telesur, 22-06-2016 http://www.telesurtv.net/english/news/What-5-Leading-Leftists-Think-About-the-UK-Leaving-the-EU-20160622-0021.html

Brexit, the anti-Grexit, Etienne Balibar, Verso, 28-06-2016  http://www.versobooks.com/blogs/2735-brexit-the-anti-grexit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net