Skip to main content
sharethis

นักสิทธิมนุษยชนจากฟอรัม-เอเชียชี้ว่าการที่ไทยพลาดเก้าอี้ UNSC เรื่องหลักไม่ใช่เพราะสิทธิมนุษยชน เพราะคาซัคสถานก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ปัจจัยหลักอยู่ที่ภูมิศาสตร์การเมืองและความสำคัญของคาซัคสถาน พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผย 'ค่าใช้จ่าย' ที่กระทรวงการต่างประเทศออกเดินสายหวังให้นานาชาติยกมือหนุนไทยนั่ง UNSC

แฟ้มภาพ ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ที่มาของภาพประกอบ: UN Photo/JC McIlwaine)

29 มิ.ย. 2559 จากรายงานกรณีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC แทนตำแหน่งที่ครบวาระรวม 5 ตำแหน่ง ได้แก่ แอฟริกา ละตินอเมริกาและแคริบเบียน เอเชียแปซิฟิก อย่างละ 1 ที่นั่ง และยุโรปตะวันตก 2 ที่นั่ง โดยการดำรงตำแหน่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นระยะเวลา 2 ปี

โดยในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการลงคะแนนรอบ 2 ปรากฏว่า คาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิก UNSC ในสัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อกรณีดังกล่าว พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรัม-เอเชีย (FORUM-ASIA) อธิบายว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Security Council (UNSC) คือองค์กรหลักของสหประชาชาติ ที่มีอำนาจมากทางทหารและการเมือง เพราะมีภาระหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก โดยจะมีอำนาจในการตัดสินใจส่งกองกำลังรักษาสันติภาพหรือกองกำลังทหารไปประเทศที่เป็นภัยคุกคามสันติภาพหรือความมั่นคงของโลก โดย UNSC นั้นเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะมี 5 ประเทศผู้ชนะสงครามที่อยู่ถาวร ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และจะมีอีก 10 ประเทศไม่ถาวรที่ถูกคัดเลือกเข้าไป โดยจะมีวาระครั้งละ 2 ปี  

กรณีที่ไทยแพ้การชิงตำแหน่งที่นั่งสมาชิกประเภทไม่ถาวร UNSC ให้แก่คาซัคสถานนั้น พิมพ์สิริเห็นว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยไม่น่าใช่สาเหตุหลักที่ทำให้พลาดที่นั่ง เพราะคาซัคสถานเองก็มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวมาตั้งแต่ปี 1991 และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพภายในประเทศ จึงเห็นว่า สาเหตุน่าจะมาจากภูมิศาสตร์ทางการเมืองของคาซัคสถานที่อยู่ใกล้รัสเซียและจีนมากกว่า อีกทั้งประเทศจากเอเชียกลางก็ไม่เคยมีบทบาทใน UNSC มาก่อน และถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะดูสนิทกับจีนและรัสเซีย แต่สุดท้ายแต่ละประเทศก็ต้องเลือกผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อน และไทยก็ดูเหมือนจะมีผลประโยชน์น้อยกว่าคาซัคสถาน

พิมพ์สิริยังกล่าวอีกว่า การพลาดที่นั่งใน UNSC อาจบอกได้ว่าภาพลักษณ์ของไทยไม่ดีในสายตานานาชาติ และไทยประเมินสถานการณ์ผิดไป ซึ่งนำไปสู่การใช้งบประมาณของกระทรวงต่างประเทศไปอย่างมากที่ไม่มีการเปิดเผยว่าเอาไปใช้ทำอะไรบ้างหรือใช้ไปเท่าไร ซึ่งประชาชนผู้เป็นคนจ่ายภาษีก็ควรจะเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้

นอกจากนั้นยังมองว่า สาเหตุที่ไทยอยากจะเข้าไปนั่งใน UNSC เพราะไทยพยายามอยากจะมีบทบาทในเวทีโลกเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ประเทศ อีกทั้งทาง คสช. ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าหากได้เข้าไปนั่งใน UNSC ได้ นานาชาติก็จะเข้าใจสถานการณ์ของไทยมากขึ้น

แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะพลาดที่นั่งใน UNSC พิมพ์สิริกลับมองว่าประเทศไทยไม่ต้องรู้สึกอะไรก็ได้ เพราะหากไทยได้เข้าไปอยู่ใน UNSC ก็อาจจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลในการต้องทุ่มงบไปกับกองกำลังทหารมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีที่ฟอรัม-เอเชีย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นานาชาติพิจารณาอย่างระมัดระวังเรื่องการลงมติเลือกไทยเข้าไปอยู่ใน UNSC นั้น พิมพ์สิริกล่าวว่าด้วยจุดยืนของฟอรัม-เอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ทำให้องค์กรต้องแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พัฒนาการทางสิทธิมนุษยชนก็ย่ำแย่ขึ้นทุกวัน อีกทั้งยังไม่มีท่าทีจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นนานาชาติก็ควรจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณาด้วย

ส่วนสถานการณ์ที่ฟอรัม-เอเชีย กำลังติดตามอยู่ตอนนี้คือการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทางฟอรัม-เอเชียเน้นย้ำตลอดในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยิ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 วรรค 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องเป็นปัญหาอย่างแน่นอน

ต่อกรณีภาคประชาชนในไทย พิมพ์สิริเห็นว่า หากภาคประชาชนของไทยอยากได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศที่ชัดเจนในเรื่องของประชาธิปไตย ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือแรงกระเพื่อมภายในประเทศจากภาคประชาชนก่อน เหมือนในกรณีพม่าที่เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงว่าอยากได้รัฐบาลประชาธิปไตย อยากได้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ชาติตะวันตกที่ก่อนหน้าที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหาร ก็มีการปรับท่าที เป็นต้น ดังนั้นอย่าไปตั้งความหวังว่าประเทศอื่นจะเข้ามาช่วย ทุกอย่างอยู่ที่เรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net