Skip to main content
sharethis

ไทยชวดที่นั่งโควตาเอเชีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ 55 เสียง โดยชาติที่ได้เสียงท่วมท้นในการลงคะแนนรอบ 2 คือ คาซัคสถาน ได้ 138 เสียง โดยเป็นชาติเกิดใหม่ในเอเชียกลาง ซึ่งแม้จะประกาศยุติการครอบครองและแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ แต่ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนยังคงย่ำแย่ไม่แพ้ไทย ขณะที่แอฟริกาได้ เอธิโอเปีย ละตินอเมริกาได้ โบลิเวีย ยุโรปได้ สวีเดน - ส่วนเนเธอร์แลนด์กับอิตาลีต้องชิงอีกรอบ

แฟ้มภาพประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ Mogens Lykketoft ในระหว่างการประชุมครั้งหนึ่งของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ที่มา: UN Photo/ Rick Bajornas)

 

28 มิ.ย. 2559 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC แทนตำแหน่งที่ครบวาระรวม 5 ตำแหน่ง ได้แก่ แอฟริกา ละตินอเมริกาและแคริบเบียน เอเชียแปซิฟิก อย่างละ 1 ที่นั่ง และยุโรปตะวันตก 2 ที่นั่ง โดยการดำรงตำแหน่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นระยะเวลา 2 ปี

ผลการลงคะแนนภูมิภาคยุโรปตะวันตก ได้แก่ สวีเดน 134 เสียง ส่วนอีกที่นั่งที่เหลือ ยังไม่มีชาติใดได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ได้ 125 เสียง และอิตาลี ได้ 113 เสียง ทำให้ต้องเลือกกันอีกครั้งหนึ่งในรอบ 2

ภูมิภาคแอฟริกา เอธิโอเปีย ได้คะแนน 185 เสียง โดยเอธิโอเปีย เป็นชาติที่ส่งทหารช่วยภารกิจสหประชาชาติถึง 8,100 นาย และมีบทบาทในความพยายามยุติความขัดแย้งในเซาท์ซูดาน

ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน โบลิเวีย ได้คะแนน 183 เสียง

ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รอบแรก คาซัคสถานได้  113 เสียง ไทยได้ 77 เสียง ซึ่งยังไม่มีชาติใดได้รับเกิน 2 ใน 3 ทำให้ต้องเลือกในรอบที่ 2 ปรากฏว่า คาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซีในสัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ต้องเลือกกันต่อสำหรับที่นั่งสุดท้ายของยุโรปตะวันตก

สำหรับอิตาลี ที่ผ่านมาพยายามลอบบี้อย่างหนักเพื่อที่นั่งใน UNSC โดยอ้างถึงการที่ประเทศเป็นทางผ่านในเมดิเตอเรเนียน มีประสบการณ์รับมือวิกฤตการผู้ลี้ภัย รวมทั้งเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งในลิเบีย ส่วน เนเธอร์แลนด์ พยายามนำเสนอว่าเป็นชาติที่เป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งกลไกด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงมีพันธะกรณีที่จะส่งเสริมความยุติธรรมในระดับนานาชาติ

สำหรับชาติสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ยังไม่หมดวาระ 5 ชาติ ได้แก่ อิยิปต์ ญี่ปุ่น เซเนกัล ยูเครน และ อุรุกวัย

สำหรับชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ชาติ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

 

รมว.ต่างประเทศคาซัคสถานยกเหตุเสนอตัวชิง UNSC หลังสร้างสังคมสันติสุข-ปลอดนิวเคลียร์

อนึ่งในบทความของ Erlan Idrissov รมว.กระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน เผยแพร่ใน The Diplomat เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เขากล่าวถึงเหตุผลที่คาซัคสถานลงสมัครชิงตำแหน่งที่นั่งสมาชิกประเภทไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตอนหนึ่งนอกจากเรื่องที่คาซัคสถานเปลี่ยนผ่านหลังได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1991 จากอดีตสหภาพโซเวียต คาซัคสถานเป็นประเทศที่พัฒนาไปสู่ความทันสมัยและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติด 1 ใน 50 ของโลก เป็นชาติส่งออกพลังงาน และอุตสาหกรรมไฮเทคมีความเติบโตอย่างรวดเร็ว

รมว.ต่างประเทศ คาซัคสถานยังกล่าวด้วยว่า ประเทศของเขาพยายามที่จะสร้างสังคมที่มีความอดทนและสันติสุข ที่ผู้คนที่มีความแตกต่างในเรื่องพื้นเพสามารถแบ่งปันความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศแห่งนี้ซึ่งนับเป็นโจทย์ท้าทายเพราะในภูมิภาคเอเชียกลางมักมีเรื่องขัดแย้งทางเชื้อชาติจนเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้คาซัคสถานยังเป็นชาติที่ยอมสละการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเคยครอบครองมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมทั้งปิดสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ Semipalatinsk ทำให้คาซัคสถานกลายเป็นประเทศที่รณรงค์การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ และยุติการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ เป็นประเทศที่อำนวยให้เกิดการสร้างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียกลาง คาซัคสถานยังเคยใช้เป็นที่ประชุมเพื่อหาทางออกให้กับการยุติโครงการนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน

ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมา ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) และรัฐบาลคาซัคสถาน ได้ลงนามในสัญญาก่อตั้งธนาคารยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำ (low-enriched uranium) แห่งแรกของโลก เพื่อสะสมปริมาณเชื้อเพลิงยูเรเนียมเพื่อให้ป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง และเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

รมว.ต่างประเทศคาซัคสถาน อ้างด้วยว่า ผลของการรณรงค์ดังกล่าวทำให้ประเทศของเขาเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านทุกชาติ และมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับรัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คาซัคสถานเปิดสถานทูตในแอฟริกา ละตินอเมริกา และพัฒนาความสัมพันธ์กับการรวมกลุ่มระหว่างประเทศอย่าง สหภาพแอฟริกัน และ ประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM)

 

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ โต้ รมว.ต่างประเทศคาซัคสถาน ย้ำสถานการณ์สิทธิเลวร้าย

ขณะเดียวกัน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ (HRW) ยังเผยแพร่บทความโดย Hugh Williamson ผู้อำนวยการแผนกยุโรปและเอเชียกลาง และ Mihra Rittmann นักวิจัยแผนกเอเชียกลาง ซึ่งตอบโต้บทความของ รมว.ต่างประเทศคาซัคสถาน โดยชี้ว่า คาซัคสถานเป็นประเทศที่ปิดกั้นเสรีภาพในการรวมตัว การพูด และการชุมนุม และเสรีภาพในการนับถือศาสนา เจ้าหน้าที่ตำรวจกักขังประชาชนนับร้อยที่ชุมนุมในเรื่องสิทธิที่ดินอย่างสงบเมื่อเดือนก่อน นอกจากนี้ยังกักขังสื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชน และมีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง มีนักกิจกรรมหลายสิบคนถูกกล่าวหาว่าเตรียมจัดการชุมนุม ก็ถูกจับขังคุกเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น โดยพวกเขาเหล่านั้นถูกดำเนินคดีหลายข้อหาด้วยกัน

 
นอกจากนี้ยังพยายามทำให้การวิจารณ์รัฐบาลเงียบเสียงลง โดยใช้ข้อกล่าวหาต่อผู้วิจารณ์ว่า "บ่อนทำลายสังคม ชาติ กลุ่มชน ชนเผ่า หรือทำให้เกิดความไม่ลงรอยทางศาสนา" นอกจากนี้รัฐบาลคาซักสถานยังปิดกั้นเสรีภาพสื่อ สื่อมวลชนอิสระและของฝ่ายค้านรัฐบาลเอกก็เผชิญการคุกคามและแทรกแซงการทำงาน มีการใช้ศาลตัดสินเพื่อปิดกั้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์  Stan.TV ไม่ให้ออกอากาศ
 
นอกจากนี้คาซัคสถานซึ่งอ้างเรื่องการปรองดองกันทางศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มีการสร้างข้อจำกัดทำให้ผู้นับถือบางศาสนาไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในพื้นที่กลางแจ้งจำนวนมากถูกปรับเงินเนื่องจากมีการออกกฎหมายที่เข้มงวดเรื่องศาสนาในปี 2554

 

ฟอรัมเอเชียเรียกร้องชาติสมาชิกยูเอ็น หยุดหนุนหลังไทยนั่ง UNSC

ก่อนหน้านี้ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรัมเอเชีย (FORUM-ASIA) ได้เรียกร้องให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ พิจารณาอย่างระมัดระวังกรณีที่ไทยลงสมัครชิงตำแหน่งที่นั่งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC โดยยกเรื่องของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหาร คสช.

แม้บันทึกช่วยจำของทางการไทยจะอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบหลักของสันติภาพและความมั่นคงในโลก และยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้คุณค่าต่อในยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพันธะกรณี อย่างไรก็ตามภายหลังรัฐประหาร สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยก็ถูกจำกัดภายใต้อำนาจของกองทัพ เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบก็ถูกปิดกั้นภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน นอกจากนี้ยังให้อำนาจจับกุม แก่เจ้าหน้าที่ของกองทัพตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 และเพียงสัปดาห์ก่อนเท่านั้น ก็มีนักศึกษาและนักกิจกรรมแรงงาน 13 ราย ถูกจับกุม โดยอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 ซึ่งทำให้การพูดคุยสาธารณะหรือการแจกจ่ายข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ และถ้าผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ถูกตัดสินว่าทำผิดอาจต้องได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปี

ฟอรัมเอเชีย ซึ่งมีสำนักงานที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ยังเรียกร้องต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า หากไทยประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นชาติสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ท้ายรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ที่มีประวัติสิทธิมนุษยชนเลวร้าย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Dailysabah, 2016 June 28 http://www.dailysabah.com/world/2016/06/28/kazakhstan-sweden-ethiopia-and-bolivia-elected-to-un-security-council-for-2017-18

Why Kazakhstan Is Running for a Non-Permanent Seat on the UN Security Council By Erlan Idrissov, The Diplomat, September 25, 2015 http://thediplomat.com/2015/09/why-kazakhstan-is-running-for-a-non-permanent-seat-on-the-un-security-council/

Thailand: There Should Be No seat at the UN Security Council for a Non-Democratic Country with a Troubling Rights Record, 27 June 2016 7:34 pm http://www.forum-asia.org/?p=21099

Kazakhstan’s Security Council Bid and Its Troubling Rights Record, Human Rights Watch, JUNE 27, 2016 https://www.hrw.org/news/2016/06/27/kazakhstans-security-council-bid-and-its-troubling-rights-record

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net