Skip to main content
sharethis

ศาลรธน. วินิจฉัย ม.61 วรรค2 กม.เลือกตั้ง ขัด รธน.หรือไม่พรุ่งนี้ ประยุทธ์ระบุไม่ห่วงยังมีกฏหมายอื่นใช้ได้อีก อัดพวกจ่อล้มประชามติ ถามปชช.หรือยังว่าต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ รองปธ.สนช. ระบุยังมีกม.ดูความเรียบร้อยอยู่ ยังไม่จำเป็นใช้ ม.44

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

28 มิ.ย. 2559 พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.59) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนญพิจารณาวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 หรือไม่ โดยขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะมี 2-3 ขั้นตอน อันดับแรกจะเป็นการแถลงด้วยวาจาของตุลาการแต่ละคนว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร เมื่อแถลงด้วยวาจาครบทุกคนแล้ว จะมีการลงมติเพื่อหาเสียงข้างมาก จากนั้นเมื่อมีมติต่อคำร้องดังกล่าวออกมาแล้ว จะเผยแพร่เป็นเอกสารข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนั้น ในการพิจารณาวันพรุ่งนี้ คณะตุลาการฯ จะไม่มีการออกนั่งบันลังก์ ถือเป็นการประชุมปกติ เนื่องจากสำนวนของคำร้องดังกล่าวถือว่ามีความสมบูรณ์ และเป็นคำร้องที่ไม่มีคู่กรณี จะแตกต่างจากการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองหรือคดีอื่น ๆ

พิมล กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นทื่ เพราะเป็นเพียงการพิจารณาวินิจฉัยตามข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามปกติ

ประยุทธ์ไม่ห่วงยังมีกฏหมายอื่นใช้ได้อีก

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ในวันพรุ่งนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยมาตราดังกล่าว ว่า เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังมีมาตราอื่นและกฎหมายอื่นบังคับใช้ได้อีก โดยไม่ต้องออกเป็นคำสั่งมาตรา 44 เพราะที่ผ่านมายังใช้กฎหมายไม่ครบทั้งหมด ถ้าหากใช้ทุกคำสั่งจะมีความผิดอีกจำนวนมาก

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างเดินตามโรดแมปที่วางไว้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังไม่ได้เตรียมรัฐธรรมนูญไว้ แต่มีคณะทำงานและฝ่ายกฎหมายดูแลอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก และไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม จะต้องยึดประเทศและทำเพื่อประชาชนในประเทศเป็นหลัก ยอมรับว่า สิ่งที่เป็นห่วงในวันลงประชามติ คือความขัดแย้ง จะไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ขอทุกฝ่ายอย่าออกมาใช้อาวุธและความรุนแรง การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น ท่ามกลางบ้านเมืองที่สงบ ไม่มีความขัดแย้ง

“ไม่ใช่ว่าผมบังคับให้ทุกคนต้องผ่านนะ ผมพูดตรงนี้ อย่าไปตีความผิดอีก เอาหลักการมาพูด การเลือกตั้งต้องมีรัฐธรรมนูญ ไม่มีรัฐธรรมนูญไม่ได้ การเลือกตั้งจะจัดได้ ต้องไม่มีความรุนแรง ไม่มีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น หรือทำให้บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ประชาชนทุกคนออกมาลงคะแนนเสียงด้วยความเป็นอิสระ ผมไม่ได้บังคับใครจะเลือกหรือไม่เลือก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อัดพวกจ่อล้มประชามติ ถามปชช.หรือยังว่าต้องการประชาธิปไตยหรือไม่

ส่วนกรณีอังกฤษอาจทำประชามติรอบ 2 ในส่วนของไทยเตรียมการทำประชามติอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า การทำประชามติของอังกฤษกับ ไทยแตกต่างกัน เนื่องจากไทยทำประชามติเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งไม่ต้องคิดว่าหากไม่ผ่านแล้วจะทำประชามติรอบ 2 เพราะกฎหมายของไทยไม่ได้กำหนดไว้

“การรณรงค์ Vote No ต้องไปถามคนที่ต้องการจะล้มประชามติ คนที่บิดเบือนอยู่ทุกวันนี้ และควรถามประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งว่าต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ แต่หากคนไทยต้องการให้ประเทศล้มเหลว ก็แล้วแต่ประชาชน เป็นคนตัดสินใจ” พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว

รองปธ.สนช. ระบุยังมีกม.ดูความเรียบร้อยอยู่ ยังไม่จำเป็นใช้ ม.44

ด้าน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมาตราดังกล่าวด้วยว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการประชามติก็เดินหน้าต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรค 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะชี้เฉพาะข้อความที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาลพิจารณาเท่านั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการทำประชามติและไม่กระทบต่อสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งส่วนอื่น ๆ ของกฎหมายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยก็ยังคงอยู่ แต่หากมาตรา 61 วรรค 2 ทั้งวรรคถูกชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะส่งร่างแก้ไขเข้ามายัง สนช.หรือไม่ หาก กกต.เห็นว่ายังดูแลความเรียบร้อยได้ ก็ไม่มีความจำเป็น และไม่น่าส่งผลกระทบถึงการทำประชามติ
 
ส่วนที่มีการเสนอใช้มาตรา 44 ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์ระหว่างการออกเสียงประชามตินั้น สุรชัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่จำเป็น เพราะยังมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็น ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และไม่มีเจตนาชักจูงความเห็นของประชาชน
 
 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net