วิเคราะห์การเมืองหลังเลือกตั้ง คะแนนเสียงสะท้อนการแบ่งฝ่ายในสเปน

สเปนยังคงมีโอกาสประสบปัญหาความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหลังคราวที่แล้วตกลงกันไม่ได้ นักวิจัยในสเปนเขียนถึงบรรยากาศทางการเมือง การหาเสียงของพรรคฝ่ายซ้าย และลักษณะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของแต่ละพรรคการเมืองที่ต่างก็มีอะไรบางอย่างไม่กินเส้นกัน

28 มิ.ย. 2559 ชาร์ลส์ แกสปาโรวิค นักวิจัยด้านประสาทวิทยาที่อาศัยอยู่ในสเปน เขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสเปนที่ยังคงสภาพการณ์แบบเดิมคือพรรครัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาชนหรือพีพี (PP) สามารถชนะคะแนนได้แต่ไม่มี ส.ส. ในสภามากพอจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ยังเคยเกิดขึ้นช่วงเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว จากการที่ปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองดั้งเดิม 2 พรรค คือพรรคพีพีและพรรคสังคมนิยมพีเอสโออี (PSOE) ต่างก็สูญเสียความนิยมอย่างหนัก เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่ๆ ทั้งฝ่ายซ้ายอย่างโปเดมอส และฝ่ายขวาอย่างซิวดาดานอสแย่งคะแนนเสียงไป

แกสปาโรวิค ระบุถึงการขับเคี่ยวกันทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งช่วงเดือน ธ.ค. 2558 ว่ามีการสาดโคลนและสาดสโลแกนใส่กัน พวกพรรคชั้นนำทั้งหลายมีการเจรจากับพรรคอื่นเพื่อตั้งเป็นพรรคแนวร่วมอยู่หลายหน ในขณะที่พวกเขาใช้รัฐสภาที่ยังไม่สามารถใช้การได้เป็นเวทีกล่าวหากันถึงข้อผิดพลาดของแต่ละฝ่าย มีการอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อนนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ทำให้มีการแบ่งขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้ชมเลิกให้ความสนใจและในที่สุดสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปนผู้ทำหน้าที่เสมือนกรรมการในระบอบการเมืองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของสเปนก็ทรงประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา

แกสปาโรวิค ประเมินในเรื่องผลคะแนนเสียงว่า ขณะที่ฝ่ายขวาเสรีนิยมใหม่อย่างซิวดาดานอสสูญเสียคะแนนนิยมให้กับพรรคพีพีซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่กว่า ขณะที่ในฝ่ายซ้าย พรรคเก่าอย่างพีเอสโออีก็สูญเสียคะแนนเสียงให้กับแนวร่วมฝ่ายซ้าย ซึ่งนำโดยพรรคฝ่ายซ้ายอย่างโปเดมอส แต่ผลโดยรวมออกมาก็คล้ายกับช่วงเดือน ธ.ค.

ถึงแม้ว่าผลโพลล์ก่อนหน้านี้จะระบุว่าพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคสายเขียวมีโอกาสที่จะทำคะแนนแซงหน้าพรรคพีเอสโออีขึ้นมาเป็นอันดับสองแต่ผลจริงๆ ออกมาไม่เป็นเช่นนั้น พรรคพีพียังคงได้ที่หนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เสียงข้างมากในสภา พรรคพีเอสโออียังคงตามมาเป็นอันดับสอง และพรรคโปเดมอสได้อันดับที่สามโดยได้ที่นั่งในสภามากกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย โดยได้เท่ากับจำนวนเดิมบวกกับจำนวนที่นั่งของพรรคไอยูในช่วงเดือน ธ.ค. 2558 โดยที่ในตอนนั้นยังไม่ได้รวมกันเป็นพรรคแนวร่วม

ผลที่ออกมาเช่นนี้ทำให้การตั้งพรรคแนวร่วมรัฐบาลมีความยุ่งยากไม่แพ้การเลือกตั้งครั้งที่แล้วแต่ก่อนหน้านี้พรรคใหญ่ทั้ง 4 พรรคก็ให้คำมั่นว่าจะตั้งพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกแม้ว่าจะมีความไม่พอใจต่อกันก็ตาม อย่างไรก็ตามเหล่าผู้นำพรรคโปเดมอสเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนว่าพวกเขายอมรับว่าผิดหวังต่อผลที่ออกมาและมองในแง่ร้ายว่าคงไม่ได้พรรคร่วมรัฐบาลสายหัวก้าวหน้า

แกสปาโรวิค ระบุว่าถ้าหากพรรคการเมืองทำตามสัญญาที่ให้ไว้จริง จะมีเพียงสองหนทางเท่านั้นคือการรวมพรรคพีพีกับพรรคพีเอสโออี หรืออีกหนทางหนึ่งคือพรรคพีเอสโออี-ยูนิดอส โปเดมอส-ซิวดาดานอส อย่างไรก็ตามกลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายได้รวมเอาพรรคสนับสนุนแบ่งแยกดินแดนคาตาลุนญาซึ่งพรรคพีเอสโออีรับไม่ได้ แม้ว่าพรรคเหล่านั้นอาจจะไม่เข้าร่วมและไม่ลงคะแนนในสภาก็ตาม ทำให้เหลือแต่โปเดมอสที่ไม่ได้มีแนวร่วมแต่พวกเขาก็คงจะยอมรับพรรคซิวดาดานอสได้ยาก

แกสปาโรวิค ชี้ถึงปัญหาของโปเดมอสเองว่าพวกเขาไม่ยอมร่วมมือกับฝ่ายขวาในแง่ใดเลย เว้นแต่อาจจะได้แรงจูงใจในเชิงได้เข้าร่วมรัฐบาลระดับบนพวกเขาแสดงออกว่าอยากให้มีการเลือกตั้งใหม่มากกว่าเพื่อที่จะโค่นล้มพรรคพีเอสโออีเพื่อสถาปนามาตรฐานใหม่ของพรรคฝ่ายซ้าย

พรรคอย่างพีพีก็มีเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องรวมถึงเรื่องที่ถูกแฉจากเอกสารปานามาทำให้รัฐมนตรีรายหนึ่งถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง การถูกเปิดโปงเรื่องบทสนทนาการสมคบคิดของรัฐมนตรีในเรื่องที่จะพยายามขุดคุ้ยอดีตของผู้นำฝ่ายเรียกร้องเอกราชของคาตาลุนญาและผู้นำชุมชนปกครองตัวเองจากพรรคพีเอสโออีเพื่อทำลายชื่อเสียงของพวกเขาในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตราการว่างงานสูงมากรองจากประเทศที่ถูกอียูโบยตีอย่างกรีซ และมีทีท่าว่าถ้าหากพรรคพีพีชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะมีการใช้มาตรการลดงบประมาณสวัสดิการประชาชนหนักขึ้นหลังจากที่จดหมายการติดต่อกันระหว่างประธานาธิบดีมาริอาโน ราฮอย กับประธานสหภาพยุโรป ฌอง คล็อด จังซ์เคอร์ รั่วไหลออกมาเผยให้เห็นว่าราฮอยไม่คิดจะยับยั้งการตัดงบประมาณตามที่สัญญาไว้ในการหาเสียง

แต่ดูเหมือนว่าฐานเสียงของพรรคพีพีจะไม่ฟังซึ่งแกสปาโรวิคมองว่าผู้สนับสนุนพรรคบางคนคงคิดว่าอยากจะได้ฟังคำโกหกที่ฟังแล้วสบายใจหรือบางคนก็บอกว่าพรรคอื่นๆ ก็จะทำแบบเดียวกันอยู่ดี

แกสปาโรวิคตั้งข้อสังเกตอีกว่าผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ค่อยพยายามรักษาภาพลักษณ์ที่ดีเท่าไหร่ในระหว่างการเลือกตั้งสองครั้ง มีผลโพลล์ระบุว่าคนส่วนใหญ่มองว่า ผู้ลงสมัคร ส.ส.เหล่านี้ไม่จริงใจหรือไม่ยืดหยุ่น พรรคพีเอสโออีเองก็เคยมีประวัติไม่ดีในการเป็นผู้เริ่มตัดงบประมาณหลังจากปี 2551 ตามคำสั่งของอียู ขณะที่พรรคโปเดมอสที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 2557 ในนามของการต่อต้านระบบชนชั้นแบบเก่าก็ต้องรับศึกสองด้าน จากที่มีฝ่ายซ้ายบางส่วนกล่าวหาว่าพวกเขาจะสถาปนา "ระบบชนชั้นแบบใหม่" จากการที่หัวหน้าพรรคอย่างปาโบล อิกเลเซียส ดำเนินการภายในพรรคโดยอาศัยอำนาจของตัวเอง นอกจากนี้ทั้งฝ่ายขวาและนักสังคมนิยมยังแปะป้ายให้โปเดมอสเป็นพรรคสายปฏิวัติโบลิวาร์ จากที่หัวหน้าพรรคเคยติดต่อปรึกษาหารือกับรัฐบาลของฮูโก ชาเวซ ในเวเนซุเอลาช่วงก่อนการตั้งพรรค นอกจากนี้พวกเขายังร่วมกับพรรคไอยูซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีพื้นเพมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกยุบ

แต่แกสปาโรวิคก็เล่าว่า มานาโล วิลลาร์ เลขาธิการพรรคไอยูเคยบอกกับเขาในการหาเสียงว่าพวกเขาไม่ได้จะเรียกร้องให้ปฏิวัติทุนนิยมหรืออะไรแบบนั้น ในความเป็นจริงแล้วพรรคแนวร่วมยูนิดอส โปเดมอส อ้างถึงบารัก โอบามา มากกว่าคาร์ล มาร์กซ์ ในเรื่องแผนการเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ

โดยแผนการของพวกเขาคือกระตุ้นการใช้จ่ายแต่การเป็นสมาชิกภาพอียูทำให้พวกเขาไม่สามารถพิมพ์เงินและขายพันธบัตรเองได้แบบสหรัฐฯ พวกเขาจึงบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าจะหาเงินจากการขึ้นภาษี ต่างจากพรรคอื่นๆ ที่จะพยายามไม่พูดถึงเรื่องนี้ โปเดมอสบอกว่าจะขึ้นภาษีในคนระดับสูง และภาษีรายได้จากการลงทุน โดยมีข้องดเว้นภาษีน้อยลง โดยจะนำไปใช้ในเรื่องการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งระดับเล็กและใหญ่ ใช้กับการวิจัยวิทยาศาสตร์ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวแก่คนที่ไม่มีงานทำและคนที่จนมากๆ ซึ่งจะเป็นการใช้เงินให้หมุนกลับไปยังเศรษฐกิจท้องถิ่น

วิลลาร์บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และพวกเขาจะต้องทำงานร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในประเทศ พรรคโปเดมอสเน้นเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่มีความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงาน

แน่นอนว่าสถานการณ์ต่างๆ ในยุโรปทั้งวิกฤตเศรษฐกิจกรีซและการลงประชามติออกจากอียูของอังกฤษชวนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่แกสปาโรวิคก็ระบุว่าคำกล่าวปราศรัยของหัวหน้าพรรคโปเดมอสมีทั้งการมองโลกในแง่ดีและความคิดปฏิบัตินิยมไปพร้อมๆ กัน อิกเลเซียสบอกว่าพรรคของพวกเขาต้องมองผลการเลือกตั้งอย่างพิจารณาจริงจังและสื่อสารแนวคิดของพวกเขาออกไปได้ดีกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักในความคิดของแกสปาโรวิค พวกเขาต้องทำให้ประชาชนที่กำลังมองโลกในแง่ร้ายมองไปข้างหน้าให้เห็นอนาคตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการกำกับชี้นำของอียูหรือสถาบันทางการเงินอย่างสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ พวกเขาต้องยกเลิกกฎหมายแรงงานเดิมที่ทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกกดขี่และตกเป็นเหยื่อของตลาดการเงินระดับโลกได้

พรรคโปเดมอสต้องพยายามเปลี่ยนใจชาวสเปนส่วนใหญ่ให้ได้ว่าการลงทุนพลังงานหมุนเวียน การวิจัย และการศึกษาที่สร้างงานดีๆ ให้กับแรงงาน ซึ่งหมายถึงงานที่ไม่ทำให้พวกเขาเป็นแค่สินค้าที่ใช้แล้วทิ้งแต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในประชาธิปไตยที่โปร่งใสและอุดมสมบูรณ์

มานาโล วิลลาร์ กล่าวต่อแกสปาโรวิคโดยอ้างจากคำคมของนักเขียนโปรตุเกส โฮเซ ซารามาโก ที่เขาเขียนถึงอารมณ์ชนะ-พ่ายแพ้ ของการต่อสู้ฝ่ายก้าวหน้าว่า "ความพ่ายแพ้มีแง่บวกของมันอยู่คือมันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และชัยชนะก็มีแง่ลบของมันอยู่คือมันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน"

 

เรียบเรียงจาก

No Change in Spain: New Vote Reflects a Still Divided Electorate, Charles Gasparovic, Common Dreams, 26-06-2016
http://www.commondreams.org/views/2016/06/26/no-change-spain-new-vote-reflects-still-divided-electorate

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท