Skip to main content
sharethis

ปฏิกิริยาหลังจากผลประชามติในสหราชอาณาจักรเพื่อแยกจากสหภาพยุโรป แม้คะแนนคนรุ่นหนุ่มสาวจะเทมาให้ฝั่งที่จะอยู่กับอียูต่อถึงร้อยละ 75 แต่ก็ไม่พอเมื่อคนวัยอาวุโสเทคะแนนมาทางฝั่งแยกตัว และประเทศในเครือสหราชอาณาจักรอย่างสกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือก็ยื่นข้อเสนอทำประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมกับอียูต่อไป

(ซ้าย) ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเรื่องการแยกตัวจากสหภาพยุโรป เมื่อ 23 มิถุนายน 2559 โดยแบ่งตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ (ขวา) ธงยูเนียนแจ็กของสหราชอาณาจักร คู่กับธงของสหภาพยุโรป ที่อาคารแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่มาของภาพประกอบ: 1) Mirrorme22/Nilfanion/Wikipedia และ 2) Dave Kellam/Flickr/Wikipedia (CC.BY-SA 2.0)

 

25 มิ.ย. 2559 - มีคนหนุ่มสาวผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่าเขาโกรธมากที่ผลออกมาเป็นแบบนี้ เนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการศึกษาฟรี สวัสดิการบำนาญที่ดี ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม กลับโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปจนเป็นการตัดอนาคตของคนรุ่นพวกเขา

มีอีกความคิดเห็นหนึ่งที่ได้รับการแชร์ต่ออย่างกว้างขวางมากเป็นความคิดเห็นในเว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่าถ้าหากอังกฤษออกจากสมาชิกภาพอียูจะทำให้คนหนุ่มสาวอย่างพวกเขาเสียโอกาสในการใช้ชีวิต ทำงาน พบปะเพื่อนฝูงหรือคนรักกับคนอีก 27 ประเทศ เนื่องจากเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขาถูกคนรุ่นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายายของพวกเขาพรากไป จากเดิมที่คนรุ่นพวกเขาต้องแบกรับภาระหนี้สินอยู่แล้ว

สื่ออังกฤษอย่างเทเลกราฟและดิอินดิเพนเดนต์ ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ลงประชามติที่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวอายุ 18-25 ปี ส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้สหราชอาณาจักรยังเป็นสมาชิกอียูต่อไป ขณะที่กลุ่มคนสูงอายุจะลงคะแนนให้สหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพอียูมากกว่า จากข้อมูลของ YouGov ระบุว่าคนช่วงวัย 18-25 ปีลงมติให้เป็นสมาชิกภาพอียูมากถึงร้อยละ 75 เทียบกับคนช่วงอายุ 50-64 ปี มีผู้โหวตอยู่ต่อร้อยละ 44 และคนอายุมากกว่า 65 ปีขึนไปโหวตอย่ต่อร้อยละ 39

หลังการลงประชามติมีกลุ่มวัยรุ่นพากันเดินขบวนประท้วงไปถึงที่ลานอาคารรัฐสภาใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อแสดงความไม่พอใจผลประชามติ มีป้ายระบุว่า "คะแนนเสียงของพวกเราไปไหน" "อนาคตของเรา ทางเลือกของเรา" และ "พวกเราไม่ใช่ชาวอังกฤษ พวกเราเป็นชาวยุโรป"

ไม่เพียงแค่คนหนุ่มสาว การลงประชามติในครั้งนี้ยังมีการเก็บสถิติแสดงให้เห็นว่าผู้คนในกรุงลอนดอน ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ และในสกอตแลนด์ และพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงยิบรอลตาร์ มีผู้โหวตต้องการอยู่กับอียูมากกว่าผู้โหวตออกจากอียู โดยเฉพาะยืบรอลตาร์ที่มีผู้โหวตคงอยู่กับอียูมากถึงร้อยละ 95.9 และในสกอตแลนด์มีผู้โหวตคงอยู่กับอียูถึงร้อยละ 62

นิโคล่า สเตอร์เจียน มุขมนตรีของสกอตแลนด์ ประกาศว่ามีแผนการประชามติให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชครั้งที่ 2 โดยกล่าวว่ามันเป็นเรื่อง "ยอมรับไม่ได้ในทางประชาธิปไตย" ที่สกอตแลนด์จะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียูทั้งที่คนในสกอตแลนด์ส่วนใหญ่ยังคงต้องการร่วมกับอียู

ทางด้านพรรคการเมืองสายเขียวในสกอตแลนด์ก็มีการล่ารายชื่อออนไลน์เรียกร้องให้รัฐบาลของสกอตแลนด์ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็ตามใช้ทุกวิถีทางในการทำให้สกอตแลนด์ยังคงอยู่กับสหภาพยุโรปรวมถึงการให้รัฐบาลเป็นตัวแทนเจรจาหารือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

มาร์ติน แมคกินเนส รองมุขมนตรีไอร์แลนด์เหนือเรียกร้องให้มีการลงประชามติรวมประเทศไอร์แลนด์ให้เป็นประเทศเดียวจากที่ไอร์แลนด์เหนืออยู่ในประเทศภายใต้สหราชอาณาจักรแยกจากประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่อยู่ติดกัน โดยที่แมคกินเนสกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนทำความผิดพลาดตั้งแต่ยอมให้มีการลงประชามติในประเด็นสหภาพยุโรปแล้ว

กรุงลอนดอนเองก็มีคนจำนวนมากโหวตให้คงอยู่กับอียูต่อไปและมีการล่ารายชื่อให้ลอนดอนเข้าร่วมกับอียูอย่างเป็นเอกเทศ มีผู้ลงนามแล้วมากกว่า 50,000 รายชื่อ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้คนในสหราชอาณาจักรมากกว่า 700,000 คน ลงนามในการรายชื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติเรื่องการออกจากอียูเป็นครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาญาจักรจะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ พยายามออกจากการเป็นสมาชิกภาพไปด้วย โดยในวันเดียวกับการประกาศผลประชามติในสหราชอาณาจักร พรรคการเมืองฝ่ายขวาในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสที่มีท่าทีต่อต้านผู้อพยพเรียกร้องให้มีการทำประชามติแบบเดียวกับในสหราชอาณาจักร โดยอ้างเรื่องอธิปไตยของชาติและใช้วาทกรรมกีดกันผู้ลี้ภัยและเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลในการเป็นข้ออ้างทำประชามติ

ทางด้าน เจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานอังกฤษแสดงความคิดเห็นต่อเรื่อง Brexit ว่าถึงแม้สหภาพยุโรปจะขาดประสิทธิภาพแต่การอออกจากอียูไม่ใช่การแก้ปัญหา ควรจะแก้ปัญหาด้วยการทำงานร่วมกับพรรคสายก้าวหน้าอื่นๆ ในยุโรปเพื่อผลักดันให้เกิดการตรวจสอบการทำให้อียูมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมๆ กับการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีสิทธิแรงงาน

นอกจากเรื่องความหวาดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผลแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษตัดสวัสดิการและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ส.ส.พรรคแรงงาน ไดแอน แอบบอต ก็กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาของสหราชอาณาจักรเองมากกว่ามากจากอียู และปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับระบบที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชนชั้นทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ การย้อนกลับไปสู่อดีตไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีส่วนเชื่อมโยงกับโลกในปัจจุบันได้

นักเขียนฟรีแลนซ์ชื่อ ริอานนอน ลูซี คอสส์เลตต์ เขียนบทความถึงกรณีความโกรธ ความไม่พอใจ ของคนหนุ่มสาวต่อผลประชามติในครั้งนี้ โดยระบุว่าคนหนุ่มสาวที่เข้าไปใช้สิทธิสมควรแล้วที่จะรู้สึกไม่พอใจ แต่ก้อย่าให้เรื่องนี้มาทำให้พวกเขาหมดแรงจูงใจในการโหวตครั้งต่อๆ ไป ถึงแม้ว่าพวกเขาจะแพ้การลงคะแนนโดยรวมแต่คะแนนโหวตของพวกเขาก็เป็นการส่งสารแสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวอย่างพวกเขาต้องการอยู่ในประเทศแบบไหน จึงขอให้เก็บพลังนี้ไว้ใช้กับการโหวตครั้งต่อไป และให้รำลึกไว้เสมอว่ามีคนหนุ่มสาวร้อยละ 75 ที่เชื่อแบบเดียวกัน

 

เรียบเรียงจาก

Where was the EU referendum won and lost? Northern Ireland, Scotland and London only areas not to vote for Brexit, The Telegraph, 24-06-2016 http://www.telegraph.co.uk/news/2016/06/24/what-can-we-learn-from-the-eu-referendum-results/

Dutch, French far-right parties call for EU referenda, Aljazeera, 24-06-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/06/dutch-french-parties-call-eu-referenda-160624133658612.html

Cross-party plan of action needed to defend Scots' rights as EU citizens, Green Party Scotland, 24-06-2016 https://greens.scot/news/cross-party-plan-of-action-needed-to-defend-scots-rights-as-eu-citizens

The dispossessed voted for Brexit. Jeremy Corbyn offers real change, Diane Abbott, The Guardian, 24-06-2016 https://www.theguardian.com/commentisfree/2016/jun/24/brexit-dispossessed-jeremy-corbyn-diane-abbott-new-left

Edward Snowden questions the future of the UK after it votes for Brexit, The Independent, 24-06-2016 http://www.independent.co.uk/news/people/brexit-eu-referendum-edward-snowden-questions-future-of-united-kingdom-a7101641.html

If you’re young and angry about the EU referendum, you’re right to be, Rhiannon Lucy Cosslett, The Guardian, 24-06-2016 https://www.theguardian.com/commentisfree/2016/jun/24/young-angry-eu-referendum

Brexit: Young people gather at Parliament in protest at not being given EU referendum vote, The Independent, 25-06-2016 http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/brexit-eu-referendum-latest-protest-young-people-parliament-vote-a7101701.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net