รายงานจากยูทาห์: ดาไล ลามะ: สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ไม่ใช่การภาวนา

ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ดีแล้ว พอใจกับสิ่งที่เห็น เป็นประเพณีของเรา ก็คงจะไม่มีความก้าวหน้า การตั้งคำถาม มีจิตใจที่เปิดกว้าง และความสงสัย ทำให้เกิดคำถาม คำถามทำให้เกิดความพยามในการหาคำตอบ แต่ถ้าเราพอใจ เราคิดว่าเรารู้ทุกอย่าง ก็คงไม่สามารถจะมีความก้าวหน้านอกเหนือจากนี้ไปได้

 

สันติภาพจะเกิดขึ้นเมื่อลงมือทำ ไม่ใช่เมื่อภาวนา

 

มนุษย์เป็นคนสร้างความรุนแรงและมีหน้าที่รับผิดชอบในการยุติความรุนแรง

ดาไล ลามะ องค์ที่ 14 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อเรื่องความเมตตาและความรับผิดชอบต่อทุกสรรพสิ่ง (Compassion and Universal Responsibility) ท่านได้ตั้งคำถามสำคัญกับสันติภาพ โดยกล่าวว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ไม่ใช่การภาวนา มนุษย์เป็นคนสร้างความรุนแรงและมีหน้าที่รับผิดชอบในการยุติความรุนแรง

ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ เมืองซอลต์เลกซิตี สหรัฐอเมริกา องค์ดาไล ลามะ เดินทางมาแสดงปาฐกถา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 หลังจากที่ต้องยกเลิกงานเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ บัตรเข้าชมขายหมดภายในเวลาเพียงสองชั่วโมงหลังจากเปิดจอง

 

คลิปวิดีโอขณะท่านดาไล ลามะ เดินขึ้นบนเวที

ในวันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยยูทาห์ นายเดวิด เพอร์ชิ่ง ได้มอบรางวัลที่เป็นเกียรติสูงสุด The Presidential Medal ในฐานะที่ท่านได้มีบทบาทในการส่งเสริมให้สังคม มีการพูดคุยและทำให้เกิดความเข้าใจ ที่สร้างความกระจ่าง ความอดทน และการเปลี่ยนแปลงในทางบวก อธิการบดีกล่าวเพิ่มเติมว่าท่านดาไล ลามะ ไม่จำเป็นต้องคล้องเหรียญนี้เพราะอาจจะหนัก แต่ท่านดาไล ลามะได้รับมาคล้องคอ พร้อมทั้งกล่าวว่า “ไม่หนักนี่ ไม่มีปัญหา” และชี้ไปที่หมวกที่มีโลโก้มหาวิทยาลัย ท่านกล่าวว่า “ขอหมวกหน่อย แสงไฟแรง หมวกนี้เหมาะมาก” เรียกเสียงเชียร์และเสียงปรบมือจากผู้ฟังทั้งสนาม ขณะนี้เราจะเห็นท่านดาไล ลามะ และโลโก้ตัวยูของมหาวิทยาลัยทั้งบนเหรียญและหมวกบนตัวท่าน
 

 

 

Look who's rockin' the U swag. Watch His Holiness the 14th #DalaiLama right now on our live stream at Utah.edu/live. #UofU #universityofutah

รูปภาพที่โพสต์โดย The University of Utah (@universityofutah) เมื่อ

 

เนื่องจากมีผู้เข้าฟังในวันนี้เป็นจำนวนกว่า 12,000 คน มีมาตรการรักษาความปลอดภัยก่อนเข้าฟังทำให้แถวยาว และใช้เวลานานกว่าผู้เข้าชมเข้าถึงที่นั่ง ท่านดาไล ลามะ กล่าวว่าท่านเพิ่งทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าหลายคนยังต่อแถวอยู่ ท่านจึงได้เสนอว่า ปกติจะตอบคำถามหลังจากพูด แต่วันนี้จะตอบคำถามก่อนเพื่อรอผู้ชมที่กำลังต่อแถวอยู่ อธิการบดีจึงถามคำถามที่คนส่งมาทางอินเทอร์เน็ต มีคำถาม จากผู้ถามที่พ่อเพิ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายว่า ท่านมีคำตอบหรือคำปลอบในเรื่องของการเดินทางของจิตวิญญาณ หลังจากที่พ่อได้จบชีวิตตัวเองอย่างไร ท่านดาไล ลามะตอบว่า “เป็นเรื่องเศร้า แต่ว่าความเศร้าไม่สามารถนำพ่อคุณกลับมาได้ ข้าพเจ้าก็มีอาจารย์หลายคน และท่านเหล่านี้เหมือนหินที่สามารถจะพักพิงได้ แต่หลังจากท่านจากไป เราก็ต้องสร้างความเข้มแข็ง

"ถ้าคุณยังรู้สึกเศร้า พ่อคุณก็อาจจะเศร้า แต่ถ้าคุณสามารถจะทำให้ชีวิตมีความหมาย ท่านก็อาจจะมีความสุข แต่ถ้าถามว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็จะตอบยากหน่อยเพราะว่ามีหลายความเชื่อทางศาสนา อาจจะซับซ้อนหน่อย” เรียกเสียงหัวเราะจากคนดู (รัฐยูทาห์เป็นรัฐที่มีคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายแอลดีเอส หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม มอร์มอน และเป็นกลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่ในวันนี้)

คำถามที่สองเป็นคำถามจากนักศึกษาปริญญาเอกที่ถามว่าในฐานะที่ท่านสนใจวิทยาศาสตร์ ท่านคิดว่า บทบาทของวิทยาศาสตร์และการศึกษาสมัยใหม่ มีส่วนในการสร้างความรับผิดชอบต่อทุกสรรพสิ่งอย่างไร

ท่านตอบว่านักวิทยาศาสตร์ หันมาสนใจศึกษาเรื่องสมอง หรือทำอย่างไรให้จิตใจสงบ ความโกรธ ความกลัว ทำลายความสงบในใจ และมีผลต่อร่างกาย จึงหันมาสนใจศึกษาความเมตตา ความรัก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของลักษณะร่วมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราทุกคนต้องการความสุข มีความปรารถนา มีสิทธิ ทัศนคติเหล่านี้สำคัญต่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

“นักวิทยาศาสตร์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก เป็นคนใจกว้าง และเปิดกว้าง ไม่มีอคติ เป็นกลาง ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์จริง ทัศนคติเหล่านี้สำคัญเพราะว่ามันช่วยทำให้เกิดความรู้ และพัฒนางานวิจัย ทำให้เกิดความรู้ลึกซึ้ง…แต่ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ดีแล้ว พอใจกับสิ่งที่เห็น เป็นประเพณีของเรา ก็ไม่ต้องมีความก้าวหน้า การตั้งคำถาม มีจิตใจที่เปิดกว้าง และความสงสัย ทำให้เกิดคำถาม คำถามทำให้เกิดความพยามในการหาคำตอบ แต่ถ้าเราพอใจ เราคิดว่าเรารู้ทุกอย่าง ก็คงจะไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านี้” ท่านยังกล่าวเสริมว่าตอนนี้ท่านอายุ 81 ปีแล้วแต่ก็ยังเป็นนักเรียนและต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

หลังจากตอบคำถามและกำลังจะเริ่มปาฐกถา ท่านถามผู้ชมว่า “ก่อนอื่นมองดูจากเหรียญและหมวกที่ใส่อยู่นี้ คุณคิดว่าข้าพเจ้าฉลาดหรือว่า...แปลก” และหัวเราะ เป็นคำถามที่เรียกเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือจากผู้ชม

 

 

ทวีตจากหนึ่งในผู้ชม ที่บอกว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขัน ถ่อมตัว ฉันรักท่าน

 

ประเด็นสำคัญของปาฐกถาในวันนี้คือความเมตตาและหน้าที่รับผิดชอบต่อทุกสรรพสิ่ง ท่านกล่าวว่าทุกครั้งที่ท่านพูดจะเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเหมือนกัน มีอารมณ์ จิตใจและร่างกาย แต่มีความแตกต่างออกไป ท่านเป็นเพียงพระธรรมดา มนุษย์มีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ แม้แต่ศัตรูของเราก็ปรารถนาเช่นนั้น การเดินทางออกจากทิเบตมาลี้ภัยที่อินเดียทำให้ท่านได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรปและพบปะผู้คนและสังคมที่หลากหลาย ท่านตระหนักว่าแม้แต่ในประเทศที่มีความสะดวกสบายและความเจริญทางวัตถุก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเป็นสังคมที่มีความสุข ท่านคิดว่าความคิดเรื่องมนุษย์ควรจะมองในมุมของการเป็นประชาชนของโลก มีความรับผิดชอบต่อทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือสิ่งอื่นๆ สัตว์ แมลง ซึ่งมีความปรารถนาอยากที่จะอยู่โลกนี้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรเราจะพัฒนาจิตใจให้รู้สึกห่วงใยเพื่อนมนุษย์คนอื่นเหมือนกับเราห่วงใยตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่เพียงความคิดความเชื่อหรือคำสอนทางศาสนา และความเมตตาซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์จะทำให้เรามีความหวัง เราควรจะริเริ่มที่จะลงมือทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ท่านได้เชิญชวนให้คนพยายามที่จะสร้างสันติภาพในศตวรรษนี้ โดยเริ่มจากความพยายามที่จะลุกขึ้นลงมือทำ ด้วยความกระตือรือร้นและ “ถ้าเริ่มทำในตอนนี้ ศตวรรษนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีสันติภาพและความสุข” การคิดว่าคนๆ เดียวจะทำอะไรก็ไม่เกิดผลนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และสังคมจะต้องเริ่มจากระดับบุคคล คนๆ เดียวแต่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นจะทำให้เกิดครอบครัว ที่จะขยายไปจากหนึ่งเป็นสิบและขยายไปสู่ระดับเมืองและสังคม

 

ผู้ชมทวีตว่า ท่านเป็นคนรู้แจ้งแต่ถ่อมตัว

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการปาฐกถาคือเรื่องความรุนแรงและสันติภาพ ท่านกล่าวว่าความรุนแรงนั้นล้วนเกิดมาจากอัตตา และยึดตัวตนเป็นใหญ่ ไม่สนใจผู้อื่น ท่านถามว่าใครเป็นคนสร้างความรุนแรงหรือทำลายสันติภาพ ไม่ใช่พระเจ้า แต่ว่าเป็นคุณนี่เอง “ดังนั้นคุณมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหาความรุนแรงนี้ เพราะคุณสร้างมันขึ้นมา

การแก้ปัญหาไม่ใช่โดยวิธีสวดมนต์” ท่านเป็นพระ ท่านสวดมนต์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของท่าน แต่ท่านอธิบายว่า “สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็จากการกระทำของเรา ไม่ใช่จากการสวดมนต์ภาวนา แต่ว่าการสวดมนต์ภาวนานั้นไม่ใช่คำตอบของสังคมและโลกใบนี้” การสวดมนต์ไม่ได้มีความหมายมากนัก เพราะว่าเราสวดมนต์กันมาเป็นพันๆ ปี แต่ว่าท่านสงสัยว่าการสวดมนต์คงจะไม่ค่อยทำให้เกิดผลดีมากนัก ถ้าทุกคนสวดมนต์ขอพรพระเจ้า พระเจ้าอาจจะลำบากใจว่าจะช่วยคนนั้นหรือคนนี้ดี เพราะทุกคนก็สวดมนต์ การสวดมนต์อย่างเดียวไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

ในโอกาสนี้ท่านยังได้พูดภาษาทิเบตกับคนทิเบตร่วมนั่งฟังในวันนี้ แต่ได้เอามือป้องปากบอกผู้ชมคนอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า สิ่งที่ท่านจะคุยเป็นความลับ เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อีกครั้ง

ล่ามได้แปลให้ผู้ฟังว่าท่านดาไล ละมา บอกคนกับคนทิเบตว่า ทิเบต มีวัฒนธรรมมายาวนานกว่า สองพันปี แต่ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะประสบกับวิกฤตเท่าในปัจจุบัน แต่อุปสรรคในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความสามารถในการฝ่าฟันอุปสรรค ในอดีตนั้นชาวทิเบตได้ตกอยู่ในความขัดแย้งในเรื่องเล็กๆ น้อย และมีความขัดแย้งกับทางศาสนาจักร ความขัดแย้งกับพุทธกลุ่มต่างๆ และไม่ได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถในการรับมือกับอุปสรรค และครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ชาวทิเบตจะได้แสดงความสามารถนั้น รักษามรดกทางวัฒนธรรม ที่มีรากฐานมาจากศาสนาพุทธและจากอินเดีย ซึ่งเป็นมรดกที่มีความสำคัญต่อชาวทิเบตและชาวโลก จากการที่ท่านลี้ภัยในต่างประเทศทำให้ท่านได้พบปะผู้คนมากมายจากหลากหลายที่ และระลึกถึงมรดกทางวัฒนธรรมของทิเบตและเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่จะสามารถแบ่งปันกับคนอื่นทั่วโลกได้ เช่น ความคิดในเรื่องความเมตตา ความเข้าใจ ความเอื้อเฟื้อ ความรัก และสิ่งสำคัญที่อยู่ในมรดกทางวัฒนธรรมของทิเบต คือความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยา ที่จะสามารถร่วมแบ่งปันกับชาวโลกได้

“ข้าพเจ้าอยากให้ชาวทิเบตทราบเรื่องเหล่านี้และตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้ปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรม ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ไม่ควรหมดหวัง เพราะว่าความหมดหวังไม่เคยนำไปสู่ความสำเร็จ เราจะต้องมีความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ ในทิเบตเอง ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ผ่านไปถึงสามชั่วอายุคน ชาวทิเบตยังคงเข้มแข็ง สิ่งที่ทำให้ชาวทิเบตยังคงมุ่งมั่นคือคำสอนทางพุทธศาสนา ที่คนรุ่นหลังจะสามารถร่วมกันสืบต่อ หัวใจของมรดกทางวัฒนธรรมของทิเบต คือความคิดในเชิงวิพากษ์ ที่คนรุ่นหลังจะสามารถมีความภูมิใจและเข้าใจความสำคัญของภาษาทิเบต ที่เป็นสื่อในการเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมนี้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนแรกว่าตอนนี้ข้าพเจ้าอายุ 81 แล้วแต่ก็ยังเป็นนักเรียนและเรียนรู้อยู่ตลอด”
 

 

 

ผู้ชมได้ทวีตว่าปาฐกถาในวันนี้มีการถ่ายทอดทางเพอริสโคป

 

และในช่วงท้ายมีคำถามเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน มีคนถามว่าท่านคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับปัญหานี้คือวิธีไหน ท่านตอบอย่างไม่ลังเลว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญ แต่ว่าท่านมีความห่วงใยโลกนี้ เพราะเป็นบ้านหลังเดียวของเรา เราไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้แต่ว่าควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันดูแลรักษาโลก “ข้าพเจ้ารู้ว่าควรเป็นอย่างนี้แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเหมือนกัน”

ต่อคำถามที่ว่าท่านคิดว่าจะได้กลับไปทิเบตในชั่วชีวิตนี้หรือไม่ ท่านตอบว่า ตอนนี้ ชาวทิเบตหลายคนที่อายุมากแล้วอาจจะ 90 แล้ว แต่พวกเราส่วนใหญ่เชื่อว่าเราจะมีวันนั้น วันที่ชาวทิเบตที่ลี้ภัยจะได้พบกับชาวทิเบตในแผ่นดินบ้านเกิด และหนึ่งในเหตุผลที่ว่าจะเป็นไปได้เพราะ “ตั้งแต่ปี 1974 เราไม่ได้ต้องการอิสรภาพจากจีน เราต้องการความเจริญและการพัฒนา ดังนั้นการอยู่กับจีนจะเป็นผลดีกับเรา และรัฐธรรมนูญของจีนก็มีการกล่าวถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิเหล่านี้ควรจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ เพื่อที่เราจะได้รักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของเราไว้ได้ ในทางเศรษฐกิจก็มีจีนบริหาร”

ในปี 1979 เติ้ง เสี่ยว ผิง อยากที่จะเจรจา และได้พบกับที่ปรึกษาของท่านดาไล ลามะ และนายเติ้ง เสี่ยว ผิง ได้พูดว่า สามารถคุยกันได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเอกราช แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนี้ มีคนที่มีความคิดสุดโต่งและดูเหมือนจะไม่เข้าใจเรื่องอะไรง่ายๆ ท่านเล่าให้ฟังว่า มีคนจีนสองคนคุยกัน คนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ อีกคนหนึ่งเป็นข้าราชการนั่งคุยกันในลาซา เมืองหลวงของทิเบต นักธุรกิจเข้าใจเรื่องทิเบตหรือดาไล ลามะ นั่งเถียงกัน ชาวทิเบตก็นั่งฟังด้วยความสนใจ ปัจจุบันมีคนจีนเข้าใจเรื่องทิเบตมากขึ้น และมีคนจีนหลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐเพื่อรักษาประโยชน์และอนาคตของตัวเอง
ท่านกล่าวทิ้งท้ายว่าท่านมองโลกในแง่ดีและเห็นว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

 

 

Tibetans in Utah are waiting to see Dalai Lama off to the airport

รูปภาพที่โพสต์โดย Pink (@punkypinky) เมื่อ

ชาวทิเบตในรัฐยูทาห์รอส่งดาไล ลามะเดินทางไปสนามบิน

 

ก่อนหน้าการปาฐกฐาในวันนี้ องค์ดาไล ลามะได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ป่วยที่ศูนย์วิจัยด้านมะเร็งฮันส์แมนที่มหาวิทยาลัย และพบกับผู้ว่าการรัฐยูทาห์ รวมทั้ง มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แม้ว่าจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบางแห่งออกมาเตือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐว่าการพบกับท่านในครั้งนี้อาจจะกระทบกับความสัมพันธ์กับจีน แต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ท่านดาไล ลามะได้เข้าพบ ประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัก โอบามา ที่ทำเนียบขาว

 

 

ประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัก โอบามา ต้อนรับ ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว

 

และยังได้พบปะพูดคุยกับชาวทิเบตในรัฐยูทาห์ ซึ่งมีชาวทิเบตอาศัยอยู่ประมาณ 300 คน หลายคนได้มาสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษปี 1990 สหรัฐอเมริกามีนโยบายรับผู้อพยพชาวทิเบตจำนวน 1,000 คนจากอินเดีย เทนซิน ดิชูกัง กล่าวว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังท่านดาไล ลามะ ท่านจะบอกว่าเราทุกคนอยากมีความสุข ไม่มีใครอยากมีความทุกข์ ผมเลยพยายามจะระวังคำพูด ความคิดหรือการกระทำ ที่จะไม่ทำให้ใครเสียใจหรือโกรธ

 

 

Tenzin Dichukhang talks about Dalai Lama's teaching

วิดีโอที่โพสต์โดย Pink (@punkypinky) เมื่อ

เทนซิน ดิชูกัง กล่าวถึงดาไล ลามะ

 

ส่วน เทนซิน ซังมา กล่าวว่าในอนาคตเธออยากเห็นทิเบตมีเสรีภาพมากขึ้น และมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามที่ชาวทิเบตปรารถนา พูดภาษาทิเบต นับถือศาสนา หรือคงวัฒนธรรมทิเบต รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้รัฐบาลจีนบังคับในเรื่องทางศาสนา ภาษา อัตลักษณ์และมีการทำลายสิ่งแวดล้อมในหลายที่ และมีคนทิเบตกว่า 2,000 คนประท้วงการทำเหมืองในตะวันออกของทิเบต อย่างสันติ และเธออยากเห็นทิเบตมีเสรีภาพทางการแสดงออกมากขึ้น

 

 

Zangma talks about what she would like to see Tibet in the future

วิดีโอที่โพสต์โดย Pink (@punkypinky) เมื่อ

เทนซิน ซังมา กล่าวถึงอนาคตของทิเบตที่เธออยากเห็น

งานปาฐกถาในวันนี้มีผู้เข้าร่วมฟังถึงกว่า 12,000 คน บัตรเข้าชมจำหน่ายหมดในเวลาเพียงสองชั่วโมงหลังจากเปิดขาย รายได้จากการจำหน่ายบัตรได้มอบให้กับองค์กรการกุศลในยูทาห์ ซึ่งมีหน่วยงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน เด็กอ่อน และองค์กรอื่นๆ ตามความประสงค์ของท่าน ดาไล ลามะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท