Skip to main content
sharethis

22 มิ.ย. 2559 จากกรณีเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพได้มีการจัดเสวนาสาธารณะ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ซึ่งได้กำหนดสถานที่ไว้ที่ห้อง A310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี ) ในวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีแรงกดดันให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่จัดการเสวนาสาธารณะนั้น

PERMATAMAS ขอฝ่ายมั่นคง หยุดคุกคาม

Wartani รายงานว่า เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)  ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ทางเครือข่ายเข้าใจดีถึงความลำบากใจของทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อแรงกดดันในการให้ใช้สถานที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยในการจัดเสวนาในประเด็นที่ร้อนแรงเช่นนี้ ทั้งนี้ทางเครือข่ายต้องขอขอบคุณคณะวิทยาการสื่อสารที่ได้ตอบรับยินดีให้ใช้ห้องประชุมของคณะในเบื้องต้น แม้ว่าในที่สุดจะไม่ได้ใช้จัดเสวนาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันเสรีภาพทางวิชาการไม่ให้ถูกคุกคามด้วยอำนาจสีดำ และเพื่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคม พื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังมีความสำคัญและเป็นพื้นที่กลางที่สำคัญที่สุดของชายแดนใต้ ทางเครือข่ายจึงได้ขยับมาจัดเสวนา ณ ลานใต้ร่มไม้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แห่งนี้ แม้เราจะไม่ได้รับขออนุญาตในการใช้สถานที่ใต้ร่มไม้ก็ตาม ซึ่งต้องขออภัยมา ณโอกาสนี้ 

แถลงการณ์ PERMATAMAS ระบุว่า การคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายความมั่นคงนั้นมีอยู่จริง ดังในหลักฐานเอกสารมากมายที่ปรากฏทางสื่อ การเสวนาครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อมุ่งโจมตีภาครัฐ แต่เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจประเด็นและแสวงหาทางออกที่ควรจะเป็น
 
ในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระนั้น เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนชายแดนใต้ แทนที่ทางฝ่ายความมั่นคงจะยืนตรงกลาง จัดโอกาศให้ทั้งสองฝ่ายได้นำข้อมูลมาดีเบตถกเถียงกันอย่างเป็นวิชาการ เพราะการมากดดันและคุกคามฝ่ายคัดค้านด้วยอำนาจไม่ใช่ด้วยเหตุผล ย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม
 
ในกรณีของนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ท่านที่ถูกฝ่ายความมั่นคงฟ้องต่อศาลว่าด้วยการซ้อมทรมาน แทนที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบเพื่อการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานอันเป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่ก่อให้เกิดความเครียดแค้นและนำไปสู่การเสริมพลังของฝ่ายขบวนการ แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับมุ่งกดดันให้หยุดพูดหยุดแฉด้วยการฟ้องคดี ซึ่งเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่ได้ช่วยสร้างสันติภาพแต่อย่างใด
 
แถลงการ PERMATAMAS ระบุด้วยว่า ทั้งสองกรณีคือภัยอันอาจแทรกซ้อนต่อการก้าวหน้าเดินสู่สันติภาพ ทางเครือข่ายไม่อยากเห็นสันติภาพที่หลายฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนมายาวนานเป็นเพียงวาทกรรมสันติภาพจอมปลอม เครือข่าย PERMATAMAS จึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายความมั่นคง ให้หยุดการคุกคามต่อนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิมนุษยชน การใช้เหตุผลแทนการใช้อำนาจเท่านั้น คือหนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง
 

ม.อ.ปัตตานียันเป็นพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

วันนี้ (22 มิ.ย.59) ม.อ.ปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ม.อ.ปัตตานีขอยืนยันการเป็นพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ 

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  รายงานบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบันเมื่อเที่ยงวันนี้ (22 มิ.ย.59 ) ถึงสาเหตุที่มหาวิทยาลัย ขอให้ทางเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เลื่อนการจัดเสวนา เรื่องสันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ ซึ่งกำหนดจัดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการขอใช้ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ว่า เมื่อทราบหัวข้อการเสวนาดังกล่าวมหาวิทยาลัยเห็นว่ามีความล่อแหลมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยพิจารณาในบทบาทการทำหน้าที่ทางวิชาการและความเป็นกลางที่มหาวิทยาลัยต้องรักษาไว้ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี จึงเสนอให้ทางเครือข่ายฯ เลื่อนการออกจัดเสวนาออกไปก่อนเพื่อให้มีการปรับหัวข้อการเสวนาที่เหมาะสม และมีประเด็นการเสวนาที่รอบด้าน โดยมีตัวแทนของทุกฝ่ายเข้าร่วมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผล จึงจะสามารถจัดการเสวนาต่อไปได้

มหาวิทยาลัยหวังให้เกิดบรรยากาศคุยกันอย่างสันติ

“ผมไม่ได้สั่งการว่าต้องเฝ้าระวังอะไรนะครับเพียงแต่เราได้สังเกตการณ์ห่างๆ เรื่องนี้ท่านรองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี ก็ดูแลอยู่แล้ว คิดว่าการจัดเสวนาไม่ได้เป็นการรุนแรงอะไรมีแต่หัวข้อเท่านั้นเองที่ล่อแหลมไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งไม่ใช่เรื่องของความเป็นกลางของสถาบันการศึกษาที่จะต้องปฏิบัติ”อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวและว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง สิ่งแรกคิดว่าเราควรจะให้ความรู้ทางวิชาการแก่สังคมหรือชุมชนในส่วนที่ยังขาดอยู่ ขณะเดียวกันถ้าเราคิดว่าอยากจะไปประสานเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันต้องเป็นการจัดที่ทำให้เกิดบรรยากาศคุยกันอย่างสันติ แล้วก็มีทั้งสองฝ่ายที่จะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

เปลี่ยนสถานที่ใช้ใต้อาคารคณะวิทยาการสื่อสารแทน

รายงานข่าวจากสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  ระบุด้วยว่า เมื่อเช้าวันเดียวกันก่อนการจัดเวทีสาธารณะ มหาวิทยาลัยได้แจ้งแก่เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพว่า ไม่สามารถอนุญาตให้มีการจัดการเสวนาภายในมหาวิทยาลัยได้ โดยได้รับการประสานงานมาจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากเห็นว่าหัวข้อการเสวนาอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และไม่ส่งเสริมบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติภาพ จึงขอให้ทางผู้จัดเลื่อนการจัดเสวนาออกไปก่อน และขอให้มีการปรับเปลี่ยนหัวข้อ พร้อมทั้งเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออาจจะถูกพาดพิงมาร่วมการเสวนาด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี รายงานต่อว่า ตลอดช่วงเช้าก่อนกำหนดการเริ่มเวทีเสวนา ก็เกิดความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ โดยเห็นว่าการที่มหาวิทยาลัยขอให้เลื่อนการเสวนาดังกล่าวออกไปอาจจะมาจากการกดดันของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งทางเครือข่ายฯ ยังคงนัดที่จะมีการจัดเสวนากันเช่นเดิม โดยได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมไปเป็นการมารวมตัวกันที่คณะวิทยาการสื่อสาร จากนั้นจะไปจัดแถลงข่าวบริเวณป้ายข้อความที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ข้างคลอง 200 ริมถนนกลางภายในวิทยาเขตปัตตานี

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดการเสวนา เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพจึงตัดสินใจที่จะใช้พื้นที่บริเวณทางเดินใต้อาคารคณะวิทยาการสื่อสารเป็นสถานที่ในการจัดเสวนาแทน โดยมีผู้ร่วมรับฟังจำนวนหนึ่ง เมื่อการเสวนาจบแล้วได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของเครือข่ายต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

จำเป็นต้องจัดเพราะนัดผู้ร่วมเสวนาไว้แล้ว

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงาน PERMATAMAS กล่าวกับผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ว่า หลังจากทราบข่าวเมื่อเวลา 10.00 น.ว่าการจัดเวที “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ที่คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี อาจเลื่อนการจัดเวทีออกไปก่อนเนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับการประสานจากหน่วยงานด้านความมั่นคง เกี่ยวกับชื่อและเนื้อหาที่จะจัดเสวนาเกรงจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและรัฐบาล ความเห็นส่วนตัวไม่อยากให้เลื่อน ต้องการให้มีการจัดเหมือนเดิม เนื่องจากว่าได้มีการประสานชาวบ้านไว้แล้วและชาวบ้านเองก็ตั้งใจที่จะมาฟังเพื่อรับทราบข้อมูลจากวิทยากร อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการหารือกับกรรมของเครือข่ายอีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

แม้ชื่อจะรุนแรงแต่ไม่ปิดกั้น จนท.รัฐเข้าร่วมได้

ตูแวดานียา กล่าวอีกว่า สำหรับที่มาของการตั้งชื่อการเสวนา คำว่า “สันติภาพจอมปลอม” อาจฟังดูแล้วสะเทือน แต่ก็ต้องการสื่อสารตรงๆว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐยังมีการข่มขู่ คุกคาม นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน มีการร้องฟ้องดำเนินคดี รวมไปถึงเอกสารลับที่หลุดออกมาปรากฏทางสื่อสังคมออนไลน์รายชื่อแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และปะนาเระ เช่น กลุ่มข้าราชการ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน NGO เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ทุกคนก็รู้สึกไม่สบายใจ เป็นเช่นนี้แล้วสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนประเด็นที่ว่าเนื้อหาของการจัดเสวนาอาจไปกระทบรัฐหรือเป็นเวทีให้ข้อมูลด้านเดียวก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเวทีที่ปิดกั้น ทุกครั้งที่จัดก็มีเจ้าหน้าที่รัฐมานั่งฟังด้วยอยู่แล้ว และถ้าต้องการให้ข้อมูลในเวทีเราก็ไม่ได้ปิดกั้น

“หากมีการใช้อำนาจกดดันให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำหน้าที่ทางวิชาการให้ความรู้กับประชาชน ไม่สามารถเป็นเวทีบ่มเพาะทางวิชาการ ให้ความรู้ให้กับประชาชนได้ เครือข่ายฯอาจมีการรณรงค์ต่อว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ตูแวดานียากล่าว

เครือข่ายฯ เข้าใจมหาวิทยาลัย

ด้านนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า หลังจากรับทราบจากท่านคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ทางเครือข่ายฯไม่สามารถจัดการเสวนาได้ จำเป็นต้องเลื่อนออกไป เครือข่ายฯ รับทราบ เข้าใจ และไม่ต้องการให้ท่านคณบดีและคณะลำบากใจ

“เข้าใจว่า ชื่อการจัดเสวนาและประเด็นเนื้อหาชัดเจนเกินไป หารือกันว่า อาจเปลี่ยนสถานที่จากการจัดเสวนาในห้องประชุมมาเป็นพื้นที่ใต้ต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัย และจะมีการแถลงข่าว สำหรับวิทยากรที่จะมาร่วมเสวนายังคงเดิม ประเมินว่าผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน เราได้แจ้งเลื่อนไปบ้างแล้วเป็นการภายในแต่บางคนก็ยืนยันจะมาฟังการเสวนา” นายแพทย์สุภัทรกล่าว

เครือข่ายฯ เพียงแค่ตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนา

ดิเรก เหมนคร เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กล่าวว่า เราแค่ตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราเชื่อในข้อมูลที่นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ อากาศ ที่ดิน ทรัพยากร จะได้รับผลกระทบหรือไม่ เราก็ได้แต่ตั้งคำถาม เราอยากเห็นการจัดเวทีเพื่อให้ข้อมูล เราเรียกร้องการเปิดเผยข้อมูล 200 กว่าครัวเรือน 1,000 กว่าคน จะทำอย่างไร เปิดเผยข้อมูลเพื่อนำเสนอว่าเราต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  เรามีสิทธิหรือไม่ เราต้องการสิทธิ ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนร่วม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ฟ้องนักสิทธิมนุษยชนเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการ Amnesty International Thailand และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นมานานแล้ว ความรุนแรง มีการใช้วิธีการแตกต่างกัน คนทำงานเองก็มีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เช่น การนั่งโต๊ะพูดคุยเจรจา ตัวอย่างวันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีทักษะในการจัดการ ทำให้เสียงของเราได้ถูกพูดไป นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คือ คนที่สื่อสารต่อสาธารณะ  เสียงเหล่านี้ควรรับฟัง กรณีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เป็นครั้งแรก มีการบังคับใช้มาแล้วในประเทศไทย ตอนนี้มีการฟ้องร้องคดีอาญา กลายเป็นว่านักสิทธิเป็นคู่อริกันกับรัฐ ขณะที่ประเด็นปัญหาไม่ถูกแก้ไข ทุกฝ่ายต้องการสันติสุข การฟ้องร้องคดีทำให้การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจลดน้อยลงไป เราต้องยืนยันและยืนหยัดว่าเราเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช้ความรุนแรง

เช่นเดียวกับ อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นการถูกคุกคามในการทำงาน มีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้าน มีการเชิญไปร่วมพูดคุยโดยอ้างอำนาจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และล่าสุดกรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากรายงานที่มีการเปิดเผย ตนมีเป้าหมายของคนทำงาน คือ ต้องการสร้างสันติภาพ

ทหารยันไม่กดดันมหาวิทยาลัย ขอพิจารณาเหตุบางคนถูกฟ้องร้องอยู่

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในรายการร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ว่า การจัดเวทีเสวนาเรื่อง “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ทางทหารไม่ได้มีการสั่งห้าม เพียงแต่มีการหารือกับอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยให้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะให้จัดหรือไม่  ในการเคลื่อนไหวของ NGO ภาคประชาสังคม หรือองค์กรต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เราสามารถเคลื่อนไหวผ่านเวทีต่างๆได้อย่างเสรี โดยเฉพาะขณะนี้ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการเคลื่อนไหวในเรื่องของความเข้าใจทำความเข้าใจกับองค์กรต่างๆเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมต่อกระบวนการพูดคุยเป็นสิ่งที่เราขับเคลื่อนในพื้นที่มาโดยต่อเนื่อง

“เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.59 ) ผมเรียนว่าถามกลับไปว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นองค์กรของรัฐใช่หรือไม่ คณาจารย์ อธิการบดี คณบดี หรือว่าใครก็ตาม เป็นข้าราชการ เป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นผมอยากจะพูดว่ามันควรจะอยู่ในดุลพินิจที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะให้มีการใช้สถานที่หรือไม่อย่างไร ผมได้กล่าวแล้วว่าทางรัฐเองหรือกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า เราไม่เคยเข้าไประงับยับยั้ง เข้าไปสั่งระงับ สั่งยกเลิกการทำกิจกรรมต่างๆของกลุ่มองค์กรในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ยกเว้นอาจจะมีบางประเด็นที่ดูแล้วมีความจงใจที่จะสร้างความรู้สึกที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคมทั่วไปโดยเฉพาะการหยิบยกประเด็นของนักสิทธิมนุษยชนที่มากล่าวอ้างตั้งแต่ตอนแรกว่ารัฐไปคุกคามซึ่งผมก็อยากจะถามกลับด้วยเช่นกันว่าสำหรับคำว่าคุกคามคืออะไรถ้าอยู่ๆเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเขาไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นเขาจะถูกกระทำแบบนี้หรือไม่” พ.อ.ปราโมทย์กล่าวและว่า ตัวอย่างนักเคลื่อนไหวตลอดระยะเวลา 12 ปี เราเคยไปคุกคามบ้างหรือไม่อย่างไร ดังนั้นการใช้ประเด็นดังกล่าวทั้งๆที่เราพยายามจะอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายไปแล้วแต่ก็ยังใช้ประเด็นเดิมๆว่ารัฐไปคุกคามต่อนัก NGO นักสิทธิมนุษยชน และสร้างกระแสร่วมทำให้คนเกิดความคิดคล้อยตาม อันนี้เป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง

“เหตุการณ์เมื่อวานนี้ที่มีข่าวกันอย่างกว้างขวางว่าทางทหารเข้าไปสั่งห้ามในการจัด ไม่จริงครับ เราคุยกับอาจารย์ของทางมหาวิทยาลัยให้ใช้ดุลพินิจในฐานะเป็นอาจารย์ว่าการจัดกิจกรรมลักษณะแบบนี้ถ้ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาอาจารย์จะรับผิดชอบได้หรือไม่อย่างไร สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้หรือไม่ อันนี้คือการหารือร่วมกัน เป็นการใช้ดุลพินิจ เพราะฉะนั้นในการที่ออกมาบอกว่าทางทหารห้ามจัด เราไม่เคยห้ามครับ จริงๆแล้วเมื่อวานนี้ท่านแม่ทัพให้ผมเองเข้าไปร่วมด้วยเพื่อได้ร่วมกันชี้แจงในเมื่อไม่มีการจัดตามที่ต้องการแล้วก็ไปจัดอีกที่หนึ่งก็ไม่เป็นไรครับ ก็สามารถจัดได้ เราไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้นเอง” โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net