Skip to main content
sharethis
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม โฆษกอย่างไม่เป็นทางการของ มารา ปาตานี องค์กรร่มของขบวนการเอกราชสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่า การพูดคุยสันติภาพยังไม่ล่ม ตอบปัญหาคาใจเรื่องความเป็นตัวจริง พร้อมถกยุทธศาสตร์มารา
 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม ให้สัมภาษณ์ในห้องทำงาน ซึ่งประดับด้วยภาพของมัสยิดเก่าแก่ของปาตานี ซึ่งคือ มัสยิดตะโละมาโนะ และมัสยิดกรือเซะ
 
คามาลุดิน ฮานาพี หรือที่รู้จักกันในนาม อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม แกนนำ และโฆษกอย่างไม่เป็นทางการของมารา ปาตานี (MARA Patani) องค์กรร่มของขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี ให้สัมภาษณ์กับประชาไทเป็นภาษาอังกฤษ ณ ประเทศมาเลเซีย หลังการเจรจาสันติภาพหยุดชะงักมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพราะฝ่ายไทย หรือ ปาร์ตี้เอ (Party A) ปฏิเสธไม่เซ็นข้อกำหนดในการพูดคุย หรือ ทีโออาร์ (Terms of References: TOR) พร้อมทั้งยังปลดเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ อย่าง พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับโต๊ะเจรจา ทีโออาร์ที่เป็นหมันฉบับดังกล่าวได้วางข้อกำหนดการพูดคุย ที่ตอบสนองต่อข้อเสนอสามข้อของมารา อันได้แก่ ให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ, ให้ยอมรับ “มาร่า ปาตานี” ในฐานะคู่เจรจาอย่างเป็นทางการ ในฐานะปาร์ตี้บี (Party B), และให้ยกเว้นการรับผิดตัวแทนมารา เพื่อให้สามารถเข้าประเทศไทยมารับฟังความเห็นของประชาชนได้ อันเป็นเงื่อนไขของมารา ก่อนจะนำไปสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป
 
ภายใต้รัฐบาลทหาร การพูดคุยกับขบวนการปลดแอกเอกราชถูกเรียกว่า ไดอะล็อก 2 เป็นการพูดคุยที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทหารไทย กับ องค์กรร่มของขบวนการชื่อ มารา ปาตานี ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายองค์กร โดยมีการพบปะพูดคุยกันครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ในขณะที่การพูดคุยสันติภาพซึ่งถูกริเริ่มโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 กับ บีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ การพูดคุยนี้ถูกเรียกว่า ไดอะล็อก 1 แต่การเจรจาจบลงอย่างค้างเติ่ง หลังจากบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการที่มีกองกำลังในพื้นที่มากที่สุด ยื่นข้อเสนอห้าข้อที่ยากจะตอบสนอง และรัฐบาลยิ่งลักษณ์เจอภัยการเมืองภายในจากกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. และถูกรัฐประหารในที่สุด การเจรจาทั้งสองครั้งมีรั{บาลมาเลเซียเป็นคนกลาง หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผู้อำนวยความสะดวก” 
 
อนึ่ง เมื่อครั้งที่อาบูฮาฟิซให้สัมภาษณ์ประชาไทครั้งแรก เดือนกรกฎหาคม 2559  (อ่านได้ที่นี่) เขามีท่าทีที่มีความหวังกับการเจรจากับรัฐบาลทหาร ซึ่งฝ่ายขบวนการมองว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจมากกว่ารัฐบาลพลเรือน มากกว่านี้ ในการพบกันครั้งนี้ เขาได้กล่าวกับประชาไทนอกรอบว่า ในยุครัฐบาลทหาร มารามุ่งหวังสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นหลัก และยังต้องจับตาดูความผกผันของการเมืองไทยว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งเชื่อว่า น่าจะกระทบต่อการเจรจาสันติภาพอย่างแน่นอน 
 

วิดิโอสัมภาษณ์ (ภาษาอังกฤษ)
 

 

ฝ่ายไทยได้เสนอหรือเรียกร้องให้มีการหยุดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนหรือไม่

ไม่มีการตกลงเรื่องการหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอน แต่เราได้รับการติดต่อจากปาร์ตี้เอว่า พวกเขาต้องการข้อตกลงเกี่ยวกับการหยุดยิงช่วงรอมฎอน อย่างไรก็ตาม มาราปาตานีได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวด้วยสองเหตุผล หนึ่ง ข้อเสนอดังกล่าวมาช้ามาก เรามีเวลาไม่ถึงเดือนที่จะเตรียมการ  สอง กระบวนการยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นทางการ ปาร์ตี้เอยังไม่ได้ลงนามในทีโออาร์ เมื่อปราศจากการทำให้กระบวนการเป็นทางการ เราก็ไม่สามารถดำเนินการพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยได้ ซึ่งการหยุดยิงเป็นหัวใจของพื้นที่ปลอดภัย จริงๆ แล้ว การหยุดยิงช่วงรอมฎอนน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างควมมั่นใจซึ่งกันและกันในขั้นต้นของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 
 

 

ไดอะล็อก 2 ไปถึงไหนแล้ว มันจบแล้วหรือยัง ดูเหมือนว่ามารา ปาตานีได้ช้วิธีการที่หลากหลายในการกดดันให้รัฐบาไทยจริงจังกับการเจรจาสันติภาพ วิธีการเหล่านั้นรวมถึง การเปิดตัวมารา ปาตานี ต่อสื่อที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ การดึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มาพูดคุยกับพวกคุณ แต่ก็ดูเหมือนรัฐบาลไทยก็ยังไม่จริงจัง คุณจะทำอย่างไรต่อไป

เรายังอยู่ในขั้นต้นขอกระบวนการเจรจาสันติภาพ เรายังอยู่ในขั้นของการทำทีโออาร์ซึ่งยังไม่ได้ถูกลงนาม เพราะฉะนั้น กระบวนการยังไม่เป็นทางการ แล้วคุณจะบอกได้อย่างไรว่า มันจบลงแล้ว ความจริงที่ว่า มาราปาตานีได้พยายามดึงโอไอซี สือมวลชน และองค์กรระหว่างประเทศมามีส่วนร่วม ตอกย้ำให้เห็นว่า พวกเรามีพันธสัญญาต่อกระบวนการสันติภาพ ที่เราจะพยายามหาทางออกด้วยวิธีสันติ สิ่งที่เราจะทำต่อไปคือ รอคำตอบจากปาร์ตี้เอ เรื่องทีโออาร์ เราอยากรู้ว่า ประเด็นอะไรของทีโออาร์ที่เขาไม่พอใจ และเราก็รอฟีดแบ็ก พวกเขาจะต้องส่งฟีดแบ็กและความเห็นผ่านผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเราก็รออยู่ 
 

 

คำถามสำคัญคำถามหนึ่งที่รัฐบาลไทยต้องเจอเสมอๆ คือ มารา ปาตานี เป็นตัวจริงหรือไม่ มีกำลังในควบคุมหรือไม่ เพราะบีอาร์เอ็นบางกลุ่มออกมาส่งสัญญาณต่อต้านมารา และการพูดคุยสันติภาพเสมอๆ ผ่านแถลงการณ์หรือแอคชั่นต่างๆ เมื่อคนไทยนอกสามจังหวัดมีความสงสัยเคลือบแคลงต่อการเจรจาสันติภาพ รัฐบาลก็ถูกกดดันให้เคลียร์ความสงสัยเคลือบแคลงนั้น คุณคิดว่า การที่ฝ่ายขบวนการเพื่อเอกราชปาตานีล้มเหลวในการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะในส่วนของบีอาร์เอ็น เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การหยุดชะงักของกระพูดคุยสันติภาพ หรือไม่

มารา ปาตานีนั้นเป็นตัวจริง เพราะประกอบด้วยกลุ่มขบวนการปลดปล่อยห้ากลุ่ม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เราทราบกันดีว่า บุคคลที่อยู่ในมารา และกลุ่มที่อยู่ในมารา เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพครั้งก่อนที่มีขึ้นในยุครัฐบาลพลเรือนภายใต้นายกยิ่งลักษณ์ก็เกี่ยวข้องกับการเจรจาครั้งนี้  คุณบอกไม่ได้ว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวจริง เพราะเขาเป็นสมาชิกตัวจริงขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งเป็นองค์กรตัวจริงเช่นกัน ส่วนเรื่องความแตกต่างทางความเห็นภายในบีอาร์เอ็นนั้น เรามองว่าเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องที่บีอาร์เอ็นต้องแก้ไขเพื่อตัวเอง มันเป็นเรื่องปกติมากของกระบวนการสันติภาพ ที่จะมีความขัดแย้งในหมู่สมาชิกองค์กร แม้แต่ในปาร์ตี้เอเอง ในยุคไดอะล็อก 1 ทหารก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไหรนัก แม้ว่าทหารจะอยู่บนโต๊ะเจรจาก็ตาม ถ้าเกิดจะมีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นหลังจากนี้อีก คนที่จะมาร่วมก็จะเป็นคนกลุ่มเดิมที่รัฐบาลไทยกำลังคุยด้วยในขณะนี้ 
 

 

ขบวนการเพื่อเอกราชปาตานีเคยคิดถึงการเพิ่มแนวร่วมและการสนับสนุนจากคนไทยนอกปาตานีบ้างไหม 

ใช่ เราก็กำลังคิดอยู่ เพราะมันไม่มีเหตุผลว่าทำไมประชาชนไทยไม่สามารถสนับสนุนเราได้ เพราะนี้ไม่ใช่เรื่องศาสนา มันไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่ทุกอย่าง [ของการต่อสู้ของเรา] เกี่ยวกับความยุติธรรม และการถูกพรากสิทธิและเสรีภาพ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราถูกกดขี่และรังแกอย่างไม่รู้จบ และภายใต้รัฐบาลทหารในปัจจุบัน ชาวไทยโดยทั่วไปได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของการอยู่ใต้การกดขี่ของรัฐบาลไทย ซึ่งมีการกดขี่ การกีดกัด และการถูกพรากสิทธิ ด้วยเหตุนี้พวกเขาควรจะได้ตระหนักและเห็นด้วยว่า พวกเราที่อาศัยอยู่ในปาตานีรู้สึกอย่างไรในหลายปีที่ผ่านมา   
 

 

ทราบมาว่า คุณได้เชิญภาคประชาสังคมจากปาตานีมาพูดคุยกับคุณ คุณคุยกับพวกเขาว่าอะไร และคุณได้ข้อสรุปจากการพูดคุยอย่างไรบ้าง 

ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งของปาตานี เพราะพวกเขามาจากประชาชน บทบาทที่สำคัญมากๆ ของพวกเขาคือ การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ หน้าที่ของพวกเขาไม่ใช่การมีส่วนร่วมกับการพูดคุยระหว่างปาร์ตี้เอ และบี แต่แสดงบทบาทสนับสนุนเพื่อให้กระบวนการยั่งยืน ผานการแสดงความเห็น การให้คำแนะนำ หรือแม้แต่คำวิจารณ์ทางช่องทางที่เหมาะสม ทำให้เสียงของพวกเขาถูกได้ยิน และบทบาทของพวกเขาก็จะถูกยอมรับมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ของกระบวนการสันติภาพ สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราอยากให้พวกเขารับรู้คือ อะไรคือมารา มาราทำอะไร และมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตที่เราต้องการ ซึ่งคือการแก้ปัญหาโดยใช้การเมืองผ่านกระบวนการสันติภาพ เมื่อพวกเขาเข้าใจว่าเราคือใครและเราต้องการอะไร บางทีพวกเขาจะสามารถเล่นบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพได้ดีขึ้น และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้กระบวนการต้องหยุด พวกเขาก็สามารถมีบทบาทเป็นตาข่ายปลอดภัย (safety net) เพื่อปกป้องกระบวนการสันติภาพได้ เพราะฉะนั้นภาคประชาสังคมจะต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเองเพื่อจะที่จะมีบทบาทที่สำคัญดังที่กล่าวมา 
 

มูฮำหมัด ดือราแม บ.ก. โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ช่วยเหลือในการรายงานข่าวชิ้นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net