สปท.ไฟเขียวปฏิรูปทนายความอาสา-ขอแรง-ที่ปรึกษากฎหมายของเด็ก-เยาวชน

21 มิ.ย.2559 เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่มี วิรัช ชินวินิจกุล เป็นประธาน ซึ่งเสนอรายงานปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน โดยระบุว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหาขาดแคลนทนายความอาสา และทนายความขอแรง รวมทั้งปัญหาด้านประสบการณ์ การขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและคุณภาพ ตามความต้องการของประชาชน ทั้งที่สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการดำเนินคดีอาญา ต้องได้สิทธิในการมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาทนายความเพื่ออำนวยความยุติธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างโจทย์และจำเลยในกระบวนการอาญา ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูปเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ด้าน สมาชิก สปท. ต่างอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปทนายความอาสาและทนายความขอแรง พร้อมให้ข้อเนอแนะในหลายประเด็น อาทิการพัฒนาจรรยาบรรณ คุณธรรม และจริยธรรมของทนายความอาสา การจัดให้มีทนายความประจำสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการคัดกรองกระบวนการยุติธรรมต้นทางให้ใสสะอาด มีการเสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสภาทนายความ ร่วมมือกันทำงานเชิงรุกช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ การโอนภารกิจและจัดหางบประมาณให้สภาทนายความฯ ทำหน้าที่จัดหาทนายความอาสา โดยที่กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแล และฝึกอบรมพัฒนาความสามารถของทนายความอาสาและมีข้อเสนอแนะให้ศาลยุติธรรม มีกระบวนการคัดเลือกทนายความอาสาที่มีความรู้ความสามารถในการทำคดี

ขณะที่ วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. แสดงความเห็น ว่าปัจจุบันมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างทนายความอาสา และทนายความที่มีการว่าจ้างมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยไม่มีเงินจ้างทนายความอาชีพ ต้องพึ่งพาทนายความอาสา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ทนายความอาสา ได้รับค่าตอบแทนน้อย ขาดแรงจูงใจทำงานและบางคนขาดประสบการณ์ว่าความ จึงทำให้การว่าความของทนายความอาสาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปให้มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม สร้างแรงจูงให้กับทนายความอาสา และมีการฝึกอบรมทนายความให้มีความรู้ความสามารถว่าความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลคุณภาพของทนายความ เพื่อให้มีทนายความอาสาทำงานได้อย่างมีคุณภาพเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หลังการอภิปรายแสดงความเห็นแล้ว ที่ประชุม สปท. มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ด้วยเสียงเอกฉันท์ 154 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 156 คน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท