Skip to main content
sharethis

18 มิ.ย.2559 ความคืบหน้าขอศูนย์ปราบโกงประชามติ ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าทำการปิดศูนย์ดังกล่าวในหลายจังหวัด ขณะที่วานนี้ แกนนำ นปช. ได้เดินทางไปองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของศูนย์ปราบโกงประชามติและเชิญร่วมตรวจสอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับประชาชนไทย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

วันนี้ (18 มิ.ย.59) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น หัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การตั้งศูนย์ปราบ” ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศห้ามกลุ่ม นปช. จัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ พร้อมกำชับจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดหากยืนยันจะเดินหน้าต่อไป ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวให้เหตุผลว่า เป็นการตั้งขึ้น เพื่อเน้นรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติให้มากที่สุดโดยไม่เกี่ยวข้อง กับการเมือง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทัวประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,233 คน สำรวจระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. 2559 พบว่า

1. ประชาชนคิดอย่างไร กับ การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติที่จัดตั้งโดยแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ แสดงความเห็น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแล 76.64% อาจขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่น่าจะจัดตั้งได้ 74.45% เป็นเกมการเมือง สร้างกระแส ต้องการกดดันรัฐบาล 71.29% มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจเกิดปัญหาหรือความวุ่นวายตามมาภายหลัง 63.50% หากมีการจัดตั้งขึ้นจริงขอให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ 52.80% 

2. ประชาชนคิดว่าจะมีการโกงการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ 52.11% เพราะ ต้องรอดูเป็สถานการณ์ ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน ฯลฯ รองลงมาเป็น มีการโกง 35.21% เพราะ ต้องรอดูสถานการณ์ ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน ฯลฯ และอันดับสาม ไม่มีการโกง 12.68% เพราะ เชื่อมั่นในการควบคุมดูแลของ คสช. มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการ มีการป้องกันอย่างเข้มงวด การตรวจสอบการทำงานอย่างเป็นระบบ ชัดเจน ฯลฯ 

3. ประชาชนคิดว่าควรทำอย่างไร การลงประชามติจึงจะไม่มีการโกงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ ป้องกันคนสวมสิทธิ 85.40% เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ 80.05% มีระบบการตรวจสอบที่ดี รอบคอบ รัดกุม มีบทลงโทษเด็ดขาด 78.10% รณรงค์สร้างจิตสำนึก รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการลงประชามติ 71.53% และทุกคนต้องยึดหลักความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต 70.56% 

4. ประชาชนจะช่วยให้การลงประชามติโปร่งใสได้อย่างไร พบว่า ต้องออกไปใช้สิทธิและตัดสินใจด้วยตนเอง 82.24% ช่วยภาครัฐดูแลสอดส่อง เป็นหูเป็นตา 79.32% ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่กำหนดไว้ 68.61% 

5. ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการเรื่องการลงประชามติได้อย่างโปร่งใสมากน้อยเพียงใด โดยประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่น 36.67% เพราะ ดูจากการทำงานที่ผ่านมา น่าจะสามารถจัดการได้ดี ทุกฝ่ายน่าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ฯลฯ ขณะที่ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยเชื่อมั่น 35.70% เพราะ จากข่าวสารที่เผยแพร่ออกมา ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจต่อการจัดการลงประชามติ ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานได้ ฯลฯ และประชาชนไม่เชื่อมั่น 17.36% เพราะ เป็นเกมการเมือง ที่ผ่านมาการเลือกตั้งในทุกระดับก็มักมีการทุจริตเกิดขึ้นเสมอ อาจมีการกำหนดผลไว้ล่วงหน้า ฯลฯ 

6. สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณี การลงประชามติ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลควรเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย 78.59% รองลงมา การดำเนินการต่าง ๆ ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ 75.67% และหากมีการทุจริต ควรมีบทลงโทษที่รุนแรง เด็ดขาด 64.96% 

กองทัพมั่นใจคุมได้ไร้ป้ายเปิดศูนย์ปราบโกงโผล่ 19.มิ.ย.แน่

ขณะที่วานนี้ (17 มิ.ย.59) พ.อ.เมธา ณ พิกุล รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 ลำปาง ได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าวของ มทบ. 32 ลำปาง และหน่วยทหารในพื้นที่ ได้ออกหาข่าวในพื้นที่จังหวัด ทั้ง 13 อำเภอ เพื่อติดตาม และหาข่าวตามที่จะมีการเคลื่อนไหว ขึ้นป้ายตั้งศูนย์ปราบโกงของกลุ่ม นปช. หรือบุคคลทางการเมืองในพื้นที่ ที่กำหนดจะขึ้นป้ายพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 19 มิ.ย. 2559 นี้ ทำให้ต้องมีการออกหาข่าว เพื่อเป็นการเตรียมป้องกัน ไม่ให้มีการขึ้นป้าย หรือเปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ เพราะถือว่าจะเป็นการสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และประชาชนโดยทั่วไปจะเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งนอกจากการออกหาข่าวแล้ว ยังมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหารไปพบกลุ่มบุคคลทางการเมืองหลายคน เพื่อขอความร่วมมืออย่าได้ขึ้นป้ายดังกล่าว โดยให้เน้นย้ำ และกำชับว่า เพื่อให้บ้านเรือนเกิดความปกติสุข และเพื่อให้การออกเสียงลงประชามติที่จะมาถึงในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นี้ เรียบร้อยดี ไร้เหตุวุ่นวายใดขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าที่ผ่านมา มีร้านค้าในเขตตัวเมืองลำปาง จะขึ้นป้ายมาแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปตรวจสอบ และนำลงมา ดังนั้น จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปกำชับ และขออย่าให้ในต่างอำเภอ หรือบางแห่งทำการในลักษณะดังกล่าวอีก ซึ่งหากยังฝ่าฝืน ทางเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องคงต้องดำเนินการตามกฏหมาย ทั้งนี้ ในส่วนของ จ.ลำปาง ทาง มทบ.32 ลำปาง มั่นใจว่าจะคุมสถานการณ์ได้ และไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในวันที่ 19 มิ.ย. 2559 นี้

รอง หน.ปชป. ถามนปช.ไปร้องยูเอ็นมือสะอาดหรือยัง 

ด้าน นิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่แกนนำ นปช. เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ เพื่อรายงานสถานการณ์การคุกคามศูนย์ปราบโกงของเจ้าหน้าที่รัฐว่า การไปขอความยุติธรรมจากศาล หรือการไปขอความยุติธรรมจากองค์กรต่างชาติ  ควรไปด้วยมือที่สะอาด และควรก้มลงดูมือของตัวเองก่อนว่าขาวสะอาดหรือไม่ ถ้าไม่สะอาด การไปขอความยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตนคิดว่า ศูนย์ปราบโกงฯของ นปช.ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง และกิจกรรมทางการเมือง มากกว่าที่จะดำเนินอย่างจริงจัง แต่ถ้ามีผลงานออกมาให้เห็น ตนก็ขอสนับสนุน

 

เรียบเรียงจาก คมชัดลึกออนไลน์ เดลินิวส์และมติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net