นักวิชาการ TDRI อย่าใส่ร้ายเหมืองทองคำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเห็นประชาไทลงบทความ "‘เหมืองแร่’ กับการจัดการผลกระทบ ‘สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’" โดยคุณปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ แล้วรู้สึกชัดว่านักวิชาการที่สังกัด TDRI ผู้นี้เอียงจริงๆ  ผมในฐานะที่ศึกษาข้อมูลมา  จึงขอเสนอบทความนี้ส่งประชาไทบ้างเพื่อมองต่างมุมเพื่อสังคมอุดมปัญญา

1. คุณปริญญารัตน์เขียนว่าระบบนิเวศได้รับผลกระทบ แต่เป็นเรื่องเท็จเพราะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือที่ นร.0505/16885 มื่อ 12 พฤษภาคม 2559 (คลิ้ก) ชี้แจงว่าพื้นที่ดินบริเวณเหมืองทองคำอัครามีการปนเปื้อนเหล็ก แมงกานีสและสารหนูในระดับสูงมาก่อนมีการทำเหมืองแล้ว (ไม่ใช่เพราะผลของเหมือง) คุณภาพน้ำใต้ดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การปนเปื้อนของไซยาไนด์ในนาข้าวยังไม่ได้พิสูจน์ (แต่ชาวบ้านไปแจ้งความแล้วว่าไม่จริง เอ็นจีโอและนักวิชาการโกหกที่โพนทะนาเรื่องนี้) พบว่า 1/5 ของคุณภาพน้ำมีการปนเปื้อของเหล็กและแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน  ส่วนพืชผักก็ไม่แตกต่างจากในบริเวณอื่นและไม่เกินค่ามาตรฐาน ฝุ่น เสียงและแรงสั่นสะเทือนก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  และยังไม่มีข้อสรุปว่าโลหะหนักทำให้เกิดการเจ็บป่วยจริง

2. คุณปริญญารัตน์เขียนว่าควรเรียกเก็บค่าปรับจากผู้ประกอบการเหมืองที่กระทำผิด กรณีนี้เป็นการกล่าวอ้างส่งเดช เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ถึงการป่วยหรือเสียชีวิตเพราะเหมืองทองคำอัคราเลย  คุณปริญญารัตน์ควรถูกฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาท  สำหรับการตายของชาวบ้าน 2 รายคือ นายสมคิด ธรรมพเวช ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตรศพสามี. . .ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค" (คลิ้ก)  ส่วนกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็เสียชีวิตเพราะเป็นโรตตับแข็ง (bit.ly/1VuKzxN)  ถ้ามีมลพิษ คนงานเหมืองคงตายก่อน หรือรีบลาออกไป แต่ในความเป็นจริงคนงานและชาวบ้านก็อยู่ในบริเวณรอบเหมือง  คนงานเหมืองก็ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีโลหะหนักจริงๆ ก็คงไม่มีใครรับบริจาค  ส่วนที่เป็นผื่นคัน บางท่านคงไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไมได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น

3. คุณปริญญารัตน์เขียนด้วยความไม่รู้อีกว่าควรพิจารณาค่าภาคหลวงใหม่เพื่อครอบคลุมต้นทุนทางสังคมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เสียหายไป โดย (แกล้ง) ไม่รู้เรื่อง บมจ.อัครารีซอสเซส ให้เงินพัฒนาท้องถิ่นหลายสิบล้านบาท รวมๆ แล้วคงเป็นเงินหลายร้อยล้านบาทไปแล้ว  คุณปริญญารัตน์ควรมีความรอบรู้ว่า ผลตอบแทนจากการทำเหมืองนั้นมหาศาลเพียงใด  การปิดเหมืองทอง ทำให้เศรษฐกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปี การมีเหมืองทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) จังหวัดพิจิตรในปี 2541 ที่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2556 . . . เฉพาะรายได้ค่าภาคหลวงแร่ในช่วงปี 2541 ถึงปี 2556 ยังคิดเป็น 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ทั้งหมดของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์อีกด้วย . . . พิจิตรมี GDP เป็นอันดับ 4 ของภาคเหนือ" (คลิ้ก)

ผมก็เห็นแก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อย ชาวบ้านในท้องที่มากกว่าเหมืองทองคำอยู่แล้ว  ถ้าผมทราบว่าเหมืองทำร้ายประชาชน  ผมก็ไม่ยอม  แต่ความจริงก็คือ ถ้าไม่มีเหมืองคือการฆ่าชาวบ้าน ทำให้พวกเขาบ้านแตกสาแหรกขาด ชุมชนแตกสลายเพราะไม่มีงานทำ  พวกเอ็นจีโอและนักวิชาการเอาดีใส่ตัว จะรับผิดชอบไหม

คุณปริญญารัตน์ไม่ควรเขียนโดยไม่มีข้อมูล ไม่มีการอ้างอิง ใช้ความรู้สึก (และลางสังหรณ์?) จะทำให้เสียชื่อ TDRI ไปด้วย  เดี๋ยวเขาจะเข้าใจว่า TDRI ทั้งยวงก็เป็นแบบนี้จะไม่ดีนะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท