Skip to main content
sharethis

16 มิ.ย.2559 สำนักข่าวไทย และMGR Online รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว  เมื่อวันอังคารที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานทำคำชี้แจงภายใน 7 วัน หลังศาลมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอให้ศาลพิจารณาว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สำหรับขั้นตอนการพิจารณา เบื้องต้นสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะนำคำชี้แจงดังกล่าวเข้าที่ประชุมองค์คณะตุลาการ เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า เมื่อองค์คณะตุลการพิจารณาแล้วเห็นว่า คำชี้แจงมีรายละเอียดเพียงพอต่อการวินิจฉัย ศาลก็สามารถนัดอภิปรายเพื่อลงมติได้เลย หรือ หากศาลเห็นว่า ข้อมูลไม่เพียงพอเพื่อลงมติ ก็จะนัดไต่สวน เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ คาดว่า ประเด็นนี้น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นเดือนนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะตุลาการด้วย
 

กกต. เชื่อควบคุมการทำประชามติได้ แม้ไม่มี ม.61 วรรคสอง

วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี วันนี้ (16 มิ.ย.) ว่า บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวน เป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะผู้ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนให้เป็นมืออาชีพ และเพื่อนำผลการสัมมนาไปพิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในทุกระดับที่จะมีขึ้นในอนาคต รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง
 
บุญส่ง ยังกล่าวถึงแนวทางการสืบสวนสอบสวน การทำผิดกฏหมายประชามติว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ที่จะเป็นเรื่องของการนับคะแนน การลงคะแนน และการขานคะแนน แต่หากเป็นความผิดทางอาญา เช่น มาตรา 116 ความมั่นคงของรัฐ มาตรา 215 การชุมนุม 5 คนขึ้นไป รวมทั้ง พ.รบ.คอมพิวเตอร์ ประกาศคำสั่ง คสช. ความผิดทั้งหมดนี้เป็นอำนาจโดยตรงของตำรวจ
 
บุญส่ง ยังปฎิเสธที่จะกล่าวถึงคำชี้แจงของ กกต.ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมาตรา 61 วรรคสอง เพราะเห็นว่าอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า แม้ไม่มีวรรคสอง ก็มีกฎหมายอื่นในการควบคุมการออกเสียงประชามติ เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา และใน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 อนุ 1 ความไม่สงบเรียบร้อย อนุ 3 เรื่องการหลอกลวง ข่มขู่ ใช้อิทธิพลคุกคาม แต่มาตรา 61 วรรคสอง มีจุดประสงค์เพื่อป้องปรามผู้เผยแพร่ในสื่อ
 

มอบนโยบายการออกเสียงประชามติ ปลัดอำเภอ-ผช.จ่าจังหวัด

ช่วงสายวันนี้ ที่ โรงแรมบางกอกพาเลส ประตูน้ำ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโครงการสัมมนาเพื่อชี้แจงขั้นตอนการออกเสียงประชามติและมอบนโยบายการสนับสนุนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีปลัดอำเภอ ผู้รับผิดชอบการออกเสียงประชามติทุกอำเภอและผู้ช่วยจ่าจังหวัดทุกจังหวัด กว่า 954 คน เข้าร่วมงาน
 
สมชัย กล่าวว่า หลักการออกเสียงประชามติ กกต.เราชูคำว่า”ยุทธศาสตร์ 3 ป.” คือ ป. ประชาชนสะดวก มีการขยายเวลาการลงคะแนนออกเสียงประชามติไปจนถึงเวลา 16.00 น. เปิดช่องทางการลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มีแอพพลิเคชั่นดาวเหนืออำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางไปยังหน่วยออกเสียงประชามติ ซึ่งแอพตัวนี้กกต.ไทยทำเป็นที่แรกของโลก รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สามารถพาคนที่ไว้ใจเข้าไปยังหน่วยออกเสียงได้ 1 คน จัดหน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ
 
ส่วน ป.ที่ 2 คือ ประชามติเที่ยงธรรม ทำให้ฝ่ายที่เห็นเหมือน เห็นต่างมีความเท่าเทียมกันให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน กฎ กติกา ของการจัดการออกเสียงต้องถูกรักษาไว้อย่างเที่ยงธรรม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ สามารถทำได้บนพื้นฐานของการไม่พูดเท็จ ไม่หยาบคาย และไม่ปลุกระดม
 
ส่วน ป.ที่สาม คือประชาธิปไตยคุณภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะคือการทำให้ประชาชนรู้สาระร่างของรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจไปหย่อนบัตรเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหวังว่าทุกคนจะเป็นกลไกสำคัญช่วยประเทศในการเดินสู่ทางออกของประเทศที่เหมาะสม ทุกอย่างอยู่ในมือทุกคนถ้าทำเต็มที่ความสำเร็จเกิดขึ้นแน่นอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net