Skip to main content
sharethis
 
16 มิ.ย.59 กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ)  3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีความพร้อมที่จะลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค. 2559 นี้ ผู้จะมาลงทะเบียนสามารถนำเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวมาได้เลย แต่จะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดคือมีอายุ 18 ปี เป็นคนไทย มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี
 
จากเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณธะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ  ในการจัดทำฐานข้อมูลประชาชนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พาณิชย์ เกษตรฯ กระทรวงพัฒนาสังคม ไอซีที รองรับโครงการพัฒนาระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ  (E-Payment) ของรัฐบาล และที่ผ่านมาการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างไม่ตรงจุด เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี หรือสวัสดิการต่างๆ เพื่อส่งไปยังผู้มีรายได้น้อยอย่างตรงจุด โดยให้ดำเนินการแบบสมัครใจ
 
จึงกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อย รายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย  เดินทางไปลงทะเบียนกับสถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่งประกอบด้วย ธ.ก.ส. ออมสิน กรุงไทย เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค – ส.ค.59 สำหรับในปีต่อไป ให้เปิดลงทะเบียนในช่วงวันที่ 1-30 ก.ย. ของทุกปี เพื่อให้สถาบันการเงินจัดเก็บข้อมูลทรัพย์สิน ภาระหนี้ แล้วส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากร สำนักทะเบียรราษฎร์ เพื่อนำไปประมวลจัดสรรระบบสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการระบบ E-Payment และยังทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของประเทศอย่างถูกต้อง และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือกลุ่มต่างๆได้อย่างถูกต้องตรงจุด
 

ธ.ก.ส.พร้อมรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 15 ก.ค.นี้

ต่อมา 15 มิ.ย.59 ลักษณ์ วจนานวัช  ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  ธ.ก.ส.พร้อมเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี  เพื่อรับการช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐตั้งแต่วันที่  15 ก.ค. – 15 ส.ค.นี้  ซึ่งได้มีการวางระบบเรียบร้อยแล้ว ขณเดียวกันได้มีการซักซ้อมระบบ Any id เพื่อรองรับระบบอีเพย์เมนต์ของรัฐบาล  ระหว่างการซักซ้อมได้มีการสอบถามรายได้ประชาชนไปด้วย  หากพบว่ามีคุณสมบัติครบจะเชิญชวนเข้าร่วมโครงการผู้รายได้น้อย  คาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียน 10  ล้านรายทั่วประเทศ จากฐานลูกค้า ธ.ก.ส.ประมาณ  6  ล้านครัวเรือน หรือ 24  ล้านรายทั่วประเทศ  ซึ่งจะมีการให้กรอกแบบฟอร์มและพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สิน โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.) จะช่วยดูแลตรวจสอบระบบ เพื่อประเมินผลการลงทะเบียน

ลักษณ์  กล่าวว่า  ในช่วง  2 ปีที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านประมาณ 3,000  ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 36,000  ราย  จากผู้ที่ลงทะเบียน 100,000  ราย  คาดว่าประชาชนที่ไม่ผ่านการลงทะเบียนแล้วจะกลับมาลงทะเบียนใหม่ ส่วนกรณีแนวคิดให้กระทรวงการคลังดูแลสหกรณ์ เห็นด้วย คาดว่าการบริหารจัดการจะเหมาะสม ขณะที่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร  15,000  ล้านบาท หรือประมาณ 11,000  รายทั่วประเทศ
 

รายละเอียดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนสวัสดิการสังคมช่วยเหลือประชาชนตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัว สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้ด้อยโอกาส และสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการให้เงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามนโยบายในแต่ละรัฐบาล อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการจัดสวัสดิการสังคมและการให้เงินช่วยเหลือของภาครัฐยังมีข้อจำกัด โดยภาครัฐไม่สามารถกำหนดนโยบายการให้เงินช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง และขาดข้อมูลผู้มีรายได้น้อยเป็นรายบุคคลที่บูรณาการข้ามหน่วยงาน

โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ และกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้พิจารณาดำเนินการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมในโครงการ e-Payment ภาครัฐ

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2559 จึงได้มีมติรับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นในแต่ละปีปฏิทินไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สินของตน เจ้าหนี้และจำนวนหนี้สินที่คงค้าง เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ 2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย

2.  กลไกการดำเนินการ 1) ลงทะเบียน ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. ถึงวันที่ 15 ส.ค. 2559 สำหรับปีต่อๆ ไปให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 30 ก.ย. ของแต่ละปี

2) สถาบันการเงินตามข้อ 1) จัดเก็บเอกสารแล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกรมสรรพากรเพื่อจัดเก็บข้อมูลและทำการตรวจสอบความถูกต้องในภายหลัง (Post Audit) 3) กรมสรรพากรเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อประมวลข้อมูลผู้มีรายได้น้อย นำไปบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมแล้วนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการ e-Payment ภาครัฐในระยะต่อไป

3. ประโยชน์ที่จะได้รับ ช่วยทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการลงทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลรายได้ ทรัพย์สิน และการเป็นหนี้สิน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลและสามารถนำไปกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ที่มา : สำนักข่าวไทย โพสต์ทูเดย์และเว็บทำเนียบรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net