'ทูตสหรัฐ' เข้าพบอภิสิทธิ์ ทั้งคู่หวังประชามติเปิดให้ ปชช.มีส่วนร่วม

15 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 9.29 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Abhisit Vejjajiva' ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า กลิน ที. เดวีส (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ขอเข้าพบที่ พรรคประชาธิปัตย์

โดย สำนักข่าวไทย รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งคู่ ใช้เวลากว่า 1ชั่วโมง โดย เกล็น กล่าวภายหลังการเข้าพบ ว่า หารือหลายเรื่องทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศไทยจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างไร ทราบเรื่องการปฏิรูปประเทศและไทยกำลังเดินกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเช่นเดิม  ซึ่งบรรดามิตรประเทศ ของไทยทุกประเทศได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าพัฒนาการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ มีแนวโน้มที่ดี หากมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแมปของรัฐบาล

“เห็นว่าควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนไทยทุกระดับมีส่วนร่วมก่อนถึงวันลงประชามติ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยจะได้ทีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นของใคร ของสื่อหรือเสรีภาพต่างๆ แต่ในมุมมองที่กว้างกว่านั้นในช่วงเวลาขณะนี้ ทุกคนทุกฝ่ายต้องการเห็นประเทศไทยประสบความสำเร็จ เจริญ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนไทยที่จะพูดคุยกันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ เกี่ยวกับอนาคตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการพุดในหลักการที่พูดมาหลายครั้งแล้ว” เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย กล่าว
 
ขณะที่ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า พูดคุยในเรื่องท่าทีของพรรคต่อเรื่องการเมืองและการทำประชามติ โดยยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญในการที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง การทำประชามติต้องเอื้อต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การยอมรับกติกา หากไม่ผ่าน ต้องมีกระบวนการและกติกาที่ดีเพื่อเดินหน้า โดยพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ส่งเสริมให้สังคมไทยพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
 
“ผมกับทูตสหรัฐเห็นตรงกันว่าต้องมีพื้นที่การมีส่วนร่วม ซึ่งทูตสหรัฐก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทย แต่ก็พูดในมุมหลักการประชาธิปไตย ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงปัญหาความละเอียดอ่อนและความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
 
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า การทำประชามติ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นหลักด้วยการออกมาขจัดความไม่แน่นอนและความกลัวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแสดงออกที่เกิดจากผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ และกกต.ควรเสนอความเห็นไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐ ถ้าใช้ไปในทางที่เอื้อต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็จะไม่เกิดการยอมรับ เพราะขณะนี้กระบวนการชี้แจงเนื้อหาถูกมองว่าเป็นการชี้นำ
 
ส่วนกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่สามารถตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติได้ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้พูดให้ชัดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้คือการกระทำผิดกฎหมาย  เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจำกัด ถ้าอนุญาตให้กลุ่มหนึ่งทำได้ก็ต้องอนุญาตทุกกลุ่ม แต่อะไรที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริต การเที่ยงตรงของการทำประชามติก็ต้องทำได้ ส่วนการปลดป้ายไวนิลศูนย์ปราบโกงประชามติที่จังหวัดลำปาง ไม่อยากให้ทางฝ่ายรัฐเป็นเหยื่อของการยั่วยุให้เกิดภาพบางอย่างที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท