กรณีงานศิลปะสุธี-หอศิลป์กวางจูแสดงความเสียใจไม่ได้ศึกษาการเมืองไทยเพียงพอ

หอศิลป์เมืองกวางจูและภัณฑารักษ์เสียใจที่เกิดข้อขัดแย้งในงานศิลปะ ‘มวลมหาประชาชน’ ของสุธี คุณาวิชยานนท์ และเสียใจที่ไม่มีความสามารถพอที่จะศึกษาการเมืองไทย โดยหอศิลป์จะจัดการบรรยายสาธารณะเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและการเมืองในประเทศไทย และยินดีเผยแพร่เอกสารของกลุ่มหนุน-ค้านการแสดงงานของสุธี และจะรวบรวมเอกสารทั้งหมดในหอจดหมายเหตุเพื่อให้สาธารณชนสามารถใช้ศึกษาต่อไป

ส่วนหนึ่งของผลงานที่สุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ The truth To turn it over ที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่าง 10 พฤษภาคม - 15 สิงหาคม 2559 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย "กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม")

ศิลปินนิรนามกลุ่ม Guerrilla Boys โพสต์ภาพอยู่เบื้องหน้าผลงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ผลงานศิลปะของสุธี คุณาวิชยานนท์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 โดยศิลปินนิรนามผู้สวมหน้ากากกอริลลายังถือกระดาษเขียนข้อความว่า "This work still waiting 'Junta' create democracy for them!!!" หรือ "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร' เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา" และลงชื่อ Guerrilllaboys ท้ายข้อความ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

13 มิ.ย. 2559 กรณีที่ สุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเชิญผลงานศิลปะชุด The truth To turn it over ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) นั้น

อย่างไรก็ตาม มีผลงานส่วนหนึ่งของสุธีในชุด "มวลมหาประชาชน/Thai Uprising" เป็นงานในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ทำให้ “กลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” หรือ กวป. ทำจดหมายเปิดผนึกทักท้วงไปยังภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ โดยระบุว่าผลงานดังกล่าวของสุธีมีข้อเท็จจริงตรงข้ามกับจิตวิญาณการต่อสู้ของชาวกวางจู อีกทั้งยังมีสมาชิก กวป. แถลงว่า เป็นงานศิลปะของศิลปินที่สนับสนุน กปปส. และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการล้มกระบวนการประชาธิปไตย

ล่าสุดมีจดหมายเปิดผนึกของ กวป. ถึงผู้ที่เคยร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกชี้แจงความคืบหน้าของการตอบสนองจากภัณฑารักษ์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู มีรายละเอียดดังนี้

000

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ร่วมลงชื่อ กวป.

ในนามของผู้ประสานงานนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ขอแจ้งความคืบหน้าของการตอบสนองของภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ต่อการทักท้วงและข้อเรียกร้องของ กวป. ดังนี้

ประการแรก ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูได้สนองต่อข้อเรียกร้องของ กวป. และการเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ ในหลายประการด้วยกัน

1. สำหรับข้อเรียกร้องจาก กวป. ให้ภัณฑารักษ์ชี้แจงกระบวนการคัดเลือกผลงาน ภัณฑารักษ์ได้ชี้แจงว่า “ด้วยเพราะไม่มีความรู้เพียงพอ เมื่อปีที่แล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูจึงได้ขอคำปรึกษาจากผู้ดูแลแกลอรี่ในกรุงโซลที่เชี่ยวชาญศิลปินเอเชียนให้แนะนำเกี่ยวกับผลงานของศิลปินที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทางพิพิธภัณฑ์สนใจงาน “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” (History Class) ของ รศ. สุธี โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นผลงานเชิงความสัมพันธ์ (relational) ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับผลงานได้ด้วย พร้อมทั้งสนใจผลงานของศิลปินคนอื่นๆ ซึ่งทางผู้ดูแลแกลอรี่ดังกล่าวแนะนำมา ทางพิพิธภัณฑ์จึงเชิญ รศ. สุธีไปสัมมนาที่พิพิธภัณฑ์เมื่อปีที่แล้ว และจึงยินดีที่จะเชิญ รศ. สุธี ไปร่วมแสดงงานในนิทรรศการที่แสดงอยู่ขณะนี้ ดังที่เขาได้เคยชี้แจงมาก่อนหน้านี้แล้ว”

(Lacking information of its own, the Gwangju Museum of Art asked a gallerist in Seoul, who is knowledgeable on Asian artists, last year for recommendations of artists who work with historical themes. The museum was interested in Mr. Kunavichayanont’s History Class, in particular how it is relational (how it invites audience participation), among the works by different artists presented to us by the gallerist. We therefore invited Mr. Kunavichayanont to a seminar at our museum last year, and we thus became comfortable inviting Mr. Kunavichayanont to exhibit in our current exhibition, as we have previously explained to you.)

ทางพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ยังได้กล่าวแสดงความเสียใจว่า “ไม่ว่าจะด้วยประการใด พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูและข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจที่ได้เกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการร่วมแสดงงานของ รศ. สุธี นี้ขึ้นมา และเสียใจที่ทางเราไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะศึกษาถึงการเมืองไทยและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับการเมืองในการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิทรรศการนี้เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ “18 พฤษภา” (May 18th)”

(In any event, the Gwangju Museum of Art and I regret that the current controversy has arisen regarding Mr. Kunavichayanont’s participation in our exhibit, and that we were unable to examine Thailand’s political situation and art’s relationship to politics for our current exhibition, particularly given that the exhibition commemorates May 18th.)

ในจดหมายตอบฉบับก่อนหน้า (ซึ่งเขาได้บอกกล่าวกับสื่อมวลชนด้วย) ภัณฑารักษ์ยังอธิบายว่า ในกระบวนการคัดเลือกงาน เขาไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และบริบททางการเมืองของผลงาน รศ. สุธี ชุดนี้ดีพอ หากแต่เลือกผลงานเพียงเพราะมีรูปแบบการแสดงออกที่คล้ายคลึงกับที่ประชาชนกวางจูใช้ในการต่อต้านเผด็จการในเหตุการณ์ “18 พฤษภา” เท่านั้น

2. ภัณฑารักษ์แจ้งว่า พิพิธภัณฑ์ได้ติดตั้งข้อความว่า “ขณะที่มีคนมองว่าการเดินขบวนประท้วงในปี 2556-2557 นั้นเป็นการต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมและการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากแต่มีอีกฝ่ายมองว่า การประท้วงนั้นเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารของกองทัพ” (While some view the 2013-2014 Bangkok protests as having been in opposition to the Yingluck administration’s amnesty bill and corruption, others feel the protests paved the way for a military coup.) ในทันทีที่ผลงาน Thai Uprising ถูกตั้งคำถามทักท้วง และตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วพิพิภัณฑ์ยังได้แสดงข้อความอธิบายกระบวนการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดง พร้อมทั้งแสดงจดหมายของ กวป. ฉบับแรก แสดงจดหมายอธิบายจุดยืนจาก รศ. สุธี และจดหมายจากผู้สนับสนุน รศ. สุธี ไว้ในงานแสดงผลงาน

3. กวป. ยืนยันในหลักการเสรีภาพของการแสดงออกและเคารพในความคิดเห็นของศิลปิน จึงไม่ได้เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูต้องถอดผลงานแต่อย่างใด (ตั้งแต่จดหมายฉบับแรกที่ส่งไป) หากแต่ ภัณฑารักษ์แจ้งว่า มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มในเกาหลีเองให้ถอดถอนผลงาน Thai Uprising ของ รศ. สุธี ทว่าเนื่องจากตามข้อตกลง การถอดถอนผลงานต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงาน ซึ่ง รศ. สุธี ได้ปฏิเสธการถอดถอนผลงาน ทางภัณฑารักษ์จึงแจ้งว่าไม่สามารถถอดถอนผลงานตามข้อเรียกร้องของกลุ่มในเกาหลีได้

ประการที่สอง ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูและภัณฑารักษ์ได้เชิญ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐและผู้ประสานงาน กวป. อีกหนึ่งคน ไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและการเมืองในประเทศไทย ทาง กวป. ตอบรับคำเชิญ การบรรยายนี้จะเป็นบรรยายสาธารณะ และทางพิพิธภัณฑ์จะจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายจากคำบรรยายของตัวแทน กวป. เพื่อเผยแพร่ต่อไป

ประการที่สาม ทาง กวป. เรียกร้องเพิ่มเติมว่า ขอให้พิพิธภัณฑ์เผยแพร่จดหมายเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ต่อสาธารณชน และขอให้พิพิธภัณฑ์ยืนยันว่าจะเก็บรวบรวมจดหมายและเอกสารเหล่านี้ไว้ในหอจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงสำหรับการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ได้ต่อไป

หากมีความคืบหน้าประการใดต่อไป คณะผู้ประสานงานจะรายงานให้ทุกท่านทราบเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ เนื่องจากข่าวคราวของการทักท้วงนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แวดวงศิลปะและผู้สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดตามอย่างกว้างขวาง จึงขอแนบรายงานข่าวของสื่อมวลชนต่างประเทศมาท้ายกับจดหมายนี้ด้วย

ด้วยความนับถือ

ผู้ประสานงาน กวป.

000

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. คณะศิลปินในนาม “กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม" นำโดยสุธี คุณาวิชยานนท์, จรูญ อังศวานนท์ จุมพล อภิสุข, มานิต ศรีวานิชภูมิ, ไพโรจย์ ศรีประภา อภิศักดิ์ สนจด ฯลฯ จัดแถลงข่าวในเรื่อง "บทบาทและจุดยืนของศิลปินที่มีจิตสำนึกสาธารณะ” ต่อกรณีที่ที่ กวป. ทำจดหมายประท้วงการแสดงผลงานของสุธีดังกล่าว

โดย "กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม" ได้เผยแพร่จดหมายถึงสื่อมวลชนในประเทศไทย และส่งจดหมายเปิดผนึกถึง จอง-ยัง ลิม ลงฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีผู้ร่วมลงนามข้างท้ายเป็นจำนวน 512 คน โดยมีเนื้อหาว่า สุธีและเพื่อศิลปินภายใต้กลุ่ม Art Lane ได้ทำกิจกรรมระดมทุนและให้เงินสนับสนุนกลุ่ม กปปส. เพราะทุกคนมีแนวคิดและเป้าหมายที่ตรงกัน นั่นคือการคัดค้านกฏหมายนิรโทษกรรม และการคอรัปชั่นของรัฐบาลในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว การร่วมชุมนุมของสุธีและกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะปูทาง หรือสนับสนุนให้มีการรัฐประหารแต่อย่างใด ผลงานชุดดังกล่าวของสุธีนั้นได้แสดงถึงเสรีภาพในการทำงานของศิลปินตามแนวทางของประชาธิปไตย ซึ่งมีความสอดคล้องกับนิทรรศการที่จัดขึ้น ศิลปินทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น อีกทั้งยังกล่าวว่า ลิม จองยัง ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่สมควรทำตามกระแสกดดันจาก กวป. และเครือข่าย

ขณะที่สุธี ซึ่งร่วมแถลงข่าวด้วยกล่าวยืนยันไม่สนับสนุนรัฐประหาร และเขาเชื่อเรื่องเสรีภาพการทำงาน ไม่ขัดข้องหากพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูจะติดจดหมาย กวป. คู่ผลงาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท