ถอดบทเรียนความล้มเหลวในเวเนซุเอลา รัฐฝ่ายซ้ายละตินอเมริกายังมีความหวังหรือไม่

จอห์น เฟฟเฟอร์ จากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศเขียนถึงวิกฤตในเวเนซุเอลา ชี้ว่านอกจากภาวะควบคุมไม่ได้ภายนอกแล้ว รัฐบาลมาดูโรเองบริหารผิดพลาดและเอาแต่โทษสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ แอบพยายามช่วยกอบกู้วิกฤตนี้เพราะผลประโยชน์ที่มีในประเทศ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ต่อต้านมาดูโรไม่ได้สะท้อนว่าผู้คนจะต่อต้านฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาแต่อย่างใด

12 มิ.ย. 2559 บทความจากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy In Focus: FPIF) ระบุถึงสภาพใกล้ล่มสลายของเวเนซุเอลา จากการบริหารผิดพลาดของผู้นำคนใหม่ยุคหลังชาเวซ

จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการ FPIF ระบุว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันร้อยละ 95 แต่ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงก็ส่งผลกระทบทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลายังคงมีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมาก ในระดับที่มากกว่าซาอุดิอาระเบียเสียอีก รวมถึงการที่เวเนซุเอลามีการเปลี่ยนแปลงให้การผลิตไฟฟ้าบางส่วนมาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานน้ำ ทำให้แม้ว่าทรัพยากรน้ำมันมักจะถูกเก็บไว้ส่งออกหรือเข้าถึงยากแต่ก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ทว่าภาวะภัยแล้งก็ทำให้เวเนซุเอลาต้องเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในปัจจุบัน

ภาวะขาดแคลนดังกล่าวนี้บวกกับการขาดความสามารถในการบริหารของรัฐบาลชุดนิโกลาส มาดูโร ผู้มาแทนฮูโก ชาเวซตั้งแต่ปี 2556  ทำให้เวเนซุเอลาเกิดวิกฤตหนัก ถึงแม้ว่ามาดูโรจะพยายามคงไว้ซึ่งการสนับสนุนของประชาชนด้วยการทำให้ราคาการบริโภคต่ำและค่าแรงหมุนเวียนโดยการผลิตธนบัตรและคงการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวลดลง เกือบร้อยละ 6 ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงอีกร้อยละ 8 ในปีนี้

เฟฟเฟอร์ระบุว่าผู้คนในเวเนซุเอลาที่ยังคงมีความเป็นอยู่ที่ดีในตอนนี้เห็นจะมีแต่พวกตลาดมืดที่ขูดรีดด้วยการเอาสินค้าจำเป็นมาขายด้วยราคาที่สูงขึ้น พวกนักการเมืองวงในก็มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงเงินแข็งค่าได้ซึ่งอดีตที่ปรึกษารัฐบาลรายหนึ่งประเมินไว้ว่ามีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ มีการคอร์รัปชันอย่างน่ารังเกียจในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เช่น อดีตหัวหน้าหน่วยปราบปรามยาเสพติด อดีตโฆษกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ทหารหลายนาย และหลานของภรรยาผู้นำสองคนต่างก็ถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติด

บทความระบุถึงสภาพความโกลาหลในเวเนซุเอลาช่วงวิกฤตว่าซูเปอร์มาร์เก็ตขาดแคลนอาหารทำให้เกิดการต่อคิวยาวและเกิดจลาจลแย่งชิงอาหาร มีอัตราอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น โครงการสาธารณะต่างๆ ของรัฐที่เคยได้รับความชื่นชมอย่างมากในสมัยรัฐบาลชาเวซก็หายไป อาคารราชการเปิดทำการเพียง 2 วันต่อสัปดาห์เพื่อประหยัดไฟฟ้า ผู้คนตกลงสู่ห้วงความยากจนเนื่องจากทั้งเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ระบบการแพทย์ใกล้ล่มเพราะขาดแคลนยาสำคัญ ทารกแรกเกิดเสียชีวิตรายวันเพราะระบบไฟฟ้าในโรงพยาบาลขัดข้อง

แต่มาดูโรกลับพยายามกลบปัญหาเหล่านี้ด้วยการคุยโว ชูเรื่องชาตินิยม และพึ่งพาวิธีการออกกฎตามใจชอบ มีการฝึกกองกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และความคิดเห็นของเขาอย่างเช่นการขอให้ผู้หญิงเลิกใช้ไดร์เป่าผมเพื่อประหยัดไฟทำให้ความคิดของเขาถูกนำมาล้อเลียนโดยพิธีกรรายการโทรทัศน์ จอห์น โอลิเวอร์

ถึงแม้ว่ามาดูโรจะเข้าสู่ตำแหน่งตามกระบวนการเลือกตั้งที่ดูค่อนข้างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นเขากลับทำตามแบบอำนาจนิยมด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนถึงอย่างน้อยช่วงปลายปี 2560 อีกทั้งยังใช้พรรคพวกในศาลสูงสุดเพื่อประกาศให้ผลการเลือกตั้งในรัฐอมาซอนาสโมฆะ เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับเสียงข้างมากในสภาพอที่จะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างการถอดถอนศาลสูงสุดได้ ศาลสูงสุดยังให้อำนาจมาดูโรในสถานการณ์ฉุกเฉินและป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านมีอิทธิพลต่อประเทศมาก

บทความใน FPIF ระบุว่าวิกฤตในครั้งนี้มีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมาดูโร เช่น ราคาน้ำมันและปริมาณน้ำฝนน้อยแต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เป็นผลมาจากมาดูโรหรืออาจจะรวมถึงสิ่งตกทอดจากนโยบายของชาเวซด้วย คือเรื่องการที่เวเนซุเอลาไม่สามารถหลุดออกจากการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันได้ และถึงแม้ว่าระบอบชาเวซจะทำให้ผู้คนหลุดจากความยากจนได้มันยังสร้างระบอบอุปถัมภ์ในแบบใหม่ขึ้นมาจนทำให้ไม่สามารถสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่คงทนหรือเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ชาเวซยังแจกจ่ายผลกำไรจากอุตสาหกรรมน้ำมันและไม่ได้เตรียมพร้อมรับมืออนาคต

บทความระบุด้วยว่า ทั้งนี้มาดูโรยังมักจะกล่าวโทษสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ เช่นกล่าวหาว่าแอบช่วยเหลือพวก "ฟาสซิสต์ฝ่ายขวา" ในประเทศ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ เคยสนับสนุนการรัฐประหารชาเวซในปี 2545 จริง และในสมัยของรัฐบาลโอบามาก็ยังอยากให้เวเนซุเอลามีรัฐบาลเป็นกลุ่มอื่น แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวิกฤตในปัจจุบันของเวเนซุเอลาเลย สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรเวเนซุเอลาแต่ก็เป็นการคว่ำบาตรคนไม่กี่คนในประเทศเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามสมัยรัฐบาลโอบามาเริ่มมีการพยายามคืนสัมพันธ์กับประเทศที่เคยบาดหมางกันอย่างคิวบาแต่ก็ยังคงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจคิวบาอยู่แม้จะคืนสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ในขณะที่เวเนซุเอลากับสหรัฐฯ มีความใกล้ชิดมากด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแต่ทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้ส่งทูตไปประจำในอีกประเทศมาตั้งแต่ปี 2553

FPIF ยังเปิดเผยอีกว่าในช่วงเดือน มี.ค. 2558 ช่วงที่สหรัฐฯ พยายามคืนสัมพันธ์กับคิวบา มาดูโรพยายามเข้าหาสหรัฐฯ อย่างเงียบๆ เพื่อดูว่าจะสามารถหาประโยชน์จากนโยบายผูกมิตรนี้ได้หรือไม่ สหรัฐฯ ก็ตอบสนองมาดูโรในทางบวกด้วยการจัดการเจรจาหารือสองฝ่ายแต่ฝ่ายหนึ่งกลับไม่ต้องการแชร์ผลประโยชน์ร่วมด้วย และไม่สามารถตกลงกันได้ อย่างไรก็ตามเวเนซุเอลาก็ยังคงเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้บรรษัทสหรัฐฯ เข้าไปตั้งศูนย์ขุดเจาะทรัพยากรหรือ
ให้สหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในประเทศ

เฟฟเฟอร์ระบุในบทความว่าถึงแม้มาดูโรจะสงสัยว่าสหรัฐฯ จะวางแผนรัฐประหารเขาหรือไม่ แต่ดูเหมือนรัฐบาลโอบามาจะกังวลในเรื่องที่เวเนซุเอลาจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากกว่าจะสนใจว่ามาดูโรจะยังคงอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ รัฐบาลโอบามาหนุนให้สเปนเป็นตัวกลางเจรจาหารือระหว่างมาดูโรกับรัฐสภาภายใต้การควบคุมของฝ่ายค้านอยู่เงียบๆ และถึงขั้นจูงใจให้วาติกันช่วยเหลือในเรื่องนี้จากที่เคยช่วยเรื่องคืนสัมพันธ์กับคิวบามาแล้ว

บทความชี้ว่า แน่นอนว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องการผู้นำเวเนซุเอลาที่อ่อนข้อให้ง่ายกว่านี้ แต่การที่เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศห้าอันดับแรกที่เป็นผู้จัดหาทรัพยากรน้ำมันให้ สหรัฐฯ จึงไม่ต้องการให้เวเนซุเอลาล่มสลายหายไปกับความโกลาหล ดังนั้น สหรัฐฯ จึงไม่ได้ต้องการทำให้รัฐบาลมาดูโรขาดเสถียรภาพ เฟฟเฟอร์ระบุว่าถ้าอยากเห็นว่าสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดูเวเนซุเอลาเป็นตัวอย่าง

มาดูโรยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น อาทิ องค์กรสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาดูโรอย่างหนัก ลุอิซ อัลมาโกร ประธานองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) กล่าวว่าเวเนซุเอลาละเมิดกฎบัตรของรัฐจากการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีโอกาสที่เวเนซุเอลาจะถูกระงับสมาชิกภาพ แต่มาดูโรก็ตอบโต้แบบขวานผ่าซากว่าให้เอา "กฎบัตรความเป็นประชาธิปไตยยัดเข้าไปในอะไรก็ได้" และ "เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีความเคารพในตัวเองและจะไม่ใช้กฎบัตรที่ว่ากับเวเนซุเอลา"

ไม่ใช่เพียงแค่ OAS ที่ถูกมองว่าเป็นองค์กรเชื่องๆ รับใช้สหรัฐฯ เท่านั้นที่วิจารณ์ในเรื่องนี้ กลุ่มสังคมนิยมอย่างองค์กรนักสังคมนิยมนานาชาติ (The Socialist International) ก็ประณามรัฐบาลเวเนซุเอลาหลายครั้ง สิ่งที่พวกเขาวิจารณ์เมื่อไม่นานมานี้อย่างเรื่องความบิดเบี้ยวของประชาธิปไตย เรื่องนักโทษการเมือง และความตกต่ำของสถาบันที่ค้ำจุนชีวิตผู้คน

ในแง่ของการเชื่อมโยงปรากฏการณ์มาดูโรกับปรากฏการณ์ที่ละตินอเมริกาหลายประเทศเริ่มถดถอยหลังจากที่ฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายขวามาระยะหนึ่ง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 มีชาวเวเนซุเอลาที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้ายน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เชื่อว่าประเทศยังคงดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร ขณะที่ชาวเวเนซุเอลาที่เหลือล้วนต้องการการเปลี่ยนแปลง

เฟฟเฟอร์ระบุว่าการต่อต้านมาดูโรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธฝ่ายซ้ายสักเท่าใด มาดูโรเป็นนักประชานิยมที่มีแนวโน้มไปในทางอำนาจนิยม ส่วนแนวร่วมฝ่ายต่อต้านก็ประกอบด้วยพรรคการเมืองจากอุดมการณ์ทุกแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสุดโต่งหรือกลุ่มหัวก้าวหน้า รวมถึงพรรคสายสังคมนิยมประชาธิปไตยหลายพรรค ส่วนระบอบชาเวซนั้นเป็นแค่ลัทธิอุดมการณ์การเมืองอย่างหนึ่งที่กำลังกระเสือกกระสนเฮือกสุดท้ายและอาจจะลากเวเนซุเอลาให้ล่มไปด้วย มันจึงถึงเวลาแล้วที่ดินแดนปฏิวัติจะต้องเริ่มตั้งต้นใหม่อย่างถอนรากถอนโคนอีกครั้ง

เรียบเรียงจาก

A Failed State in Latin America?, John Feffer, FPIF, 08-06-2016
http://fpif.org/failed-state-latin-america/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท