ชุมชนบ่อแก้ว: ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในที่ดินอีสาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่ดิน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน มนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรที่ดินในการเป็นที่อยู่อาศัย การเป็นแหล่งทำมาหากินเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรที่ดินเป็นปัจจัยมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินนั้นนับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการนำที่ดินไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าขาย หรือโครงการการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น ถนน เขื่อน ซึ่งอีกนัยหนึ่งถือเป็นการทำลายป่าอย่างชอบธรรมโดยภาครัฐ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ หรือความขัดแย้งในเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนอยู่มากมาย

นอกจากปัญหาการขาดที่ดินทำกินแล้ว ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ต้องสูญเสียที่ดินโดยการแย่งชิงการถือครองที่ดินโดยภาครัฐ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน อย่างเช่นกรณี การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านทับที่ดินทำกินของประชาชน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินของประชาชนในภาคอีสาน ทำให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านในภาคอีสานมีให้เห็นอยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่น การต่อสู้กับโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกยอ.) ในปี พ.ศ. 2534 การออกมาเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับสมัชชาคนจน (สคจ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และการออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ในปี พ.ศ. 2554

ชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ทำการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันการต่อสู้ของชุมชนบ่อแก้วได้พัฒนามาสู่การต่อสู้ด้วยยุทธวิธีการบุกยึดที่ดินในเขตป่าคืน ซึ่งชาวชุมชนบ่อแก้วเคยอยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อน แต่ถูกรัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ดินทำกิน และบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ แต่หลังจากต้องสูญเสียที่ดินทำกินอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจทำการบุกยึดที่ดินคืน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน

จากการศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่าง ๆ ของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กรณี ดังนี้

1. การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูซำผักหนาม ทับที่ดินทำกินของชุมชนในปี พ.ศ. 2516

การประกาศป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว คือความไม่เป็นธรรมเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน โดยการผ่านเป็นกฎหมายป่าไม้ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แล้วดึงทรัพยากรที่ดินจากประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ซึ่งกฎหมายและนโยบายในด้านป่าไม้และที่ดินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ

กล่าวโดยสรุป คือนโยบายป่าไม้ที่ดินในสังคมไทยเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนขึ้นมากมาย เช่นเดียวกันกับการประกาศเขตป่าสงวนแห่ชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เนื่องจากเป็นนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วนำมาบังคับใช้กับชาวบ้าน โดยขาดการมีส่วนร่วม แม้ในปี พ.ศ. 2491 จะได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญา ฯ ฉบับนี้

ในปี พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มดำเนินการไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ การข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่บริเวณชุมชนไป การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับชาวบ้านที่กำลังทำไร่ทำนาในบริเวณนั้น ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามบริเวณพื้นที่ป่าเหล่าไฮ่ โดยการปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ และในปีเดียวกันมีการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร บังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วให้อพยพย้ายออกจากชุมชนไป

นั่นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 25 ว่า “ในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย...” รวมถึงที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 17 ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเองและโดยร่วมกับผู้อื่น และไม่มีบุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจได้”

โดยเฉพาะการบังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว โดยการข่มขู่คุกคามที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในความเห็นทั่วไปในด้านสิทธิในที่อยู่อาศัยของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights) ข้อที่ 4.8 (ก) ว่า “...ไม่ว่าการเป็นเจ้าของในรูปแบบใด ทุกคนต้องมีความมั่นคงในการเป็นเจ้าของระดับหนึ่ง ที่จะประกันความคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ ...” ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุข้อความไว้อย่างชัดเจน ในการที่จะคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับไร่ลื้อจากที่อยู่อาศัย

แม้กติการะหว่างประเทศฯ ดังกล่าว ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีเมื่อ 5 กันยายน 2542 มีผลใช้บังคับ 5 ธันวาคม 2542 ภายหลังจากเหตุการณ์ปลูกสร้างสวนป่าคอนสารแล้วบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ แต่แสดงให้เห็นว่าการบังคับไล่รื้อด้วยการข่มขู่คุกคามชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่พิพาทเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการสิทธิมนุษยชน

2. การไม่จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านสมาชิกหมู่บ้านสวนป่า

ก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด มีการชักชวนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยจะได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ โดยตามโครงการจะมีการดำเนินการจัดสรรที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเป็นแปลง จำนวน 100 แปลง จำแนกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิออกเป็นสองประเภท คือ เจ้าของที่ดินเดิมและคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่เป็นลูกจ้าง โดยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ โรงเรียนและวัด

แต่ปรากฏว่า จากทั้งหมด 103 ครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ มีเพียง 41 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับที่ดินจำนวน 1 ไร่ เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดให้ หรือที่เรียกว่าหมู่บ้านสวนป่า และไม่มีผู้ใดได้รับที่ดินจำนวน 5 ไร่ สำหรับทำการเกษตรตามที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ให้สัญญาไว้

ในปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชน จำนวนประมาณ 130 ครัวเรือน ซึ่งขนาดของชุมชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง อ.อ.ป. อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามระบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ได้จนกระทั่งปัจจุบัน จึงทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ตามที่สัญญาเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากชาวบ้านที่ยินยอมเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ยังมีครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง หมายถึง คนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคนที่ไร้ที่ดินทำกิน

3. ศูนย์ธรรมรัศมี

การเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า ได้มีการสร้างโครงการในพื้นที่ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีมติมอบให้ชาวบ้าน 1,000 ไร่ ชื่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแทน โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังกล่าวได้มีการใช้พื้นที่จริงในการดำเนินโครงการจำนวน 240 ไร่ ซึ่งในเวลาต่อมาพื้นที่ของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมชื่อว่า ศูนย์ธรรมรัศมี

ศูนย์ธรรมรัศมีตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทโดยมีจำนวนที่ดินถึง 240 ไร่ โดยมิได้ถูกภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มีคนร่ำรวยมีอำนาจไปทำบุญส่งเสริมเป็นจำนวนมาก ต่างกับชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ทำมาหากินมาก่อนที่ถูกไล่รื้อให้ออกจากพื้นที่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทที่เดียวกัน

4. การไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

การเพิกเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่ ๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ถือเป็นการไม่รับผิดชอบที่ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในตัวเมืองใหญ่ และทั้งหมดไม่มีที่ดินทำกินเพราะการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินของชาวบ้านในครั้งนั้น

อีกทั้งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในชุมชนบ่อแก้วถึง 10 ชุด ซึ่งมีคณะกรรมการหลายชุดที่ยืนยันว่ากรณีพิพาทดังกล่าวเป็นความผิดที่เกิดจากการประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แม้จะมีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีในการที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็ยังคงนิ่งเฉยดูดายตลอดมา

5. การดำเนินคดีกับปฏิบัติการทวงคืนที่ดิน

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีสวนป่าคอนสารจึงได้เข้าทำการทวงคืนที่ดินและปักหลักอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยมีเป้าหมาย คือ การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน มีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด 2.ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน

3.ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนจำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ และ 4.พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ให้ชาวบ้านและท้องถิ่นมีสิทธิในจัดการทรัพยากรในรูปแบบป่าชุมชน

ปรากฏว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ฟ้องขับไล่ ชาวบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบุกยึดที่ดิน รวม 31 คน ออกจากพื้นที่พิพาท พร้อมการห้ามมิให้ขยายเขตพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม

ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านที่ดินที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วได้รับ คือ การถูกทำให้สูญเสียที่ดินโดยนโยบายและกฎหมายของภาครัฐที่ออกมาดำเนินการบังคับใช้โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การให้ที่ดินทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ปี พ.ศ. 2484 มาบังคับใช้ การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 อีกทั้งการดำเนินการใช้มาตรการบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2530 ด้วยยุทธวิธีการข่มขู่คุกคาม การใช้กำลังประทุษร้าย จนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมาโดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน

ดังนั้น การประกาศเขตป่าสงวนภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 จึงเป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ที่อยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่มาก่อน 

ข้อเสนอ เพื่อการจัดสรรที่ดินที่เป็นธรรมในเชิงรูปธรรมของการจัดการที่ดิน

1.การจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
โฉนดชุมชน เป็นลักษณะ การบริหารจัดการที่ดินโดยประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โฉนดชุมชน นั้น เป็นการจัดการที่ถูกเสนอขึ้นมาจากขบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในเรื่องที่ดินทำกิน อย่าง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีเจตนารมณ์ให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนของตนเอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 66

- เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินของเกษตรกรหลุดมือ
- เพื่อรักษาพื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรมหรืออาหาร รักษาความมั่นคงทางอาหาร
- เพื่อรักษาที่ดินไม่ให้ถูกคุกคามโดยนายทุนต่างชาติ
- เพื่อคืนอำนาจการจัดการสู่ประชาชน คืนประชาธิปไตยสู่ประชาชนระดับรากหญ้า

2.ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์
ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์ คือ ยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว ในการที่จะสื่อสารกับสังคมภายนอกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหว อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านบ่อแก้ว ในการเป็นเกษตรกรที่มีวิถีการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีไม่ทำลายธรรมชาติ

3. ป่าชุมชน
ป่าชุมชน รูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ให้สิทธิคนในชุมชนที่ต้องอาศัยป่าหรือที่ดินรอบ ๆ พื้นที่ป่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่ออาศัยป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่มาของอาหาร เป็นแหล่งเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค หาพืช สมุนไพร และประโยชน์เพื่อการใช้สอยอื่น ๆ โดยภายในชุมชนมีการกำหนดกฎระเบียบ กติกา การนำภูมิปัญญา จารีตประเพณี และวิถีชีวิตในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาให้คงไว้ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรในป่าชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

4. โรงเรียนชาวนา
แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ่อแก้วที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้โดยยุทธวิธีบุกยึดที่ดินจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนา แต่สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านยังขาดเหลือสำหรับการต่อสู้ ก็คือ การขาดอุดมการณ์ชาวนา การขาดชุดวิเคราะห์ในการแยกมิตรแยกศัตรู ขาดชุดความรู้สำหรับวิเคราะห์เพื่อปรับใช้สำหรับขบวนการต่อสู้ในระยะยาว ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความสำคัญที่จะจัดตั้งโรงเรียนชาวนาสำหรับการต่อสู้ในชุมชนบ่อแก้วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดตั้งทางความคิดทางการเมืองสำหรับการต่อสู้โดยเฉพาะ

5. ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม
ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ถูกตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีหลายครั้ง จึงควรมีการจัดตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อสังคมขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับชาวบ้าน

 

บรรณานุกรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ, สิทธิชุมชน, สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.. วิวัตนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า, กรุงเทพมหานคร:สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, พ.ศ.2534.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, โครงการผลิตตำราและเอกสารการสอน คณะรัฐศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2552.
ชลธิรา สัตยาวัฒนาและคณะ, สิทธิชุมชนท้องถิ่นอีสาน ในชุดโครงการสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล พ.ศ. 2547.
เสน่ห์ จามริก, สิทธิมนุษยชนไทยในกระแสโลก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.

 

ที่มา:  www.citizenthaipbs.net

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท