Skip to main content
sharethis

10 มิ.ย. 2559 เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานเสวนา "ป่าไม้ที่ดิน สิทธิที่หายไป" ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่ชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Walk for rights ขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งวันนี้หยุดเดิน 1 วัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเพิ่มศักดิ์เสนอว่า การสร้างอำนาจต่อรองจะสำเร็จได้ต้องมีมวลชนมากพอ ต่อสู้ด้วยข้อมูล และมีแนวร่วมที่มีประสิทธิภาพ

รายละเอียดมีดังนี้

ผมดีใจนะครับที่ได้มาคุยกับพี่น้องที่คอนสาร แล้วก็มีพี่น้องที่หลายพื้นที่ที่มาร่วมกัน แล้วก็ได้เจอเพื่อนเก่าหลายคน วันนี้ผมอาจจะพูดนอกกรอบมากหน่อย แล้วก็จะพูดแรงๆ นิดหนึ่ง ที่จะพูดแรงๆ เพราะคิดว่ามันมากพอแล้วกับประสบการณ์การทำงานกับชาวบ้านมา 30 กว่าปี จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยอยากมาเท่าไหร่ เพราะมาทีไรก็เจอกับความเศร้า และปัญหาเก่าๆ ของชาวบ้าน ผมอยากจะมาเจอชาวบ้านอยู่ดีกินดีมีสุขทั่วหน้ากัน มาคุยกันเรื่องเดินไปข้างหน้า ไม่ต้องมาคุยกันถึงเรื่องปัญหา 20-30 ปี ผมอยากจะเห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง เวลามาเจอเรื่องเก่าๆ แล้วใจมันไม่ค่อยดี

เรื่องปัญหาชาวบ้านที่ว่ามีการตั้งกรรมการแก้ไขปัญหากันมาตั้งแต่สมัยบิ๊กจิ๋ว ผมก็เป็นกรรมการทุกชุด เป็นร้อยๆ ชุด จนมีความรู้สึกว่า เรากลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการถ่วงการแก้ปัญหาของชาวบ้านตลอดเหมือนกัน แต่ไม่เป็นก็ไม่ได้ ไม่เป็นก็ไม่มีคนไปตะโกนโหวกเหวกเป็นปากเป็นเสียงให้อีก แต่รู้ว่านี่คือกับดัก นี่คือหลุมพรางหลุมใหญ่ ที่ออกมาไม่ได้เพราะว่าทุกคนตกไปในหลุมหมด

ผมเองจริงๆ แล้ววางมือเรื่องพวกนี้มาพักใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเศร้าหมอง มันมองไม่เห็นทางชนะ มันมีแต่ถอย มันมีแต่แพ้ รุ่นพ่อตายไปก็มี เหลือรุ่นลูก ต่อมาก็รุ่นหลาน มันจะสู้กันไปอีกกี่ชั่วคน

แต่ที่มาวันนี้แล้วดีใจอย่างหนึ่ง แม้หลายคนจะชราไปมาก แต่ดูสายตาแล้วยังมีแววในการสู้ จิตวิญญาณเรายังมีอยู่ ผมเองถ้าจะฟันธง พูดถึงความไม่สามารถจะต่อสู้เอาชนะปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการใช้อำนาจรัฐต่อพี่น้องชาวบ้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่น้องทางอีสาน และพี่น้องทางเหนือ ที่ผมจะพูดคือเรื่องของการทบทวนประสบการณ์ทำงานของผมกว่า 30 ปี และการศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ผมฟันธงพูดประโยคเดียวได้เลยว่า เรายังเข้มแข็งไม่พอ เรายังสู้ไม่พอ

ผมเองตอนที่สู้เรื่องป่าชุมชน รวมกับไปต่อรองกับรัฐบาลสมัยนั้นคือ รัฐบาลทักษิณ มากันเป็นร้อยพอ แต่พอเข้าไปในทำเนียบเหลือผมอยู่คนเดียว คนนู้นก็ไม่ว่าง คนนี้ก็ไม่ว่าง คนในทำเนียบเขาก็ถามแล้วไหนล่ะมวลชนอยู่ไหน ก็แค่ได้คุยสัก 5 นาที ยื่นจดหมายร้องเรียนแล้วก็เลิก

บทเรียนครั้งนั้นมันทำให้รู้ว่า ถ้ามาเป็นหมื่น ก็มาคุยกันในทำเนียบ แต่ถ้ามาเป็นร้อยเป็นพัน ก็ได้คุยอยู่ที่ต้นมะขาม ถ้ามาเป็นสิบก็จะมีคนมารับเรื่องอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่ถ้าไปคนเดียวก็อาจจะไม่มีคนมารับเรื่อง หรืออาจจะต้องส่งไปทางไปรษณีย์

ฉะนั้น ฟังธงได้เลยว่า ความเข้มแข็งของมวลชนคือจุดเปลี่ยน ผมศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินที่บราซิล (MST) ชัดเจนเลยว่า เขาสู้กันทั้งชุมชน สู้กันทั้งเครือข่ายชุมชนไม่ใช่ชุมชนเดียว ฉะนั้น การจัดตั้งความคิดเขาชัดเจนต่อเนื่องยาวนาน ไม่แพ้เหมาเจ๋อตุงจัดตั้งชาวนาขึ้นมาปฏิวัติ การจัดตั้งของเขาเพรียบพร้อมไปด้วยข้อมูล มันมีความไม่เป็นธรรมอย่างไร ใครที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้มันเกิดอย่างนี้ มันกระทบกับชาวบ้านอย่างไร เขาไม่ต้องมารอฟังนักวิชาการมาวิเคราะห์ปัญหาให้เขา แต่เขาทำวิจัยวิเคราะห์กันได้เอง ใครไปถามชาวบ้านเขาตอบได้หมดว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร และความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับมันเชื่อมโยงกับอะไร เขาจัดตั้งขบวนจนชาวบ้านวิเคราะห์ได้ชัดเจน นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาสามารถที่จะเปลี่ยนนโยบายรัฐบาล ทั้งนโยบายเรื่องที่ดิน และในหลายๆ เรื่อง นี่คือตัวอย่าง

ที่อินเดียก็เป็นอีกไม่กี่ประเทศในโลกแต่ว่าของเขาอาจจะไม่เหมือนของบ้านเรา อินเดียได้มรดกตกทอดทางความคิดทางจิตวิญญาณจากบิดาของเขา มหาตมะ คานธี คนอินเดียไม่กลัวติดคุก เพราะเวลาถูกจำคุกเขาไปกันหมด เข้าคุกก็เข้ากันหมด ถึงไม่จับก็อยู่มันตรงนั้นแหละ อยู่กับเหมือนอยู่ในคุก สู้ไม่ถอย ผมยังนึกอยากเห็นตอนที่คนคอนสารเข้าไปอยู่ในคุกทั้งหมด อันนี้ไม่ใช่เพื่อความสะใจนะ แต่ถ้าเราถูกจับเข้าไปอยู่ในคุกกันหมด มันจะเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมพวกเราต้องเข้าไปอยู่ในคุก ถ้าเข้าไปแค่คนสองคนมันไม่มีคำถาม มันมีแต่คำประณามว่า พวกนี้มันบุกรุกป่า พวกนี้มันต่อต้านอำนาจรัฐ

ผมเชื่อว่านี่คือจุดเปลี่ยน ต้องทำขบวนให้ชัด ผมดูขบวนป่าชุมชน ขบวนรัฐธรรมนูญสีเขียวตั้งแต่ปี 2540 ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วเรื่องได้เครื่องมือคือกฎหมายมา แต่ขบวนป่าชุมชนไม่ประสบความสำเร็จในเชิงนโยบาย เพราะว่าช่วงหลังๆ ไม่มีชุมชนออกมาเคลื่อนเลย มีแต่ฝ่ายวิชาการ และเอ็นจีโอไม่กี่คน

ต่อมาเครือข่ายที่ดิน แรกๆ ก็มีพลังในการต่อรอง แต่หลังๆ ก็ไม่ต่างจากขบวนการเดิมๆ หลังๆ ก็เริ่มเหมือนกันแล้วมีการตั้งคณะกรรมการเต็มไปหมด ไม่ใช่ตั้งน้อยๆ ตั้งมากกว่าเดิมอีก 13-14 ชุด แล้วก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ฉะนั้น 30 กว่าปี เราเรียนรู้อะไรได้มาก แต่ว่าการต่อสู้การเรียกร้องของเราทำไมไม่สามารถยกระดับขึ้นมาได้ เราสู้กันในปัจจุบันนี้ เราสู้เพื่อต่อรองอะไร เราอยากได้ที่สัก 1,500 ไร่ เราอยากจะทำรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน เราอยากจะทำเศรษฐกิจพอเพียง เราก็รับวาทกรรมของรัฐของนักวิชาการมาหมด แต่จริงแล้วปัญหามันคืออะไร เราฟันธงเรื่องของความไม่เป็นธรรมไม่ชัดเจน หรือบางอย่างชัดเจนแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ต่อสู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างจริงๆ จังๆ

เรื่องป่าสงวน ที่เขียนแผนที่บนกระดาษบนห้องกันเป็นประเด็นหลักประเด็นแรกเลยที่รัฐปฏิเสธไม่ได้ว่าทำจริง เชื่อได้ว่าประเด็นนี้ประเด็นเดียวถ้าชุมชนทั่วประเทศลุกกันขึ้นมา บอกว่าตอนนี้ผมไม่ยอมแล้ว 50 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2507 ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ นี่ปี 2559 แล้ว 52 ปีที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม รากฐาน รากเหง้า ก่อนจะมาเป็นสวนป่า ก่อนจะมาเป็นอุทยาน ก่อนจะมาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มาจากตรงนี้

ถ้าประชาชนทั่วประเทศลุกขึ้นมาต่อสู้สักล้านคน แล้วบอกให้รัฐบาลกลับมาทบทวน และต้องมีกระบวนการที่มีส่วนร่วม เราต้องลุกกันขึ้นมาต่อสู้แบบนี้ แล้วก็ยึดแนวทางของมหาตมะ คานธี คือสู้อย่างสันติ ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่การแก้ปมปัญหาในเชิงนโยบาย พูดง่ายๆ คือ ถ้ากฎหมายป่าสงวนมันคลี่ มันทบทวนได้ ไอ้การประกาศป่าอื่นที่ใช้แนวเขตป่าสงวนเป็นฐานมันก็ต้องแก้ด้วย เพราะมันประกาศอยู่บนฐานข้อมูลที่ผิด หลักฐานที่ผิด เราต้องสู้กันถึงรากเหง้าที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่ดินทำกินที่แท้จริง

และการต่อสู้มันจะไม่มีพลัง ถ้าคนสู้ไม่ทำข้อมูล ไม่ทำหลักฐานขึ้นมาชี้แจงยืนยัน ตอนนี้เรายังยืนยันกันในลักษณะนามธรรม เราอ้างป่าช้า เราอ้างชุมชน เราอ้างต้นมะขาม มันก็ดี แต่มันต้องมีหลักฐานที่มีมากกว่านั้น ผมคิดว่าถ้าเราระดมทำข้อมูลกันจริงๆ จังๆ และต้องทำให้ข้อมูลนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เราต้องดึงสถาบันทางวิชาการเข้ามาช่วยด้วย ถ้าหลักฐานพอเพียง และชุมชนลุกขึ้นมาพร้อมกัน มันจึงจะมีพลังต่อรองได้

ผมยังเชื่อว่าเรายังมีเลือดนักสู้อยู่เต็มตัว แต่ว่าขณะนี้จิตวิญญาณในการต่อสู้ กำลัง สติปัญญา มันลดน้อยถอยลง เพราะว่าเราท้อแท้ และดูสภาพเศรษฐกิจมันบังคับให้เราหมดแรงที่จะสู้ไปเอง แต่ว่าในการต่อสู้มันไม่มีอะไรที่เราจะได้มาเปล่าๆ ตอนนี้เรามีทุนทางสังคม มีทุนทางวัฒนธรรม แต่ว่ามันยังไม่พอ เราต้องเพิ่มเรื่องจิตวิญญาณเข้าไปด้วย เราต้องเชื่อว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง และเมื่อมันถูกต้องเราก็ต้องไม่กลัวโรงพัก ไม่กลัวศาล และถ้าที่ในห้องขังมีที่เหลือผมก็จะช่วยเข้าไปอยู่อีกคน

จะตั้งอีสานใหม่ หรืออีสานใหม่กว่า แต่ถ้าการจัดตั้งยังอยู่ในระดับเดิม มวลชนก็ยังอยู่ในระดับแบบนี้ ก็จะมีแต่ถูกไล่ล่า มันสู้เขาไม่ได้จริงๆ แค่การเมืองท้องถิ่นก็จะเอาไม่รอดแล้ว นี่ต่อสู้ระดับการเมืองระดับชาติ หรือเจอทุนข้ามชาติไม่ต้องลืมตาอ้าปากเลย
ผมไม่อยากพูดให้เสียกำลังใจแต่มีความจำเป็น เราต้องถอนรื้อแนวคิดเก่าๆ ตั้งปรับกระบวนการจัดตั้งใหม่ เราต้องรวมพลังกันให้ได้ ขยายแนวร่วม และสร้างอำนาจต่อรองให้ได้ ตราบใดที่ยังไม่มีอำนาจต่อรอง เขาก็ไม่ฟัง

ผมหวังอย่างเดียวในการต่อสู้ของภาคประชาชนคือมีการกระบวนการต่อสู้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาชนไม่มีวันแพ้ เพราะความเป็นจริงมันจะยืนยันการต่อสู้ของประชาชน แต่ถ้ากระบวนการต่อสู้มันยังไม่เท่าเทียมเรายังไม่รู้ว่าต่อสู้กับอะไร อำนาจทุน อำนาจเงิน อำนาจรัฐ ไอ้คนที่เราต่อสู้ด้วยมันเปลี่ยนหน้ากันมาตลอด 30 ปี ฉะนั้นถ้าอำนาจต่อรองมีเท่านี้ก็ยอมรับชะตากรรม แต่ถ้าไม่ยอมรับชะตากรรมก็ต้องสร้างอำนาจต่อรองขึ้นมา

อำนาจต่อรองจะสร้างขึ้นมาได้ต้องมีสามอย่างด้วยกันคือ 1.ต้องมีมวลชนมากพอ 2.ต้องมีฐานข้อมูลรองรับ 3.ต้องมีแนวร่วมที่มีประสิทธิภาพ สามอย่างเท่านั้นเงินทองไม่สำคัญที่เหลือมันมาเอง

 

 

หมายเหตุ: การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Walk for rights ขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่ กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเดินทางถามสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้านทั่วทั้งภาคอีสาน และเป็นการเปิดปัญหาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ ร่วมทั้งเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน โดยจะเดินเป็นระยะเวลาทั้งหมด 35 วัน ระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net