Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ฯ เผย 4 ปัจจัยสำคัญ ส่งไทยประสบผลสำเร็จ การยุติติดเชื้อ HIV แม่สู่ลูก อัตราต่ำกว่าร้อยละ 2 เป็นประเทศที่ 2 ของโลก ทั้งจากโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุข การวิจัยต่อเนื่องและจริงจัง การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกลไกขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม แถมสะท้อนความคุ้มค่าการลงทุนสุขภาพของประเทศ เตือนรัฐบาลอย่าแค่รับรางวัลแล้วจบ แต่ควรเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศ


ภาพโดย anqa (CC BY-ND 2.0)

9 มิ.ย. 2559 สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลกรับรองเป็นประเทศที่ 2 ของโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชีย ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาจากผลดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ คือ

1.การวางโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขของประเทศ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีการจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ที่ดี มีหน่วยบริการกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้

2.การทำวิจัยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกโดยสภากาชาดไทย มีการทดลองทางคลินิกและทำงานในเชิงปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อผลักดันเรื่องนี้

3.การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รองรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เกิดการดูแลตั้งแต่การตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอดแล้วทั้งแม่และเด็ก โดยเฉพาะการเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในอดีตยาต้านไวรัสเอชไอวีมีราคาแพงมาก แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งผลให้เกิดกลไกที่ทำให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีมีราคาถูกลงกว่า 10 เท่า โดยร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมในการผลิตยาสามัญเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึง รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนเอดส์เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีเฉพาะที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

4.กลไกภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จนสำเร็จ ทั้งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบรรจุสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการคุ้มครองสิทธิหญิงติดเชื้อที่ตั้งครรภ์ 

“หลังปี 2527 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย หญิงติดเชื้อเอชไอวีที่ตั้งครรภ์ในยุคนั้นลำบากมาก เนื่องจากขณะนั้นมีทัศนคติว่าลูกที่คลอดจากผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีต้องติดเชื้อ และเมื่อไปโรงพยาบาลจะถูกให้ยุติการตั้งครรภ์เลยทั้งที่บางคนไม่ยินยอม เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่หลังจากมีการงานวิจัยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดี การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ส่งผลให้สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกจากร้อยละ 25 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 2 ในขณะนี้ จนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศที่ 2 ที่ดำเนินนโยบายยุติการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ” สุรีรัตน์ กล่าว 

สุรีรัตน์ กล่าวว่า จากการดำเนินนโยบายการลดอัตราติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกที่ประสบผลสำเร็จ โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับค่าใช้จ่าย สะท้อนให้เห็นว่าการที่ประเทศไทยลงทุนงบประมาณในระบบสุขภาพนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากหญิงติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาสมีลูกแล้ว โอกาสเด็กที่เกิดมาจะติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะเดียวกันหญิงติดเชื้อเอชไอวีที่คลอดลูกแล้วยังได้รับยาต้านไวรัสต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินชีวิตเพื่อดูแลลูกที่เกิดมาได้ จากเดิมจะถูกยุติการให้ยาต้านไวรัสทันที เนื่องจากจากราคายาที่แพง ส่งผลให้เกิดการดื้อยาและเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ประเทศที่ประสบความสำเร็จการลดอัตราติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 เป็นประเทศแรกของโลกคือประเทศคิวบา และไทยเป็นประเทศที่ 2 ทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวย แต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งมีการบริหารจัดการด้านสุขภาพที่ดี

“การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติบัตรรับรองความสำเร็จการยุติการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในครั้งนี้ รัฐบาลควรหันมามองเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งหมายถึงคุณภาพประชากรของประเทศ ไม่ใช่แค่รับรางวัลแล้วจบไป แต่ต้องคิดว่าจะเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยอย่างไร จะจำกัดจำเขี่ยงบประมาณต่อไปหรือไม่ หรือจะเดินหน้าพัฒนาต่อไป เพราะไม่เพียงแต่เอชไอวี แต่ยังมีโรคอื่นๆ ที่ระบบต้องช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่ดีและมีคุณภาพ” ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กล่าว

สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยอมรับว่าเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีความกังวลเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่อาจถูกลดงบประมาณและนำไปสู่การร่วมจ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย แต่ยังอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จในการดำเนินนโยบายสาธารณสุขของประเทศด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net