Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้คือประเด็นของการลงประชามติที่ถูกกำหนดให้มีการลงคะแนนในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ ประเด็นที่ถกเถียงกันมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พรบ.ประชามติฯที่ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรคสอง ประเด็นของการที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสเท่าเทียมกับฝ่ายที่สนับสนุน ฯลฯ แต่มีประเด็นหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นข้อถกเถียงมากเช่นกันแต่ไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะเพราะเกรงว่าจะขัดต่อ พรบ.ประชามติฯ ซึ่งก็คือ Vote Yes,Vote No หรือ  No Vote ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แต่ละคนจะเลือกวิธีการไหน


Vote Yes

ภาษาทางกฎหมายใช้ว่า “เห็นชอบ” ด้วยการไปออกเสียงโดยการกากบาทในช่อง “เห็นชอบ” ภาษาทั่วไปก็คือ การรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งไม่ยากต่อความเข้าใจเท่ากับสองคำหลัง ( Vote No กับ No Vote) ผู้ที่ตัดสินใจที่จะไป Vote Yes ก็หมายความว่าเขาผู้นั้นเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สมควรผ่านประชามติออกมาใช้บังคับ จะด้วยเหตุผลที่เขาเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่สกัดกั้นนักการเมืองที่เลว หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คนดีเข้าสู่การเมืองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ฯลฯ หรืออาจจะไม่มีเหตุผลใดมาอธิบายนอกจากคำว่า “ก็ชอบ”น่ะ ก็สุดแล้วแต่จะตีความว่าเป็นการชอบในร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือชอบการรัฐประหาร


Vote No

ภาษาทางกฎหมายใช้ว่า “ไม่เห็นชอบ” ด้วยการไปออกเสียงโดยการกากบาทในช่อง “ไม่เห็นชอบ” ภาษาทั่วไปก็คือการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ การที่เขาตัดสินใจออกไป Vote No ก็หมายความว่าเขาผู้นั้นเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สมควรผ่านประชามติออกมาบังคับใช้ จะด้วยเหตุผลที่เขาเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แย่หรือเลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปก่อนหน้านั้น หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้ความสำคัญต่ออธิปไตยของปวงชนหรือเห็นคนไม่เท่ากัน หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความหายนะให้แก่ประเทศชาติในอนาคต ฯลฯ หรืออาจจะไม่มีเหตุผลอื่นใดมาอธิบายนอกจากคำว่า “ก็ไม่ชอบ”น่ะ ก็สุดแล้วแต่จะตีความว่าเป็นการไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ชอบการรัฐประหาร


No Vote

ปกติแล้วถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วๆไปจะเข้าใจได้ไม่ยากเพราะในบัตรเลือกตั้งจะมีช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน”ให้ แต่การลงประชามติคราวนี้ไม่ช่องดังกล่าวที่ว่าให้กากบาท ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนทำได้ด้วยการไม่ไปออกเสียง อาจจะด้วยเห็นผลที่เขาเชื่อว่ากากบาทไปก็ไร้ประโยชน์เพราะอย่างไรเสียฝ่ายรัฐก็ทำทุกวิถีทางที่จะให้ชนะ หรือเห็นว่าการออกไปกากบาทก็เท่ากับการออกไปยอมรับกติกาที่ไม่ชอบธรรมหรือบางส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มที่ใช้เหตุผลก่อนหน้านั้นก็ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า “ก็ขี้เกียจน่ะ” ฯลฯ หรือเหตุผลอื่นตามของ Vote No แต่ต่างวิธีการคือการไม่ไปลงคะแนน ซึ่งอาจพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆว่าส่วนหนึ่งการ Vote No คือการ Boycott นั่นเอง

ประเด็นของ Vote No กับ No Vote แตกต่างกันตรงที่ Vote No นั้นออกไปกากบาท ส่วน No Vote นั้นไม่ออกไปกากบาทนั่นเอง จะด้วยเหตุผลของฝ่าย No Vote ที่ว่าถึงออกไปกากบาทก็แพ้อยู่ดี แต่ฝ่าย Vote No ก็แย้งว่าการไม่ไปออกเสียงก็เท่ากับการยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นชก สู้ออกไปกากบาทก็ยังมีหวังว่าจะชนะ เพราะโพลต่างๆทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านด้วยคะแนนที่ห่างค่อนข้างมาก


ถ้า Vote Yes ชนะ

ถ้าผ่านทั้ง 2 ประเด็น คือ ทั้งประเด็นหลักและประเด็นพ่วง(การให้รัฐสภามีส่วนในการตั้งนายกรัฐมนตรี) ก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะถูกออกมาบังคับใช้ด้วยการแก้ไขบทเฉพาะกาลโดย กรธ.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการตั้งนายกฯด้วยการประชุมรัฐสภานั่นเอง

ถ้าผ่านเพียงประเด็นเดียว คือประเด็นหลัก แต่ประเด็นพ่วงไม่ผ่าน ก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาบังคับใช้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ


ถ้า Vote No ชนะ

ถ้าไม่ผ่านทั้งสองประเด็น ก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับ ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 57 ว่าจะเอาอย่างไรดี เช่น ตั้งคนมา 2-3 คนแล้วร่างออกมาใช้เลย หรือหยิบรัฐธรรมนูญเดิมฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับมารวมกันแล้วประกาศใช้ แต่ที่แน่ๆคงไม่มีการลงประชามติอีกแล้วล่ะ  (หุ หุ) หรือที่ฝ่าย Vote No กับ No Vote บางส่วนอยากให้เป็นมากที่สุดแต่คงเป็นไปได้ยากก็คือการตั้ง สสร.ที่มาจากประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 แต่ก็ไม่แน่นะครับขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงประชามติที่ออกมา ถ้าผลออกมาถล่มทลาย คสช.ก็คงคิดหนักเหมือนกันล่ะครับ

ถ้าไม่ผ่านเพียงประเด็นเดียวคือประเด็นหลักแต่ประเด็นพ่วงกลับผ่าน สามารถตีความได้ 2 นัย นัยแรกก็คือ ในเมื่อประเด็นหลักหรือแม่มันมันตายแล้ว ลูกในท้องมันก็ต้องตายไปด้วย นัยที่สอง บางคนเห็นว่าไม่เกี่ยวกัน สามารถนำไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลยเพราะผ่านการลงประชามติมาแล้ว ในความเห็นของผมเห็นด้วยกับนัยแรกครับ


ถ้า No Vote ชนะ

ความหมายก็คือมีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์หรือมีคนไม่ไปออกเสียงมากกว่าคนไปออกเสียงนั่นเอง ในประเด็นนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้เลย  เพราะ พ.ร.บ.ประชามติ ให้นับเฉพาะผู้ที่มาออกเสียงเท่านั้นไม่นับผู้ไม่มาออกเสียงและไม่นับบัตรเสียซะด้วยสิครับ ยกตัวอย่างว่ามีผู้มาใช้สิทธิแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสียไป 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือที่จะต้องมานับ 15 เปอร์เซ็นต์ฝ่ายไหนได้เกิน 7.5 เปอร์เซ็นต์ก็ชนะเลย แม้ว่าจะเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดหรือจาก 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มาออกเสียงจริงก็ตาม แต่แน่นอนว่าแม้ผลการลงประชามติจะออกมามีผลทางกฎหมายก็ตามแต่ผลทางความชอบธรรมย่อมน้อยไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะก็ตาม  และที่สำคัญก็คือคะแนนของคนที่ไม่มาออกเสียงนั้นไม่สามารถถูกอ้างได้ว่าอยู่ฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “Boycott” หรือ “ไม่เห็นชอบ”หรือ “เห็นชอบ” นั่นเอง

ไม่ว่าจะ รับ,ไม่รับ หรือไม่ออกเสียงในการทำประชามติ รัฐธรรมนูญ คสช. ล้วนแต่มีผลทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของประเทศเราทั้งสิ้น เตรียมคำตอบให้ลูกหลานไว้ให้ดีก็แล้วกันว่าในการลงประชามติคราวนี้ เราเลือกวิธีไหนและด้วยเหตุผลอะไร

0000

 

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2559
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net