Skip to main content
sharethis

 


ภายในงานมีบูธหรือนิทรรศกาลของสื่อ หรือกลุ่มเอ็นจีโอด้านสื่อต่างๆ
ภาพนี้เป็นบูธที่ให้ผู้เข้าร่วมสวมแว่นตาพิเศษซึ่งจะทำให้ผู้สวมแว่นได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่สงครามจริงๆ 
สามารถมองภาพได้ 360 องศาและเห็นซากปรักหักพักต่างๆ ได้ชัดเจน เพื่อเข้าใจสภาพการทำงานของผู้สื่อข่าวสงคราม

ฟินแลนด์ ประเทศที่ครองอันดับหนึ่งดัชนีวัดเสรีภาพสื่อ 6 ปีซ้อน เป็นเจ้าภาพร่วมกับ UNESCO จัดงานวันเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Day) ประจำปี 2016 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในธีม การเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพขึ้นพื้นฐานเป็นสิทธิของคุณ ! โดยมีองค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพและสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก 

อ่านข่าวก่อนหน้านี้ http://prachatai.org/journal/2016/05/65598

Elina Grundstrom ประธานสภาสื่อมวลชนของฟินแลนด์เห็นว่า การเมืองฟินแลนด์จะมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก รัฐบาลแทบไม่เคยมีปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อเลย แต่สำหรับข่าวการเมืองแล้ว เธอเห็นว่านักข่าวฟินแลนด์ ‘เป็นมิตร’ เกินไปและต้องการให้วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองให้มากกว่านี้

ขณะที่ข้อเด่นอีกประการของสื่อมวลชนฟินแลนด์คือ การรวมตัว Maija Raninen นักกฎหมายประจำสหภาพสื่อมวลชนฟินแลนด์ กล่าวว่า สหภาพที่นี่มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว วัฒนธรรมสหภาพของฟินแลนด์นั้นแข็งแกร่งมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แถบนอร์ดิก สื่อมวลชนฟินแลนด์ถึง 90% เข้าร่วมสหภาพ โดยสหภาพจะให้คำปรึกษาด้านกฎหมายต่อสมาชิกหรือกระทั่งให้ความช่วยเหลือในคดีความ และหากมีประเด็นละเมิดสิทธิใดก็เข้าไปเจรจาต่อรองเสมอ เหตุที่สมาชิกสหภาพมีจำนวนมากขนาดนั้นเพราะสหภาพลงไปทำงานกับเยาวชนในมหาวิทยาลัย พวกเขาจะเข้าไปประชาสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับนักศึกษาสายนี้ให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการรวมตัว แน่นอน ว่าที่นักข่าวทั้งหลายต่างก็สมัครเป็นสมาชิกกันเกือบหมดและยังคงเป็นสมาชิกตราบจนพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน


น้องสาวของ Khadija ขึ้นกล่าวปาฐกถาแทนพี่สาว 

ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ การมอบรางวัลประจำปีให้แก่ Khadija Ismaylova นักข่าวฟรีแลนซ์ที่ทำรายงานวิทยุและทำข่าวสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตในอาเซอร์ไบจัน แต่ในงานนี้มีน้องสาวและแม่ที่มารับรางวัลแทน เนื่องจากเธอถูกจำคุกอยู่ในอาเซอร์ไบจันด้วยข้อหายักยอกและหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งข้อหาดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากองค์กรสิทธิมนุษยชน แม่วัยชราของเธอเป็นคนขึ้นไปอ่านคำขอบคุณจากเธอซึ่งส่งมาจากหลังลูกกรง โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้า เธอถูกคุมขังมาแล้ว 500 กว่าวันจากโทษจำคุก 7 ปีครึ่ง ก่อนหน้าที่รัฐจะแจ้งข้อหานี่แก่เธอเธอเป็นผู้นำการรณรงค์ใหญ่เกี่ยวกับการต่อต้านการควบคุมสื่อของรัฐ น้องสาวของเธอยืนยันว่าข้อหาดังกล่าวเป็นความพยายามหาช่องเล่นงานเธอ ทั้งที่สถานีวิทยุไม่ใช่ธุรกิจที่ทำรายได้และมีเหตุให้ต้องหลบเลี่ยงภาษี นอกจากเป็นช่องทางให้เธอได้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น

หากดูตัวเลขของคณะกรรมการเพื่อการปกป้องนักข่าว (CPJ) จะพบว่านักข่าวที่ถูกจำคุกจากข้อหาใดๆ ก็ตามจากการทำหน้าที่นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ปี 2015 มีจำนวน 170 คนทั่วโลก ขณะที่สถิตินักข่าวที่เสียชีวิตจากการทำหน้าที่นั้น ปี 2015 มีราว 100 คนทั่วโลกโดยมากเป็นพื้นที่สงครามและเป็นนักข่าวท้องถิ่น แต่หากย้อนกลับไปถึงปี 2000 เราพบว่าภายใน 15-16 ปีมานี้มีนักข่าวเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1,300 คน โดยพื้นที่ที่อันตรายที่สุดและมีนักข่าวเสียชีวิตจำนวนมาก คือ อีรัก ฟิลิปปินส์ ซีเรีย ปากีสถาน เม็กซิโก โซมาเลีย โคลอมเบีย ฯลฯ ตามลำดับ ที่ประชุมได้แสดงถึงความห่วงกังวลและหาทางสร้างแรงกดดันให้รัฐต่างๆ ปฏิบัติตามแนวทางในการปกป้องสื่อมวลชน และยังกังวลถึงการไม่ต้องรับผิดจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากสถิติพบว่า จำนวนคดีการเสียชีวิตของนักข่าวทั้งหมดนั้นมีเพียง 6% เท่านั้นที่สามารถดำเนินคดีได้ถึงที่สุด


ในห้องย่อยเรื่องเสรีภาพทางศิลปะ 

ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อย่อยในหลายหัวข้อ ประเด็นหนึ่งที่เพิ่งมีการพูดถึงในงานนี้คือ สิทธิของศิลปิน แม้ศิลปินจะไม่ใช่นักข่าว แต่ก็เป็นสายงานที่เผชิญกับการเซ็นเซอร์ของรัฐอย่างมากโดยเวทีอภิปรายมีผู้หยิบยกยูเนสโกหรือองค์กรด้านสิทธิใดๆ ที่ทำการรวบรวมหรือวิเคราะห์เรื่องสิทธิเสรีภาพควรพูดถึงการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของศิลปินด้วยและผลักดันให้มีการวางกรอบในการเคารพและป้องกันการละเมิดเสรีภาพของศิลปินเช่นเดียวกับสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลมูลการจำกัดหรือละเมิดเสรีภาพของศิลปินนั้นทำได้ยาก เนื่องจากศิลปินมักไม่แจ้งเหตุ หรือแม้อยากแจ้งก็ไม่ทราบต้องแจ้งที่ไหน นอกจากนี้ศิลปินยังมีการรวมตัวกันทางวิชาชีพต่ำมาก ไม่เหมือนสื่อมวลชน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบายยาก

จากสถิติของ Freemuse พบว่า ปี 2014 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทำร้ายศิลปิน หรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะรวมแว 234 กรณี ขณะที่ Article 19 นำเสนอการละเมิดแบ่งเป็นเปอร์เซ็น โดยระบุว่า ปี 2010-2015 นั้น มีเหตุผลของการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของศิลปินทั่วโลกแบ่งเป็น การวิพากษ์วิจารณ์การเมือง 35.7% เรื่องเพศและการเปลือย 22.4% เรื่องทางประเพณีและคุณค่าทางศาสนา 16.6% เรื่องการกล่าวหาหรือหมิ่นประมาท 10.8%  หากแบ่งการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพตามสาขาของสานศิลปะพบว่า อันดับ1 คือ เพลง 28% รองลงมาคือ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ 22.3%, วรรณกรรมและกวี 16.1%, ภาพเขียน 11%, การตูน 5.3% การเต้นรำ 1.5% และอื่นๆ โดยผู้ที่เป็นตัวการในการจำกัดสิทธิ คือ รัฐ 77%, ธุรกิจเอกชน 7.6%, การกดดันทางสังคม 4.9% โซเชียลมีเดีย 2.8% กรรมการเซ็นเซอร์ 2,1% และอื่นๆ

ช่วงท้ายของงานมีการออกคำประกาศฟินแลนเดีย (Finlandia declaration) เรียกร้องรัฐสมาชิกของยูเนสโกในหลายเรื่อง เช่น ให้ยืนยันอีกครั้งว่าเสรีภาพสื่อและการเข้าถึงข้อมูลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสื่อที่เป็นอิสระและหลากหลาย และมันสำคัญยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนที่ก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐจะต้องสร้างกฎหมาย นโยบาย และสถาบันต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะใดๆ รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสร้างกลไกที่ทำให้เกิดการบังคับใช้ได้จริงด้วย ส่วนข้อยกเว้นของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล จำพวกข้อมูลลับนั้นใช้ได้โดยจำกัดอย่างยิ่งและต้องอยู่บนหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล อยู่บนวัตถุประสงค์ที่มีความชอบด้วยกฎหมายและบนความจำเป็นอย่างยิ่ง ข้ออ้างต่างๆ สำหรับการปิดลับข้อมูลก็ต้องโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้

นอกจากนี้ยังควรต้องมีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่เอื้อต่อการปกป้องและการไม่เปิดเผยแหล่งข่าวหรือผู้เปิดโปงการทุจริตการกระทำผิดต่างๆ, ต้องปกป้อสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารดิจิตอล โดยการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส (encryption), ทำให้แน่ใจว่า การแบนสิ่งพิมพ์ การปิดกั้นเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งจำเป็นต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และความสมเหตุสมผล, สนับสนุนนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพ, สนับสนุนการพัฒนาผู้คนให้มีความรู้ในการเท่าทันสื่อ และใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร่วมมือกันออกคำประกาศต่างๆ และพยายามนำไปผลักดันให้เกิดผลจริง แต่ก็มีคำถามจากผู้เข้าร่วมงานอยู่ด้วยว่า นอกเหนือจากคำที่สวยงามเหล่านั้นเรามีเครื่องมือหรือตัวชี้วัดอะไรบ้างว่าหลักการต่างๆ จะถูกนไปเอาไปใช้ได้จริงและเห็นผลที่เป็นรูปธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net