Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

คุยกันฉันท์มิตร นักเขียนอิสระแลกเปลี่ยนทัศนะกับนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์  ในประเด็นร้อนการทำประชามติ รับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ คสช.เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัด ผลดีผลเสียจากต่างฝ่ายต่างมุมมอง

เป็นประเด็นร้อนระอุในช่วงต้นฝน ต้นเดือนมิถุนา เมื่อกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยมาถึงทางแยกที่ต้องหาข้อสรุปถึงท่าที และทิศทางการเคลื่อนไหวต่อการทำประชามติที่จะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าวิวาทะร้อน โหวตโนหรือโนโหวต จะมีข้อสรุปหรือไม่และอย่างไร 

ประชาไทได้รับอนุญาตให้อ่านและเผยแพร่ข้อความที่เป็นการสื่อสารถึงกันระหว่าง รวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี  กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากกลุ่มนิติราษฎร แล้วเห็นว่าแม้จะมีความต่างในทางจุดยืนและการวิเคราะห์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยต่างก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพ เป็นการสื่อสารที่ดี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงได้ขออนุญาตต่อผู้เขียนเพื่อนำมาเผยแพร่ในประชาไท

0000

 


รวี สิริอิสสระนันท์ / วาด รวี  

อาจารย์วรเจตน์ครับ


ถ้าอาจารย์อ่านเฟซบุ๊กอยู่บ้างคงพอจะทราบแล้วว่าผมโต้แย้งคำพูดของอาจารย์ที่มีคนนำมาแชร์กันเป็นจำนวนมาก

ผม ต้องเรียนตามตรงถึงข้อที่ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของอาจารย์ ที่ว่าจะสู้ทั้งที่กติกาไม่เป็นธรรมและแพ้ก็จะยอมรับ และผมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องโต้แย้งคำกล่าวนี้ซึ่งกลายเป็นวาทะในที่ สาธารณะที่ทรงพลังไปแล้ว


ตรงส่วนที่อาจารย์จะสู้แม้กติกาไม่เป็น ธรรมนั้น คืออาจารย์เลือกสู้ด้วยการโหวต No (การบอยคอตสำหรับผมก็คือการสู้แบบหนึ่ง) ข้อนี้ผมทราบจุดยืนอาจารย์อยู่แล้วและไม่ติดใจครับ แต่เฉพาะตรงส่วนที่ว่า "ถ้าแพ้ก็จะยอมรับ” ข้อความตรงนี้กำกวม สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะผูกมัดให้ต้องยอมรับ ร่าง รธน.มีชัย หากโหวตเยสชนะ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นต้นทุนที่สูงจนเกินไป


ถ้าอาจารย์จะเลือกโหวต No ผมอยากจะขอให้การกา NO หมายความไปถึงการไม่ยอมรับความไม่เป็นธรรมทั้งหมดทั้งมวล ทั้งกระบวนการได้หรือไม่ครับ ถ้าโหวต No หมายรวมไปถึงการไม่ยอมรับความไม่ชอบธรรมของการทำประชามติ ตลอดจนกระบวนการร่าง รธน. อย่างน้อยถึงแพ้ไปก็ยังพอพูดได้ว่า เราไม่ได้ No แค่ร่าง รธน. แต่ No การทำประชามติด้วย


ผมรู้ว่าอาจารย์เป็นคน เด็ดเดี่ยวและผมไม่สามารถเปลี่ยนใจอาจารย์ได้ แต่ผมจำเป็นต้องโต้แย้งอาจารย์ให้เกิดความชัดเจน และป้องกันมิให้การรณรงค์พลัดตกไปสู่ข้อผูกมัดในอนาคตที่เราอาจจะไม่ได้ ตั้งใจ


ในความเห็นผม ทางที่เด็ดขาดคือการบอยคอต แต่มันเป็นไปไม่ได้ในทางความเป็นจริงเพราะ 2 พรรคใหญ่ไม่เลือกทางนี้ แต่กระนั้นผมก็เห็นว่า ที่ผ่านมาเราอ่อนข้อให้พรรคมามากแล้ว กรณีนิรโทษกรรมคือตัวอย่างที่ดี เราจำเป็นต้องเด็ดขาดในเชิงหลักการกับพรรคบ้าง ในเมื่อมียุทธวิธีที่สอดพ้องกับหลักการอยู่ แม้สองพรรคใหญ่ไม่มา ผมเห็นว่าเราก็ยังควรที่จะเลือก โดยไม่เอาผลข้างหน้ามาถ่วงการตัดสินใจ


การบอยคอตถ้าสามารถทำให้คนมาลงคะแนนไม่ถึงครึ่งได้ ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะน้อยลงมาก หรือแทบไม่มีแม้ว่า yes จะชนะ


ผม ประเมินว่า ถ้าคนมาลงคะแนนเป็นเสียงข้างน้อยของผู้มีสิทธิ และลงคะแนนในสภาพที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากผลออกมาเช่นนี้ คสช.จะเสียมากกว่าได้


ผมไม่สามารถเปลี่ยนใจอาจารย์และคนส่วนใหญ่ แต่ผมขอที่ยืนเล็ก ๆ ให้กับผู้บอยคอต และผมจะพยายามหลีกเลี่ยงการขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ผมขอปักหลักตรงจุดนี้เผื่อพื้นที่เล็ก ๆ นี้อาจจะพอเป็นประโยชน์บ้างในอนาคตที่เรายังไม่ทราบว่าจะเป็นไปเช่นใดครับ


ด้วยความรักและเคารพอาจารย์วรเจตน์เสมอ

วาด รวี

 

0000

 

นี่คือสเตตัสในเฟซบุ๊กที่วาด รวี วิจารณ์ความเห็นเรื่องการประชามติของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ 

.......

ผมจะเขียนสเตตัสเรื่อง บอยคอต-โหวตโน อันนี้เป็นอันสุดท้ายในช่วงนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดบรรยากาศที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้ และผมจะเขียนจากจุดยืนที่ "บอยคอต" ของผม

ประเด็นสำคัญคือ ผมมีความจำเป็นต้องโต้แย้งอาจารย์วรเจตน์ไม่ว่าจะรู้สึกลำบากใจเพียงใด แต่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพูด

ประเด็นคือคำพูดของอาจารย์ตามการสรุปของประชาไทที่ถูกนำมาแชร์อย่างมากมายที่ว่า


"การ ชกมวยเวทีหนึ่ง มีกติกาที่อนุญาตให้ฝ่ายหนึ่งชกได้เต็มที่ ขณะที่อีกฝ่ายถูกมัดมือข้างหนึ่ง ขาข้างหนึ่งและปิดตาอีกข้างหนึ่ง บางคนเห็นว่าไม่ควรลงไปแข่งในกติกาเช่นนี้ บางคนบอกว่าควรขึ้นชกเผื่อฟลุค เรื่องนี้ยากที่จะตัดสินและถกเถียงกันได้อีกมาก แต่สำหรับเขาเห็นว่า น่าจะขึ้นชกและหากแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ เป็นการแพ้และชนะบนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และการออกแบบกติกาจะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรม"


ส่วนที่ผมต้องการ โต้แย้งคือตรงประโยคที่ว่า "หากแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ เป็นการแพ้และชนะบนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และการออกแบบกติกาจะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรม" ซึ่งเป็นข้อความที่กำกวมว่า จะหมายความว่า ถ้าแพ้แล้วก็จะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เช่นนั้นหรือไม่?


ผมขอยืนยันว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการออกไปโหวตโนด้วยข้ออ้างว่าเป็นการ "ไปใช้สิทธิ" และยิ่งไม่เห็นด้วยว่า ถ้าโหวต No แพ้แล้วจะต้องไปผูกมัดตัวเองให้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้


ทำแบบนี้ไม่ได้เป็นอันขาดครับ นี่คือการฆ่าตัวตายทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย


คำ พูดของอาจารย์วรเจตน์มีนัยกำกวมและมีความลึกซึ้งกว่านี้ เพราะตามมาด้วยประโยคว่า "และการออกแบบกติกาจะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรม" ซึ่งต้องการการขยายความ แต่เฉพาะคำพูดตรงส่วนแรกที่ว่า "ถ้าแพ้ก็จะยอมแพ้" ผมขอโต้แย้งอย่างถึงที่สุด


ถ้าไปโหวต No ด้วยเหตุผลนี้ก็อย่าไปโหวตเลยครับ มันคือการไปร่วมมือกับ คสช. สร้างความชอบธรรมให้กับประชามติจอมปลอมและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เลย


ถ้าโหวต No ขอได้ไหม ขอให้ไปโหวตเพราะต้องการต่อต้านและแสดงการต่อต้านความไม่ชอบธรรมทั้งกระบวน ของ คสช. คือ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งกระบวนตลอดมาจนถึงทำประชามติ คุณเลือกออกไปกาโนเพราะเหตุผลนี้ เพราะคุณไม่มีช่องทางอื่นที่จะแสดงออก คุณจึงออกไปกา NO ใหญ่ ๆ ส่งเสียงดัง ๆ ให้ คสช. ได้ยินว่า "ผมไม่เอาคุณ" "ผมไม่เอาวิธีการร่างรัฐธรรมนูญของคุณ" และ "ผมไม่เอารัฐธรรมนูญของคุณ" ทำให้มันเป็นความหมายนี้ได้ไหม ลบทิ้งเรื่อง "การไปใช้สิทธิ" ออกไปจากสารบบ และใส่คำว่า "ไปทวงสิทธิ" แทน ได้ไหมครับ


จุดยืนของผมมั่นคงที่ บอยคอต ผมไม่ขัดแย้งโหวตโนเพราะต้องการปฏิเสธ ความชอบธรรม คสช. แต่ผมจะขัดแย้งและโต้แย้งกับคนที่บอกว่าตัวเองไปใช้สิทธิและจะยอมรับรัฐ ธรรมนูญมีชัยถ้าผลออกมาแพ้ ถ้าทำแบบนั้นผมจะโต้แย้งจนถึงที่สุดครับ เพราะมันไม่เหลือทางให้ถอยเลย มันคือการวางเดิมพันในเกมที่ไม่จำเป็น เหมือนไปรับคำสัญญาของปิศาจด้วยความเป็นสุภาพบุรุษทั้งที่ปิศาจไม่ใช่สุภาพ บุรุษและไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปทำสัญญากับปิศาจเลย

 

0000


หลังจากนั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนจดหมายตอบวาด รวี


วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : เครดิตภาพ รวี สิริอิสสระนันท์

 

คุณวาด รวี ครับ  

ผมได้เห็นข้อความที่คุณวาด รวี วิจารณ์ความเห็นของผมแล้วครับ 

อยากบอกให้สบายใจครับว่าไม่ต้องคิดมากเลยครับ วิจารณ์ได้เต็มที่ ผมไม่มีปัญหากับเรื่องนี้เลยครับ นี่พูดจากใจจริง ที่ผมไม่ได้ร่วมถกเถียงอย่างจริงจัง เพราะผมเห็นว่าฝ่ายบอยคอตก็มีเหตุผลที่มีน้ำหนักทีเดียว เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนการตัดสินใจสู่ทางปฏิบัติจะทำอย่างไร จะให้น้ำหนักในเรื่องไหนมากกว่ากัน ตรงนี้อาจต่างกันอยู่  

จริงๆ แล้วข้อความที่ประชาไทโคว้ทไปนั้น อาจจะย่นย่ออยู่และไม่ตรงกับสิ่งที่ผมพูดทั้งหมด และมีการแปลความหมายที่ผมพูดในอีกบริบทหนึ่งใส่ลงไปพร้อมกัน (แพ้มาหลายครั้ง ไม่เป็นไร ขอแค่ชนะครั้งเดียวเท่านั้น)  ผมเข้าใจว่าเป็นวิธีการเขียนให้กระชับและดูน่าสนใจ ซึ่งก็น่าเสียดายในอีกด้านหนึ่งที่กลายเป็นทุกคำพูดของผม ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว  

ผมอยากให้คุณวาด รวี ดูคลิปการอภิปรายทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ของการอภิปรายเป็นเรื่องทางวิชาการที่อาจจะยากสักนิด และเป็นปฏิกิริยาต่องานเขียนของอาจารย์ปิยบุตร ซึ่งไม่ปรากฏในเนื้อข่าวเท่าไหร่  

ผมได้พยายามชี้ให้เห็นกำเนิดของ รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตัวก่อตั้งระเบียบทางการเมืองทั้งจากไอเดียและสิ่ง ปรากฏขึ้นในอเมริกา ยุโรป (อันนี้ในหนังสือพูดถึงชัดเจน) และทั้งที่ปรากฏตัวขึ้นในอังกฤษ คือทั้งในลักษณะที่เกิดขึ้นจากการแตกหักกับระบอบเดิม (ฝรั่งเศส) หรือการตัดขาดจากสิ่งเก่า (อเมริกา) และการพัฒนาเปลี่ยนรูประเบียบทางการเมืองตามลำดับทางประวัติศาสตร์ในแบบอังกฤษ  

คือทั้งจากการกำเนิดขึ้นจากระบบและพลังของเหตุผลอย่างฉับพลันผ่านการปฏิวัติ และจากการวิวัฒนาการไปสู่ระเบียบทางการเมืองใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งสองแบบนี้ก็นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้เหมือนกัน ซึ่งบ้านเราอาจจะยังไม่เป็นแบบนั้น (จริง ๆ สิ่งที่ไม่ได้พูด และทิ้งไว้ให้คิดก็คือ ถ้าถือว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยังเกิดขึ้นโดยไม่สมบูรณ์ เพราะสะดุดลงจากการที่ปฐมรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว เราจะไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบไหน จะยังไงต่อ)    

ทีนี้ที่พูดทั้งหมด มันเป็นฐานความคิดของผมในการทำความเข้าใจประชามติในฐานะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระเบียบทางการเมืองที่จะก่อตั้งขึ้น  

จากที่ศึกษามา ผมเห็นว่าความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญและระเบียบทางการเมืองไม่ได้มาจากฐานของประชามติอย่างเดียว มันมาจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและการยอมรับของคนในสังคมด้วย เราจึงไม่อาจใช้ประชามติแต่เพียงอย่างเดียวเป็นตัวชี้ขาดความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่แน่นอนประชามติก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างความชอบธรรม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  

ผู้ปกครองในเวลานี้ต้องการความชอบธรรม อะไรที่เขาคิดว่าสร้างความชอบธรรมได้ถ้าไม่ใช่ประชามติรัฐธรรมนูญ

คำอธิบายที่เราต้องอธิบายก็คือ ประชามติ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สร้างความชอบธรรม และประชามติที่ไม่ใช่ประชามติแท้จริง ยิ่งไม่อาจเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมได้เลย  

เราไม่ควรถูกผูกมัดว่าต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติเป็นรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม ยิ่งถ้าเป็นประชามติที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นประชามติที่แท้จริงแล้วยิ่งจะถือว่าเป็นแบบนั้นไม่ได้  

คราวนี้ก็มาถึงประเด็นที่ว่าถ้าไปร่วมออกเสียงประชามติ คือไปโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ แล้วฝ่ายโหวตไม่รับเป็นฝ่ายแพ้ ถามว่าฝ่ายแพ้ ควรยอมรับว่าแพ้และปิดปากไม่ให้มีเสียงอะไรอีกต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่  

ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ยุ่งยากในการตอบสำหรับคนที่จะเข้าร่วม ถ้าพูดให้ถึงที่สุดในทางหลักการมันปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีที่ไม่ต้องมาเถียงกัน ว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญคือไม่ร่วมเลย อันนี้ง่ายและตรงที่สุด ผมไม่ได้ปฏิเสธตรงนี้ คือการไม่เข้าร่วม มันชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยตลอดสาย จะเอาอะไรมาผูกมัดไม่ได้ ทีนี้ถามว่าอะไรคือเป้าหมายของการไม่เข้าร่วม ผมเข้าใจว่า เป้าหมาย คือ ไม่ให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญเลย

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด และถ้านี่คือเป้าหมายของการบอยคอต คำถามก็คือเป้าหมายนี้จะบรรลุลงได้ ด้วยวิธีการบอยคอตเท่านั้นหรือไม่ อันนี้แหละที่น่าจะต่างกัน ผมเห็นว่าถ้ากติกาไม่เป็นธรรม แม้เข้าร่วมแล้วแพ้ ผลของการแพ้ย่อมไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แม้โดยทั่วไปอาจมีคนโต้แย้งว่าก็คุณเข้าร่วมเอง แต่การเข้าร่วมก็ไม่ได้บอกนี่ครับว่ากติกาเป็นธรรม มากที่สุดคือบอกว่าคุณเถียงไม่ได้แล้วว่ากติกาไม่เป็นธรรม เพราะอยากร่วมเอง แต่การเถียงได้หรือไม่ได้ตามความคิดของฝั่งบอยคอต จะไม่มีวันเปลี่ยนข้อเท็จจริงได้ว่ากติกาไม่เป็นธรรม ถ้าในทางภววิสัยกติกานั้นไม่เป็นธรรมจริง ทีนี้ที่เถียงกันระหว่างฝ่ายบอยคอตกับโหวตโน ลึก ๆ แล้ว ผมว่าที่ฝ่ายโหวตโนโมโห น่าจะอยู่ตรงที่ฝ่ายโหวตโน รู้สึกว่าฝ่ายบอยคอตบีบหนทางของเขาให้เรียวแคบลงว่าถ้าคุณเข้าไปร่วมกระบวน การเท่ากับคุณต้องยอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ หากฝ่ายโหวตรับชนะ อันนี้จะจริงหรือเปล่าคุณวาด รวี คงจะต้องพิจารณาดูนะครับ ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้    

เพื่อให้การอธิบายเรื่องความชอบธรรมในผลแพ้ ชนะง่ายขึ้นผมจึงอธิบายโดยยกตัวอย่างการชกมวย ซึ่งแน่นอนมันไม่อาจแทนการออกเสียงประชามติได้ทั้งหมด แตก็พอจะตอบได้บ้าง ถ้านักมวยสองฝ่ายขึ้นชก กติกาการชกมวยรวมทั้งบริบทแวดล้อมอื่น ๆ ทำให้นักมวยฝ่ายมุมน้ำเงินได้เปรียบกว่านักมวยฝ่ายมุมแดงอย่างมาก จนคนทั่วไปก็เห็นว่ากติกาไม่เป็นธรรม ถ้านักมวยฝ่ายแดงแพ้ ผมถามว่าเราจะถือว่าความพ่ายแพ้นั้นเป็นความพ่ายแพ้ที่แท้จริงไหม หรือถ้าฝ่ายน้ำเงินชนะ จะเรียกว่าชนะจริง ๆ ไหม มันเป็นชัยชนะที่ชอบธรรมของฝ่ายน้ำเงินจริงหรือ ผมถึงบอกว่าในกติกาแบบนี้ ถ้าฝ่ายแดงแพ้ ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ แต่แพ้ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม การขึ้นชกไม่ได้มีความหมายว่าทำให้กติกาที่ไม่เป็นธรรม เป็นธรรมขึ้นมาได้ จะนับว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่แท้จริงคงไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายแดงเกิดชนะขึ้นมาในกติกาที่ตัวเสียเปรียบขนาดนี้เราคงบอกได้ใช่ ไหมว่าถ้าฝ่ายแดงชนะ ต้องถือว่าเขาชนะจริง ๆ ฟังดูเหมือนพูดเอาแต่ได้ แต่กติกาที่ไม่เป็นธรรมต่างหาก ทำให้คนที่ได้เปรียบในกติกานั้น อ้างชัยชนะที่แท้จริงไม่ได้เลย  

ประเด็นต่อไปคือ ถ้ารู้ว่ากติกาไม่เป็นธรรมขึ้นชกทำไม ขึ้นก็เท่ากับยอมรับกติกานั้นใช่ไหม ก็ใช่ไง คือรับว่ากติกาไม่เป็นธรรม แต่จะขึ้นชก ก็เพราะการขึ้นชกยังพอมีหนทางชนะได้ ไม่ใช่ยอมรับว่ากติกาเป็นธรรมหรือแม้แต่รับว่าผลที่เกิดขึ้นจากการชก เกิดจากกติกาที่เป็นธรรม คือยังไงเสียกติกามันไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายเสียเปรียบอยู่แล้วแน่ ๆ  

การประเมินการเข้าแข่งในกติกาที่ไม่เป็นธรรม ผมคิดว่าประเมินต่างกัน และนี่คือจุดต่างอย่างแท้จริงระหว่างบอยคอตกับโหวตโน ฝ่ายบอตคอตกังวลว่าถ้าฝ่ายโหวตรับชนะ คราวนี้ก็เสร็จเลย เท่ากับเข้าไปร่วมแล้วแพ้ จะพูดอะไรอีกในอนาคตก็ลำบาก ในมุมนี้ผมเข้าใจและอยากให้ฝ่ายโหวตโนเห็นความห่วงใยของฝ่ายบอยคอตในประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  บางทีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กันโดยไม่มีความจำเป็นเลยอาจลดลง เหมือนกับว่าฝ่ายบอยคอตพยายามบอกว่าการเข้าร่วมย่อมปิดปากคนที่เข้าร่วมว่า คุณเข้าไปอยู่ในกติกาอันนั้นแล้ว พอแพ้จะมาโวยวายภายหลังไม่ได้ ซึ่งแน่นอนอันนี้ผมก็ห่วงการสมน้ำหน้าจากฝ่ายบอตคอตเหมือนกันนะถ้าฝ่ายโหวตโนแพ้ อุตส่าห์บอกแล้วว่าอย่าไปร่วม อย่าไปให้ความชอบธรรมกับกระบวนการนี้

แต่ปัญหาก็อย่างที่ผมบอก ขึ้นอยู่กับเราให้น้ำหนักการเกิดขึ้นและความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญจากการทำประชามติมากน้อยแค่ไหน เราเอาตัวเองผูกมัดกับกระบวนการประชามติเพียงใด  สำหรับตัวผมถ้าประชามตินั้นไม่ใช่ประชามติแท้จริง ต่อให้รัฐธรรมนูญผ่านมันคงไม่สร้างความชอบธรรมใดๆ ขึ้นมาได้หรอก (อันนี้ควรพูดกันตั้งแต่ตอนนี้เลย คือ ควรพูดเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง) ถึงแม้ว่าแน่นอนฝ่ายชนะคงเคลมเต็มที่ ยุคนี้มีคนประเภทหัวมังกุอยู่ไม่น้อย คือไม่สนใจว่าชัยชนะได้มาอย่างไร แต่แม้กระนั้นคงไม่ถึงกับว่าฝ่ายโหวตโนจะทำอะไรไม่ได้อีกเลย  

อีกอย่างที่ผมอยากให้ตระหนักก็คือในทางความเป็นจริงการไปโหวตครั้งนี้ คนเขาโหวตเรื่องรัฐธรรมนูญจริงๆ หรืออะไรคือเจตจำนงที่แท้จริงของเขาเหล่านั้นกันแน่ ผมสัมผัสความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไปที่ผมเชื่อว่าถ้าระบบการเมืองเปิด เขาอาจไม่ยึดติดกับบางพรรคการเมืองอย่างเข้มข้นเหมือนตอนนี้ เขาอัดอั้น อยากระบาย และในห้วงเวลานี้มีหนทางใดที่เขาเหล่านั้นอาจระบายได้เล่า

สำหรับ คุณวาด รวี และท่านอื่น ๆ ที่แสดงจุดยืนบอยคอต ผมเข้าใจและไม่โน้มน้าวให้เปลี่ยนจุดยืนเลยเพราะผมเห็นและเข้าใจเหตุผล ในส่วนของผม ผมแค่แสดงความเห็นของผมและสิ่งที่ผมจะทำบนพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ที่สุดไม่รู้จะมีประโยชน์แก่คุณวาด รวี หรือไม่ด้วย เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดการทำ "ประชามติ" หรือไม่

ขอให้สบายใจและอย่าเครียดนะครับ ในห้วงเวลาที่หม่นมัวและทุกข์ยากนี้จะต่อสู้ด้วยวิธีใดเพื่อนิติรัฐ ประชาธิปไตย ขอให้จิตใจเบิกบานอยู่เสมอ    
 

ระลึกถึงครับ

วรเจตน์

 

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net