Skip to main content
sharethis

เพจของสื่อ Mic เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสที่กำลังปราบปรามการชุมนุมกระชากคอเสื้อผู้หญิงที่เข้าไปในพื้นที่จนทำให้คลิปวิดีโอนี้กลายเป็นคลิปวิดีโอไวรัลได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้าง ในคลิปตำรวจลากคอผู้หญิงไปชนกับรั้วที่อยู่ใกล้ๆ ก่อนจะผลักลงกับพื้น

วิดีโอของ Mic ยังระบุถึงเรื่องที่อยู่ในบริบทของการประท้วงเป็นวงกว้างในฝรั่งเศสช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่มีการ ‘ปฏิรูป’ แนวทางกฎหมายแรงานดั้งเดิมที่มีอยู่มาเป็นเวลานานของฝรั่งเศส เป็นการเอื้อต่อนายจ้างให้มีอำนาจในการจ้างและเลิกจ้างคนงานได้ง่ายขึ้น รวมถึงผ่อนผันข้อบังคับให้มีการจ้างงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่า 'กฎหมายเอล คอมรี' นำเสนอโดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมิเรียม เอล คอมรี ในวันที่ 17 ก.พ. 2559 

ดอน เมอร์เรย์ ผู้สื่อข่าวซีบีซีระบุว่า ความไม่พอใจร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ลุกลามไปทั่วฝรั่งเศส สาเหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการใช้ร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้เป็นเพราะความต้องการทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ฟรองซัวร์ ออลลองด์ ที่ว่าจะลดอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่เขาก็ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาและปัญหาการว่างงานก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ด้วยความจนตรอกของรัฐบาลฝรั่งเศส ร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้จึงเปรียบเสมือนการเดิมพันครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในปีหน้า แต่เนื่องจากร่างกฎหมายที่เพิ่มอำนาจของนายจ้างกลับมาจากพรรคแรงงาน ทำให้เหล่าผู้นำสหภาพแรงงาน นักวิชาการ และส.ส.ฝ่ายซ้ายจำนวนมากไม่พอใจอย่างหนัก พวกเขามองว่ามันเป็นการทรยศต่อแรงงานและเอาใจเหล่านายจ้าง

วิดีโอของ Mic ยังเผยให้เห็นภาพการจุดไฟเผารถตำรวจซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีการระบุว่าเหตุเกิดในขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในรถด้วย วิดีโอยังนำเสนอถึงเรื่องการหยุดงานประท้วงของคนงานการรถไฟฝรั่งเศสด้วย

การลุกฮือของแรงงานในฝรั่งเศสครั้งนี้ส่งผลทำให้มีการแก้ร่างกฎหมายแรงงานให้เบาลง แต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เมอร์เรย์อธิบายว่ามันคือปรากฏการณ์ 'toujours plus!' คือการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ต่อไปโดยไม่ยอมให้ผลประโยชน์ของพวกเขาเองหายไป แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็ตาม บวกกับที่ฝรั่งเศสมีวัฒนธรรม ‘ปฏิวัติ’ จากการประท้วงบนท้องถนนซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงออกที่ใช้ความรุนแรง (กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมักไม่ได้ผลในการจุดฉนวนให้เกิดการปฏิวัติอย่างเต็มที่) แต่ด้วยการปราศรัยอย่างฉูดฉาด จนในบางยุคสมัยผู้คนในสภาฟังเสียงผู้คนบนท้องถนนมากกว่าในสภาเอง

ในบทความของเมอร์เรย์ยกตัวอย่างกรณีที่พรรคฝ่ายขวาต่างก็เคยพยามผลักดันร่างกฎหมายใหม่ออกมาแต่เมื่อประชาชนบนท้องถนนพากันตะโกนว่า "ไม่!" พวกเขาก็ล่าถอยไป แต่บางครั้งวัฒนธรรมการประท้วงในฝรั่งเศสก็ดูจะเป็นการสร้างสีสันให้ชีวิตและมีความสนใจแค่ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะนักการเมืองที่พวกเขาเคยต่อต้านก็ยังคงลงสมัครท้าชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อได้

เมอร์เรย์วิเคราะห์ว่าในคราวนี้ออลลองด์คงจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ผู้ชุมนุมง่ายๆ ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายตรงข้ามของเขาในครั้งนี้คือ ฟิลลิปเป มาร์ติเนซ ผู้นำสหภาพกลุ่มซ้ายจัดที่เป็นแกนนำ แต่เขาก็เป็นตัวแทนของคนงานในฝรั่งเศสน้อยกว่าร้อยละ 10

อย่างไรก็ตามข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่าถึงแม้การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะมีเป้าหมายหลักๆ คือเพื่อ ‘โค่นล้มกฎหมายเอล คอมรี และโลกที่เป็นสัญลักษณ์แทนกฎหมายนี้’ แต่จอฟฟรีย์ พลีย์เยอร์ส นักสังคมวิทยาชาวเบลเยี่ยมกล่าวว่าการที่มีประชาชนร่วมประท้วงเป็นจำนวนมากถึงหลายแสนคนจากทั่วประเทศไม่ใช่เพราะเรื่องไม่พอใจการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงานแต่เป็นความไม่พอใจนโยบายโดยรวมของรัฐบาลปัจจุบัน

 

เรียบเรียงจาก

Madness and nightmares: How springtime in Paris became a season of discontent: Don Murray, CBC, 03-06-2016

http://www.cbc.ca/news/world/paris-spring-don-murray-1.3611101

วิดีโอตำรวจกระชากคอเสื้อของ Mic, Mic, 02-06-2016 

https://www.facebook.com/MicMedia/videos/683618905110613/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Nuit_debout

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net