Skip to main content
sharethis
อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์เสนอใช้ ม.44 ตัดมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.การทำประชามติออกไป ให้ประชาชนแสดงความเห็นเต็มที่ขณะที่รองโฆษกชี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงมาตราเดียว ไม่มีผลจนถึงขั้นต้องเลื่อนวันการทำประชามติ ด้าน กกต.ใช้สีผสมพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติป้องกันปลอมแปลง
 
5 มิ.ย. 2559 สำนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าหากจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 1 เดือน และเพื่อจะไม่เป็นข้ออ้างว่าจะต้องเลื่อนหรือไม่เลื่อนการทำประชามติ จึงเสนอให้พลงอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตัดมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.การทำประชามติออกไป เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นเรื่องการทำประชามติได้อย่างเปิดเผยและรอบด้าน ตามที่รัฐบาลระบุว่าขณะนี้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น
 
“หากห้ามและทำให้ต้องแสดงความเห็นแบบหลบซ่อน สุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะให้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผย อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เรื่องการออกกฏหมาย ว่าควรจะต้องมีการรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนอย่างรอบด้านด้วย ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญดีก็ควรให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ และเห็นว่าข้อห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ไม่ให้แสดงความเห็น ที่เป็นเท็จ ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ ปลุกระดุมนั้น เห็นว่ายังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะคำว่าปลุกระดม ว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน
 
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าเมื่อกระบวนการเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วต้องให้ความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาล ทั้งนี้ ตามหลักการของกฎหมาย การยื่นให้ศาลวินิจฉัยมาตรา 61 วรรค 2 เพียงมาตราเดียวจะมีผลต่อมาตราดังกล่าว แต่ไม่ได้ทำให้กฎหมายประชามติบังคับใช้ไม่ได้ทั้งหมด จนถึงขั้นต้องเลื่อนวันการทำประชามติ เพราะมาตราดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการทำประชามติ แต่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นของประชาชน
 
นายราเมศ กล่าวว่าการทำประชามติครั้งนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้าน และไม่ให้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของการทำประชามติที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจ จึงเห็นว่าเวลาที่เหลือ 63 วันก่อนถึงวันลงประชามติ รัฐบาล กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และกกต.ต้องให้ทุกหน่วยงานเร่งเสนอสาระสำคัญทั้งข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญและเสนอความเห็นของนักวิชาการให้ประชาชนรับทราบก่อนตัดสินใจ เพราะจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่าประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจและข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการทำประชามติ
 
กกต.ใช้สีผสมพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติป้องกันปลอมแปลง
 
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในส่วนของการทำบัตรออกเสียงประชามติจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และในส่วนที่เป็นคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้ง 2 ส่วนจะมีสีแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ โดยสีที่จะใช้ในการพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ ถือว่าเป็นความลับสุดยอด เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตรออกเสียงประชามติ
 
“จะไม่ใช้แม่สีหลัก แต่จะเป็นสีผสม ที่ผสมอย่างน้อย 2-3 สีขึ้นไป เพื่อให้ปลอมแปลงได้ยากขึ้น และสัดส่วนในการผสมสี มีเพียงผมคนเดียวเท่านั้นที่รู้ อย่างไรก็ตาม การพิมพ์บัตรออกเสียงครั้งนี้ถือว่ามีการป้องกันความปลอดภัยระดับกลาง ยังไม่ถึงขั้นการป้องกันความปลอดภัยระดับสูงอย่างสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะการพิมพ์ต้องใช้งบประมาณที่สูง” นายสมชัย กล่าว
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net