เปิดตัวหนังสือ "รัฐธรรมนูญ" ปิยบุตร แสงกนกกุล สำรวจแนวคิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "รัฐธรรมนูญ" เริ่มอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล สำรวจแนวคิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไทยทำไมฉีกง่าย และกรณีศึกษาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในโลกตะวันตก สเปน-โปรตุเกส-กรีซ

4 มิ.ย. 2559 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และ คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "รัฐธรรมนูญ" ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" ระหว่างเวลา 13.00 - 16.30 น. ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยากรประกอบด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อเขียน 4 ชุดที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ถึง 2 ตุลาคม 2558 ได้แก่ ข้อความคิดรัฐธรรมนูญ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างเป็นอย่างไรก็ได้รัฐธรรมนูญอย่างนั้น นอกจากนี้ ยังได้นำบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน เรื่อง “การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม” มารวบรวมไว้อีกด้วย

ก่อนการเสวนา ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กล่าวแนะนำหนังสือว่า นอกจากที่เขียนเป็นตอนลงในมติชนสุดสัปดาห์ และรวมพิมพ์จากที่อื่นแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของซีรียส์ที่อาจารย์ปิยบุตรกำลังทำ โดยนอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วจะมีเรื่องศาล และเรื่องอื่นๆ เรียกว่าเป็นการเปิดซีรียส์ด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ หนังสือเล่มนี้ในแง่ของผู้จัดพิมพ์คิดว่า เวลาพูดถึงหนังสือเรื่องกฎหมายก่อนหน้านี้ สังคมจะผูกไว้กับคนเขียนคือนักกฎหมายในแง่ผู้เชี่ยวชาญ และพยายามอธิบายตัวบทกฎหมาย การตีความ เรียกว่าไปในทางนิติศาสตร์ กระทั่งในทศวรรษ 2530 เริ่มมีศาสตร์อื่นๆ พูดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนักรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กระทั่งเศรษฐศาสตร์ ทำให้การพูดถึงรัฐธรรมนูญไปไกลกว่าตัวบทกฎหมาย ขณะเดียวกันงานของปิยบุตร นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว นานๆ ก็จะได้เห็นนักวิชาการพูดถึงกฎหมายมากกว่าตัวบท

 

ปิยบุตรเริ่มเขียนหนังสือ จากคำถามเรื่องคุณค่ารัฐธรรมนูญไทยทำไมฉีกง่าย

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เขียน "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน"

จากนั้นเป็นการเสวนาโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่าเริ่มจัดทำหนังสือเล่มดังกล่าวหลัง 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งช่องทางการสื่อสารของคณะนิติราษฎร์หลังรัฐประหารทำได้จำกัด การจัดเสวนา หรือการแสดงความเห็นทางโทรทัศน์ทำได้จำกัด เว็บไซต์คณะนิติราษฎร์ก็ถูกปิดกั้นการเข้าถึง จึงมีความคิดที่จะเขียนบทความทางนิติศาสตร์ในลักษณะซีรียส์ โดยหลังจากปรึกษากับ ฐากูร บุนปาน เพื่อเขียนบทความลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดยรูปแบบของบทความไม่ใช่การตอบปัญหาเชิงกฎหมายรายวัน ไม่ใช่อธิบายแบบตั้งรับเช่น ศาลทำแบบนี้ไม่ถูกนะ ประเด็นนั้นประเด็นนี้ เมื่อเขียนบทความตอบก็เป็นเชิงตั้งรับ ต้องเขียนชี้แจง ต้องอธิบาย ตามที่เขาตั้งปมปัญหาไว้ ส่วนเขาก็ต้องตามแก้ไขวิธีการตีความกฎหมายที่เขาเสนอมาเรื่อยๆ

ในลักษณะแบบนี้กฎหมายก็ถูกทำลาย กลายเป็นกลไกเข้าสู่อำนาจรัฐ อีกด้านคือวงการนิติศาสตร์กลายเป็นช่างปะผุ ไม่ได้เสนอความคิดใหม่ๆ ในทางนิติศาสตร์ได้เลย การเขียนบทความเผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์เลยนำเสนอเรื่องใหม่ๆ เป็นปัญหาใจกลางสำคัญของการเมืองประเทศไทย ที่พัวพันมาหลายสิบปี ก่อตัวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่มาสำแดงออกในรอบ 10 ปี 20 ปี มานี้ เป็นที่มาของหนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งจัดพิมพ์แล้ว ขณะที่ปัจจุบันนี้ตอนที่พิมพ์เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์เป็นเรื่องศาล ซึ่งเมื่อเขียนเผยแพร่เสร็จแล้วก็จะมีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องไป

สำหรับเนื้อหาของหนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" เริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำไมคุณค่า รัฐธรรมนูญ ในตะวันตกจึงมีคุณค่ามาก ทำไมในประเทศไทยไม่มีคุณค่า วันนี้ไม่จำเป็นก็ฉีก ไปต่อไม่ได้ก็ฉีก แสดงว่าต้องมีความคิดเบื้องหลังกำกับสำหรับสังคมที่คิดว่ารัฐธรรมนูญเหมือนกระดาษชำระที่ฉีกได้ ขณะที่กฎหมายลำดับรองๆ ลงไปกลับแก้ไขยาก อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แสดงว่าแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต้องมีความคิดกำกับอยู่เบื้องหลัง โดยงานของเขาใช้วิธีการศึกษาแบบประวัติศาสตร์ข้อความคิด

กำเนิดแนวคิดสถาปนารัฐธรรมนูญ กำหนดระเบียบทางการเมืองโดยประชาชน

คำว่า "Constitution" ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่เริ่มใช้อธิบายหลายสิ่ง แม้แต่รูปแบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษ สำหรับแนวคิดในฝรั่งเศสว่าทำไมต้องทำรัฐธรรมนูญนั้น ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 หลวงพ่อเซเยส (Abbe Sieyes) เสนอแนวคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Le pouvoir constituant) มี 2 ข้อหลักๆ หนึ่ง สิ่งที่เคยเป็นมาในอดีตให้ยุติปิดฉาก สอง สร้างองคภาวะทางการเมืองขึ้นมาใหม่ คือ ชาติ ชาติก็คือประชาชน มาก่อตั้งระบอบการเมืองใหม่ขึ้นมาใหม่ โดยการล้มแบบเก่าและการสร้างแบบใหม่คืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

โดยที่ ชาติ เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไปก่อตั้งประมุขของรัฐ รัฐสภา ศาล ฯลฯ เกิดมาจากรัฐธรรมนูญ และองค์กรทางการเมืองทั้งหลาย ไม่มีอำนาจล้นพ้น อำนาจนั้นมีเท่าที่รัฐธรรมนูญให้มี

มนุษย์สามัญชนธรรมดาสามารถกำหนดระบอบการเมืองการปกครองที่คุณต้องการได้ ไม่ได้ขึ้นกับพระเจ้าและพระมหากษัตริย์อีกต่อไป คือมีตัวแสดงตัวใหม่ การกำหนดระบอบการปกครอง สามารถทำได้โดยประชาชน การสร้างรัฐธรรมนูญในแนวคิดแบบนี้จึงเหมือนการปฏิวัติ ตัดสายสะดือทิ้งจากอดีต และถ้ามีอะไรในอดีตตกค้างมาถึงปัจจุบัน สิ่งตกค้างถึงปัจจุบันนั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบใหม่

กรณีของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสและหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ก็ยังเป็นกษัตริย์ต่อไปอีก 2 ปีนั้น ถามว่า แม้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คนเดียวกันหน้าตาเดียวกัน แต่เป็นคนละคนในทางกฎหมาย ในทางการเมือง เพราะไม่ได้มีอำนาจล้นพ้นแบบเดิม

กรณีของประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประมุขของรัฐคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลัง 24 มิถุนายน 2475 ประมุขของรัฐก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือคนเดียวกันเลยในทางกายภาพ แต่ในทางระบบกฎหมาย ในทางระบบการเมืองไม่ใช่คนเดียวกัน ไม่ใช่องค์กรเดียวกันอีกต่อไป

พระมหากษัตริย์ก่อน 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หลัง 24 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือนเดิม มีนักนิติศาสตร์บางส่วนกล่าวว่าสถาบันทางการเมืองของไทยที่ดำรงอยู่ตลอดกาลไม่เคยหายคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปิยบุตรเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อก็จริงแต่สถานะหลัง 24 มิถุนายน 2475 มาแล้วไม่เหมือนเดิม

ทั้งนี้แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในศตวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นถึงคำว่า "ปฏิวัติ" เชื่อว่าได้ตัดขาดระเบียบการเมืองที่มาจากพระเจ้าและกษัตริย์ มนุษย์สามารถกำหนดระเบียบการเมืองได้ด้วยตัวเอง

กรณีของไทยขาดการถกเถียงแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในประเทศไทยหลัง 2475 มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2475 เรายังไม่มีการถกเถียงแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ เรานำเข้าคำว่า "Constitution" มาเลย แล้วเรามาเถียงแค่ว่าจะใช้คำในภาษาไทยว่าอะไร ปรีดี พนมยงค์เรียก "ธรรมนูญการปกครอง" พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เสนอให้ใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ความหมายกระชับดี เราก็เลยใช้คำนี้มา เรานั่งคิดว่า "Constitution" คือ "รัฐธรรมนูญ" แต่ไม่ได้มีการถกเถียงแนวคิดว่ารัฐธรรมนูญคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างไร ให้อำนาจสูงสุดแก่ประชาชนในการก่อตั้งระบอบการเมืองการปกครองอย่างไร

จะเห็นว่าการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญในไทย อยู่ในเรื่อง ฝ่ายหนึ่งคือรอยัลลิสต์ เสนอว่า รัชกาลที่ 7 พระราชทานมาให้ แต่อีกฝ่ายบอกว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ให้ แต่คณะราษฎรไปขอและทำความตกลงกันว่าเราจะปกครองกันระหว่างคณะราษฎรที่เป็นตัวแทนประชาชนกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าต่อไปนี้เราจะปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นแบบสัญญาตกลงกัน ก็มีการถกเถียงกันอยู่ 2 แนวคิดนี้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบแรกของฝ่ายรอยัลสิต์มีอิทธิพลในทางสังคมกว่า จะเห็นได้ว่านักศึกษา และคนจำนวนมากให้ความสำคัญกับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในฐานะวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ขณะที่ไม่รู้จักวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย หรือบางคนก็รู้แค่เป็นวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งที่ผ่านมามีการถกเถียง 2 แนวคิดนี้มาตลอด เขาจึงขอเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญแบบใหม่ว่ารัฐธรรมนูญคือเจตจำนงฝ่ายเดียวของผู้ทรงอำนาจสถาปนาที่จะแสดงออกไปเพื่อกำหนดระเบียบการเมืองการปกครองของตัวเอง เช่น ประชาชนบอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ก็ร่วมกันแสดงเจตจำนงออกไปฝ่ายเดียว ไม่ต้องตกลงอะไรกับใครทั้งนั้นเพราะคุณคือเจ้าของอำนาจ ก็แสดงออกไปเลยว่าอยากปกครองแบบนี้ แสดงออกผ่านรัฐธรรมนูญนั่นเอง ในอดีตอาจจะบอกว่า พระเจ้าเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนา หรือพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนา แต่ในศตวรรษที่ 21 เห็นต้องตรงกันหมดแล้วว่าประชาชนเป็นเจ้าของ ถ้าคุณบอกว่าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประชาชนต้องเป็นคนสถาปนารัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไก นักกฎหมายกลายเป็นเทคโนแครต

ทีนี้เมื่อสำรวจของประเทศไทย พบว่า ยุคปัจจุบันเวลาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ จะสนใจเรื่องปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างองค์กรนั้น เพิ่มองค์กรนี้ ปราบโกง ปราบทุจริต การเมืองโปร่งใส รัฐบาลเข้มแข็ง ระบบตรวจสอบ เราจะคิดอยู่แต่เรื่องพวกนี้ หลังๆ ยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ มีการเติมเรื่องสิทธิชุมชน การศึกษาขั้นต่ำ สาธารณสุข คิดว่าทุกเรื่องเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะมักคิดว่าชัวร์ที่สุดคุณเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญเสีย อยากมีเรื่องอะไรยัดใส่รัฐธรรมนูญ อยากคุ้มครองคณะรัฐประหาร ใส่ในรัฐธรรมนูญ สิทธิการศึกษา ใส่ในรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญหมด ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไก เทคนิค (mechanism) มันมีปัญหาถกเถียงกันนักก็จับใส่รัฐธรรมนูญตลอด

พูดง่ายๆ คือเราข้ามแนวคิดบางอย่างไปเลย ในขณะที่ตะวันตกเขาเพิ่งผ่านมา คือ การปฏิวัติ และ รัฐธรรมนูญคือการแสดงออกของผู้ทรงอำนาจสูงสุดคือประชาชน เรามัวถกเถียงเรื่องหยุมหยิม ซึ่งมันเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2540 กระแสธงเขียวขึ้น เราชูปฏิรูปการเมือง ต้องมีระบบตรวจสอบนักการเมือง รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือเราเอารัฐธรรมนูญเป็นกลไก อยากทำอะไรก็เอารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ แล้วเขียนใหม่ อะไรที่ไม่ดีก็เขียนใหม่ พอใช้แก้ปัญหาไม่ตก ก็ฉีกเขียนใหม่อีก แต่เราลืมนึกไปว่ารัฐธรรมนูญมีคุณค่ามากกว่านั้น เอาระบบรัฐสภาไหม เอาสภากี่สภาดี เอาวุฒิสภาไหม ที่มาเป็นอย่างไร รัฐมนตรีมีคุณสมบัติอย่างไร

แต่ที่เราลืมเถียงคือรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 อำนาจสถาปนา ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดให้รัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างไรก็ได้คือใคร นักกฎหมายบางคนบอกเรื่องนี้มันเก่าแล้ว บางคนบอกมันไม่สำคัญ สำคัญที่การสร้างองค์กรต่างๆ ดังนั้น เวลาทำรัฐธรรมนูญจึงมีเทคโนแครตเกิดขึ้นอีกวงการหนึ่ง โดยที่สมัยก่อน ย้อนไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เทคโนแครตเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เทคโนแครตเริ่มเป็นนักกฎหมาย เพราะต้องเขียนรัฐธรรมนูญ อยากได้อะไรครับเจ้านายเดี๋ยวเขียนให้ แต่ไม่ได้คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นของใครกันแน่

พอเห็นรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แก้ไม่ได้ฉีก เขียนใหม่ไปเรื่อยๆ เราจึงไม่หวงแหนรัฐธรรมนูญ ประเทศนี้จึงฉีกรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่น แต่ถ้ายกระดับคุณค่าว่ารัฐธรรมนูญว่าเป็นของเรา เราเป็นคนทำ เรากำหนด ต่อให้ไม่เขียนว่าเป็นกฎหมายสูงสุด ก็จะเป็นกฎหมายสูงสุดโดยปริยาย แต่ทุกวันนี้เหมือนวัสดุอุปกรณ์ บ้านผุก็แปะ อะไรเสียก็เอาไปซ่อม เพราะฉะนั้นจึงเขียนหนังสือเรื่องนี้เพื่อเสนอว่ารัฐธรรมนูญมีคุณค่ามากกว่านั้น ผูกพันกับปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผูกพันกับความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือที่อยากจะแก้จะล้มหรือทำอะไรก็ได้

รัฐธรรมนูญไทยสะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจ-ความคิดการเมือง 2 ฝ่ายที่ยังไม่ชนะกันเด็ดขาด

เพราะฉะนั้นการเมืองปัจจุบัน รัฐธรรมนูญของไทยทำได้แค่เพียงเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของสัมพันธภาพทางอำนาจของความคิดทางการเมืองของไทย ที่สู้กันอยู่ทุกวันนี้ มีพลังความคิดทางการเมือง 2 อันที่ไม่ชนะกันเด็ดขาดเสียทีตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ไม่ชนะ ไม่แพ้กันเด็ดขาด ยันกันอยู่ และฝ่ายที่ครอบงำอำนาจและสังคมยังชนะไม่ขาด วิธีแก้คือเมื่อเห็นว่าชักจะล้ำหน้าแล้วก็จะดึงเบรกกลับ ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นใหม่ รัฐธรรมนูญไทยปัจจุบันเป็นเอกสารที่แสดงสัมพันธภาพทางอำนาจของ 2 ความคิดทางการเมือง ซึ่งสู้กันมาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และยังไม่จบ และเป็นการแสดงออกของฝ่ายที่ชนะ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แต่ก็ไม่ได้ชนะขาด มีพลังที่จะต่อต้านอยู่ตลอดเวลา

000

3 กรณีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในยุโรป สเปน โปรตุเกส กรีซ

ในช่วงท้าย ปิยบุตร ยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย 3 กรณีในยุโรป ซึ่งนับเป็นประเทศท้ายๆ ในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้แก่  สเปน โปรตุเกส และกรีซ และจากนั้นประเทศในยุโรปตะวันออกจะเริ่มเปลี่ยน สำหรับ 3 ชาติดังกล่าว มีเผด็จการทหาร มีรัฐประหารบ่อย และเปลี่ยนผ่านทางการเมืองช้ากว่าประเทศยุโรปตะวันตก ถ้าเทียบปี พ.ศ. จะประมาณช่วง 2510 ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยก็มีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สเปน: กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ยุติระบอบทหาร-ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบประนีประนอม

กรณีสเปน เป็นตัวอย่างของการปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก เมื่อฟรังโกตาย พระมหากษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ที่ฟรังโกตั้งให้เป็นกษัตริย์โดยธรรมชาติต้องจงรักภักดีรักษาระบอบฟรักโก แต่ฆวน คาร์ลอสนำการเปลี่ยนแปลงให้สเปนเป็นประเทศประชาธิปไตยแทน พอเขาทำการเปลี่ยนแปลงทำให้เขาเข้าฮอร์ส 2 ต่อ หนึ่ง ปลดตัวเองที่ผูกกับระบอบฟรังโกให้หลุด เป็นตัวของตัวเอง เป็นฮีโร เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการเมืองให้สเปน และสอง รักษาระบอบกษัตริย์ให้กับสเปน ทั้งที่ในเวลานั้นสเปนมีทั้งแนวคิดคอมมิวนิสต์ และสาธารณรัฐ กรณีของสเปนเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ล้มโต๊ะ เปลี่ยนแบบค่อยๆ เปลี่ยน กล่าวคือคนที่ทรงอำนาจในระบอบเก่าเป็นคนตัดสินใจเปลี่ยนเอง จะประนีประนอม และราบรื่นกว่า ไม่ได้จองล้างจองผลาญกันเยอะ เพราะฉะนั้นของสเปนจึงมีปัญหาเรื่องไม่ได้เอาคนในระบอบฟรังโกมาลงโทษ เพราะมีการนิรโทษกรรมให้หมด ที่ต้องนิรโทษกรรมเพราะไม่อย่างนั้นกองทัพไม่ยอมเปลี่ยน ก็ใช้วิธีค่อยๆ เปลี่ยนไป ทำให้กรณีของสเปน ทหารออกจากการเมือง และรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้

โปรตุเกส: ความร่วมมือกันของฝ่ายพลเรือนถอดทหารออกจากการเมือง

กรณีของโปรตุเกส นายทหารรุ่นหนุ่มเป็นคนเปลี่ยน ใช้การรัฐประหาร แต่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองแบบปฏิวัติ โดยทหารรุ่นหนุ่มซึ่งหัวเอียงซ้ายทำการยึดอำนาจ ทหารหนุ่มเมื่อยึดอำนาจก็คุมก่อนแล้วก็ไม่ปล่อย เพราะถือว่าทำรัฐประหารจึงไม่ปล่อย แต่ไม่เหมือนประเทศไทย เพราะทหารไทยไม่คิดจะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมแน่นอน แต่ทหารโปรตุเกสมีไอเดียจะทำการเมืองแบบสังคมนิยม ก็ปรากฏว่านักการเมืองร่วมมือกันทั้ง 2 พรรค ค่อยๆ ถอดทหารออกไป คือนายทหารคณะใหม่เขาอยากเป็นสังคมนิยม พวกพรรคการเมืองบอกไม่ได้ จะเอาแบบการเมืองเสรีนิยม ก็ร่วมมือกันค่อยๆ นำทหารออกจากการเมือง

ซึ่งเมื่อเทียบกรณีของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ทหารไทยก็มีบทบาทการเมือง แต่ทำไมไทยเอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ กรณีของโปรตุเกสจะเห็นนักการเมืองฝ่ายพลเรือนร่วมมือกันถอดทหารออกจากการเมือง ทั้งที่ทหารก็มีความชอบธรรมสูงมากในการยึดอำนาจ

กรีซ: ประชามติเลือกรูปแบบการปกครอง ดำเนินคดีผู้ก่อรัฐประหาร-เขียนมาตราต่อต้านรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีสุดท้ายที่ปิยบุตรกล่าวถึงคือกรีซ ซึ่งเดิมสถาบันกษัตริย์มีบทบาทแทรกแซงในทางการเมืองมาก เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้น คณะรัฐประหารก็เอากษัตริย์ตั้งไว้เป็นหุ่นเชิดและขับกษัตริย์ออกไป และถือตัวเองเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด เมื่อกรีซไปต่อไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยก็กลับมา โดยก่อนประชาธิปไตยจะกลับมา กรีซให้ทำประชามติเลือกว่าจะเอาระบอบการเมืองไหน ระหว่างสาธารณรัฐ หรือมีระบอบกษัตริย์ ผลประชามติ ประชาชนเลือกสาธารณรัฐ ทำให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐ

กรณีของกรีซเป็นตัวอย่างของประเทศที่จัดการสถาบันทางการเมืองที่แทรกแซงการเมืองบ่อยครั้ง เมื่อจัดการรัฐประหารแล้ว มีการเอาทหารที่ก่อรัฐประหารไปขึ้นศาลเข้าคุก ดำเนินคดี โดนโทษประหารชีวิต ส่วนนายกรัฐมนตรีได้รับอภัยโทษประหารชีวิต ลดเหลือถูกจำคุกตลอดชีวิตและเสียชีวิตในคุก ขณะที่ปัจจุบันกรีซประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เดิมทหารต้องแอ่นแอนแอ้นออกมาแล้ว แต่ทหารรุ่นน้องๆ ทั้งหลายไม่กล้าทำ เพราะถ้าทำเมื่อไหร่เดี๋ยวโดน

และในรัฐธรรมนูญของกรีซก็ได้แสดงแนวคิดให้เห็นว่ากรีซเป็นประเทศที่ล้มรัฐประหารมาได้สำเร็จ ในมาตราสุดท้ายระบุว่าประชาชนชาวเฮเลนิกมีหน้าที่ในการต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ เมื่อกลับสู่ภาวะปกติให้ดำเนินคดีอาญาผู้ทำรัฐประหารโดยไม่มีอายุความ ในขณะที่ไทยระบุในรัฐธรรมนูญให้ต่อต้านด้วยสันติวิธี ซึ่งทหารออกมาคุณไปกราบแล้วเขาจะยอมหรือ

000

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตามความเห็นของปิยบุตรที่ปรากฏในหนังสือนั้นรัฐธรรมนูญคือการก่อร่างสร้างรูประบอบใหม่ มีลักษณะแตกหักกับระบอบเดิมหรือระเบียบทางการเมืองแบบเดิม เกิดขึ้นจากการปฏิวัติและอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่นอกจากแนวคิดนี้ยังมีอีกแนวคิดว่าการก่อรูปของระบอบการเมืองรวมถึงรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพัฒนาการต่อเนื่องกันตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ ทั้งสองแนวทางนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่

วรเจตน์ กล่าวยกตัวอย่างถึงรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลพวงจากการแตกหักกับระบอบเดิม แล้วกำหนดกติกาพื้นฐานและคุณค่าของคนสังคม เป็นความฝันของประชาชนที่ฝันถึงระเบียบการเมืองที่ดีงาม เที่ยงธรรม นอกจากนี้สิ่งสำคัญนอกจากการริเริ่มก่อร่างสร้างตัวของของรัฐธรรมนูญแล้ว การจะพยายามสร้างระเบียบการเมืองที่ดีให้ใช้หรือดำรงอยู่อย่างยาวนานหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นความใฝ่ฝันของสังคมที่ดีงาม เป็นธรรม จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพลังทางกฎหมายอาจไม่พอ

อย่างไรก็ตาม อีกสำนักหนึ่งมองว่า ยังมีระบบแบบอังกฤษซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญลายกลักษณ์อักษร และไม่ได้เกิดจากการแตกหักกับระบอบเก่า แต่เป็นผลพวงของการจัดระเบียบทางการเมืองที่เดินต่อมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เป็นลำดับ พูดง่ายๆ มันไม่ได้ก่อตั้งอย่างฉับพลัน แตกหัก แต่มันสืบเนื่องต่อเนื่องมา ความคิดนี้ปรากฏในหมู่นักคิดอนุรักษ์นิยมพอควรในอังกฤษ

วรเจตน์กล่าวว่า ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐธรรมนูญก็ต้องมีความชอบธรรม ตรงนี้เองที่ประชาชนจะมีความหมาย จริงๆ การออกเสียงประชามติถือเป็นการตัดสินใจสำคัญมากของประชาชน แต่กำลังบอกว่านั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะต้องพิจารณา เรายังต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมด้วย

“ระเบียบทางการเมืองใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเมื่อผ่านประชามติใหม่ๆ อาจทำอะไรไม่ได้ แต่ความชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่การก่อตั้งจุดเดียว แต่มันมีความต่อเนื่องของการยอมรับนับถือของคนในสังคม มีเนื้อหาที่เห็นว่าเป็นคุณค่าพื้นฐานของคนในสังคมที่ควรต่อเนื่องยาวนานไป แปลว่า รัฐธรรมนูญอาจผ่านประชามติ แต่การยอมรับนับถืออาจจะไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างระเบียบทางการเมือง ชุมชนทางการเมืองที่ดีงาม และใช้กับทุกคนอย่างเสมอเหมือนกัน” วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์ยังระบุถึง “ความใหม่”ที่ปรากฏในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ว่า ในทางวิชาการมีการถกเถียงเรื่องเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เดิมมีความคิดที่วินิจฉัยสถานะของรัฐธรรมนูญอยู่สองแบบ คือ เป็นการ ‘ให้ฝ่ายเดียว’ หรือได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 กับอีกส่วนหนึ่งที่ตีความว่าเป็น ‘สองฝ่ายตกลงกัน’ ขณะที่ปิยบุตรเสนอว่า 2475 เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของคณะราษฎรต่างหาก และการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นก็เพราะคณะราษฎรเลือกที่จะทำเช่นนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของเขา วรเจตน์เห็นว่า ปัญหาสำคัญของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญน่าจะอยู่ที่ความเป็นชั่วคราวของปฐมรัฐธรรมนูญ

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยออกนอกกรอบจารีต และเป็นหนังสือกฎหมายที่มีหลายประเด็นและเป็นประโยชน์มาก ท่ามกลางสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมที่ double speak หรือพูดสองชั้น หรือพูดอย่างทำอย่าง รัฐธรรมนูญก็เช่นกันเรากล่าวอ้างว่า เป็นกฎหมายสูงสุดแต่มันก็ถูกฉีกตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เพราะชนชั้นนำไทยเห็นระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบรวมถึงรัฐธรรมนูญและรัฐสภาด้วย เป็นเพียง “วิธีการ” ไม่ใช่ “หลักการ” แต่ปิยบุตรนำเสนอใหม่ว่า ความหมายที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญคือการปฏิวัติ แตกหักกับระบอบเก่า รัฐธรรมนูญนั้นก่อตั้งระบอบใหม่ เป็นของระบอบใหม่จึงไม่อ้างอิงกับอำนาจประเพณี

“คนร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบทางการเมือง หาโมเดลต่างๆ มาใช้สร้างองค์กรตรวจสอบ ถ้าย้อนหลังกลับไปบอกได้จะบอกว่า ประเทศที่เก่าแก่มากในการสร้างองค์กรตรวจสอบคือ จีน และมันล้มเหลว เพราะในที่สุดขุนนางที่กุมอำนาจตรวจสอบนั้นแหละจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และมีอำนาจล้นฟ้าในเวลาต่อมา ในที่สุดก็ต้องสร้างองค์กรตรวจสอบซ้อนองค์กรตรจสอบไปเรื่อยๆ” สุธาชัย กล่าว  

สุธาชัย กล่าวอีกว่า เรื่องรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่รณรงค์อยู่มันร่างโดยการมีกรอบที่ถูกกำหนดไว้แล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 มาตรานี้มาจากธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดโดยคณะรัฐประหาร พูดใหม่ได้ว่าฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ร่างขึ้นมาตามกรอบรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชนเลย พวกเนติบริการร่างตามกรอบคณะรัฐประหารทั้งสิ้น

“จะร่วมประชามติไหม ท่านอื่นๆ จะร่วมก็ได้ไม่ร่วมก็ได้ แต่ถามผมผมจะไปลงมติไม่รับ มันหมายถึงไม่รับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่รับอำนาจรัฐประหารโดยตรง แล้วผมรับอะไร ผมว่ามันเถียงกันได้ เรื่องรัฐธรรมนูญ 40 ถ้าเราปฏิเสธการรัฐประหารทั้งหมด เราต้องรับรัฐธรรมนูญ 40 แม้มีข้อบกพร่องมากมายก็ตาม แต่เราน่าจะเริ่มต้นจากจุดนี้ หาทางแก้โดยศิวิไลซ์ แบบไม่แก้ด้วยรถถัง”สุธาชัยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท