เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์กรณี 'สุธี คุณาวิชายานนท์'

 
4 มิ.ย. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์เรื่อง การท้วงติงของกลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการชุมนุมของ กปปส. และผลงานศิลปะของรองศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชายานนท์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
 
เรื่อง การท้วงติงของกลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการชุมนุมของ กปปส. และผลงานศิลปะของรองศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชายานนท์
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในการท้วงติงการแสดงผลงานของ รศ. สุธี คุณาวิชายานนท์ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกวางจู (Gwangju Museum of Art) อย่างใกล้ชิด จึงขอยืนยันในหลักการของการปกป้องสิทธิพลเมืองว่า คนส. ไม่อาจยอมรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหารได้ จวบจนบัดนี้ มวลชนบางกลุ่มก็ยังสนับสนุนแนวทางของคณะรัฐประหารอยู่ โดยมิได้ทักท้วงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินอยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร ผลงานศิลปะที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว จึงมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิพลเมืองไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความกระจ่างชัด คนส. ขอลำดับความเป็นมาดังนี้
 
สืบเนื่องจากการที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม “ฉบับเหมาเข่ง” เข้าสภา เมื่อปลายปี 2556 ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและการชุมนุมคัดค้านของประชาชนจำนวนมากจากหลายฝักฝ่ายทางการเมือง แม้ว่าภายหลัง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์และตกไปในที่สุด การชุมนุมของ กปปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุมในนามต่างๆ ได้มีการยกระดับข้อเรียกร้องอื่นๆ ตามมา เช่นให้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรลาออก จนกระทั้งรัฐบาลฯ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การชุมนุมของ กปปส. ก็ยังมิได้ยุติลง หากแต่มีการผลักดันข้อเรียกร้องให้มี “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” รวมถึงการปิดกรุงเทพ (Bangkok Shutdown) ผู้ที่สนับสนุนแนวคิด “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง รวมทั้งการขัดขวางและทำร้าย ไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปใช้สิทธิ การขัดขวางเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งไม่ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ และการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ประกอบกับการแทรกแซงจากองค์กรอิสระ การชุมนุมอย่างยืดเยื้อของ กปปส. และแนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุมในนามต่างๆ ตลอดจนการเริ่มก่อตัวของการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนนำมาซึ่งความวุ่นวายสับสน เปิดโอกาสให้กองทัพอ้างเหตุผลเพื่อการระงับความวุ่นวาย ก่อการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
 
แม้ว่า กปปส. และแนวร่วมผู้ชุมนุมในนามต่างๆ จะอ้างว่าการชุมนุมของกลุ่มตนเป็นการใช้เสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินกิจกรรมในการชุมนุมหลายอย่างส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างกว้างขวาง และเป็นการใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขต อีกทั้งการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และแนวร่วม ยังมีท่าทีคุกคามการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน โดยการใช้กำลังมวลชนกดดันสำนักงานสื่อและผู้สื่อข่าว เพื่อให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารไปในทิศทางที่ กปปส. และแนวร่วมต้องการ อันเป็นการปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารอีกด้วย จนถึงที่สุดแล้ว เมื่อเกิดการรัฐประหาร ก็ปรากฏชัดว่า แกนนำ กปปส. และแนวร่วมการชุมนุมบางส่วน แสดงความยินดีกับการรัฐประหารและยังสนับสนุนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะปรากฏชัดว่า การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงและกว้างขวางแล้วก็ตาม
 
จากข่าวสารที่ศิลปินที่ร่วมกิจกรรมเปิดเผยเองปรากฏชัดว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยกลุ่ม Art Lane เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุน กปปส. ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนการชุมนุม ระหว่างการชุมนุม จนถึงวันที่เกิดการรัฐประหาร จึงมิอาจปฏิเสธได้ว่ากิจกรรมศิลปะเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นอย่างกว้างขวางและรุนแรง อันนำมาซึ่งความเสื่อมถอยของกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ผลที่ตามมาของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของ กปปส. ตลอดรวมถึงกิจกรรมสนับสนุนการชุมนุมโดยกลุ่ม Art Lane มีส่วนทำให้สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 
ด้วยเหตุผลข้างต้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความเห็นต่อกรณีการทวงติงของกลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เรื่องผลงานของ รองศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชายานนท์ ที่กำลังจัดแสดงที่ Gwangju Museum of Art ว่ามิได้เป็นการทักท้วงโดยมีอคติทางการเมืองของฝ่ายใด หรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้คนจำนวนมากที่ถูกละเมิดในช่วงของการชุมนุม โดยกลุ่ม กปปส. และกิจกรรม Art Lane ที่รศ.สุธี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นตามมาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงของการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารในปัจจุบันอีกด้วย
 
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท