Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านยาเสพติดทั่วประเทศ เสนอแนวทางการดำเนินงานลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด
คำนึงถึงมิติด้านสุขภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมเรียกร้องต่อการจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยคำนึงถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชน

3 มิ.ย. 2559 เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิโอโซน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ออกแถลงการณ์หลังประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2559 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการเรื่องยาเสพติดในอนาคตของประเทศไทย

โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์นโยบายยาเสพติดของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบันที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการจับกุมปราบปรามเพื่อให้ยาเสพติดหมดไป ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด มีผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่และอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การดำเนินงานนโยบายด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดกลับไม่มีความต่อเนื่องอย่างชัดเจนเพียงพอ ทั้งที่เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย อีกทั้งการปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดยังไม่เป็นไปตามหลักการ “ผู้เสพ คือผู้ป่วย” ไม่ใช่อาชญากร

และว่า การแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยต้องยึดตามพันธกรณีในอนุสัญญาหรือกติการะหว่างประเทศในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ ว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS2016) ระหว่างวันที่  19-21  เมษายน 2559 ณ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ยาเสพติด

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านยาเสพติด มีข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 ข้อเรียกร้องต่อการดำเนินงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction)

- ขอให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นผู้อำนวยการ ประกาศนโยบายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด Harm Reduction โดยด่วน
- นโยบายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด Harm Reduction ที่ประกาศโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องและสามารถปฏิบัติได้จริงรวมทั้งมีกระบวนการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
- ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหายาเสพติด 3 กระทรวงหลัก ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง ยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่สนับสนุนต่อการทำงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด
- ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ภาคประชาสังคมและผู้ใช้ยาเสพติดเข้าร่วมในการดำเนินการ ติดตามและประเมินผล รวมถึงจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด

ประเด็นที่ 2  ข้อเรียกร้องต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด

- ขอให้กระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องบรรจุแนวทางการทำงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด Harm Reduction ให้ชัดเจน โดยนำมาใช้ได้ทั้งประเทศ และไม่ระบุให้เป็นทางเลือกหรือใช้เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
- ขอให้กระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้จัดทำร่าง เสนอให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดในทุกขั้นตอน
- ให้ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องยึดหลักการสำคัญดังต่อไปนี้

  • ยกเลิกโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อเสพโดยให้นำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด Harm Reduction มาใช้แก้ปัญหาแทนมาตรการทางกฎหมาย
  • ยกเลิกการบังคับตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดโดยผู้บังคับใช้กฎหมายและให้บทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น
  • ยกเลิกการบังคับบำบัดทุกรูปแบบ และต้องมีทางเลือกสำหรับการบำบัดผู้ติดโดยใช้หลักการดูแลรักษาทางด้านสาธารณสุขและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ วัฒนธรรม ประเพณี
  • ในการร่างประมวลกฎหมายและการจัดทำอนุบัญญัติต่างๆ ตามร่างประมวลกฎหมายนี้ ต้องเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ตัวแทนผู้ใช้ยา
  • พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชนและผู้ใช้ยา ในการวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net