Skip to main content
sharethis

สืบพยานวันที่สอง คดีประชาไทฟ้องแพ่งกระทรวงไอซีทีปิดเว็บ ปี 53 ไอซีทีปัด ทำตามคำสั่งคณะกรรมการที่ตั้งโดยรองนายกฯ ขณะนั้น ศาลนัดฟังคำพิพากษา 11 ก.ค.นี้

2 มิ.ย. 2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลแพ่ง รัชดา มีการสืบพยานจำเลย คดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 ที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (เว็บไซต์ประชาไท) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงการคลัง เป็นเงิน 350,000 บาท จากกรณีมีคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553

โดยพยานจำเลยมี 1 ปากคือ อารีย์ จิวรรักษ์ จากกระทรวงไอซีที

อารีย์ยื่นเอกสารคำเบิกความต่อศาล และตอบคำถามทนายโจทก์ถามค้าน โดยระบุว่า ในช่วงเกิดเหตุคือ ปี 2553 เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที โดยในการปิดเว็บไซต์ตามคำสั่ง ศอฉ. มีขั้นตอนคือ เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่แต่งตั้งโดยรองนายกฯ ในขณะนั้น พบเว็บที่ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะส่งข้อมูลให้กระทรวงไอซีทีทำการปิดกั้น โดยการตรวจ วินิจฉัย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรอง ไอซีทีไม่ได้เกี่ยวข้อง

อารีย์ตอบคำถามทนายโจทก์ว่า การรายงานข่าวเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จะมีรายงานในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ ธ.ค. 2551 หรือไม่นั้น ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ เนื่องจากผ่านมานานแล้วและช่วงนั้นยังไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อารีย์กล่าวว่า หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือยั่วยุ

อารีย์ระบุว่า หลัง ศอฉ. มีคำสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ไอซีทีจะส่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ดำเนินการปิดกั้น และส่งให้เจ้าของเว็บนั้นๆ ปิดกั้น กรณีเว็บไซต์ประชาไท มีปัญหาอยู่มาก จึงดำเนินการปิดกั้นทั้งเว็บไซต์ โดยการปิดเว็บดังกล่าวเป็นการปิดเฉพาะเว็บไซต์ประชาไท ไม่ได้ปิดเว็บบอร์ด และหลังจากนั้นจะมีการสั่งปิดเว็บบอร์ดไหมไม่ทราบ

อารีย์กล่าวว่า สำหรับข่าว-บทความจากเว็บประชาไทที่จำเลยเคยอ้างไว้ ไม่มีข้อความในลักษณะข่มขู่บังคับให้รัฐบาลทำตาม แต่อ่านโดยรวมเข้าใจเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เขาตอบคำถามทนายจำเลยถามติงโดยระบุว่า แต่ละชิ้นมีลักษณะบีบบังคับให้ยุบสภา

เขาตอบคำถามทนายโจทก์ว่า เอกสารที่นำมาอ้างในศาลไม่ได้พิมพ์ออกมาจากเว็บไซต์ประชาไทโดยตรง และไม่ใช่เอกสารเดียวกับเอกสารให้ปิดกั้นจาก ศอฉ. แต่ตอบคำถามทนายจำเลยถามติงว่า ถ้าเทียบกับเอกสาร ศอฉ.แล้วเป็นข้อความเดียวกัน เพราะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์

สำหรับการสืบพยานจำเลยครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะจำเลย ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา

ศาลนัดฟังคำพิพากษา 11 ก.ค. 2559

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (จำเลยที่1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2), ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3), กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4) และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้น prachatai.com และยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น prachatai.com โดยวันเดียวกัน ศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องโดยไม่มีการไต่สวน ด้วยเหตุผลว่าจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต่อมา เว็บไซต์ประชาไทอุทธรณ์คำสั่งศาล โดยศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 4-5 คือ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ.ได้ ต่อมา จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รับฟ้องคคีดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 จากนั้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองศาลมีความเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลแพ่ง (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษา) โดยศาลแพ่งอ่านความเห็นของทั้งสองศาลเมื่อ 14 ธ.ค. 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net