อ่านปากคำแม่พลทหารสมชาย “โทรศัพท์สายสุดท้าย” หลังศาลแพ่งยกฟ้องลูกตายในค่าย


ภาพจาก Voice from Thais

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2559 ศาลแพ่ง รัชดา อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีระหว่าง สุดา ศรีเอื้องดอย โจทก์ กับกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 กองทัพบก จำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 ในข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย โดยสุดาเรียกค่าเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ จากกรณีที่ลูกชายของเธอซึ่งเป็นทหารประจำค่ายกาวิละป่วยเสียชีวิตระหว่างประจำการและได้รับทราบมาก่อนว่ามีการซ้อมทรมาน ศาลให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ 2 ปากที่นำสืบ คือ มารดาและพี่สาวของผู้ตายนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าปากคำจากผู้ตาย ส่วนพยานฝ่ายจำเลยเป็นแพทย์ผู้ให้การรักษาจึงมีน้ำหนักที่น่ารับฟัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพลทหารสมชายเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้ายอันเป็นการละเมิดแต่อย่างใด พร้อมทั้งพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารได้แสดงให้เห็นว่าได้ใช้ความระมัดระวังต่อพลทหารสมชายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอแล้วจึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเว้นอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จำเลยทั้ง 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่าค่าเสียหายมีเพียงใด พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ขณะที่ทนายโจทก์เตรียมยื่นอุทรณ์ต่อศาล

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 21-23 มกราคม 2557 ผู้ตายชื่อ พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย อายุ 20 ปีเศษ เป็นทหารประจำค่ายกาวิละ ได้แจ้งกับญาติทางโทรศัพท์และญาติได้ให้การในศาลว่า เขาถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก ราว 20 ครั้ง จนกระทั่งต่อมาวันที่  28 มกราคม 2557 พลทหารสมชายถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีอาการเหนื่อย หอบ และเหงื่อแตก เจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลกาวิละตรวจสอบอาการแล้วเห็นว่ามีอาการหนัก เข้าใจว่ามีอาการติดเชื้อ จึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งพลทหารสมชายถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 เวลา 10.40 น. โดย แพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ ผลการชันสูตรพลิกศพ ระบุว่า ร่างกายไม่มีบาดแผล สาเหตุการตายมาจากติดเชื้อไข้หวัดนก ปอดอักเสบ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีคนไข้ติดเชื้อไข้หวัด จำนวน 20 ราย แต่มีพลทหารสมชายเสียชีวิตเพียงผู้เดียว โดยก่อนหน้าที่พลทหารสมชายมีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง ญาติเชื่อว่าหากไม่ถูกซ้อมทรมาน จนเป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนเพลียจนร่างกายติดเชื้อ เป็นผลโดยตรงจากการถูกซ้อมทรมาน


สุดา เอื้อยศรีดอย แม่ของพลทหารสมชาย (ภาพจาก Voice from Thais)

ฟังเสียงแม่พลทหารสมชายภายหลังทราบคำพิพากษา

หญิงสาวชนเผ่าปกาเกอะญอ อายุ  57 ปีไม่ได้มาฟังคำพิพากษาแต่อยู่ทำนาที่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวติดต่อเธอทางโทรศัพท์ เธอพูดภาษาชนเผ่าไม่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง เราอาศัยการพูดคุยผ่านล่ามที่พูดไทยได้และอาศัยอยู่บ้านใกล้กับเธอ เธอเอ่ยปากขอโทษที่ให้รอ เธอเพิ่งเดินกลับมาจากทำนาและเลี้ยงวัว ระยะห่างจากบ้านไปจนถึงท้องนาถึงแม้จะยังไม่ใช่ช่วงหน้าฝนแต่ก็ต้องเดินข้ามภูเขาหลายนาที

สุดา ศรีเอื้องดอย เป็นชาวชนเผ่าปกาเกอะญอ สัญชาติไทย เล่าให้ฟังว่า เธอมีลูกชาย 1 คน คือ สมชาย ศรีเอื้องดอย อายุ 20 ปีเศษ และลูกสาวอีกหนึ่งคน เมื่อต้นปี 2555 สามีของเธอมาด่วนจากไป ลูกชายที่กลายเป็นกำลังหลักของบ้านจึงตัดสินใจสมัครเป็นทหารเพราะอยากมีเงินเดือนมาช่วยสร้างบ้านต่อจากพ่อ อีกทั้งยังอยากได้มอเตอร์ไซค์ไว้ขับไปทำนาและพาแม่ไปหาหมอ เพราะหลังจากทีพ่อเสียชีวิตไป อาการของโรคซึมเศร้าก็เข้ามารุมเร้าเธอ เธอต้องเที่ยวยืมมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนบ้านเพื่อไปรักษาตัวในเมืองเดือนละ 2  ครั้ง 

สมชายเข้าประจำการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 และกำลังจะปลดประจำการในเดือน เมษายน 2557 อีกเพียงแค่สามเดือนก็จะได้กลับมาพบแม่และพี่สาว แต่สมชายก็เสียชีวิตไปก่อนในวันที่ 29 มกราคม 2557

23 มกราคม 2557 สมชายโทรมาหาแม่จากค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่ามีไข้และปวดตัว แม่จะช่วยทำพิธีปัดไข้ตามความเชื่อของชนเผ่าให้หน่อยได้หรือไม่ เธอรับปากว่าจะลองดูแต่ก็แนะนำให้ลูกกินยาแก้ปวดบรรเทาไข้ไปด้วย ลูกชายตอบกลับมาว่ากินแล้วแต่ไม่หาย หลังจากนั้นไม่นานโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง ลูกสาวเป็นคนรับสายแต่เธอแอบฟังและจับใจความได้ว่าสมชายถูกตี เธอวิตกเพราะกลัวอยู่โดยตลอดว่าลูกชายจะถูกทำร้าย เพราะได้ยินมาว่าทหารคนไหนที่กลับไปที่ค่ายช้าจะถูกลงโทษ

หลังจากที่สมชายเริ่มไปเป็นทหารเขาส่งเงินกลับมาให้แม่เดือนละ 5,000 บาททุกเดือน แต่ครั้งล่าสุดสมชายกลับมาบ้าน 2 สัปดาห์  ก่อนจะกลับไปยังค่ายในวันที่ 16 มกราคม 2557 ซึ่งช้ากว่ากำหนดไปสองสัปดาห์ สมชายบอกกับเธอว่าเขาไม่มีเงินค่ารถกลับไปที่ค่าย เนื่องจากไม่มีเงินเดือนโอนเข้าบัญชีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

หลังจาก 24 มกราคม 2557 สมชายโทรกลับบ้านวันละหลายรอบและถามว่าจะทำอย่างไรให้แผลฟกช้ำขนาดใหญ่กลางหลังนั้นบรรเทาความเจ็บปวดลง อาการไข้ของสมชายยังไม่ได้ขึ้น กอปรกับบาดแผลที่หลังยิ่งทำให้ความทุกข์ทรมารส่งตรงมาถึงคนเป็นแม่  เธอพยายามถามลูกชายว่าทำไมไม่ไปหาหมอในโรงพยาบาล เนื่องจากในค่ายกาวิละเองนั้นก็มีโรงพยาบาลอยู่ สมชายตอบกลับมาว่าไม่กล้าไป เพราะโรงพยาบาลค่ายก็เป็นโรงพยาบาลของทหาร จะรอให้อาการดีขึ้นแล้วค่อยลากลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่สุดท้ายแล้ว วันที่ 29 มกราคม 2557 สมชายก็เสียชีวิตลง

"แม่รู้สึกเสียใจจนถึงวันนี้ ตอนแรกแม่ไว้ใจทางทหารและผู้ดูแล แม่คิดว่าค่ายทหารนั้นจะเหมือนโรงเรียนที่เวลาเด็กนักเรียนไปโรงเรียนแล้วไม่สบาย ครูก็จะโทรมาหาพ่อแม่ให้ไปดู หรือพาไปหาหมอ แม่คิดว่าผู้ที่ดูแลจะพาลูกแม่ไปหาหมอ แต่ว่าไม่มีใครแจ้งมาเลยว่าลูกอาการหนัก จนกระทั่งลูกแม่ไม่ไหวแล้วจะไปแล้ว เขาถึงได้โทรมาแจ้ง”

เธอเล่าว่า ความรู้สึกผิดถั่งโถมเธอมาโดยตลอด เธอเสียใจที่ไม่ได้ไถ่ถามลูกชายว่าใครเป็นคนทำร้าย ได้แต่เพียงสอบถามอาการกันไปวันต่อวันเท่านั้น เธอยอมรับว่าความเศร้าตั้งแต่สามีจากไปและลูกชายไปเป็นทหารทำให้เธอกลายเป็นคนเหม่อลอยมากขึ้น เธอเล่าถึงจุดสำคัญที่เธอไม่เชื่อว่าลูกชายเสียชีวิตเพราะป่วยเป็นไข้ว่า หลังจากทราบว่าสมชายได้จากไปแล้ว เธอเดินทางเข้าไปที่ค่ายกาวิละเพื่อเก็บข้าวของลูกชายกลับบ้าน แต่ทหารสองคนที่นอนเตียงข้างๆ สมชายทั้งสองเตียงนั้นกลับดูแข็งแรงดี ไม่มีอาการไข้แต่อย่างใด เมื่อรวมกับผลการชันสูตรพลิกศพของสมชายที่บอกว่าไม่มีร่องรอยการถูกทำร้าย ยิ่งทำให้เธอเชื่อว่ามีบางอย่างกำลังถูกปกปิด

หลังจากทราบผลการชันสูตรพลิกศพ สุดาผู้มีรายได้จากการทำนาและทำเครื่องจักสานขายเฉลี่ยเดือนละ 1000-2000 บาท เธอตัดสินใจยืมเงินเพื่อนบ้านเป็นจำนวน 6,300 บาท เพื่อเข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรมในกรุงเทพ

"แม่ไม่ได้คิดอยากได้ค่าเสียหาย แม่อยากให้มันเป็นที่รับรู้ถึงคนอื่นๆ ที่มีลูกชายเหมือนกันว่าถ้าลูกไปอยู่อย่างนั้นแล้วมันไม่ใช่ที่ที่น่าไว้ใจเหมือนที่แม่เคยเข้าใจ คนที่มีลูกชายแล้วไปเป็นทหารเขาจะได้ไม่ต้องโดนเหมือนลูกแม่อีก”

เธอกล่าวย้ำถึงสิ่งที่เธอต้องการว่า เธอต้องการเพียงความถูกต้องเท่านั้น ความเจ็บปวดที่เธอต้องสูญเสียลูกชายซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านไปโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นทำให้เธอต้องออกมาต่อสู้คดี ถึงแม้หลายคนยังอยู่ภายใต้ความกลัวอำนาจทหารจนทำให้การหาพยานนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก แต่เธอก็ยืนยันว่าจะต่อสู้ต่อไปไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกชายของอีกหลายๆ คนที่ต้องสูญเสียไปในลักษณะเดียวกันนี้ ถึงแม้วันนี้ศาลจะพิจารณายกฟ้องแต่เธอก็ยังยืนยันว่ายังสู้ต่อไป เพราะยังมีทีมทนายและหลายๆ คนที่คอยช่วยเหลือ ทำให้ยังมีกำลังใจต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท