Skip to main content
sharethis
เชลล์จ่อเลิกจ้างพนักงานระลอกใหม่อีก 2,200 คน เชื่อไม่กระทบพนักงานในไทยเพราะมีเฉพาะธุรกิจดาว์นสตรีม
 
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า บริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ เตรียมเลิกจ้างพนักงานอีกอย่างน้อย 2,200 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 475 รายจะเป็นพนักงานที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซของเชลล์ในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์
การเตรียมปลดพนักงานในครั้งนี้ของเชลล์ เป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซจาก กลุ่มบีจี (BG Group) รวมถึงภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำมาอย่างยาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ เชลล์ ทำให้เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการที่ลดลงฮวบลงอย่างมากเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยมีกำไรลดลงกว่า 80% มาอยู่ที่ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีก่อนหน้าที่สามารถทำกำไรได้ถึง 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
ทีมประชาสัมพันธ์บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว Energy News Center ว่า เชลล์ สำนักงานใหญ่ เคยประกาศปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจน้ำมัน ในช่วงแจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2558 ซึ่งในครั้งนั้นได้ประกาศจะปรับลดพนักงานลง 6,500 ตำแหน่งทั่วโลก และให้มีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเห็นว่าภาคการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับลดพนักงาน 2,200 อัตรานั้น ทางเชลล์ ประเทศไทย ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวว่าจริง เท็จประการใด แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อพนักงานในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจเชลล์ในไทยเป็นธุรกิจขั้นปลาย (downstream) จึงไม่มีการปรับลดพนักงาน หรือ ปรับโครงสร้างองค์กร ทุกคนยังทำงานเป็นปกติ
 
 
อธิบดีกรมจัดหางานสั่งตรวจเข้มต่างด้าวหลังพบสติ๊กเกอร์จ่ายส่วยตำรวจ
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานออกตรวจจับคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย และได้พบพ่อค้าผลไม้ชาวลาว 2 คน อินเดีย 1 คน ควักสติ๊กเกอร์โชว์สัญลักษณ์จ่ายส่วยตำรวจ 3 หน่วยงานว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ออกตรวจทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนต่างด้าวออกมาลักลอบค้าขายแย่งอาชีพคนไทย เป็นการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย รวมถึงการคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่ม จากกรณีที่คนเวียดนามทำน้ำส้มปลอมออกขายในจ.สระบุรี ทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น จึงต้องสร้างความตระหนักให้คนไทยอย่าสงสารแล้วไปอุดหนุนซื้อของจากคนกลุ่มนี้ สำหรับอาชีพอื่นที่ทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อาทิ ไกด์เถื่อน นายแบบ และนางแบบ นายจ้างที่นำคนกลุ่มนี้มาทำงานจะมีโทษหนัก
 
นายอารักษ์ยังกล่าวถึงเรื่องสติ๊กเกอร์จ่ายส่วยตำรวจว่า คนต่างด้าวที่ถูกจับนำขึ้นมาแสดงกับเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าวเป็นคนเห็นด้วยตัวเอง และสอบถามจากคนต่างด้าวด้วยตัวเอง ส่วนใครเป็นใคร แอบอ้างหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ตำรวจต้องไปดูแล ส่วนที่พูดกันว่าปล่อยต่างด้าวเต็มบ้านเต็มเมืองนั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบปล่อยปะละเลย จึงต้องขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ซึ่งจะดูแลในส่วนของการลักลอบทำงานเป็นหลัก
 
นอกจากในกรุงเทพฯแล้ว ชาวต่างด้าวยังอาศัยอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ จ.อุดรธานี สุโขทัย กาฬสินธุ์ และจังหวัดใหญ่ๆ ตามแหล่งท่องเที่ยว คนกลุ่มนี่จะขายตามตรอกซอกซอย รวมทั้งกลุ่มที่ลักลอบมาทำงานในสถานบริการ และร้านอาหาร ทำกันเป็นขบวนการ ถือวีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้วลักลอบทำงาน เมื่อเห็นรายได้ดีจึงชวนกันตามมาอีกขยายเป็นขบวนการ
 
 
โรงพยาบาลเดชา ประกาศเลิกจ้างลูกจ้าง 220 คน มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ ยืนยันจ่ายเงินเดือนที่ค้างกว่า 15 ล้านบาท
 
27 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.วารุณี เจริญวงศ์นรา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ โรงพยาบาลเดชา กล่าวภายหลังเจรจาร่วมกับตัวแทนบริษัท ศรีอยุธ ว่าล่าสุดนายจ้างได้ออกหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 220 คน แบ่งเป็นพนักงานประจำที่มีจำนวน 160 คน และพนักงานพาร์ทไทม์ 60 คน ในวันที่ 1 มิ.ย. 2559 พร้อมรับปากว่าจะหาเงินมาจ่ายค่าจ้างเดือนธ.ค. 58 – เม.ย. 59 เป็นจำนวนเงิน 12 ล้านบาท ภายในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ตามหนังสือคำสั่งของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)
 
โดยเบื้องต้นจะหาเงินมาจ่ายสมทบประกันสังคมก่อนเพื่อให้ลูกจ้างไม่ขาดสิทธิ ขณะนี้ลูกจ้างทั้งหมดได้มอบอำนาจให้ กสร. ฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างเดือนธ.ค.58 – เม.ย.59 แล้ว ส่วนค่าจ้างเดือนพ.ค. หากนายจ้างไม่จ่ายก็จะฟ้องร้องเพิ่มเติมซึ่งรวมค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมดกว่า 15 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ บริษัท ศรีอยุธ จำกัด ได้ออกหนังสือเลิกจ้างพนักงาน ลงวันที่ 27 พ.ค. 59 ระบุว่า ภายหลังจากวันที่ 12 พ.ค. หลังจากที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีคำสั่งให้บริษัท ศรีอยุธ ปิดโรงพยาบาลเดชา ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการสถานพยาบาลต่อไปได้ ประกอบกับบริษัทประสบปัญหาขาดทุนและปัญหาสภาพคล่องในการบริหาร จึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 59 เป็นต้นไป ลงนามชื่อ สิบเอกชาญณรงค์ ประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีอยุธ จำกัด
 
นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงค่าจ้างที่ค้างจ่ายพนักงานด้วยว่า เนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าหนี้ สำนักงานประกันสังคม หรือสปส.กว่า 10 ล้านบาท บริษัทได้แจ้งเป็นหนังสือให้ สปส.ทราบว่าจะนำเงินดังกล่าวมาชำระเป็นค่าจ้างให้แก่พนักงานแล้ว แต่ สปส.ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
 
 
คสรท.ยืนยันเสนอรัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาท ชี้แรงงานต้องทำโอที-มีหนี้สินเพิ่ม นักวิชาการเผยค่าครองชีพเดือนละกว่า 1.2 หมื่นแต่รายได้แค่ 9 พัน
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย บอกว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานเสนอรัฐบาลขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 360 บาท แต่รัฐบาลไม่รับฟังกลับอ้างถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจ หากปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลต่อการลงทุน ขณะที่ปัจจุบันแรงงานจึงต้องหารายได้เพิ่มโดยทำโอทีมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุการพิจาณาค่าจ้างขั้นต่ำต้องมองเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมองว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจคือคนมีเงินในมือมากขึ้น จะสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น และการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 10-20 บาท ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของสถานประกอบการมากนัก
 
 
ร้องช่วยเหลือ! แรงงานโรงงานตัดเย็บชุดชั้นในบุรีรัมย์ถูกลอยแพ ไม่ได้รับเงินชดเชย
 
(28 พ.ค.) แรงงานตัดเย็บชุดชั้นในของ บริษัท อินโนวาโมด จำกัด ตั้งอยู่ตำบลพุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ กว่า 80 คน ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่ากิจการประสบปัญหาขาดทุนทำให้แรงงานที่ทำงานในบริษัทดังกล่าวทั้ง 82 คน ซึ่งมีอายุงานตั้งแต่ 2 ปีจนถึง 8 ปี ต้องตกงานถูกลอยแพเป็นเวลากว่าครึ่งเดือนแล้ว
 
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทหรือนายจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด สร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงานเป็นอย่างมาก เพราะแต่คนต่างมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวส่งเสียลูกเรียน
 
อีกทั้งทางบริษัทยังไม่ให้ใบผ่านงาน และเอกสารการเลิกจ้างแก่แรงงานด้วยเมื่อไปทวงถามกับตัวแทนบริษัทก็ถูกบ่ายเบี่ยง บอกเพียงว่าทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการนำสินค้าไปขาย หากขายได้จำนวนเท่าไร จะนำมาเฉลี่ยให้กับแรงงาน โดยไม่ยืนยันว่าจะได้เงินชดเชยเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และยังไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อไร สร้างความกังวลใจและความเดือดร้อนให้กับแรงงานเป็นอย่างมาก
 
จึงได้ร่วมกันออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยเหลือเร่งรัดให้ทางบริษัทนำเงินชดเชยมาจ่ายให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยเร็ว และเป็นธรรมด้วย พร้อมทั้งให้เร่งจัดหาตำแหน่งงานว่างในพื้นที่รองรับโดยเฉพาะงานประเภทตัดเย็บตามที่แรงงานถนัดเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงานด้วย
นางประคอง จันทบาล และนางรัตนาภรณ์ เนาวรัตน์ ตัวแทนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง บอกว่า
 
ทางบริษัทได้เลิกจ้างอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้แรงงานทราบล่วงหน้า ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงานเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละคนอายุมากแล้วและทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งมาหลายปี หากจะไปสมัครทำงานอื่นก็กลัวจะถูกปฏิเสธและจนถึงขณะนี้ผ่านมากว่าครึ่งเดือนแล้วทางบริษัทก็ยังไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานเลย
 
จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเร่งรัดให้ทางบริษัทจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานพร้อมหาตำแหน่งงานว่างในพื้นที่เกี่ยวกับประเภทตัดเย็บ เพื่อช่วยเหลือให้มีงานทำเลี้ยงครอบครัวต่อไปด้วย
 
โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 118 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังนี้ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย , ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้าย , ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย
 
 
สมาคมอัญมณีชงรัฐแก้การขาดแคลนแรงงานฝีมือเฉียดแสนราย
 
นายสุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมอัญมณีฯเกือบ 100,000 ราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอัญมณีฯไทยสูงขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การผลิต บริการของอุตสาหกรรมฯ ในโลก เช่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาให้เพิ่มหลักสูตรช่างอัญมณีฯและช่างออกแบบในสถาบันอาชีวะ สถาบันราชภัฎและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเหมือนกับช่างยนต์,ช่างไฟฟ้า,ช่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ที่เรียนจบการศึกษาในระดับปวช.,ปวส. และปริญญาตรีจะมีงานทำในบริษัทต่างๆแน่นอน สำหรับการขาดแคลนแรงงานฝีมือทั้งระดับบนและระดับล่าง พบว่าขาดแคลนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ 30,600 คน, อุตสาหกรรมกลางน้ำ 21,500 คน เช่น นักออกแบบ,กลุ่มงานรูปพรรณ,กลุ่มงานหล่อโลหะรูปพรรณ และ ขาดแคลนอุตสาหกรรมปลายน้ำ 40,000 คน
 
 
"สภาพัฒน์" เผย อัตราว่างงานไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 3.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 0.94% จากไตรมาส 1/58 ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนปีนี้ยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง
 
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 0.97% หรือมีจำนวน 3.7 แสน คน เพิ่มขึ้นจาก 0.94% ในไตรมาส 1/58 ทั้งนี้ โดยปกติ ไตรมาส 1 อัตราการว่างงานจะสูงที่สุด อย่างนี้ทุกปี และจะลดลงในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และ 4 โดยการจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 2.7% จากผลกระทบของภาวะภัยแล้งใน ช่วงที่ผ่านมา แต่การจ้างงานนอกภาคเษตรเพิ่มขึ้น 1.5% ตามการขยายตัวของ เศรษฐกิจในด้านการผลิตอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ขนส่ง และบริการท่องเที่ยว
 
ผลการสำรวจของสภาพัฒน์ ยังพบว่า ในปี 58 ภาคครัวเรือนมีหนี้ลดลง โดย มีมูลหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.57 แสนบาท ลดลง 1.96% จาก มาตรการแก้ปัญหาหนี้สิน และการเข้มงวดการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน เมื่อเทียบกับ ที่เพิ่มขึ้น 10.0% ในปี 56 โดยหนี้ในระบบ ลดลง 2% มาอยู่ที่ 1.53 แสนบาท แต่หนี้นอกระบบ เพิ่มขึ้น 1.1% มาที่ 3.35 พันบาท ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ ลดลงมา อยู่ที่ 49.1% จาก 53.8% ในปี 56
 
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 59 ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลยอดคงค้างการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคาร พาณิชย์ ในไตรมาส 1/59 เพิ่มขึ้น 5.7% ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้น 6.3% ในปี 58 เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและ รายได้แรงงาน ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยแรงงานภาคเกษตร ยังเป็นกลุ่มที่มี ความเปราะบางมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนคนจนมากที่สุด และแรงงาน เกษตร 69% มี อายุ 40 ปีขึ้นไป อีกทั้งกว่า 70% ของแรงงานภาคเกษตร มีการศึกษาในระดับประถมและต่ำกว่า รวมทั้งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าสาขาอื่น 2.5 เท่า โดยมีรายได้ เฉลี่ย 5,582 บาท/ เดือน ทำให้มีข้อจำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะซ้ำเติม ต่อปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิต
 
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ ยังเป็นไปแบบช้าๆ และการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน ที่เป็น ตลาดส่งออก สำคัญของไทย ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจยังไม่ได้มีการปลดพนักงาน แต่ใช้วิธี ปรับลดชั่วโมงการทำงานลง
 
ขณะเดียวกัน การจ้างงานและรายได้แรงงงาน ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการกีดกันทางการค้า จากการทำประมงผิดกฎหมาย และปัญหาแรงงานบังคับที่ส่งผลต่อการส่งออกของธุรกิจประมง และธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำ
 
ทั้งนี้ แม้ยังไม่พบความรุนแรงในการเลิกจ้างแรงงานในสาขาประมง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการ ขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรลุเป้าหมาย การส่งเสริมการ ทำประมง ที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป
 
 
สศช.เปิดภาวะภัยแล้งตั้งแต่ ม.ค.2558 ซัดภาคเกษตรเสียหายยับกว่า 1.5 หมื่นล. กระทบจ้างงาน รายได้ และหนี้สิน ห่วงกลุ่มคนเช่าที่ทำเกษตร คนงาน หนี้ท่วม แนะหาทางแก้ระยะสั้น-ยาว
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสแรก ปี 2559 ว่า ได้นำเสนอบทความเรื่องแรงงานเกษตร : การปรับตัวของเกษตรกรจากภาวะภัยแล้ง โดยยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตร ซึ่งข้อมูลของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2559 ระดับชาติ ได้รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ถึง 9 พ.ค. 2559 ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 2.87 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 6.1 ล้านตัน โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 15,514.65 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 460,000 คน เหลือเพียง 12.27 ล้านคน ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งต้องปรับตัวโดยย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่สามารถรองรับแรงงานภาคเกษตรได้ทั้งหมด ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่าง นั่นคือ เกษตรกรรายได้ลดลงและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนปี 2558 พบว่า แม้รายได้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 6.83% จากปี 56 แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นตามมามากถึง 11%
 
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเผยผลสำรวจปี 2558 พบแรงงานเด็กกว่า 3 แสนราย เข้าข่ายในกลุ่มงานอันตราย 8.5 หมื่นราย
 
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานและแรงงานเด็กในประเทศไทย ซึ่ง กสร.ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจไปเมื่อปี 2558 ว่า จากการสำรวจเด็กอายุระหว่าง 5 – 17 ปี จำนวน 10,876,275 คน แบ่งเป็นชาย 5,546,846 คนและหญิง 5,329,429 คน ในจำนวนนี้ พบเป็นเด็กทำงาน คือ เด็กที่อายุระหว่าง 15 – 17 ปี ที่ทำงานซึ่งไม่เป็นงานที่อันตราย หรือทำงานที่ได้รับรายได้มากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 692,819 คน คิดเป็นร้อยละ 6.4 แบ่งเป็นชาย 468,944 คน คิดเป็นร้อยละ 8.5 และหญิง 223,875 คน คิดเป็นร้อยละ 4.2 โดยแบ่งเป็นทำงานด้านเกษตรสูงสุดร้อยละ 53 รองลงมา ค้าขาย ร้อยละ 18.7 ร้านอาหาร/ภัตตาคาร ร้อยละ 11.7 และด้านอื่นๆ ร้อยละ 6.8  นอกจากนี้ พบเป็นแรงงานเด็ก จำนวน 312,675 คน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นชาย 190,911 คน คิดเป็นร้อยละ 3.4 และหญิง 121,764 คน คิดเป็นร้อยละ 2.3
 
น.ส.พรรณี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้พบเด็กที่ทำงานเข้าข่ายงานอันตรายมีจำนวน 85,806 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 แบ่งเป็นชาย 74,637 คน คิดเป็นร้อยละ 1.3 และหญิง 11,169 คน คิดเป็นร้อยละ 0.2 โดย กสร.จะนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาแรงงานเด็กต่อไป และจากการประชุมร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีข้อเสนอแนะว่าให้ดำเนินการสำรวจซ้ำอีกครั้งภายในปี 2559 นี้เพื่อนำมาเปรียบเทียบ และในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาจจะต้องสำรวจในรายอุตสาหกรรมและรายพื้นที่ในเชิงลึกต่อไป อีกทั้ง กสร.ยังสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานและแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมไร่อ้อย แต่อยู่ระหว่างรวบรวมและประมวลผลข้อมูล
 
 
ตัวเลขขอตั้งโรงงาน 5 เดือนวูบ ชี้สาเหตุวันหยุดยาวเยอะ
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยตัวเลขการขอใบอนุญาต(รง.4) และขยายกิจการช่วง 5 เดือนแรกปี 2559 (1.ม.ค.- 27 พ.ค.) ว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,914 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 2,033 โรงงาน หรือ ลดลง 5.85% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.85แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือ ลดลง 7.54%
 
ขณะที่ยอดการเปิดกิจการใหม่ และขยายกิจการในเดือนพ.ค.(1พ.ค.- 27พ.ค.)มีจำนวน 317โรงงาน ลดลง 27.95% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 440 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ลดลง 35.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่3.08 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 9,559 คน ลดลง 33.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.43 หมื่นคน
 
โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่การผลิตยานพาหนะ และอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 6.9 หมื่นล้านบาท ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2.9 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 2 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 1 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 9.4 พันล้านบาท เป็นต้น
 
"ยอดขอ รง.4 และขยายกิจการในช่วง 5 เดือนแรกลดลง แต่ก็ไม่มากนัก อาจะมาจากในช่วงต้นปีที่มีวันหยุดยาวและจำนวนมาก ทำให้ยอดขอใบ รง.4 ไม่สูงนัก แต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังก็จะมีการขอที่ เพิ่มสูงขึ้นทุกปี สังเกตจากยอดตัวเลขทั้งปีของปีที่ผ่านๆ มาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 - 6 พันโรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในปีนี้ยอดการขอใบ รง.4 อาจจะสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากภาครัฐมีนโยบาย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อย่างเช่น นโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, ไทยแลนด์ 4.0, อินดัสเทรียล 4.0 เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้คาดว่าในปีนี้การขอ รง.4 และขยายกิจการน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือ โตขึ้นประมาณ 5%" นายพสุ กล่าว
 
ทั้งนี้พบว่าจำนวนแรงงานเริ่มมี แนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดัน และมีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีการใช้แรงงานที่ลดลง แต่แรงงานที่มีทักษะจะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับ New S- curve ที่ภาครัฐเร่งขับเคลื่อน ทั้งอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิตอล เป็นต้น
 
สำหรับการแจ้งประกอบ และเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วง 5 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวน 1,570 โรงงาน ลดลง 24.59% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2,080 โรงงาน) มูลค่าการลงทุน 1.94 แสนล้านบาท ลดลง 0.51% จากช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา (1.95 แสนล้านบาท)
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net