เอฟทีเอว็อทช์เรียกร้องรมว.พาณิชย์ เปิดข้อมูล-ดีเบต ก่อนตัดสินใจเข้า TPP

เอฟทีเอ ว็อทช์ และภาคประชาสังคม ยื่น 6 ข้อเสนอต่อ รมว.พาณิชย์ เรียกร้องกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลงานศึกษาตัวเลข ทั้งผลได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคม-วงวิชาการร่วมตรวจสอบ รวมถึงจัดเวทีวิชาการดีเบตข้อมูลด้วย

31 พ.ค. 2559 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) รายงานว่า เอฟทีเอ ว็อทช์ และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้หารือร่วมกับนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ณ ห้องรับรอง 1 กรมเจรจาฯ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลงานศึกษาตัวเลขอย่างครบถ้วน ทั้งผลได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคมและแวดวงวิชาการได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

2. จัดเวทีวิชาการดีเบตข้อมูลเหล่านั้น ทั้งที่คาดว่าการเข้า TPP จะสร้างผลบวกกับประเทศไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และให้ช่วยกันพิจารณาว่า ยังขาดข้อมูลอะไรที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้า TPP อีกบ้าง

3. จะต้องมีการชี้แจงในระดับนโยบาย หากประเทศไทยเข้า TPP ซึ่งจำต้องยอมรับการผูกขาดตลาดยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1-10 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า จะต้องเตรียมงบประมาณตั้งแต่ 2,835 – 288,266 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยที่ดูแลประชากรถึง 48 ล้านคนและระบบสาธารณสุขของประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเตรียมการรองรับอย่างไร สามารถเยียวยาได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับงานศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้างศึกษาว่า การเข้า TPP จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.77% เท่านั้น

4. มีการศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) อย่างไรบ้าง เพราะตอนนี้มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะนัยต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ เช่น การไม่ต่อใบอนุญาตทำเหมืองทองด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข การออกกฎระเบียบคุ้มครองผู้บริโภค จะนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายเหล่านี้ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร และการที่ TPP บังคับให้ไทยเป็นภาคี ICSID ที่คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่รัฐไทยไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาในระบบยุติธรรมของไทยได้ จะส่งผลเสียหายมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องมีการทำประเมินผลกระทบด้านกฎหมายและนโยบาย (Regulatory Impact Assessment) ดังที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแนะนำไว้

5. ผู้กำหนดนโยบายไม่พึงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลผูกพันกับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานแต่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมดุล ดังนั้น เมื่อดำเนินการดังข้อ 1-3 ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือคณะรัฐมนตรี ว่า ประเทศไทยควรไปขอเข้าร่วมเจรจา TPP หรือไม่

6. ในระหว่างนี้ให้หยุดกระบวนการแก้กฎหมาย ประกาศและระเบียบต่างๆ ตามคำเรียกร้องของชาติ มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการเจรจา อาทิ พ.ร.บ.สิทธิบัตร, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ,ประกาศควบคุมการนำเข้าเนื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรควัวบ้า, การเปิดตลาดเนื้อสุกรที่พบสารเร่งเนื้อแดง, การยกเลิกมาตราฉลากภาพควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยกเลิกการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่บ่อนทำลายภาคเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขไทย

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ วางการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลผลดีผลเสียของประเทศมากกว่าการสร้างราคาพูดถึงแต่ด้านดีของความตกลง TPP นี้

ผู้ร่วมหารือประกอบไปด้วย นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล และน.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี, นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ และนายวศิน พิพัฒนฉัตร สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, นายคำรณ ชูเดชา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, นายนิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง โครงการปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์

1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลงานศึกษาตัวเลขอย่างครบถ้วน ทั้งผลได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน เพื่อให้สังคมและแวดวงวิชาการได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท