Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ในวงการศึกษาทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในบ้านเราอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องของประเด็นสันติวิธีอยู่บ่อยครั้ง แต่มักไม่ค่อยได้ยินเรื่องของการศึกษาความรุนแรงในด้านทฤษฎีมากนัก

เว้นเสียแต่จะพูดถึงความรุนแรงในลักษณะโครงสร้างประเภทที่แทบจะเรียกว่าทุกอย่างก็เป็นเรื่องของความรุนแรงไปหมด

เอาเข้าจริงเรื่องง่ายๆ ที่เราไม่ค่อยได้กล่าวถึงกลับเป็นเรื่องของมิติเรื่องความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับมิติทางกายภาพที่เราประสบปัญหากันอยู่ โดยเฉพาะอย่างน้อยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรุนแรงทางภาคใต้ และความรุนแรงทางการเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ท้องถนนในกรุงเทพฯ จากการชุมนุมและการปราบปรามการชุมนุมในทุกสีเสื้อ

ขณะที่ปัจจุบันเรื่องราวของความสนใจในเรื่องการก่อการร้ายนั้นมีมากขึ้นแล้ว แต่ในมิติอื่นๆ ของความรุนแรงทางการเมืองที่ผมได้เพิ่งกล่าวไปนั้นยังไม่ค่อยมีมากนัก

แต่แม้ว่าจะยังไม่ค่อยมี สิ่งที่มีมาโดยตลอดกลับเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญสองประการ

หนึ่งก็คือ “การอ้างอิง” ว่าความรุนแรงทางการเมืองนั้นสำคัญ ดังนั้นการแทรกแซงทางการเมืองโดยเฉพาะจากทหารนั้นจำต้องเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่ากันหรือความวุ่นวายทางการเมือง

สองก็คือ “การพยายามค้นหาความจริง” ว่าภายใต้ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมานั้น “ใครอยู่เบื้องหลัง” เหตุการณ์ดังกล่าว นั่นก็คือใครสั่งฆ่า ใครสั่งยิง รวมไปถึงการพยายามรวบรวมข้อมูลของความสูญเสียต่างๆ แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยได้พิจารณากันก็คือ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เกิดการสั่งฆ่าและสั่งยิงเหล่านั้น และเราสามารถประเมินค่าได้ไหมว่า เหตุผลเหล่านั้นของคนที่เราเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องราวการทำให้เกิดความรุนแรงเหล่านั้นมันคุ้มค่า หรือเป็นไปตามที่มุ่งหวังจริงๆ

การอธิบายเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดความสับสนอยู่บ้าง แต่หากลองพิจารณาดีๆ สิ่งที่เราคุ้นชินในเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะในประเด็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปก็มักจะเป็นเรื่องของสงคราม สงครามกลางเมือง การปฏิวัติ หรือการก่อการร้าย และคำอธิบายทั่วๆ ไปก็มักจะมาจากนักประวัติศาสตร์ที่พยายามอธิบายหาสาเหตุของเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้น

แต่ภารกิจของนักรัฐศาสตร์บางกลุ่มที่สนใจเรื่องเหล่านี้เช่นกันคือจะต้องเข้าไปตั้งคำถามทางทฤษฎีถึงมิติในเรื่องความรุนแรงเองว่าทำไมความรุนแรงในแต่ละเหตุการณ์มันมีลักษณะอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งหมายถึงว่าไม่ใช่สนใจแต่สาเหตุเชิงประวัติศาสตร์ แต่ต้องสนใจเรื่องผลของเหตุการณ์ว่ามีนัยยะสำคัญทางทฤษฎีอย่างไร อาทิ ทำไมขนาดของความรุนแรงในแต่ละครั้งมันถึงได้ต่างกัน หรือทำไมตัวเป้าหมายของความรุนแรงมันถึงแตกต่างกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษาเฉพาะว่ามันเกิดได้อย่างไรเท่านั้น

อีกตัวอย่างที่สำคัญในอดีตนั้นก็คือ เรามักจะมองความรุนแรง อาทิ เรื่องของสงครามการต่อสู้โดยดูว่ามีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์อะไรบ้าง แต่เราอาจจะไม่ได้อธิบายอะไรมากกว่าความสูญเสียในแง่ของความตายหรือศพของทหารและศพของพลเรือน โดยยังไม่ได้อธิบายว่า การตายหรือความสูญเสียที่มีกับพลเรือนในแต่ละครั้งมันมากหรือน้อยแค่ไหน และทำไมความสูญเสียในแต่ละครั้งมันมีมากน้อยต่างกัน และมีนัยยะสำคัญอย่างไร

โดยเฉพาะการศึกษาและความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางการเมืองในช่วงหลังนี้ เราเริ่มพบว่าเป็นไปได้ยากที่เราจะมีความเข้าใจง่ายๆ ว่า ความรุนแรงทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่มีความเฉพาะเจาะจงไปที่ทหารหรือคนที่มีหน้าที่เหล่านั้นที่เราเรียกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่า ใครที่แตะต้องไปที่พลเรือนจะหมดความชอบธรรมโดยทันที

มาสู่การตั้งคำถามใหม่ๆ ว่า ในความรุนแรงทางการเมืองในวันนี้ การสร้างความรุนแรงไปที่ประชาชนพลเรือนต่างหากที่กลายเป็นเรื่องราวอันเป็นปกติ และในหลายๆ ครั้งความรุนแรงที่มีต่อประชาชนบางกลุ่มบางพวกกลับสร้างความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจทั้งในระดับบุคคล หมู่คณะ และโครงสร้างเช่นรัฐหรือระบอบการเมืองนั้นอยู่ต่อไปได้ด้วย

พูดภาษาชาวบ้านร้านตลาดก็คือ เรากำลังพูดถึงการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในแง่ปฏิบัติการบางอย่างที่ทำให้ผู้มีอำนาจและชนชั้นนำนั้นสามารถอยู่ในการเมืองได้ ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะเรื่องของความสูญเสียในเชิงปริมาณว่ามีคนตายเท่าไหร่ หรืออะไรๆ ก็พูดแต่ว่ามันมีโครงสร้างวัฒนธรรมในสังคมลอยๆ ว่าสังคมเรามีวัฒนธรรมการพ้นผิด หรือวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงเท่านั้น

หรือเราจะไม่ตั้งคำถามง่ายๆ อีกแล้วว่าทหารมีไว้สู้กับศัตรูก็คือทหารของประเทศอื่น หรือตำรวจมีไว้ปราบอาชญากรหรือคนไม่ดี มาสู่คำถามว่าทำไมบ่อยครั้งทหารนั้นกำหนดศัตรูของตนเป็นพลเรือนโดยเฉพาะประชาชนในประเทศที่ปราศจากอาวุธ และตำรวจนั้นทำไมจับประชาชนพลเรือนหรือใช้กฎหมายตัวไหนเล่นคนที่คิดต่างทางการเมืองในหลายๆ กรณี โดยดูว่าคนเหล่านั้นถูกประกาศฐานความผิดอะไรที่ทำให้การใช้ความรุนแรงต่อพวกเขาเหล่านั้นมันชอบธรรม

การศึกษาทางรัฐศาสตร์ในวันนี้ส่วนหนึ่งได้ย้ายความสนใจจากการศึกษาสงครามในแง่ของกิจการทางการทหารหรือระหว่างรัฐมาสู่การศึกษาสงครามหรือความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดระหว่างรัฐ และอาจมีองค์กรทางการเมืองอื่นเกี่ยวข้องด้วย อาทิ การก่อการร้าย และความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่ได้เกิดจากการรุกรานของกองกำลังนอกประเทศ มาสู่เรื่องของความรุนแรงในสงครามกลางเมือง หรือการสังหารหมู่ประชาชน หรือความรุนแรงระหว่างกลุ่มชนที่ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงการมีกองกำลังที่รบกันอย่างเป็นระบบ แต่หมายถึงการที่แต่ละฝ่ายของความขัดแย้งนั้นมีการใช้กำลังความรุนแรงทางกายภาพเข้าไปด้วย

ในประเด็นดังกล่าวนี้ เราจะเห็นว่าการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่แค่เก็บตัวเลขการละเมิดสิทธิ หรือเถียงกันว่าตกลงแต่ละประเทศมีแนวคิดหรือเงื่อนไขความจำเป็นในการปฏิบัติตามหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมความรุนแรงต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมันจึงเกิดขึ้นได้ และมันมีความมุ่งหมายอย่างไร ประกอบกับผลมันเกิดตามที่มุ่งหวังไหม

อีกด้านหนึ่งที่ต้องคิดและเตือนใจเราให้ดีก็คือ คำอธิบายของนักรัฐศาสตร์บางกลุ่มที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเวลา และต้องรอให้เกิดความสูญเสียกันไปอีกเป็นช่วงเวลายาวๆ อาทิ คำอธิบายว่า ประชาธิปไตยในตะวันตกนั้นเขาใช้เวลาเปลี่ยนผ่านกันเป็นร้อยๆ ปี ดังนั้นเราก็จำเป็นจะต้อง “นั่งรอไปเรื่อยๆ” ขณะที่สิ่งที่ผมพยายามจะพูดถึงก็คือ ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจมองไม่เห็นความหวังหรือความเกี่ยวข้อง เว้นแต่มองว่าถูกม้วนเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไม่ได้ตั้งใจและขาดแคลนอำนาจในการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่เขาพยายามเข้าใจเงื่อนไขการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้และพยายามที่จะไม่ต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านเหล่านั้นมีต้นทุนอย่างยาวนานและจำเป็นต้องมีมิติของความรุนแรงในระดับที่เราเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นจนได้นั้นจะต้องเกิดขึ้นเช่นกัน

ในอดีตนั้นการทำความเข้าใจความรุนแรงที่มีกับพลเรือน อาทิ การสังหารหมู่ การปราบปรามประชาชน และการก่อการร้าย มักจะถูกมองในมิติทางจิตวิทยาและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นมิติทางจิตวิทยาในระดับปัจเจกบุคคล หรือในแง่ทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ค้นคว้าไปที่ที่มาของเหตุการณ์ในแบบการพรรณนาเรื่องราวว่ามีที่มาอย่างไร หรือมองว่า ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากผู้นำที่มีอาการผิดปกติทางจิต หรือมองว่าเรื่องราวของความรุนแรงต่อพลเรือนเกิดมาจากการมีวัฒนธรรมความรุนแรงของมวลชนเอง ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ที่จดบันทึกเหตุการณ์ และผู้กำหนดนโยบายจึงศึกษาเรื่องเหล่านี้ในแง่ของบทเรียนจากสงครามหรือเหตุการณ์เหล่านั้น

ในวันนั้นการศึกษาทางรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง เริ่มพิจารณาว่าสิ่งที่เราเคยมองว่ามันเป็น “ความไม่มีเหตุผล” (irrationality) ของการใช้ความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะกับพลเรือนนั้นกลายเป็นเรื่องของ “ความมุ่งหมายจงใจ” (intentionality) หรือมันมีเหตุผลตรรกะบางอย่างที่ต้องการบรรลุให้ได้ (rationality) ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของความถูกต้อง ดีงาม หรือชอบธรรม หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ความรุนแรงที่มีต่อพลเรือนนั้นกลายเป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายหรือตัดสินใจบางอย่างของผู้นำหรือชนชั้นนำ ไม่ใช่แค่เรื่องของความไร้เหตุผลหรือความบ้าคลั่งของมวลชน ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเกิดจากการที่ควบคุมไม่ได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องเข้าใจด้วยว่าการอ้างการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของหน่วยงานความมั่นคงเอง ที่อ้างว่าเพราะกลัวว่าสถานการณ์นั้นเลยเถิดไป ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยว่าปล่อยให้สถานการณ์ในช่วงนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และจริงไหมที่ไม่สามารถยับยั้งเหตุการณ์เหล่านั้นได้ หรือรอให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจนตนนั้นได้ประโยชน์จากการไม่ทำอะไรในช่วงนั้นมาทำอะไรในช่วงถัดมาแทน เหมือนกับที่เราเรียกง่ายๆ ว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในการกระทำโดยไม่กระทำอะไรที่ควรจะทำ หรืออ้างว่าไม่มีอำนาจ ทั้งที่ตนเองก็มีอำนาจและหน้าที่ที่ต้องทำ

ในหลายกรณีศึกษาในโลกนี้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องของสงครามกลางเมืองในรูปแบบของความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ที่อ้างกันหรือมองจากภาพใหญ่ว่าเป็นเรื่องของพลเรือนทั้งสองฝ่ายใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันจนเกิดการนองเลือดนั้น เมื่อมองเข้าไปใกล้ขึ้นกลับพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในเหตุการณ์นั้นไม่ใช่พลเรือนหยิบอาวุธมาจัดการกัน แต่เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับตำรวจและทหารบางกลุ่มบางพวกหรือบางคน เช่นมีกองกำลังบางอย่างเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่ามีอาวุธและความสูญเสียอะไร แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าแต่ละฝ่ายนั้นมีกลุ่มพวกใดของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง

แต่ก็ไม่ใช่จะมองเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งในการใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ ตราบเท่าที่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความสูญเสียที่เกิดกับพลเรือนที่ไม่ได้จับอาวุธ และก็ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อในความหมายดั้งเดิม คือไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่พวกเขาเป็น “เป้าหมาย” หนึ่งที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการกระทำทางการเมืองต่างๆ เกิดได้

กล่าวย้ำอีกครั้งก็คือ เราต้องไม่อธิบายแค่ว่าพลเรือนที่สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้นเป็นเหยื่อ ที่ผู้ศึกษาความรุนแรงทางการเมืองจดบันทึกเพื่อดูแค่ว่ามันมีความรุนแรงแค่ไหน แต่ต้องพิจารณาให้ลึกไปว่า พลเรือนที่สูญเสียนั้นเป็นเป้าหมายหรือถูกปล่อยให้เป็นเป้าหมาย ของการกระทำทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างจงใจและถูกวางแผนมาในระดับหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองบางอย่างด้วย และสิ่งนี้จะทำให้เรามีมุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของความรุนแรงทางการเมืองในฐานะส่วนหนึ่งของการกระทำทางการเมืองที่จงใจ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงทางการเมืองในวันนี้ทำให้พลเรือนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุถึง ไม่ใช่แค่ผลพลอยได้ หรือสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดแต่ต้องรับมันให้ได้ เหมือนกับที่เราเคยมองในอดีตว่าเวลาเขารบกันนั้นเขามุ่งหมายที่จะรบกันโดยผู้ที่ถูกฝึกซ้อมมาอย่างดี และพลเรือนที่สูญเสียนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่จงใจ

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าความรุนแรงทางการเมืองโดยเฉพาะที่มีเป้าหมาย หรือที่สร้างผลกระทบต่อพลเรือนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำบางกลุ่มบางพวกจงใจให้เกิดขึ้น แต่ต้องมองว่าผู้นำบางกลุ่มบางพวกก็จงใจที่จะปล่อยให้เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยยังไม่เข้าไประงับยับยั้งอย่างเต็มความสามารถ เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์แก่กลุ่มตนเช่นกัน เช่นจะทำให้เกิดแรงสนับสนุนหรือการเรียกร้องให้เข้าแทรกแซงสถานการณ์

ในทางทฤษฎีนั้น ในสังคมที่ประชาธิปไตยยังทำงานไม่เต็มที่ ชนชั้นนำในสังคมดังกล่าวมีแรงจูงใจที่จะอ้างอิงหรือหยิบฉวยเอาเชื้อชาตินิยมและชาตินิยมมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประชาชนในแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรุนแรงทางการเมืองได้ง่าย เพราะเชื้อชาตินิยมและชาตินิยมมีมิติบางด้านที่สนับสนุนการอ้างอิงถึงอำนาจประชาชน โดยเฉพาะเมื่อประชาธิปไตยทำงานไม่เต็มที่ เราจะพบว่าชนชั้นนำจะอ้างว่าตนนั้นทำตามข้อเรียกร้องและผลประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบจากประชาชนและมวลชนของเขา

ดังนั้น ใครก็ตามที่อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ขาดกลไกที่จะตรวจสอบ หรือไม่สามารถตอบคำถามทุกฝ่ายได้ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนละครับว่า นำเอาชาติบ้านเมืองและความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มมาใช้โดยรับผิดชอบต่อประชาชนในแบบที่ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบจริงแท้แค่ไหน และใช้หรือปล่อยให้ความรุนแรงทางการเมืองมันเกิดขึ้นอย่างไรและบรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้แค่ไหน

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าความรุนแรงทางการเมืองไม่ใช่แค่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นความจงใจในการสร้างขึ้น หรือปล่อยให้เกิดขึ้นมา เราต้องพิจารณาต่อไปว่าคนที่ทำให้เกิดขึ้นหรือปล่อยให้เกิดขึ้นนั้น เขารอดจากการถูกจัดการได้อย่างไร งานศึกษาทางรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่ารอดไปได้ เพราะยังอยู่ในอำนาจและใช้อำนาจในการกดคนที่เห็นต่างเอาไว้ หรือมีพวกที่ร่วมกันใช้กำลังปกครองด้วย บางส่วนก็มองว่ารอดไปได้เพราะควบคุมข้อมูลข่าวสาร (รวมทั้งสร้างพันธมิตรและเครือข่ายกับสื่อ) เอาไว้

กล่าวโดยสรุปในการศึกษาความรุนแรงทางการเมืองโดยเฉพาะในการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความสูญเสียของพลเรือนนั้น นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลความสูญเสีย และเข้าใจความรุนแรงในฐานะความมุ่งหมายจงใจของผู้มีส่วนทางการเมืองแล้ว จะต้องทำการประเมินในระยะยาวด้วยว่า เงื่อนไขและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่อ้างว่ามีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นนั้น ในระยะยาวแล้วมันส่งผลทางการเมืองจริงๆ แค่ไหน และใครบรรลุผลจากการทำให้มันเกิดขึ้น หรือปล่อยให้มันเกิดขึ้นบ้างครับ

 

 

หมายเหตุ: บางส่วนมาจาก Benjamin Valentino. 2014. “Why We Kill: The Political Science of Political Violence against Civilians”. Annual Review of Political Science. Vol. 17: 89-103.


เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน

ที่มา:  มติชนออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net