Skip to main content
sharethis

ชาวนาในเวียดนามแถบน้ำโขงกำลังประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มเข้าที่นา ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์เอลนีโนเท่านั้นที่ทำให้เกิดปัญหานี้ นโยบายการทำนาเก่าแก่ของพรรคคอมมิวนิสต์และการสร้างเขื่อนก็มีส่วนเช่นกัน อีกทั้งปัญหาจากการขาดแคลนสารที่มีประโยชน์ในดินเพราะถูกเขื่อนกักไว้อาจจะทำให้พื้นที่น้ำโขงกลายเป็นแดนรกร้างได้ในยุคต่อไป

สื่อนิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาในเวียดนามที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งและปัญหาจากนโยบายรัฐ โดยยกตัวอย่างที่นาของลัมทิลอย ที่ใจกลางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปกติแล้วพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์แต่ในตอนนี้ที่นาของลัมทิลอยประสบปัญหาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องปั๊มน้ำเค็มเข้าผืนนาของตัวเองหรือไม่ก็ปล่อยให้ที่นาแห้งเหี่ยวตายไป

จากที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกข้าว ลัมทิลอยและชาวนาคนอื่นๆ ในพื้นที่กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกันจากภาวะภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดตลอด 90 ปีที่ผ่านมา จนถึงขั้นเห็นดินแห้งแตกระแหง ต้นข้าวร่วงตายคานา แห้งแล้งในระดับที่ศัตรูพืชยังอยู่ไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าความแห้งแล้งเช่นนี้เป็นผลมาจากผลกระทบที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของปรากฏการณ์เอลนีโน ที่เป็นปรากฏการณ์ความร้อนสูงจนมีฝนตกน้อยลงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นิวยอร์กไทมก็ระบุว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ใช่แค่สาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้คนประสบปัญหา

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าสาเหตุของปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสั่งให้ชาวนาต้องปลูกข้าวให้ได้ผลผลิต 3 ครั้งต่อปี แทนการปลูก 1-2 ครั้ง แบบดั้งเดิม การปลูกข้าวสามครั้งต่อปีทำให้ดินขาดแร่ธาตุและทำให้ผลกระทบจากภัยแล้งเลวร้ายลงกว่าเดิม ทั้งนี้น้ำจากทะเลยังแทรกเข้ามาสู่แม่น้ำโขงที่ตื้นกว่าเดิมทำให้พัดพาน้ำเค็มเข้าไปในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้นและน้ำเค็มเหล่านี้ก็เข้าไปสู่พื้นที่นาของเกษตรกรด้วย

รัฐบาลเวียดนามกล่าวว่าใน 13 จังหวัดแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่มีประชากร 17 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรเวียดนามกำลังประสบปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่การเกษตร และจากรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาก็ระบุว่ามีครอบครัว 200,000 หลังคาเรือนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงและตัวเลขผู้ประสบปัญหาก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เหงียนฮืวเทียน ที่ปรึกษาสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ประเทศเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากไทย แต่จากปัญหาวิกฤติในตอนนี้รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนแนวทางจากการเน้นปลูกข้าวให้กลายมาเป็นการส่งเสริมการทำฟาร์มกุ้งแทนซึ่งจะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าและเป็นการชดเชยที่ให้ผลในทางปฏิบัติ

ทิโมธี กอร์แมน นักวิจัยเรื่องสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลเปิดเผยว่า นโยบายการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิต 3 ครั้งต่อปีเป็นนโยบายที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยหลังคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเวียดนามใหม่ๆ ผู้คนอดอยากหิวโหยและประเทศก็ปิดตัวเองจากโลกภายนอกรวมถึงไม่มีภาคส่วนการผลิตของตัวเอง ทำให้รัฐบาลเวียดนามขับเคลื่อนใช้คนให้สร้างเขื่อนตามคลองขนาดใหญ่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพื่อสกัดน้ำเค็มและทำให้สามารถปลูกข้าวได้ดีขึ้น มีการสร้างประตูระบายน้ำจำนวนมากในช่วงยุคราว 20 ปีที่แล้วจนกระทั่งในปี 2544 ชาวนาบางคนก็ทนความพยายามปิดกั้นน้ำเค็มไม่ไหวพากันไปทำลายประตูระบายน้ำทำให้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันในฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ถึงแม้ว่าคนทำฟาร์มกุ้งกุลาดำจะสามารถได้รายได้ชดเชยจากการไม่ต้องปลูกข้าว แต่พวกเขาก็ถูกกีดกันไม่ให้เปลี่ยนจากวิถีชีวิตเดิมจากการปลูกข้าวไปสู่การทำฟาร์มกุ้ง หนึ่งในสิ่งที่กีดกันพวกเขาคือโครงการเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อนจากมณฑลในภาคใต้ของจีน เรื่องนี้ทำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกรายงานการวิจัยปี 2553 เตือนไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในลาวและกัมพูชาซึ่งจะสกัดเอาสารตะกอนที่มีประโยชน์ไม่ให้ไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางการเวียดนามเปิดเผยว่ารัฐบาลจีนยอมปล่อยน้ำจากเขื่อนในมณฑลยูนนานซึ่งเป็นไม่กี่ครั้งที่จีนยอมฟังเวียดนามแต่กระแสน้ำก็น้อยเกินไปจนทำให้ไม่สามารถฟื้นฟูพืชนาได้

นิวยอร์กไทม์รายงานว่าปัญหานี้ยังทำให้ชาวบ้านไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นแต่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นก็พยายามปิดเงียบในเรื่องภัยแล้งนี้ ชาวบ้านที่ประสบปัญหาจึงได้แต่ทนทุกข์ เมื่อพวกเขาพยายามปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พวกเขากลับไปรับค่าชดเชยจำนวนหนึ่งแต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหา ชาวบ้านถูกทำให้รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีสิทธิต่อรองอะไรเพราะพวกเจ้าหน้าที่มักจะกล่าวหาว่าชาวนาไม่มีความรู้ แต่ตัวชาวบ้านเองบอกว่าพวกเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ระบบการส่งเสริมการทำนา 3 ครั้งต่อปีก็มีทีท่าล้มเหลว หนึ่งในชาวนาที่ให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์ระบุว่าพอนาข้าวของเขาพังเพราะน้ำเค็มเยอะเกิดไปในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เขาก็ล้มเลิกความตั้งใจจะปลูกครั้งที่ 3 มีชาวนาบางคนหนีออกจากไร่นาไปหางานทำในนครโฮจิมินซิตี้ทำให้เหลือประชากรอยู่ในหมู่บ้านเพียงครึ่งเดียว

เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังพอทำการเกษตรได้ก็เปิดเผยต่อนิวยอร์กไทม์ว่าผลกระทบจากเขื่อนจะส่งผลต่อผืนดินของพวกเขาในระยะยาวเนื่องจากน้ำเค็มและการขาดสารที่จำเป็นในดินจะทำให้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงล่มสลายกลายเป็นพื้นที่รกร้างภายในอีก 100 ปีข้างหน้า


เรียบเรียงจาก

Drought and ‘Rice First’ Policy Imperil Vietnamese Farmers, The New york Times, 28-05-2016
http://www.nytimes.com/2016/05/29/world/asia/drought-and-rice-first-policy-imperil-vietnamese-farmers.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net