หญิงวัยรุ่นเนปาลถ่ายภาพสิ่งห้ามแตะต้องช่วงมีเมนส์ ชวนถกข้อห้ามชุมชน

ในพื้นที่ชนบทของเนปาลยังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนของผู้หญิง ทำให้เกิดการกีดกันที่ส่งผลถึงปัญหาสุขภาวะและทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา แต่ก็มีผู้หญิงวัยรุ่น 7 คน จากจังหวัดสินธุลี ตอบโต้กลับด้วยการถ่ายภาพสิ่งที่พวกเธอถูกห้ามไม่ให้แตะต้องในช่วงที่มีประจำเดือน


พวกเธอถ่ายสิ่งต้องห้ามขณะมีประจำเดือน (จากซ้ายไปขวา/บนลงล่าง) พวกเธอถูกห้ามดื่มนมวัว, ตัดเล็บ, ร่วมกิจกรรมชุมชน, ห้ามมองพระอาทิตย์ตรงๆ และต้องชำระร่างกายและแผ่นอนามัยในที่ลับตาคน
ที่มาภาพ WaterAid 

30 พ.ค. 2559 ในจังหวัดสินธุลีห่างจากกรุงกาฐมาณฑุลงไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ 130 กม. โครงการของหน่วยงานการกุศลวอเทอร์เอด (WaterAid) สนับสนุนโครงการให้ผู้หญิงวัยรุ่นทำการถ่ายภาพสิ่งต้องห้ามสำหรับพวกเธอในช่วงที่พวกเธอมีประจำเดือนเพื่อเป็นการท้าทายข้อห้ามในชุมชนและส่งเสริมสุขอนามัยสตรี มีการนำเสนอเรื่องนี้ผ่านสื่ออย่างดิอินดิเพนเดนต์เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาในโอกาสวันสุขอนามัยประจำเดือนนานาชาติ

เนปาลมีความเชื่อว่าผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่ "ไม่บริสุทธิ์" หรือ "แปดเปื้อน" จึงมีการแยกผู้หญิงจากครอบครัวในช่วงนั้น มีการห้ามมองพระอาทิตย์ ห้ามแตะต้องผลไม้หรือดอกไม้ หรือแม้กระทั่งห้ามอยู่ที่บ้านตัวเอง หนึ่งในข้อห้ามนี้มาจากประเพณี "เชาปาดี" (Chhaupadi) ที่นิยมในหมู่ชุมชนชาวฮินดูในตะวันตกของเนปาลที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเป็นเวลา 6-10 วัน คนที่เพิ่งคลอดลูกก็อาจจะถูกห้ามในแบบเดียวกันเป็นเวลา 10 วันด้วย

เรื่องนี้มาจากความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่บริสุทธิ์และอาจจะทำให้เกิดโชคร้ายหรือความเจ็บป่วย ทำให้ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้กินเนื้อ นม ผลไม้ และผัก เพราะกลัวว่าประจำเดือนจะทำให้ผลผลิตแย่ลง ทำให้ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนกินได้แต่ข้าว เกลือ และอาหารแห้งเท่านั้น เรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการศึกษา สุขภาวะทางกายและใจ รวมถึงบทบาทในชุมชนของผู้หญิงด้วย ถึงแม้ว่าประเพณี "เชาปาดี" จะถูกสั่งห้ามจากศาลสูงสุดของเนปาลในปี 2548 แต่ก็ยังคงมีชุมชนในชนบทยังคงปฏิบัติตามประเพณีเหล่านี้อยู่

มานิชา หญิงวัยรุ่นอายุ 14 ปีที่เข้าร่วมโครงการเล่าว่าเธอต้องไปอยู่กับบ้านคนอื่นในช่วงที่มีประจำเดือนครั้งแรก เธอถูกห้ามไม่ให้ไปโรงเรียนและแม้กระทั่งถูกห้ามอ่านหนังสือ เธอมองว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดที่ห้ามคนเรียนหนังสือในช่วงมีประจำเดือน ในเนปาลมีจำนวนผู้หญิงที่ไม่รู้หนังสือมากถึงร้อยละ 58

หญิงวัยรุ่นที่เข้าร่วมโครงการต่างก็ไม่เคยแตะกล้องมาก่อน แต่พวกเธอก็ได้รับโอกาสให้สามารถแสดงผลงานภาพถ่ายของเธอต่อชุมชนได้เพื่อให้เพื่อนและครอบครัวของพวกเธอร่วมกันหารือเกี่ยวกับข้อห้ามเรื่องประจำเดือน

บาร์บารา ฟรอสต์ ผู้บริหารสูงสุดของวอเทอร์เอดกล่าวว่า ความเงียบและการตีตราเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้หญิง นอกจากนี้การที่ไม่มีห้องน้ำส่วนตัวในโรงเรียนทำให้ผู้หญิงมักจะโดดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือบางคนก็ออกจากโรงเรียนไปเลยเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

ฟรอสต์กล่าวอีกว่า "ความสามารถในการจัดการกับประจำเดือนอย่างถูกสุขลักษณะและมีศักดิ์ศรีได้เป็นสิ่งสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิง มันทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเธอสามารถมีบทบาทอย่างเต็มที่ในสังคมได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม"

หญิงวัยรุ่นที่เข้าร่วมโครงการถ่ายภาพต่างๆ ตั้งแต่ กระจก หวี ในฐานะสิ่งของที่ถูกห้ามใช้เวลาที่มีประจำเดือน ภาพของแสงอาทิตย์ ภาพครอบครัว ภาพผลไม้อย่างมะละกอ ภาพห้องน้ำโรงเรียนที่มีคนต่อแถวยาวเหยียดเพราะโรงเรียนห้องน้ำน้อยเกินไปจนไม่พอใช้ ภาพสถานที่ส่วนตัวที่พวกเธอใช้ชำระล้างผ้าอนามัยเนื่องจากถูกห้ามไม่ให้ชำระล้างในที่ๆ คนเห็น ภาพของคนที่ต้องเก็บหญ้าและฟืนเพื่อสะท้อนประสบการณ์สิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ตอนมีประจำเดือนครั้งแรก

ซุชมา ดิยาลี อายุ 15 ปี บรรยายถึงรูปกระจกกับหวีของเธอว่า หวีกับกระจกสำหรับเธอเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำตัวเองให้สะอาดและมีสุขภาพดี เธอหวังว่าเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีประจำเดือนเหมือนเธอจะสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกจำกัดเพียงเพราะมีประจำเดือน ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากกว่านี้ และสามารถเป็นอิสระออกสำรวจหาโอกาสและศักยภาพที่ดีขึ้นรอบตัวพวกเธอได้

 

 

เรียบเรียงจาก

Nepalese girls take photos of all the things they can't touch during their periods due to menstrual taboos, The Independent, 28-05-2016
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/nepalese-girls-take-photos-of-all-the-things-they-cant-touch-during-their-periods-due-to-menstrual-a7052266.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท