Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ข้อเขียนนี้ ผมเขียนขึ้นมาครั้งแรกในปี 2012 เป็นการสะท้อนย้อนคิดประสบการณ์ของตนเองวัยเด็กแบบหนึ่ง  ประสบการณ์เช่นนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสังคมที่ยอมรับลำดับชั้นทางสังคมและระบบอำนาจนิยมแบบทหารเป็นสำคัญ  ข่าวอนุบาลคอสเพลย์ชุดทหาร ที่ จ.ขอนแก่น ที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนนี้อีกครั้ง  การเผยแพร่ครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นการช่วยให้เกิดการทบทวนถึงระบบอำนาจนิยมในเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากการรัฐประหาร


ที่มาภาพ: Bright TV ซึมซับแต่เด็ก! เด็กอนุบาลแต่งชุดทหารมาเรียนสร้างวินัยรักชาติ

1.

วันเด็กเคยทำให้ผมรู้สึกภูมิใจ...

ความภูมิใจของผมเกิดขึ้นราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในการแข่งขัน “เก็บขยะ”  การแข่งขันนี้มีที่มาจากครูในโรงเรียนเล็งเห็นว่าขยะจากงานวันเด็กมีเยอะจนล้นเกินภาระกิจของภารโรง ประกอบกับของบริจาควันเด็กประเภทปลากระป๋องก็เหลือมาก กลัวว่าหากเก็บไว้นานก็จะบูดหรือหมดอายุ  ดังนั้น เสียงประกาศการแข่งขันจึงดังขึ้นราวกับเป็นพิธีปิดฉาก “วันเด็ก” ในปีนั้น

แน่นอน ในฐานะคนเก็บขยะเก่งที่สุด ผมได้รับปลากระป๋องจำนวนมากและกลับบ้านในสภาพเนื้อตัวมอมแมม  ผมยังโฆษณากับแม่และยายเสียลั่นแบบลากเสียงยาวๆ ว่า “ได้ถ่ายภาพคู่กับครูใหญ่ด้วยยย…ครูที่โรงเรียนชมใหญ่เลยว่าหนูเป็นเด็กดี…”

วันเด็กทำให้ผมรู้สึกภูมิใจ


2.

1 ปีต่อมา งานวันเด็กถูกจัดอีกครั้ง กิจกรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา  บรรดาข้างต้มทรงเครื่องโรยแผ่นเต้าหู้ทอดจืดๆ ส้ม นมถุงและมันแกว ถูกยกมาให้กับผู้เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง  บนเวทีการแสดง เพื่อนๆ ของผมที่มีหน้าตาเข้าท่าเข้าทางหน่อยกำลังวาดลวดลายแสดงความสามารถต่างๆ เพื่อประกวดยุวชนดีเด่น  ขณะที่ในลานกว้างของโรงเรียน เด็กหลายคนที่รูปร่างออกกำยำล่ำสันกำลังแข่งขันชักคะเย่อ วิ่งกระสอบ เป่าแป้งหาเหรียญ และเกมส์อีกมากมายที่เรียกเสียงหัวเราะของผู้ใหญ่  จำได้ว่ามีเสียงประกาศดังตลอดงานว่าผู้ชนะเลิศและรองทั้งสองอันดับในแต่ละเกมส์เท่านั้นจะมีสิทธิไป “ลอง” นั่งเก้าอี้ของนายอำเภอ รองนายอำเภอ และครูใหญ่ ตามลำดับ

ผมก็ไม่ทราบว่ายุวชนดีเด่นกับเก้าอี้พวกนี้มีแรงดึงดูดกับเด็กอย่างไร  แต่เห็นสีหน้าและอาการเชียร์ของบรรดาพ่อและแม่ของเด็กแล้วก็ตกใจ เพราะแทบทุกคนหากไม่ตะแบงเสียงเชียร์สุดฤทธิ์ก็ทำการติวเข้มลูกช่วงก่อนขึ้นเวทีประกวดกันอย่างเต็มที่  อดนึกไม่ได้ว่าตำแหน่งยุวชนดีเด่นกับเก้าอีนั่นคงเป็นของดีจริงๆ  ไม่งั้น พวกผู้ใหญ่คงไม่เคี่ยวเข็ญเราขนาดนั้น

วันเด็กปีเดียวกันนี้ ผมตั้งใจว่าจะไม่เล่นอะไรที่เป็นเด็กๆ อีกต่อไป  ความรู้สึก “ห้าวและห่าม” เริ่มเกิดขึ้น มันผลักดันให้ผมไปเดินเบียดเสียดเยียดยัดกับเด็กในวัยเดียวกันเพื่อจะลองนั่งรถถังและจับปืนกลกับพี่ๆ ทหารดูสักครั้งให้ชื่นใจ  อ้อ...ลืมบอกไป วันนั้นผมแต่งตัวชุดทหารลายพรางไปเสียเต็มยศ แถมยังพกหนังสติ๊กยิงนกไว้ที่เอวเป็นมั่นเหมาะพร้อมกระสุนดินเหนียวอีกหนึ่งถุง  พ่อกับแม่ของผมพากันหัวเราะเสียยกใหญ่ เนื่องจากชุดที่ผมใส่มันไม่เข้ากับอาวุธที่มี  “มันต้องมีปืนลูก...วันหลังพ่อจะพาไปซื้อปืนกลที่ตลาดนัด...” พ่อบอกอย่างนั้น

เรื่องปืนกับหนังสติ๊กเป็นความทรงจำที่ชัดเจนมากสำหรับผม  เพราะหลังจากกลับมาที่บ้านแล้ว  ผมยังคงใส่ชุดทหาร “เดินลาดตระเวน” (จริงๆ คือเดินเล่น) อยู่แถวๆ ถนนหน้าบ้านซึ่งขนาบไปด้วยทุ่งนาขนาดใหญ่  ทุกๆ เย็นถนนลูกรังแห่งนี้มักเต็มไปด้วยฝูงควายจำนวนมากที่ถูกต้อนเข้าคอก  ภาพของเด็กวัยรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังต้อนควายกลับบ้านจึงเป็นเรื่องคุ้นตาสำหรับบ้านเรา  ผมคิดว่าเด็กพวกนี้ “เท่” ดี เพราะสีผมของพวกเค้าออกแดงๆ แถมยังไม่เกรียนสั้นเหมือนนักเรียนประถม  บางครั้งผมก็รู้สึก “ทึ่ง” ยามเห็นพวกเค้าสามารถขุดหาสัตว์ตามคันนาจำพวก แย้ ปู กบ และงู สำหรับนำมาประกอบอาหารเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อแม่หรือไปหาซื้อตามตลาด

แต่แม่มักบอกผมทุกครั้งว่า เด็กพวกนี้เกเร ไม่อยากให้ผมไปเล่นด้วย บางครั้งก็บอกว่าเด็กพวกนี้น่าสงสาร ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำงานตากแดดจนผมแดง ตัวดำ

การเดินลาดตระเวนวันนั้นมีเรื่องผิดสังเกตและน่าผิดหวังนิดหน่อย  ผมไม่เห็นฝูงควายเช่นเดิม มีเพียงกองขี้ทั้งสดและแห้งของมันปรากฏอยู่เกลื่อนถนน  ปกติในเวลานี้ ผมจะต้องเจอเด็กเลี้ยงควายกำลังต้อนควายกลับบ้าน  และเรามักทักทายพูดคุยกันอยู่เสมอ

หลังจากเดินไปเดินมาอยู่นาน ผมตัดสินใจเดินกลับบ้านเพราะเริ่มหิวข้าวและบรรยากาศก็เริ่มสลัวลงเรื่อยๆ  ทว่า ระหว่างทางผมเดินสวนกับเด็กเลี้ยงควายคนหนึ่ง เธอคนนี้คุ้นตามาก  เราอาจเคยเจอกันหลายครั้งและเคยทักทายกันอยู่ แต่ตอนนั้นแสงค่อนข้างน้อยผมจึงไม่ทราบทันทีว่าเธอชื่ออะไร

แปลก ท่าทางการเดินกระโผกกระเผกของเธอคล้ายพยายามจะวิ่งแต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมองไม่ค่อยเห็นทาง และถนนลูกรังก็ไม่ได้อ่อนนุ่มพอที่จะให้เท้าเปลือยเปล่าของเธอเดินได้อยากสะดวกสบาย  เมื่อเราเดินสวนกันใกล้ขึ้น  ผมสังเกตว่าเธอร้องไห้เสียจนตาบวมตุ่ย เสียงสะอึกสะอื้นของเธอยังคงดังเบาๆ  สายตาเราสบกันเพียงครู่เดียว แววตาเธอคล้ายมีเรื่องราวอยู่มากมาย

“อย่าหนีนะมึง...กูให้เฝ้าควายอยู่ดีๆ เสือกไปเที่ยวงานวันเด็ก  รู้ไหม ถ้าควายเค้าหายไป กูจะเอาที่ไหนมาใช้คืน...” เสียงตะคอกดังขึ้นจากข้างหลังเธอคนนี้ราวสิบกว่าเมตร  มันดังจนคนในละแวกนั้นเดินออกมาดูจนทั่ว

“กูบอกว่าอย่าวิ่ง...” ชายคนนั้นตะคอกซ้ำอีกครั้งเมื่อเห็นเธอเคลื่อนไหวเร็วขึ้น  จากนั้น เขาได้ง้างหนังสติ๊กขึ้นมายิงไปที่บริเวณขาเธอคนนั้นอย่างถนัดถนี่สองถึงสามครั้ง  เสียงร้องของเธอดังขึ้นแต่ไม่มีใครออกมาช่วยเหลือ  บรรดาไทยมุงในชนบทต่างรู้ดีว่าชายคนนี้คือพ่อของเธอ  ครอบครัวนี้มีฐานะที่ยากจนมาก ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง พวกเค้าต้องต้องรับจ้างเลี้ยงควายให้กับคนมีฐานะรายหนึ่งในหมู่บ้าน และบ่อยครั้งผู้เป็นพ่อต้องออกไปหางานรับจ้างอื่นๆ อีกสารพัด ปล่อยให้ลูกเฝ้าควายทั้งฝูงเพียงลำพัง

แน่นอน คนเห็นเหตุการณ์คงรู้สึกสลดใจ แต่ไม่มีใครไปช่วยเธอหรือทำการห้ามปรามเลยสักคน  โทษของเธอคงหนักเกินไป การหนีงานไปเที่ยวจนควายเกือบหายไปหลายตัวมันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับสังคมบ้านนา  บางคนเอ่ยปากพูดถึงความน่าเวทนาของเด็ก และบางคนบ่นพึมพำถึงอนาคตที่ตีบตัน มืดมน ของเด็กเลี้ยงควายผู้ไม่มีการศึกษา พร้อมกับสั่งสอนลูกๆ ให้ขยันเรียนเพื่อที่จะได้ไม่ลำบากตอนโต  โดยอาศัยโศกนาฏกรรมที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นกรณีศึกษา

ใช่ ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ผมถูกแม่เรียกกลับเข้าบ้านทันที  แม่คงกลัวว่าผมจะถูกลูกหลงจากกระสุนดินเหนียวหรือท่านคงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งไม่ดีจึงไม่อยากให้เด็กเห็น  แต่ตอนนั้น “เลือด” ในร่างกายของผมมันสูบฉีดพร่านไปหมดแล้ว

“ทำไมวะ เด็กจะไปงานวันเด็กมันผิดตรงไหน ทำไมต้องยิงหนังสติ๊กใส่ด้วย...ทำไมไม่มีใครมาห้ามเลย พวกผู้ใหญ่ทำอะไรกันอยู่วะ” คำถามจำพวกนี้ถูกระดมเข้ามาในใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบอายุแล้ว ผมกับเธอไม่น่าจะห่างกันมากแต่เหตุใดเราจึงต่างกันเหลือเกิน

จากนั้น สำนึกประเภท “ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า” แบบที่เคยได้อ่านในนิยายจีนกำลังภายในและวิชาลูกเสือสำรองได้ทำให้ผมหยิบหนังสติ๊กคู่กายออกจากเอว บรรจงใส่กระสุนลงไป จากนั้นก็เล็งและยิงไปที่หัวของชายผู้นั่นเสียเต็มเหนี่ยวถึงสองนัดท่ามกลางความตกใจของไทยมุงทุกคน  และแน่นอน คู่ต่อสู้ของผมหันหลังกลับมาด้วยความโกรธ พร้อมกับปรี่เข้ามาหาผมอย่างรวดเร็วทำให้ผมต้องยิงสวนไปยิงนัดตรงบริเวณหน้าท้อง  ทว่า เมื่อเขาเข้ามาใกล้และจำได้ว่าผมเป็นใคร  เขากลับชะงักเท้าและหันหลังเดินกลับไปด้วยอาการโกรธเกรี้ยวกว่าเดิม

“นี่ถ้ามึงไม่ใช่ลูกครูหล่ะก็ เจอดีแน่ไอ้เด็กห่านี่...” เขาบ่นด้วยความหัวเสียส่วนผมก็วิ่งกลับบ้านด้วยความหัวใจพองโต

วันเด็กปีนี้ ผมรู้สึกว่าตนเองโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว...


3.

“นี่เราเป็นเด็กเกเรตั้งแต่เมื่อไหร่ เอาหนังสติ๊กไปยิงหัวเค้าจนแตกยังไม่ไปขอโทษเค้าอีก รู้มั้ยเค้าเป็นผู้ใหญ่”  ผมจำไม่ได้ว่าเสียงเกรี้ยวกราดนี้เป็นของพ่อหรือแม่ จำได้เพียงว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ผมถูกตีก้นไปจนนับไม่ถ้วน
“ก็เค้ายิงหนังสติ๊กใส่ลูกตัวเองทำไมเล่า  เห็นมั้ยหน่ะว่าเด็กคนนั้นมันเจ็บ มันก็แค่อยากไปเพราะมันไม่เคยไป” ผมเถียงกลับ  แต่เหตุผลจากเด็กอย่างผมไม่เป็นที่น่ารับฟังเท่าไรนัก  ผู้ใหญ่ที่บ้านบางคนบอกว่าผม “ดีแตก” บางคนก็บอกว่า โตขึ้นผมคงเกเรแน่นอน

“นี่นะ โตขึ้นหากมันมีปืน มันคงยิงเค้าแล้ว” เสียงญาติคนหนึ่งเอ่ยขึ้น  “อ้าว...บอกมาว่าตัวเองผิดมั้ยไปยิงเค้าแบบนั้น” เสียงญาติอีกคนสวนแทรกขึ้นมา

“ไม่ผิด” ผมยืนกรานหนักแน่นด้วยน้ำตาคลอเบ้า  ตอนนั้น ผมไม่เข้าใจเลยว่าตนผิดตรงไหน  การปกป้องคนอ่อนแอและถูกทำร้ายจะเป็นสิ่งที่ผิดได้ยังไง ทำไมผู้ใหญ่ไม่ช่วยเด็ก แต่กลับมาตีเด็กที่ช่วยเด็ก  แบบนี้มันถูกแล้วหรือไง...

“ช่างมันเถอะ ยังไงมันก็ยังเด็กอยู่ โตขึ้นมามันก็รู้เรื่องเองแหละ” ญาติผู้อาวุโสที่สุดคนหนึ่งพูดสรุปเรื่องราว  แต่ในใจผมกลับรู้สึกอึดอัดจนแทบระเบิดออกมา  ผมมีเรื่องอยากพูดอีกมากแต่ติดที่ไม่รู้จะเล่าออกมาอย่างไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ลุกขึ้นเดินและตะโกนดังลั่นเสียหลายครั้งเพื่อระบายอารมณ์แล้วไปนอนตรงมุมหนึ่งของบ้านจนกระทั่งเช้า

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมไปงานวันเด็ก...

หลายปีผ่านไป ผมก็เจริญรอยตามคำทำนายของผู้ใหญ่ในครั้งนั้นเกือบทุกเรื่องนับตั้งแต่การชกต่อย ทะเลาะวิวาท และการหนีเรียนไปเที่ยวตามประสา “วัยรุ่น”  ญาติๆ มักบ่นแบบเอือมระอากับแม่ผมอยู่เสมอถึงการคบเพื่อนของผม  เพราะแต่ละคนล้วนเหลือขอทั้งนั้น  แน่นอน ผมอาศัยผลการเรียนที่ดีอย่างสม่ำเสมอเป็นเกราะป้องกัน  ผมเริ่มเรียนรู้ “กติกา” ในโลกของผู้ใหญ่พร้อมๆ กับทำการต่อต้านอย่างเปิดเผย นับตั้งแต่ เจาะหู โกนผมเสียจนโล้น (ประท้วงไม่ให้นักเรียนไว้ผมยาว) ไม่ไปเรียนแต่อ่านหนังสือเองในบ้าน รวมไปถึงการ “ตั้งใจ”พลั้งมือชกผู้ใหญ่ในโรงเรียน  โทษฐานที่เขาคนนั้น “บังเอิญ” ลวนลามเด็กนักเรียน

ที่หนักสุดคือ การเกือบติดศูนย์ในวิชาศาสนาและจริยธรรมจนแทบไม่ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั้งที่สอบชิงทุนเรียนดีได้  เนื่องจากเขียนคำตอบแบบวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาการสอนแบบซ้ำซากและเน้นในด้านสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่จนเกินงาม
ประเด็นหลักของผมคือ ในโลกนี้ไม่มีผู้ใหญ่ในตำราหรอก หากมีแต่อำนาจที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กเพื่อให้พวกเค้ารู้สึกเป็น 

“ผู้ใหญ่”  วิชานี้สอนให้เราไม่รู้จักชีวิตจริง ไม่เคยสอนให้รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร  สอนเพียงกฎที่เราต้องเดินตาม ไม่ได้สอนให้เราเดินได้ด้วยตัวเอง  จำได้ชัดเจนว่า ตอนนั้นผมอ่านให้เพื่อนๆ ทุกคนฟังในห้องสอบหลังเขียนเสร็จ และเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย

“เราไม่ผิด” ผมนึกถึงอดีต


4.

ปี พ.ศ. 2554

ผมยืนเหม่อมองงานวันเด็กที่ถูกจัดในบริเวณสนามหญ้าของที่ทำงานอยู่นาน  ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าวันนี้คือวันเด็ก รู้เพียงว่าตนเองจะเข้ามาทำงานที่ค้างชาวบ้านเค้าไว้ในวันเสาร์

มันเป็นงานที่ปราศจากรถถัง ปืนกล หรือการจับเด็กมาประกวดเต้นแร้งเต้นกาให้ผู้ใหญ่ชื่นชม  ผมเห็นแม่เดินจูงมือลูกมาทำกิจกรรมระบายสีน้ำและเห็นพ่อกำลังสอนลูกชายพับเครื่องบินกระดาษกันอย่างสนุกสนาน และกิจกรรมหลายอย่างภายในงานราวกับเปิดโลกใบใหม่ให้ผมสัมผัส  ความรู้สึกว่าตนเป็น “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” เข้ามาเกาะกุมใจอย่างแน่นหนาและพาผมไปพบความกับความทรงจำเกี่ยวกับวันเด็กของตนเองทั้งที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน

แน่นอน แม้ผมจะบอกกับตนเองอยู่เสมอว่า “ไม่ผิด” แต่ก็เสียใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา  เพราะเมื่อย้อนเวลากลับไป เราทุกคนล้วนเป็นทั้งเหยื่อและผลผลิตของมุมอัปลักษณ์ในสังคมของเราเองทั้งนั้น  จะมีใครรู้ว่าหากเกิดกรณีชาวนายากจนคนหนึ่งทำร้ายลูกชายครู ผลลัพท์จะเป็นเช่นไร  จะมีใครรู้ว่าในสังคมชนบทที่ถูกมองว่าเรียบง่ายและเป็นสังคมพึ่งพาอาศัยกันกลับมีมายาคติเรื่องฐานะ สีผิว ระบบอาวุโส และการศึกษา นับไม่ถ้วน  ทั้งยังมีอาการไม่อยากยุ่งเรื่องของชาวบ้านปะปนอยู่ไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ เกือบทุกที่

สุดท้าย จะมีใครรู้ว่า แท้จริงแล้วเด็กก็มิใช่ผ้าขาวที่จะสามารถซักย้อมได้ตามใจ  หากเป็นโลกใบหนึ่งซึ่งไวต่อการเรียนรู้และต้องการคู่สนทนาเพื่อแบ่งปันจินตนาการต่อกัน

ผมยืนมองกิจกรรมวันเด็กตรงหน้าเสียนาน รู้สึกตัวอีกที่ก็พบว่าตนกำลังปาเครื่องบินกระดาษแข่งกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับตนในครั้งอดีตเสียแล้ว  เด็กหลายคนช่วยสอนวิธีการพับเครื่องบินแบบใหม่ๆ ให้มีทั้งแบบร่อนค้างกลางอากาศนาน และพุ่งได้ไกล  ที่น่าสนใจคือปลายหัวที่แหลมคมของเครื่องบินทุกลำถูกพับเก็บอย่างเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย

“พ่อหนู บอกว่าจะเล่นอะไรก็ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย” เด็กชายตัวอ้วนบอก...


5.

ผมเดินทางกลับบ้านตอนบ่ายและพักลงตรงหน้าทีวีด้วยความอิ่มเอมบางอย่างคล้ายว่าบางส่วนของชีวิตวัยเด็กได้กลับคืนมา  ทว่าเมื่อหน้าจอทีวีสว่าง สายตาผมจับจ้องไปที่การรายงานภาพวันเด็กของแต่ละช่องซ้ำไปซ้ำมา  ภาพของเด็กยื้อแย่งกันเล่นปืนกล ปีนป่ายรถถัง และถูกจับให้ไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้นตัวนี้ยังคงปรากฏขึ้นราวกับเป็นพิมพ์เขียวจากอดีต  ข่าวบางช่วงยังให้เวลาจำนวนมากกับการประกาศรางวัลยุวชนดีเด่นสาขาต่างๆ มากมาย  จากนั้นภาพก็ตัดมายังข่าวทำแท้งของวัยรุ่น ข่าวคดีความทางการเมือง ยุบพรรค ความรุนแรงในภาคใต้ ข่าวทุจริต คลิปฉาว ฯลฯ

ใจของผมเริ่มห่อเหี่ยวและกระหวัดนึกถึงอดีตของตนเองอีกครั้ง...

บางที สังคมโดยรวมของเรายังคงไม่เติบโตเป็น “ผู้ใหญ่” จริงๆ เลยสักครั้ง

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net