Skip to main content
sharethis
 
เร่งช่วยเหลือพนักงานหลังสั่งปิด รพ.เดชา
 
นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ลูกจ้าง รพ.เดชา จำนวน 60 ราย ยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกค้างจ่ายค่าจ้าง ทั้งหมด 160 คน ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2558 ถึง เมษายน 2559 รวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่ง กสร. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างภายใน 30 วัน หรือโดยเร็วที่สุด และหากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด กสร.ก็จะดำเนินการเป็นผู้แทนฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับนายจ้างได้สั่งเตรียมตำแหน่งงานรองรับลูกจ้าง รพ.เดชา
 
นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและเร่งด่วน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กลุ่มลูกจ้างของ รพ.เดชา จำนวน 179 คน ให้ดูแลด้านสวัสดิการตามข้อกฎหมาย หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนงาน ให้กรมการจัดหางาน เตรียมตำแหน่งรองรับ หรือหากต้องการเปลี่ยนอาชีพหรือประกอบอาชีพอิสระ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการด้วย และ 2.กลุ่มผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิกับ รพ.เดชา ประมาณ 40,000 คน ให้มีการเปลี่ยนโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงาน สำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ประกันตนสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน
 
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว่า ทาง สปส. เตรียมโอนย้ายผู้ประกันตน จาก รพ.เดชา ประมาณ 40,000 คน ไปยังรพ.ใกล้เคียงก่อน แต่หากผู้ประกันตนไม่พอใจหรือไม่สะดวก ก็สามารถยื่นขอเปลี่ยน รพ.ได้ภายหลัง อีกทั้งหากเจ็บป่วยและเข้ารักษาที่ รพ.อื่นในระหว่างนี้ก็ขอให้แจ้งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่หรือนำใบเสร็จค่ารักษามาเบิกกับ สปส.ภายหลังกสร.เตรียมออกหนังสือทวงค่าจ้างให้ลูกจ้าง รพ.เดชา
 
 
สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร
 
บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุดได้ เริ่มต้นการประชุมแล้ว โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ มี สุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า แก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ กทม. สามารถจัดงบประมาณเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของ กทม. ในการใช้จ่ายงบประมาณ
 
ทั้งนี้ ในการพิจารณาในวาระแรกไม่มีสมาชิก สนช. คนใดอภิปราย มีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเอกฉันท์ 164 : 0 เสียง และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญการปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาในรายละเอียดภายใน 30 วัน สามารถแปรญัติภายใน 7 วัน
 
 
ก.แรงงานปั้นแรงงานด้านโลจิสติกส์ การันตีจบแล้วได้งานทำ 100%
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานมอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจีสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้ง 51 คน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจไม่เพียงแต่ตัวผู้รับการอบรมเองแต่รวมถึงคนในชาติ เพราะได้ผลิตบุคลากรด้านโลจีสติกส์เพื่อรองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลให้ความสนใจ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานของทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน
 
นอกจากนี้ยังดูแลในเรื่องของการพัฒนากำลังคน การให้ความคุ้มครอง และการดูแลในเรื่องของสวัสดิการ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงด้วยหลักประกันสังคมอีกด้วย โดยกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การทดสอบมาตรฐานฝีมือเพื่อให้แรงงานได้รับอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ขณะนี้มีการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว จำนวน 35 สาขาอาชีพ และเร็วๆ นี้จะประกาศเพิ่มอีก 20 สาขาอาชีพ รวมเป็น 55 สาขาอาชีพ การลดความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงแรงงานที่มีฝีมือ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง Smart Job Center เพื่อเป็นช่องทางให้ นายจ้างและลูกจ้างได้งานและได้คนที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบประชารัฐ จัดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจีสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศขึ้น เพื่ออบรมบัณฑิตจบใหม่ รองรับสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และภายหลังเสร็จสิ้นโครงการผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้งานทำในธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรให้แก่ภาคเอกชนและเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
 
“โครงการนี้จัดมาตั้งแต่ปี 2542 และผลิตบุคลากรป้อนธุรกิจโลจีสติกส์ไปถึง 700 คน ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ และการผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและจะก้าวสู่การเป็นแรงงานใหม่ในตลาดแรงงาน สำหรับครั้งนี้เป็นบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2558 จำนวน 51 คน ซึ่งทั้งหมดมีงานรองรับเรียบร้อยแล้ว ในสถานประกอบการต่างๆ ตำแหน่ง SeaFreight, Import Operation, Assistant MD., Outbound CS, Export outbound, Marketing, Shipping โดยแต่ละตำแหน่งได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 14,500 – 25,000 บาท โครงการนี้เป็นโครงการที่รองรับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับ ซึ่งในอนาคตต้องไปศึกษาดูว่า Demand Supply ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ควรจะต้องผลิตบุคลากรด้านนี้จำนวนมากเท่าใด จึงจะมีความเหมาะสมกับระบบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” พลเอก ศิริชัย กล่าว
 
 
ประกาศราชกิจจาฯ อัตราค่าแรงรายวัน "20อาชีพช่างฝีมือ" ปี 2559 ชี้ช่างเจียระไนพลอย ได้สูงสุดอย่างน้อยวัน 550 บาทขึ้นไป
 
ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๘๐เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๐๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ ๕) ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ ๑๙ ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้กําหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม ๒๐ สาขาอาชีพ โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ความสามารถ  อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗๙ (๔) และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ 
 
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป 
ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “มาตรฐานฝีมือ” หมายความว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 
ข้อ ๓ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝมีือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับ ให้เป็นดังนี้ 
(๑) สาขาอาชีพพนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยหกสิบบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสามสิบบาท 
(๒) สาขาอาชีพพนักงานประกอบมอเตอร์สําหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยเจ็ดสิบบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสี่สิบห้าบาท 
(๓) สาขาอาชีพช่างเทคนิคบํารุงรักษาเครื่องจักรกลสําหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสิบบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเก้าสิบบาท 
(๔) สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๕) สาขาอาชีพช่างกลึงสําหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๖) สาขาอาชีพช่างเชื่อมมิก - แม็กสําหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๗) สาขาอาชีพช่างเทคนิคบํารุงรักษาเครื่องจักรกลสําหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๘) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติสําหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๙) สาขาอาชีพช่างเทคนิคพ่นสีตัวถังสําหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๑๐) สาขาอาชีพช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถังสําหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๑๑) สาขาอาชีพพนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๑๒) สาขาอาชีพช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถังสําหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยแปดสิบบาท 
(๑๓) สาขาอาชีพช่างเจียระไนพลอย ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยยี่สิบบาทและระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท 
(๑๔) สาขาอาชีพช่างหล่อเครื่องประดับ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยยี่สิบบาทและระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท 
(๑๕) สาขาอาชีพช่างตกแต่งเครื่องประดับ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยยี่สิบบาทและระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท 
(๑๖) สาขาอาชีพช่างฝังอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยยี่สิบบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบบาท 
(๑๗) สาขาอาชีพนักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสิบห้าบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท 
(๑๘) สาขาอาชีพผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน ๑๐ ตัน ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยหกสิบบาท และระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสามสิบบาท 
(๑๙) สาขาอาชีพผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยห้าสิบบาทและระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยยี่สิบบาท 
(๒๐) สาขาอาชีพผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ ๑ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสามร้อยสี่สิบบาทและระดับ ๒ เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยสิบบาท 
ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ตามข้อ ๓ (๑) ถึง (๒๐) คําว่า “วัน” หมายถึง เวลาทํางานปกติของลูกจ้าง 
ข้อ ๕ นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทํางานในตําแหน่งงานหรือลักษณะงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าจะครอบคลุมมาตรฐานฝีมือนั้นทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้น
ข้อ ๖ ภายใต้บังคับข้อ ๕ ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใดไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็วเมื่อนายจ้างได้รับหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราในประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้างนับแต่วันที่ได้หนังสือรับรองเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ 
ปลัดกระทรวงแรงงาน 
ประธานกรรมการค่าจ้าง
 
 
ก.แรงงาน นำเงินสงเคราะห์ช่วยลูกจ้างรพ.เดชา เผยยังค้างหนี้รพ.จุฬาฯ-ประกันสังคม 32 ล้าน
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีคำสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา เป็นเวลา 30 วัน
 
นพ.สุรเดช กล่าวว่า โรงพยาบาลเดชาเป็นคู่สัญญากับทางสำนักงานประกันสังคม โดยมีผู้ประกันตนจำนวน 40,027 ราย ที่ขึ้นทะเบียนเลือกโรงพยาบาลเดชา เป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งจากการที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกันตนนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเดชา 5 ราย และได้ประสานกับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รับตัวผู้ป่วยไปดูแลต่อเนื่องแล้ว และระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค. หากมีผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลเดชาเจ็บป่วยสามารถเข้ารักษาได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จากนั้นวันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมจัดโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลตำรวจ ให้กับผู้ประกันตนทั้ง 40,027 รายแล้ว โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ได้ที่เว็บสำนักงาน www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 หากผู้ประกันตนจะเปลี่ยนสถานพยาบาล ที่สำนักงานประกันสังคมสามารถยื่นขอเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน
 
ด้าน นายอนันต์ชัย กล่าวว่า กระทรวงฯมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างรพ.เดชา ทั้ง 206 คน ให้ได้รับค่าจ้าง ที่นายจ้างคงค้างไว้ เบื้องต้นได้เจรจากับนายจ้าง และขอให้นำหลักฐานการค้างจ่ายค่าจ้างมาชี้แจง แต่ขณะนี้ผู้บริหารรพ.เดชายังไม่รับนัดหมาย จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปด้วย ซึ่งสัปดาห์หน้าจะออกหนังสือคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง หากไม่ปฏิบัติตามภายใน 30 วัน กระทรวงฯก็จะแจ้งความดำเนินคดี และจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาล เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และระหว่างนี้กระทรวงฯจะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาช่วยเหลือลูกจ้างรพ.เดชา แต่ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 18,000 บาท ซึ่งเบื้องต้น ทราบว่ารพ.กำลังหาผู้ลงทุนรายใหม่ หากตกลงกันได้ ก็จะทำให้ลูกจ้างได้ค่าจ้าง
 
พร้อมกับ กรมการจัดหางานได้หาตำแหน่งงานว่างให้แก่ลูกจ้างรพ.เดชา โดยประสานงานกับภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีตำแหน่งงานว่าง เช่น งานธุรการ บัญชี รวมถึงตำแหน่งงานอื่นๆ ในโรงพยาบาล 2 แห่ง ที่แจ้งว่ารับบุคลากรทางการแพทย์ได้รวมกว่า 300 คนแล้วด้วย
 
ขณะที่ นายโกวิท กล่าวว่า ส่วนในกรณีที่ทางสำนักงานประกันสังคม และโรงพยาบาลเดชา ซึ่งเป็นคู่สัญญากัน ตั้งแต่ปี 2537 สำนักงานประกันสังคมจะ ต่อสัญญารพ.เดชา ปี 2559 หรือไม่ จะต้องพิจารณา ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานในการให้บริการทางแพทย์
 
ส่วนเรื่องสถานะทางการเงิน สปส. ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบรพ.เอกชน ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา ยกเว้นช่วงต้นปี 2559 ได้มีหนังสือจากรพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็นรพ.รับส่งต่อผู้ป่วยจากรพ.เดชา แจ้งทวงเงินค่ารักษามายัง สปส. เป็นเงิน 23 ล้านบาท และรพ.เดชา ยังติดค้างเงินสมทบ สปส. อีกกว่า 8 ล้านบาท รวมเป็นยอดหนี้ทั้งหมด 32 ล้านบาท หากโรงพยาบาลเดชาจะมาเป็นรพ.ในคู่สัญญากับประกันสังคมอีกนั้น จะต้องเข้ามาสมัครใหม่ เพื่อนำสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขั้นต้นต่อไป
 
 
ค้านเลิกจ่ายเบี้ยคนชรา แนะดึงงบ ทท. 1% มาดูแล หวั่นกลุ่มแรงงานไร้หลักประกันยามแก่
 
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีตส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนนโยบายการจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 600 บาทต่อเดือนใหม่ โดยจะยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท และเลือกจ่ายให้เฉพาะผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำ โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบัน คือบุคคลที่เคยทำงาน เป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ทำงานหนัก จ่ายค่าประกันสังคมและเสียภาษีให้กับประเทศนี้ ที่สำคัญยังเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรากฐานให้ประเทศในอดีต แต่วันนี้บุคคลที่ถูกเรียกว่า ผู้สูงอายุ กลับถูกมองเป็นภาระสังคม จากการที่กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนนโยบายการจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ เพียงเพราะรัฐบาลนี้ต้องการประหยัดงบประมาณแค่ปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งที่เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายปี 2559 ซึ่งคณะรัฐมนตรี เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท ถือเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของงบประมาณเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลควรหารายได้เพิ่มเติมหรือลดรายจ่ายในเรื่องไม่จำเป็นมากกว่า
 
“รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวในปี 2559 มีจำนวนกว่า 2.23 ล้านล้านบาท หากมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมบรรยากาศให้ประเทศมีความเป็นมิตร รายได้จากการท่องเที่ยวเพียง 1% ก็เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แต่หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว คนที่ทำงานเสียภาษีในปัจุบันนี้ ก็คงไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ในอนาคตเมื่อเขากลายเป็นผู้สูงอายุ รัฐบาลดูแลพวกเขา” นายพลภูมิ กล่าวและว่า ความไม่แน่นอนมีอยู่จริงในประเทศนี้ ทั้งที่ผ่านมาสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้โดยไม่มีปัญหาอะไร หรือเป็นเพราะว่าขณะนี้รายได้ของประเทศไม่พอกับรายจ่าย พูดง่ายๆ คือกำลังเข้าสู่ภาวะ ไม่มีจะกินนั่นเอง
 
 
ประมงมหาชัยสะเทือน พม่าลาออกกลับประเทศกว่า 50,000 คน
 
แรงงานชาวพม่าราว 50,000 คน ที่ทำงานในอุตสหากรรมประมงของไทย ได้ขอลาออก และเดินทางกลับประเทศ และเชื่อว่าจะมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากทำตามแบบเดียวกันนี้ในอีกไม่ช้าแรงงานต่างด้าว ที่รวมทั้งผู้ที่ถูกจ้างงาน และพักในไทยมาเป็นเวลาหลายปี ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับประเทศ และจะไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยอีก ตามการเปิดเผยของ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร
 
จ.สมุทรสาคร เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทย แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่มักได้รับการว่าจ้างทำงานเป็นคนงานในอุตสาหกรรมประมง และการแปรรูปอาหาร รวมทั้งเป็นแรงงานไร้ฝีมืออยู่ในภาคการก่อสร้าง และแม่บ้าน
 
นายกำจร กล่าวว่า แรงงานชาวพม่าจำนวนมากได้เริ่มหยุดทำงานจากเรือประมง ที่หลายลำต้องจอดทอดสมอเนื่องจากขาดใบอนุญาตประกอบการ หรือไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ ที่อาจละเมิดกฎระเบียบกรมประมง หรืออาจถูกกล่าวหาจากสหภาพยุโรปในการทำธุรกิจประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)
 
กฎระเบียบของกรมประมงยังเรียกร้องให้เรือประมงออกทะเลได้ไม่เกิน 220 วันต่อปี และที่เหลือ 145 วัน ให้พักบนฝั่ง
 
สหภาพยุโรปที่ซื้อสินค้าประมงจากไทยราว 500 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบว่า ไม่มีแรงงานต่างด้า วหรือแรงงานที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ถูกจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย และถูกละเมิดสิทธิบนเรือลากอวน และไม่มีเรือประมง หรือกัปตันเรือดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาต
 
นายกำจร ระบุว่า จากข้อหา IUU ที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เรือลากอวนจำนวนมากต้องหยุดทำงานเพื่อรอติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น และออกใบอนุญาต รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ทำให้ลูกเรือพม่าจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ และจะไม่กลับมาทำงานที่เพิ่งได้ลาออกไป
 
หัวหน้าสมาคมประมง กล่าวว่า อุตสาหกรรมประมงของ จ.สมุทรสาคร ทั้งในทะเล และบนบกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และคาดว่าจะมีแรงงานชาวพม่าอีกมากอาจลาออกจากงานใน จ.สมุทรสาคร หรือที่อื่นๆ ในไทย และเดินทางกลับบ้านตามแรงงาน 50,000 คน ที่เพิ่งลาออก
 
รัฐบาลใหม่ของพม่า กล่าวว่า จะดำเนินขั้นตอนในการส่งเสริมโครงการการลงทุนในภาคส่วนการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวของประเทศที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานพม่าที่ได้ออกเดินทางจากไทยไปจะต้องการมองหางานในพม่าแทน.
 
 
กรมสวัสดิการฯ แก้ระเบียบกู้กองทุนความปลอดภัยฯ เปิดช่องเจ้าของกิจการ
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการละคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ปัจจุบันมียอดเงินสะสมในกองทุนทั้งหมด 257 ล้านบาท โดยเงินดังกล่าวมาจากค่าปรับที่สถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย ซึ่งกองทุนนี้มีขึ้นเพื่อเปิดให้สถานประกอบการมายื่นเรื่องของกู้เพื่อไปปรับปรุงระบบความปลอดภัยในสถานประกอบการรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2554 มีสถานประกอบการกู้ได้แล้ว 3 ราย ซึ่งการที่มีผู้ประกอบการมากู้น้อยเป็นเพราะระเบียบการขอกู้กองทุนฯ มีความเข้มงวด ทำให้สถานประกอบการยื่นกู้และได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการมีจำนวนน้อย
 
น.ส.พรรณี กล่าวอีกว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงได้ให้กสร.ปรับปรุงระเบียบการกู้เงินกองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบการสามารถยื่นเงินกู้กองทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งล่าสุดมีสถานประกอบการมายื่นกู้เงินกองทุนฯ แล้ว 6 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุน และตั้งเป้าหมายในปีนี้จะปล่อยกู้เงินกองทุนฯ แก่สถานประกอบการให้ได้ 16 ราย เนื่องจากกระทรวงการคลังเร่งรัดให้ปล่อยกู้ให้กับสถานประกอบการเพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยในสถานประกอบการ อีกทั้งจะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการเพื่อให้มีการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
"การยื่นขอกู้นั้น ไม่ได้จำกัดจะต้องเป็นสถานประกอบการที่กสร.ตรวจสอบแล้วพบว่าการดำเนินการด้านความปลอดภัยไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น สถานประกอบการทั่วไปก็สามารถมายื่นขอกู้ได้ แต่ต้องเขียนโครงการดำเนินการให้ชัดเจน" น.ส.พรรณี กล่าว
 
 
สปส.ถกฝ่ายกม.ปรับเกณฑ์ประเมิน รพ.เอกชน
 
เลขาธิการสปส.เผยปัจจุบันมีรพ.เอกชนเป็นคู่สัญญาสปส. 80 แห่ง ภาพรวมมีปัญหาสถานะทางการเงินน้อยมาก ชี้รพ.เดชามีปัญหาหนักสุดที่เคยพบ ที่ผ่านมาเคยมีกรณีขายกิจการไปเลย สปส.เข้าไปประเมินและทำสัญญาใหม่ เตรียมหารือฝ่ายกฎหมายถกแก้เกณฑ์ประเมินสามารถเพิ่มการตรวจสอบสถานะทางการเงินรพ.ได้หรือไม่
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2559 นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้สปส.ควรตรวจสอบโรงพยาบาลก่อนทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญากับสปส.ทั้งหมด 80 แห่งโดยสปส.จะจัดคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานทางการแพทย์ลงไปตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลมีขนาด 100 เตียง, มีแพทย์ ครบ 12 สาขา และมีแพทย์ประจำสาขา 4 คน รวมทั้งต้องไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษาหรือมีปัญหาบริการทางการแพทย์เป็นประจำทุกปีก่อนทำสัญญา
 
เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลเอกชนนั้น สปส.ก็ได้สอบถามโรงพยาบาลเอกชนข้อมูลบ้าง แต่ไม่ได้ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเพราะสปส.เน้นพิจารณามาตรฐานการบริการทางการแพทย์ ขณะที่สถานะทางการเงินของโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องทางธุรกิจและเป็นเรื่องซับซ้อนจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงิน สปส.จึงไม่ได้เข้าไปตรวจสอบโดยละเอียด นอกจากนี้ จะลงไปตรวจสอบโรงพยาบาลคู่สัญญาเพิ่มเติมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือถูกผู้ประกันตนร้องเรียนมีปัญหาบริการทางการแพทย์
 
เลขาธิการสปส.กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญาของสปส. 80 แห่ง โดยภาพรวมมีโรงพยาบาลเอกชนน้อยแห่งที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน โรงพยาบาลเดชาถือเป็นกรณีที่มีปัญหาหนักที่สุด ที่ผ่านมาเคยมีแต่กรณีการขายกิจการหรือเทคโอเว่อร์โรงพยาบาลเอกชนและมีผู้ประกอบการรายใหม่มาบริหาร หากเกิดกรณีเช่นนี้หลังจากโรงพยาบาลเอกชนทำสัญญากับสปส.แล้ว โรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งต่อสปส. หากไม่แจ้งจะถูกริบเงินประกันสัญญา
 
ทั้งนี้ เมื่อแจ้งมาสปส.จะเข้าไปประเมินมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มาซื้อกิจการโรงพยาบาลเป็นใคร มีความพร้อมด้านสถานะการเงินและการให้บริการทางการแพทย์หรือไม่ รวมทั้งต้องทำสัญญากับสปส.ใหม่ด้วย และสปส.จะลดโควตาผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวลงจากเดิมบางกรณีเคยลดถึงครึ่งหนึ่งของโควตาเพื่อให้ปรับตัวและให้บริการผู้ประกันตนได้เต็มที่ ทั้งนี้ เร็วๆนี้ตนจะหารือกับฝ่ายกฎหมายของสปส.เพื่อสรุปปัญหากรณีโรงพยาบาลเดชา รวมทั้งจะพิจารณาทบทวนเกณฑ์ประเมินมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชนว่าควรจะแก้ไขเกณฑ์โดยเพิ่มการตรวจสอบสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลด้วยหรือไม่
 
“กรณีโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาของสปส.ที่มีปัญหาสถานะทางการเงินนั้นโรงพยาบาลเดชาถือเป็นกรณีที่มีปัญหาหนักที่สุด โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้เป็นคู่สัญญากับสปส.มาตั้งแต่ปี 2537 และโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่เคยถูกร้องเรียนด้านบริการทางการแพทย์ จึงได้ต่อสัญญา สปส.ทราบว่าโรงพยาบาลเดชามีปัญหาสถานะทางการเงินเมื่อต้นปี 2559 จากการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งโรงพยาบาลเดชาส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาได้มีหนังสือแจ้งทวงเงินค่ารักษา 23 ล้านบาทจากโรงพยาบาลเดชามายังสปส. รวมทั้งยังค้างจ่ายเงินสมทบสปส.อีกกว่า 8 ล้านบาทรวม 32 ล้านบาทซึ่งสปส.ก็ได้ผ่อนผันในการชำระหนี้ให้แก่โรงพยาบาลเดชา และได้ส่งทีมไปตรวจสอบ รวมทั้งเตรียมการย้ายผู้ประกันตนกว่า 4 หมื่นคนไปโรงพยาบาลรัฐ แต่โรงพยาบาลเดชาถูกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)สั่งปิดชั่วคราวก่อน ” นายโกวิท กล่าว
 
 
แจงยกเลิกเบี้ยผู้สูงอายุคนมีฐานะยังเป็นเพียงแนวคิด
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 59 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่กระทรวงการคลังกำลังทบทวนนโยบายการจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 600 บาทต่อเดือน โดยจะยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังคงเป็นเพียงแนวคิดที่จะต้องพิจารณาเหตุผลต่างๆ ก่อน ตนยังไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ คงต้องดูรายละเอียดและเหตุผลประกอบ แนวคิดดังกล่าวน่าจะพิจารณาทบทวนเฉพาะกรณีผู้ที่มีฐานะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สูงอายุบางรายไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2559 มีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 7.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ของผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 10 ล้านคนเศษ วงเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายไป 6.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ 2558 ที่เบิกจ่ายไป 6.1 หมื่นล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับเบี้ย ซึ่งคงเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะอยู่แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วน พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายและติดตามการดำเนินงาน
 
 
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมยกระดับความปลอดภัยในโรงงานป้องกันอัคคีภัย เนื่องจากมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดของโรงงานทั่วประเทศ
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯ ได้จัด ”โครงการส่งเสริมและการพัฒนาความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อส่งเสริมกำกับดูแลและพัฒนาแนวทางหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย รวมถึงการป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน โดยในปีนี้(59)ได้นำร่องร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน 41 โรงงาน ในพื้นที่ 14 จังหวัด อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี หนองคาย สุพรรณบุรี นครนายก และปัตตานี ซึ่งจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไฟฟ้าเข้าไปสำรวจตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลโรงงานด้านไฟฟ้าและอัคคีภัย พร้อมทั้งดำเนินการติดตามและให้คำปรึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัย โดยตั้งเป้าดำเนินโครงการให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านความปลอดภัยในโรงงานทั่วประเทศ คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล
 
ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานทั่วประเทศ 2 ปีย้อนหลัง โดยสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อัคคีภัย เคมีรั่วไหล และอันตรายจากเครื่องจักร ซึ่งกลุ่มโรงงานที่พบอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ โรงงานพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง โรงงานอาหาร โรงงานแปรรูปไม้ ส่วนพื้นที่จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ระยอง และสมุทรสาคร โดยสาเหตุหลักมาจากไฟฟ้าลัดวงจรภายในโรงงาน และเหตุจากการทำงานที่มีองค์ประกอบด้านความร้อนหรือประกายไฟ เช่น การเชื่อม การเจียร การตัด การเผา เป็นต้น
 
 
เชฟรอนเลิกจ้างพนักงาน 800 ตำแหน่งจากพิษราคาน้ำมันดิบตกต่ำต่อเนื่อง
 
รายงานข่าวแจ้งว่าบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายใหญ่ในอ่าวไทย ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างองค์กร เพื่อปรับตัวให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว หลังจากที่บริษัทได้รับผลกระทบจากสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ในแผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น บริษัทได้กำหนด เป้าหมายปรับลดบุคลากรอีกจำนวนร้อยละ 20 หรือประมาณ 800 ตำแหน่งทั่วทั้งองค์กร ซึ่งรวมถึงพนักงานเชฟรอน และพนักงานบริษัทผู้รับเหมาชาวไทย ที่มีจำนวนรวม 3,900 คน โดยแบ่งเป็นพนักงานประมาณ 2,200 คน และมีพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาประมาณ 1,700 คน จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ปรับลดพนักงานชาวต่างชาติไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 และปรับลดพนักงานบริษัทผู้รับเหมาที่เป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด
 
ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 นี้ เป็นต้นไป โดยในส่วนของการชดเชยผลกระทบให้กับพนักงานนั้น หากเป็นพนักงานที่มีอายุงานไม่เกิน 6 ปี บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้จำนวน 6 เดือนตามกฏหมาย และจ่ายพิเศษให้อีกตามจำนวนอายุงาน เช่นหากอยู่ 3 ปี ก็จะได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก 3 เดือน และบวกค่าตกใจอีก 2 เดือน รวมเป็นค่าชดเชยที่ได้รับ 11 เดือน อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าชดเชยที่เพิ่มให้พิเศษนั้นสำหรับพนักงานที่ทำงานมานานกว่า 12 ปี จะได้รับสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
 
 
พนง.ไพโอเนียร์บุกศาลากลางอยุธยายื่นหนังสือผู้ว่าฯ ร้องโรงงานเลือกปฎิบัติจ่ายค่า OT ไม่เท่ากัน
 
ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พนักงานโรงงานของบริษัท ไพโอเนียร์ เมนูเฟคเจอริ่ง ไทยแลนด์ จำกัด ผลิตเครื่องเสียงระดับโลก ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 300 คน เดินทางมาร่วมตัวเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างที่เลือกปฎิบัติ จนทำให้พนักงานเริ่มไม่มั่นใจในการทำงาน
 
โดยข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็น 4 ข้อ คือ 1.การจ่าย OT ของโรงงานที่ไม่เท่ากันของแต่ละแผนก คือ มีแผนกบางแผนกให้ 4.0 ชั่วโมง บางแผนกจ่าย 3.5 ชั่วโมง แต่เวลาการทำงานที่เท่ากัน คือ กะเช้าเวลา 07.00-19.10 น. กะดึกเวลา 19.00-07.10 น. ถือว่าไม่เป็นธรรม 2.ออกกฎระเบียบในสถานประกอบการให้พนักงานที่ทำงานอยู่ด้วยความลำบาก และอึดอัดใจ 3.มีเอกสารรายชื่อของพนักงานมาให้เซ็น แต่ไม่มีหัวข้อที่ชัดเจน และถ้าใครไม่เซ็นมีการเรียกคุยจากหัวหน้างาน 4.มีการข่มขู่จากผู้บริหาร (ในกลุ่มของผู้ที่มายื่นข้อเรียกร้อง)
 
ต่อมานายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.อ.รณวุธ เรืองสวัสดิ์ รอง ผอ.กอ.รมน. นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมพูดคุยกับพี่น้องแรงงานที่มารวมตัวกันในวันนี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและรับเรื่องทั้งหมดในวันนี้ โดยจะมีการเรียกผู้บริการ ผู้กระกอบการ ตัวแทนของพนักงานโรงงาน ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อเข้าไปหาข้อสรุปในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) แต่ทางพนักงานที่มาชุมนุมยังไม่พอใจ ที่ทางจังหวัดจะให้นัดประชุมกันในพรุ่งนี้ ซึ่งพนักงานอยากให้จบวันนี้เลยเพื่อความสบายใจ
 
นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวของพนักงานในครั้งนี้วว่า ไม่ได้มาเพื่อประท้วงแต่มาเพื่อใช้สิทธิ เมื่อเราใช้สิทธิต่อภาครัฐแล้วตามกระบวนการกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว มันไม่เกิดการแก้ไข เกิดกระบวนการล่าช้า ไม่ทันท่วงที เราก็จะมาร้องท่านผู้ว่า เพราะล่าสุดบริษัทเองรถรับส่งพนักงาน รับก็ไม่ถึงบริษัทจอดไว้ข้างทาง บัสคันไหนยากจอดตรงไหนก็จอดแล้วปล่อยพนักงานให้เดินเข้าไปทำงานเป็นขบวนยาวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พนักงานเลยเกิดความไม่มั่นใจว่าถ้ายังนั่งรถรับส่งไปทำงานอีก จะถูกกระทำอะไรบ้าง
 
"วันนี้ก็เลยมาตรงนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเย็นนี้คนที่ทำงานออกมาก็จะมารวมอีกส่วนหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับผู้ว่า ว่าท่านจะช่วยเหลืออย่างไร แท้จริงแล้วคนงานไม่ต้องการอะไรต้องการอยู่กันอย่างสันติแบบพี่แบบน้องมีปัญหาอะไรก็คุยกัน หนักนิดเบาหน่อยลดให้กัน พร้อมจะถอยถ้าเขาใช้หลักแรงงานสัมพันธ์พูดคุยกัน ต้องการให้ผู้ว่าช่วยในเรื่องการแทรกแซง การกดทับการละเมิดสิทธิคนงานในสถานที่ประกอบการ เพราะว่าระบบแรงงานสัมพันธ์ที่เราหวังให้เกิดมันเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งทางหัวหน้าสวัสดิการเองเข้าไปคุยตลอดแต่ด้วยมีกำแพงกั้น ทางฝ่ายบริหารยังไม่ยอมรับทางบริษัทยังไม่เปิดใจจะคุย เราจึงมาขอให้ผู้ว่าช่วย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้เราเชื่อว่าจะต้องมีคนตกงานอีกหลายร้อยคน เราไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น"
 
 
มติ ครม.สั่งข้าราชการ เดินทางดูงานภายในประเทศ-ต่างประเทศบินต่ำกว่า 9 ชม.จะต้องเดินทางสายการบินชั้นประหยัด
 
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ โดยกำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทั้งประเภทผู้บริหารระดับสูง และผู้ที่ดำรงตำแหน่งในระดับต้น ที่จะเดินทางภายในประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดจะต้องเดินทางโดยชั้นประหยัดเท่านั้น ขณะที่การเดินทางไปต่างประเทศ หากใช้เวลาเดินทางเกินกว่า 9 ชั่วโมง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อาทิ อธิบดี ผู้ว่าฯ เอกอัครราชทูต และรองปลัดกระทรวง ให้นั่งชั้นธุรกิจ แต่ถ้าเป็นผู้บริหารในระดับปลัดกระทรวง ให้นั่งชั้นเฟิร์สคลาสได้
 
 
เครือข่ายคนทำงานจี้ “ประกันสังคม” เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพเหมาะสมกับงาน
 
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบสุขภาพให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งใน พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับปัจจุบันได้กำหนดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไว้ในมาตรา 63 (2) แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งที่มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ และมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 มติ 6 เรี่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ คปค.จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 16 พ.ค. ส่งถึง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อขอให้มีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอันเนื่องมาจากการทำงานและไม่เนื่องจากงานสำหรับผู้ประกันตน โดยมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม 6 เรื่อง ดังนี้
 
1. กำหนดชุดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ประกันตนที่อยู่ในหลากหลายสาขาอาชีพ และบริบทของสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยใช้ประสบการณ์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
2. พัฒนารูปการให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งเนื่องมาจากงาน และไม่เนื่องจากงาน โดยขอให้มีรูปแบบทั้งการให้บริการโดยตรงจาก รพ. คู่สัญญา กับ สปส. ที่ผู้ประกันตนไปใช้บริการร่วมกับการรักษา และรูปแบบให้จัดตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่โดยเน้นมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐ
3. ให้มีการจัดสรรงบจากกองทุนทดแทนบางส่วนมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค
4. ควรมีกำหนดมาตรฐานการบริการทั้งในส่วนของโปรแกรมการตรวจคัดกรองให้สอดคล้องกับประเภทของงาน หรือสาขาอาชีพ เป็นต้น
5. ข้อมูลผลการตรวจสุขภาพ หรือ การคัดกรองสุขภาพ ต้องมีการชี้แจงและสะท้อนข้อมูลให้กับผู้ประกันตนทราบทุกครั้ง
และ 6. ควรให้การดำเนินงานเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการและชุดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนเสียโอกาส และสิทธิในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค
 
 
ภาคประชาชนค้านเลิก "เบี้ยคนชรา" รายได้ 9,000 บาท ชี้เป็นรัฐสวัสดิการ โบ้ยภาระงบเกิดจากบำนาญข้าราชการ
 
(17พ.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกบอด้วย เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงข่าวจี้รัฐแจงยกเลิกเบี้ยคนชรา ชี้รัฐไทยถอยหลังตกคลอง เพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าวของกระทรวงการคลัง โดย นางชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ กทม. กล่าวว่า ความจริงแล้วเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรยกระดับให้เป็นบำนาญพื้นฐานของทุกคน เป็นหลักประกันเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การจะยกเลิกเช่นนี้ โดยอ้างเรื่องเป็นภาระงบประมาณเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าประเทศไทยมีการจัดการบูรณาการระบบงบประมาณที่ดี สามารถจัดการได้แน่นอน แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยมีการจัดการงบประมาณแบบกระจัดกระจายและไปไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง และยังไล่บี้งบประมาณสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งปรัลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บังคับร่วมจ่ายในกรณีหลักประกันสุขภาพ จำกัดอัตราค่าแรงกรรมกร จำกัดเพดานงบด้านสวัสดิการประชาชน ละเลยการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน รัฐบาลต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้มองคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง และลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ประเทศไทยก็จะสงบสุข กินอิ่มนอนอุ่นกันถ้วนหน้า
 
น.ส.อุบล ร่มโพธิทอง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน ให้แก่ผู้ที่มีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท เพราะอย่างคนทำไร่ทำนา จริงอยู่ว่าจะได้เงินเกิน 9,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อหักต้นทุน หักค่าต่างๆ แล้ว รายได้จริงๆ อาจจะแค่หลักร้อยด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือจะรู้ได้อย่างไรว่าใครรวยหรือใครจน แม้บางคนที่มีที่ดินเป็นทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท แต่ก็เป็นแค่ราคาประเมินเท่านั้น ตนอยากให้รัฐบาลมองอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงประชาชนทั่วไปบ้าง เพราะมองว่านี่เป็นรัฐบาลข้าราชการ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วก็มองข้าราชการเป็นอันดับหนึ่ง ข้าราชการที่ได้เงินบำนาญไม่ถึง 9,000 บาท ก็เพิ่มให้ถึง เพราะถือเป็นฐานในการดำรงชีวิต แต่เบี้ยยังชีพ 600 บาท กลับไม่ใส่ใจ
 
น.ส.อุบล กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้รับลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป ตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท และยังจะต้องจ่ายประกันสังคมตามมาตรา 39 จำนวน 432 บาท ซึ่งรายได้ไม่พออยู่แล้ว แต่ญาติพี่น้องได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ซึ่งตนก็ร่วมอาศัยด้วยก็ต้องช่วยกัน ค่าใช้จ่ายรายวัน วงเงินที่ระบุว่า 9,000 บาทนั้น ไม่มีทางเพียงพอ ซึ่งแต่ละชุมชนนั้นรับรายหัวได้เลยว่าใครที่มีเงิน 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแม้จะได้ 9,000 บาทต่อเดือนก็ไม่เพียงพอ เพราะอย่างค่าแรงวันละ 300 บาท เดือนนึงน่าจะได้ 9,000 บาทต่อเดือน แต่ความจริงแล้วก็ได้ไม่ถึง เพราะหักวันหยุด หักค่าประกันสังคม ก็ได้แค่เดือนละ 7,200 บาทเท่านั้น
 
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศคือต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่รื้อสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่หลักคิดของรัฐบาลชุดนี้ยังคงวนเวียนอยู่แต่เรื่องการสงเคราะห์ ระบบอนาถา แล้วจะเป็นรัฐสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่ารัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องบำนาญปีละ 2 แสนล้านบาทนั้น ต้องชีแจงรายละเอียดให้ครบถ้วนว่าที่จริงแล้ว ภาระนั้นเกิดจากอะไร เพราะที่จริงแล้ว เงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นเงินบำนาญที่ให้ข้าราชการเพียง 6 แสนคน ส่วนอีก 60,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการอะไรจำนวนถึง 9 ล้านคน รมช.คลังต้องอธิบายข้อเท็จจริงนี้ การจะมาใช้วิธีคิดหาคนจนคนรวยจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าได้อย่างไร
 
นางหนูเกณ อินทจันทร์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนกังวลมาก ถ้าตัดจะเบี้ยยังชีพจะเอาเงินที่ไหนมาใช้เลี้ยงดูชีวิตประจำวัน ผู้สูงอายุบางคนมีลูก แต่ลูกก็ไม่ได้ให้เงินพ่อแม่ เพราะต้องเลี้ยงดูลูกหลาน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางเครือข่ายฯ มองว่าควรมีกรอบเงินเดือนเท่าไรที่ควรได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเบี้ยยังชีพควรเป็นรัฐสวัสดิการที่จัดให้ทุกคน เพื่อความเสมอภาค หากรัฐตั้งคำถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน เสนอว่าอยากให้ทบทวนวิธีการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ อาจเพิ่มการจัดเก็บภาษี vat จาก 7% เป็น 8% เพื่อจัดสวัสดิการทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และต้องมีการบริหารแบบใหม่ที่ไม่ใช่บริหารงบเพื่อโครงการใดโครงการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากใช้เกณฑ์เส้นยากจนที่จัดทำโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งประเมินทุก 2 ปี จะอยู่ประมาณไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
 
 
นักวิจัยเผยแรงงานเขมรยังถูกเก็บค่าหัวคิวสูง ชี้ไทยเสี่ยงเป็นตลาดค้าทาส แนะรัฐบาลในภูมิภาคจับมือกัน
 
ศ.มาลิสซ่า มาร์ชเก นักวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความสัมพันธ์ของมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยออตาวา ประเทศแคนาดา ที่ศึกษาด้านแรงงานประมงจากประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นลูกจ้างในเรือประมงไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมเรื่องปัญหาแรงงานทาสบนเรือประมงและแนวทางจัดการนโยบายประมง ว่า ตนได้ศึกษาเรื่องราวของแรงงานประมงชาวกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยพบว่าปีนี้มีแรงงานเข้ามาทำประมงนับหมื่นคน ส่วนมากเป็นพื้นที่ จังหวัดระยองและตราด โดยพบว่า แรงงานประมงส่วนมากไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำประมงที่มีคุณภาพ แต่แรงงานส่วนมากเข้ามาเพื่อจะหนีภัยเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการจ้างงานในประเทศกัมพูชานั้นมีค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า แรงงานส่วนมากจึงตัดสินใจทิ้งลูก-หลานให้อยู่กับคนชราที่บ้านเกิดแล้วเดินทางมาประเทศไทย แต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการส่งออกแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ ส่วนมากผ่านกระบวนการนายหน้า โดยยอมจ่ายเงินทำหนังสือเดินทางสูงถึงประมาณ 3,000-6,000 บาท ต่อการทำหนังสือเดินทาง1 ปี และมีค่าบริการอื่นๆ ที่นายหน้าเรียกเก็บอีกราว 10,000-30,000 บาท เมื่อเข้ามาในประเทศไทย ทุกคนมีคุณภาพชีวิตในการทำงานบนเรือประมง ซึ่งหาสัตว์ทะเลในน่านน้ำไทย นั้นไม่ได้ทุกข์ทรมานมากเหมือนแรงงานไทย และประเทศอื่นๆ ที่ถูกหลอกใช้แรงงานเพื่อทำประมงที่ประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นการทรมาน หรือการบังคับทำงานของลูกเรือประมงชาวกัมพูชาจึงไม่ได้โหดร้ายมากนัก แต่หนักตรงที่ต้องหาเงินใช้หนี้นายหน้า ศ.มาลิสซ่า กล่าวด้วยว่า แม้ปัญหาการทรมานจากการทำประมงไม่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานยังมีอยู่ อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างนายหน้าหางานและเจ้าของเรือ
 
โดยการการวิจัยปี2558พบว่า ลูกเรือกัมพูชาที่ไม่มีความรู้ภาษาไทยนั้นถูกหลอกทำสัญญาจ้างแบบมีพันธะ หมายความว่า เรือประมงบางลำมีการจ่ายเงินให้แรงงานที่ถูกต้อง แต่ครั้นแรงงานลากลับบ้านแบบปีละ2ครั้งก็ไม่อนุญาต หรือมีสัญญาจ้างแบบราย5-10ปี ศ.มาลิสซ่ากล่าวว่า แรงงานบางคนอยากกลับบ้านเกิดเร็วกว่านั้น แต่กลับไปลงนามสัญญากับนายจ้างและนายหน้าแล้วจึงกลับบ้านไม่ได้ จึงต้องพักอาศัยที่ริมฝั่งไทย และมีโอกาสเดินทางไปต่อหนังสือเดินทางกับนายหน้าเท่านั้นไม่ได้มีเวลาไปเยี่ยมครอบครัวหรือญาติจนกกว่าจะครบสัญญา ขณะที่บางคนต้องอดทนทำงานต่อเนื่องเพียงเพราะนายหน้ายึดหนังสือเดินทาง แรงงานจะต้องทำงานเพื่อชดใช้หนังสือเดิน ซึ่งในทางสิทธิมนุษยชนนั้นการกระทำแบบนี้ ถือว่าเป็นการใช้งานเกินกว่าเหตุ “ บางคนเล่าให้เราฟังว่า เขาต้องการกลับบ้านเพราะทำงานได้เงินพอแล้ว อยากไปทำไร่ ทำนา แต่ไม่มีโอกาส เพราะหลงทำสัญญาจ้างที่นาน ดังนั้นถ้าไทยและกัมพูชาไม่มีการจัดนโยบายด้านการจ้างงานร่วมกัน วันหนึ่งการหลั่งไหลของแรงงานกัมพูชามายังไทย จะมีมากขึ้น และโอกาสทำเงินของนายหน้าสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากไม่มีระบบจัดการนโยบายเรือประมงและระบบปราบปรามนายหน้า ที่มีเสถียรภาพพอประเทศไทยก็อาจเสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นแหล่งขายแรงงานทาสเหมือนอินโดนีเซีย ดังนั้นเมื่อพบปัญหาเบื้องต้นต้องรีบแก้ไข เพราะนโยบายประมงเป็นภาระของคนทั้งภูมิภาค ” ศ.มาลิสซ่า กล่าว
 
 
รมว.แรงงานสั่งทุกกรมดูแลใกล้ชิดพนักงานเชฟรอนและแรงงานเหมืองแร่ทองคำ
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้ทุกกรมในสังกัดติดตามสถานการณ์และดูแลแรงงานเหมืองแร่ทองคำอย่างใกล้ชิด กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมติร่วมกันให้ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ให้ยุติตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีลูกจ้าง 364 คน และมีผู้รับเหมาและบริษัทรับเหมาช่วงอี ก693 คน รวม 1,057 คน ทั้งนี้ ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการประสานกับบริษัทฯอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันลูกจ้างยังทำงานปกติ โดยพนักงานตรวจแรงงานได้เข้าไปชี้แจงข้อกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ พร้อมปฏิบัติตามในทุกกรณี รวมทั้งในส่วนของสำนักงานประกันสังคม พร้อมอำนวยความสะดวกในกรณีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงแรงงาน จัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยทุกกรม เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งระบบในทุกด้าน โดยเฉพาะการหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม การพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการของแต่ละคน ทั้งนี้ ให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาผลกระทบกรณีพนักงานของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อย่างใกล้ชิดตามที่บริษัทฯ มีแผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนของบริษัทด้วย
 
 
สหภาพแรงงาน ปตท. ร้องนายกฯปมปตท.ถูกกล่าวหาคืนทรัพย์สินไม่ครบ
 
น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตต. จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) เพื่อขอความเป็นธรรม โดยน.ส.อัปสร กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา และคำวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินต้องคืนให้แก่รัฐ ซึ่งฟ้องโดยมูลนิธิผู้บริโภค ที่ต่อมาได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนกระทรวงการคลังครบถ้วน โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 51 ระบุว่าทาง ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อบแล้ว แต่ยังคงมีการฟ้องร้องจากกลุ่มบุคคล และองค์กรอิสระอยู่หลายครั้ง โดยระหว่างที่รอศาลพิจารณาแต่ละครั้ง ผู้ฟ้องพยายามให้ข้อมูลต่อสาธารณะชนว่า ปตท. ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 59 ศาลได้มีคำสั่งไม่รับคำร้อง ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 51 แล้ว
 
น.ส.อัปสร กล่าวอีกว่า ต่อมาในวันที่ 10 พ.ค. ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ระบุว่า ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ทั้งๆที่ สตง. เคยทำหนังสือไปที่ ปตท. และเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 52 ที่ระบุว่าจะถือว่าคำวินิจฉัยของศาลฯเป็นที่ยุติ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ดังนั้นการที่กลุ่มบุคคล และองค์กรอิสระยังคงให้ความเห็นและให้ข่าวว่า ปตท. ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบ จึงเป็นเหตุให้ทางสหภาพแรงงานฯต้องขอความเป็นธรรมให้ ปตท. กับพนักงาน ที่มุ่งพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมบัติของชาติ
 
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกฯรับหนังสือ พร้อมทั้งระบุว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวให้นายกฯพิจารณาต่อไป
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net