Skip to main content
sharethis

17 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการและองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร โดยมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผศ.ดร.เมตตา กูนิง ดร.ฆายนีย์ ชอบุญพันธ์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกระมล รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ และพอลลีน ทวีดี้ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ ห้อง B103 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีสื่อมวลชน องค์กรประชาสังคม นักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาว่า มีความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีที่เกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาล กลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานีหรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชนได้รับรู้ความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นการครั้งแรกที่มีการร่วมงานขององค์กรทางวิชาการและองค์ประชาสังคม 15 หน่วยงาน และผ่านการมีส่วนร่วมกับหลายฝ่ายตั้งแต่การคิดโจทย์คำถามร่วมกันไปจนถึงลงสนามเก็บข้อมูลในพื้นที่ มีการสุ่มตัวอย่างโดยละเอียดลงลึกไปถึงระดับครัวเรือน โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม 2559 โดยมีกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่ดังกล่าว 1,559 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิงร้อยละ 55 เพศชายร้อยละ 45 และเป็นมุสลิมร้อยละ 76.2 และชาวพุทธร้อยละ 23.4

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้การพูดคุย/เจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ถึงร้อยละ 56.4 และระบุว่าไม่สนับสนุนเพียงร้อยละ 4

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่ารู้สึกเฉยๆ มากที่สุด คือ ร้อยละ 33 ในขณะที่ตอบว่าไม่มีความเชื่อมั่นร้อยละ 23.1 และมีความเชื่อมั่นร้อยละ 20.6  ส่วนภาพรวมของความพึงพอใจกับความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ กับความก้าวหน้า ร้อยละ 39.8 พอใจร้อยละ 22.2 และไม่พอใจ ร้อยละ 12.2

อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการพูดคุยว่ามีผลทำให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงร้อยละ 46.6

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่าประชาชนมีข้อกังวลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ในประเด็น 5 อันดับแรก คือ 1.กระบวนการพูดคุยไม่สามารถหยุดความรุนแรงได้จริงร้อยละ 61.8 2.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกันร้อยละ 60.9 3.สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 58.6 4.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รับฟังความต้องการของอีกฝ่ายอย่างจริงจังร้อยละ 54.8 และ 5.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกันร้อยละ 53.8 แต่ถึงจะมีข้อกังวลข้างต้น น่าสนใจว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 51 ที่มีความหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ากระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพในที่สุด

สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลและขบวนการต่อสู้ฯ ได้พูดคุยกันในขณะนี้มีผู้เลือกตอบในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่จำนวนมากที่สุดเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ

ในขณะที่ประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางบวกต่อการแก้ปัญหา ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 77.9) 2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน (ร้อยละ74) 3.การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเยียวยาให้มีความเป็นธรรม(ร้อยละ 62.2) 4.การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน (ร้อยละ59.1) 5.ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง (ร้อยละ 57.9)

ส่วนข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารปกครองนั้น การสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 61.7 เห็นว่าหากต้องการจะแก้ไขปัญหาและสร้างสันติภาพ/สันติสุขที่ยั่งยืน จำเป็นต้องพูดถึงรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยส่วนใหญ่อยากเห็นรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยร้อยละ 26.5 รองลงมาคือรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆของประเทศร้อยละ 22.2 ส่วนรูปแบบที่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่อยากได้ คือ รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ร้อยละ 25.1 และรูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย ร้อยละ 22.9

“พื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่กลางความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ต้องมาจากทุกฝ่าย การทำวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่กลาง นักวิชาการทุกปีกสถาบันทั้งในและนอกพื้นที่ ภาคประชาสังคม ทุกปีกความคิด” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

สำหรับ 15 สถาบันประกอบด้วย สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ มูลนิธิเอเชีย และ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net