FPIF : ซาดิค ข่าน คือชัยชนะของลอนดอนต่อความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล

 

13 พ.ค. 2559 บทความของจอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus หรือ FPIF ระบุว่าชัยชนะของซาดิค ข่านเป็นการทำให้การมีอยู่ของชาวมุสลิมในการเมืองอังกฤษ "เป็นเรื่องปกติ" แบบเดียวกับที่จอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยทำให้ชาวคริสต์นิกายคาทอลิคเป็นเรื่องปกติในการเมืองสหรัฐฯ แต่ชาวมุสลิมในสหรัฐฯ ก็ยังคงต้องรอคอยโอกาสให้เกิดอะไรแบบนี้บ้าง

ก่อนหน้านี้คู่แข่งของข่าน คือ แซ็ค โกล์ดสมิทธ์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีภาพลักษณ์ของคนหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาที่มีผลงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและผลงานด้านการส่งเสริมสิทธิกลุ่มชนพื้นเมืองซึ่งน่าจะดึงดูดคะแนนเสียงจากฝ่ายซ้ายได้ แต่ทีมของโกล์ดสมิทธ์กลับทำให้เกิดแรงต่อต้านสวนกลับหลังจากที่กล่าวหาว่าคู่แข่งของพวกเขาคือข่านเป็น "มุสลิมหัวรุนแรง" ถึงแม้ว่าจะเป็นโวหารที่ไม่ได้เลวร้ายเท่าการกีดกันชาวมุสลิมของพรรคการเมืองริพับลิกันของสหรัฐฯ แต่ก็ทำให้คนใกล้ชิดในพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษเริ่มเอาตัวออกห่างหรือบางส่วนก็ประณามว่าเป็นวิธีการที่ "เกินขอบเขต" มากไป และในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีลอนดอนล่าสุด โกล์ดสมิทธ์ก็แพ้อย่างหมดรูปทำให้ข่านกลายเป็นโฉมหน้าใหม่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในลอนดอน

เฟฟเฟอร์มองว่าสิ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์นี้คือการที่ความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลที่เหล่าที่ปรึกษาของโกล์ดสมิทธ์นำมาใช้โดยหวังว่าจะช่วยเรียกคะแนนทางการเมืองได้กลับไม่เป็นผลสำหรับการเลือกตั้งในลอนดอน ถึงแม้ว่าวิธีการปลุกความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลจะใช้เรียกคะแนนเสียงได้ผลสำหรับพรรคการเมืองฝ่ายขวาในประเทศอื่นๆ เช่นในฝรั่งเศส เยอรมนีและสวีเดน รวมถึงพรรค UKIP ในอังกฤษเองก็ได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นจากวิธีการเช่นนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมการเมืองในสหรัฐฯ แล้วเฟฟเฟอร์มองว่าชัยชนะของซาดิค ข่าน อาจจะทำให้เรื่องความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลน่ากังวลลดลงบ้าง แต่ในสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือชนพื้นเมืองรวมถึงไม่สนใจว่าจะล่วงเกินพวกเสรีนิยมหรือไม่ก็คงต้องมองให้ชัดกว่านี้ เฟฟเฟอร์ระบุว่าแนวคิดแบบต่อต้านอิสลามในสหรัฐฯ กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะองค์กรและบุคคลไม่กี่คนที่มีทุนหนา ถึงแม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลก็ยังจะไม่สูญหายไปพร้อมกับ "ดาราเรียลลิตี้โชว์ผู้น่าอับอาย" อย่างทรัมป์ด้วย

ข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

เฟฟเฟอร์ระบุถึงสถิติของผู้ลี้ภัยที่ได้ตั้งรกรากในสหรัฐฯ ทั้งหมดราว 800,000 คน นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา แต่มีจำนวนแค่ 5 คนเท่านั้นที่ถูกจับฐานก่อการร้ายคิดเป็นร้อยละ 0.000625 ถือว่าไม่มีความสำคัญทางสถิติเลย แต่ผลสำรวจจากสถาบันบรูกกิงก็เปิดเผยว่าในการประชุมที่พวกเขาจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยดุ๊กครั้งล่าสุดมีผู้ว่าการรัฐ 31 คนจากทั้งหมด 50 คนที่ประกาศว่าอยากปิดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้าประเทศ 30 คนที่ประกาศเช่นนี้มาจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าการสร้างความหวาดกลัวของคนอย่าง ทรัมป์ หรือ เบน คาร์สัน (หนึ่งในผู้สมัครชิงตัวแทนพรรครีพับลิกันที่เคยกล่าวว่าคนที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ควรนับถือศาสนาอิสลาม) แพร่กระจายพิษสงต่อพรรครีพับลิกันทั้งพรรค

เฟฟเฟอร์กล่าวว่าบรรยากาศความตื่นกลัวเกินกว่าเหตุและความหัวดื้อไม่มีเหตุผลก็โชยไปไกลกว่าความคิดหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลของคนบางคน คริสโตเฟอร์ เบล นักวิจัยจากดุ๊กยูนิเวอร์ซิตี้ที่เข้าร่วมประชุมด้วยเผยให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรัฐ 32 แห่งที่เสนอให้สั่งห้ามกฎหมายชะรีอะฮ์ มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการสร้างมัสยิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่า และจำนวนชาวอเมริกันที่มีความคิดเห็นในแง่ลบกับศาสนาอิสลามมีเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า

แต่บทความของเฟฟเฟอร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่ระบุว่ามีการพยายามเรียกร้องกฎหมายชะรีอะฮ์ในสหรัฐฯ มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอ้างกฎหมายชะรีอะฮ์ในการพิจารณาคดีแต่ก็ถูกศาลอุทธรณ์ยกเลิกคำตัดสินอย่างเป็นเหตุเป็นผล ขณะที่กลุ่มผู้เข้ามัสยิดก็แสดงออกว่าพวกเขาพยายามลดแนวคิดแบบหัวรุนแรงลงไม่ใช่ส่งเสริมให้เกิดแนวคิดแบบหัวรุนแรง ซึ่งมีการอ้างอิงเรื่องนี้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยดุ๊กเมื่อปี 2553 หรือการสำรวจจากสถาบันเพื่อนโยบายและความเข้าใจทางสังคม (ISPU) เมื่อไม่นานมานี้

"ถึงแม้ว่าแนวคิดต่อต้านชาวยิวจะถูกรังเกียจในสากลโลก แต่อารมณ์ต่อต้านอิสลามแพร่กระจายได้เพราะชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อมโยงศาสนานี้กับกลุ่มหัวรุนแรงจำนวนน้อยที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิมแทนที่จะนึกถึงอีกร้อยละ 99.9 ที่ไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมกลุ่มไอซิสหรืออัลกออิดะฮ์" เฟฟเฟอร์ตั้งข้อสังเกตในบทความ

บทความใน FPIF ยังอ้างทั้งงานวิจัย ISPU ที่ระบุว่าชาวมุสลิมในสหรัฐฯ ก็มีความคิดต่อต้าน "การตั้งเป้าหมายและสังหารพลเรือนโดยบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ" มากเท่าๆ กับกลุ่มศาสนาอื่นๆ แต่แสดงการต่อต้านแนวคิด "การตั้งเป้าหมายและสังหารพลเรือนโดยทหาร" มากกว่าศาสนาอื่นๆ

การที่ชาวอเมริกันมีความรู้พื้นฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชาวมุสลิมในอเมริกันน้อยมากไม่ใช่แค่เรื่องที่พวกเขาไม่ได้ติดต่อรู้จักกับชาวมุสลิมเป็นการส่วนตัวหรือแค่การขาดข้อมูลในหลักสูตรการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากเรื่องความมั่นคงที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาเองด้วย เฟฟเฟอร์ระบุว่ามีพวกนักเขียนบทความและนักกิจกรรมระดับย่อยๆ บางคนทำให้ความคิดจากการบิดเบือนของพวกเขากระจายไปสู่สื่อกระแสหลักจนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองได้

จากชายขอบสู่ใจกลาง

ไม่เพียงแต่ทรัมป์เท่านั้น แม้แต่นักการเมืองฝ่ายเดโมแครตอย่างฮิลลารี คลินตัน ก็อาจจะติดกับดักการเหมารวมคนด้วยศาสนาไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ในบทความของเฟฟเฟอร์อ้างถึงตอนที่คลินตันกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะอ้างถึงคนตัวเล็กๆ ทั้งหลายว่ามีส่วนในการทำให้เธอประสบความสำเร็จอย่างไรและจะเกิดความน่ากลัวอะไรบ้างถ้าอีกฝ่ายหนึ่งชนะ "พวกเขาจะเหมารวมและใส่ร้ายมุสลิมอเมริกันที่เกลียดการก่อการร้ายและทำงานหนัก" 

ถึงจะฟังดูดีแต่ในมุมมองของโอมิด ซาฟี หัวหน้าศูนย์อิสลามศึกษามหาวิทยาลัยดุ๊กแล้วคำกล่าวถึงมุสลิมอเมริกันของคลินตันยังมีปัญหา เพราะเหมือนกับเป็นการสื่อความหมายว่าชาวมุสลิมอเมริกันที่ดีต้องเป็นพวกที่เกลียดผู้ก่อการร้ายด้วยเท่านั้นไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย แต่ในกรณีการสังหารผู้คนด้วยน้ำมือของชาวคริสต์อย่างดิแลนน์ รูฟ กลับไม่มีแรงกดดันเรียกร้องให้ชาวคริสต์ต้องเกลียดเขาเลย

เฟฟเฟอร์ระบุว่าสำหรับคนอเมริกันแล้ว ชาวมุสลิมคือ "คนอื่น" เป็นกลุ่มคนที่ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเข้าใจอยู่เสมอว่าไม่ได้เป็นคนที่ชื่นชมการก่อการร้าย ในสภาพบรรยากาศเช่นนี้ในสหรัฐฯ ชาวมุสลิมมักจะถูกระแวงสงสัยอยู่เสมอ องค์กรชาวมุสลิมต้องออกมากล่าวประณามซ้ำๆ เวลาที่มีการก่อการร้ายใดๆ ก็ตามที่ถูกโยงเข้ากับชาวมุสลิมแต่สื่อกระแสหลักก็ไม่ได้สนใจการประณามของพวกเขาเลยจนทำให้เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อผิดๆ ที่กล่าวหาว่าชาวมุสลิมแอบเห็นด้วยกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะฮ์และไอซิสโดยอัตโนมัติ

เฟฟเฟอร์ระบุต่อไปว่าถึงแม้ชัยชนะเหนือผู้ที่ป้ายสีคนอื่นด้วยความหวาดกลัวอิสลามย่างไม่มีเหตุผลจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำลายความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล หรืออย่างน้อยก็ทำให้ความคิด-ความรู้สึกเช่นนี้ถูกจัดอยู่ในระดับเดียวกับการเหยียดเชื้อชาติและการต่อต้านชาวยิว แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายมากกว่านั้น

ซาฟีเสนอว่าเราไม่ควรต่อสู้กับความไม่อดกลั้นต่อความแตกต่าง (intolerance) ด้วยการเรียกร้องให้อดทนอดกลั้น (tolerance) คำๆ นี้มีที่มาจากเภสัชศาสตร์โบราณที่หมายถึง "ความอดทน" ต่อพิษในร่างกายของคน แต่ซาฟีบอกว่ามุสลิมไม่ใช่พิษ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันเหมือนกับชาวอเมริกันอื่นๆ พวกเขาสมควรได้รับความเคารพในความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ที่มีความแตกต่างในสังคม  

"ความแตกต่างทำให้สหรัฐฯ รุ่งเรือง คนที่ต้องงการให้มีวัฒนธรรมตามแบบแผนเดียวกันควรจะไปอยู่ในที่เช่นซาอุดิอาระเบีย" เฟฟเฟอร์ระบุในบทความ

บทความใน FPIF ระบุว่าชาวมุสลิมคือผู้ที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาเช่นเดียวกับศาสนานับถือพระเจ้าองค์เดียวศาสนาอื่นๆ และการสำรวจของ ISPU ก็แสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมอเมริกันมีความคิดอ่านแบบเดียวกับคนอเมริกันอื่นๆ คือเน้นเรื่องเศรษฐกิจ พวกเขาแสดงตัวว่าเป็นคนรักชาติอย่างมาก เป็นคนที่คิดว่าความเป็นอเมริกันเป็นส่วนสำคัญในตัวตนของพวกเขาเอง

บทความของเฟฟเฟอร์ย้อนกลับมาเปรียบเทียบปรากฏการณ์ซาดิก ข่าน กับการเมืองสหรัฐฯ โดยระบุว่าที่ผ่านมามีพวกเชื่อเรื่องสมคบคิด (conspiracy) ไม่ชอบบารัค โอบามา เพราะเชื่อว่าเขาเป็นมุสลิมมาโดยตลอด แต่นั้นก็เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ในฐานะประธานาธิบดีที่มีเชื้อสายคนผิวดำชัยชนะของโอบามาก็ไม่ได้ทำให้การเหยียดเชื้อชาติหมดลงโดยสิ้นเชิงแต่มันก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชุมชนคนผิวดำมีสถานะทางสังคมที่ดีขึ้นและเป็นการตอกฝาโลงให้กับการมองพวกเขาด้วยอคติ

เฟฟเฟอร์ระบุอย่างมีความหวังว่า "สักวันหนึ่งในอนาคตเมื่อความพิเรนทร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นความทรงจำในอดีตและแม้แต่การแสดงความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลแบบเบาๆ ของพวกนักการเมืองกระแสหลักก็จะถูกมองว่าคร่ำครึล้าสมัยแบบเดียวกับการพูดต่อต้านชาวยิวเป็นนัยๆ ดูสุภาพๆ แบบอเมริกายุคคริสตทศวรรษ 1950 คนที่ได้ตำแหน่งในห้องสำนักงานประธานาธิบดีของทำเนียบขาวจะประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นทั้งชาวอเมริกันและชาวมุสลิม"

"มันอาจจะมีทั้งเสียงเชียร์และเสียงโห่ แต่พวกเราก็จะได้เห็นว่ายุคสมัยของความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลได้ผ่านพ้นไปแล้วจนทำให้คนตอบโต้เรื่องพวกนี้ด้วยการหาวหรือยักไหล่ใส่" เฟฟเฟอร์กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก

Sadiq Khan and the End of Islamophobia, John Feffer, Foreign Policy In Focus, 11-05-2016

http://fpif.org/sadiq-khan-end-islamophobia/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท