เผยผลพบปะ 'ภาคประชาชน-กอ.รมน.ภาค 4' ตรวจสอบเรื่องซ้อมทรมาน

ภาคประชาชนพบปะ กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานจังหวัดชายแดนใต้เผยแพร่ปี 2557-2558 ระบุตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบแล้ว เห็นร่วมกันการทรมานเป็นข้อห้ามไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ๆ
 
 
15 พ.ค. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าได้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนคณะจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมด้วยตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการดำเนินการต่อเนื่องจากการเผยแพร่รายงานและการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมานที่เผยแพร่ปี 2559
 
ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ได้ให้ข้อมูลว่าการนำเสนอรายงานโดยระบุเพียงว่าเป็นการสัมภาษณ์จากบุคคลเพียงคนเดียวที่อ้างว่าถูกกระทำการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมนำมารวบรวมและรายงานต่อสาธารณะสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานทั้งในประเทศและในทางระหว่างประเทศ เป็นการกล่าวอ้างข้อมูลฝ่ายเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบอีกทั้งไม่มีการสอบถามจากพยานอื่น ๆ แต่อย่างใด อีกทั้งรายงานไม่ได้ระบุรายชื่อ สถานที่ วันเวลาที่อ้างอิง ทำให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนไม่สามารถติดตามดำเนินการได้ ในรายงานมีการบรรยายผลกระทบจากการทรมานทั้งทางด้านจิตใจต่อบุคคล ชุมชนและสังคม โดยทาง กอ.รมน.ได้รับเรื่องร้องเรียนเดือนมกราคม 2559 และกำลังดำเนินการตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบแต่รายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะไปเสียก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เกิดความเสียหายไปมากมาย
 
ทางคณะจัดทำรายงานได้ให้ข้อมูลว่า รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายตามวัตถุประสงค์ของ UN Voluntary Fund for Torture Victim ที่ให้ทุนในการทำงาน โดยเป็นการขอตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ.2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 21 ราย รวม 54 ราย วิธีการดำเนินการคือการสอบถามตามแบบสอบถาม Proxy Medical Evaluation เพื่อบันทึกผลกระทบจากการทรมานทางด้านร่างกายและจิตใจ ตามหลักการ Istanbul Protocol เนื่องจากการทรมานนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ปิดลับ เหตุร้องเรียนเกิดขึ้นระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น การควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และ ข้อจำกัดในการเข้าถึงบุคคลในสถานที่ควบคุมตัว ทั้งโดยญาติ บุคคลภายนอก หรือแพทย์ ทนายความ หน่วยงานที่เป็นอิสระ เป็นต้น
 
การพูดคุยได้ข้อสรุปว่า (1) การทรมานเป็นข้อห้ามไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ๆ (2) วัตถุประสงค์ของการเผยแพร่รายงานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการนำไปสู่การป้องกันและการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน (3) ประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายกรณีนั้นทาง กอ.รมน.รับข้อเสนอของคณะจัดทำรายงานฯว่าจะจัดตั้งคณะทำงานทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับหลักการสอบสวนสากลที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจสภาพจิตใจและความปลอดภัยของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย ทั้งนี้คณะจัดทำรายงานได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมของผู้เสียหายจำนวน 4 รายใน 54 ราย และอีกสองรายที่เกิดขึ้นใหม่ให้ทาง กอ.รมน.ที่รับผิดชอบตรวจสอบแล้ว (4) ทาง กอ.รมน.ภาค 4 มีมาตรการหลายด้านที่ทางหน่วยงานฯได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อการป้องกันการทรมานและขอความร่วมมือให้จัดส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อการตรวจสอบก่อนการเผยแพร่สาธารณะ (5) โดยมีการนัดพบเพื่อติดตามความก้าวหน้าต่อไปในวาระหน้า ซึ่งมีการมอบหมายเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนระหว่างกันเพื่อการประสานงานในกรณีมีเร่งด่วนด้วย โดยทางคณะจัดทำรายงานฯได้ขอให้ทางราชการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและผู้เสียหายที่ร้องเรียนเรื่องการทรมานด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท