กานดา นาคน้อย: เฟซไทยไม่ใช่เฟซอเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ฉันเริ่มคิดเรื่องปิดบัญชี”เฟซบุ๊ก”หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า”เฟซ”ตั้งแต่อ่านข่าวพบว่าเฟซเปิดสำนักงานที่ไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเฟซเป็นธุรกิจออฟชอร์ (offshore) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลไทย แต่เมื่อเฟซเปิดสำนักงานที่ไทยก็กลายเป็นธุรกิจออนชอร์ (onshore) ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลไทยเหมือนบริษัทข้ามชาติอื่นๆที่ลงทุนในไทย  เช่น  บริษัทโตโยต้าจากญี่ปุ่น รถยนต์โตโยต้าไทยไม่ใช่รถยนต์โตโยต้าญี่ปุ่นฉันใด เฟซไทยก็ไม่ใช่เฟซอเมริกันฉันนั้น แต่ตอนนั้นยังไม่มีอะไรที่พิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นว่า"เฟซไทยไม่ใช่เฟซอเมริกัน"  ถ้าฉันปิดเฟซและแนะนำให้มิตรสหายย้ายไปใช้”โซเชียลออฟชอร์”ตอนนั้นก็คงไม่มีใครเชื่อฉัน แต่ตอนนี้เฟซไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าจำเป็นต้องบล็อคบางเพจทั้งๆที่เฟซอเมริกันไม่บล็อค พิสูจน์แล้วว่า"เฟซไทยไม่ใช่เฟซอเมริกัน" ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจปิดเฟซและเปิดบัญชีที่”โซเชียลออฟชอร์”   

ปิดเฟซเพื่ออะไร?

ฉันอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯใช้เฟซที่สหรัฐฯก็เป็นกิจกรรมออนชอร์สำหรับรัฐบาลอเมริกันแต่เป็นออฟชอร์สำหรับรัฐบาลไทย เฟซฉันอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลอเมริกันไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลไทย ส่วนคนไทยที่สนทนากับฉันทางเฟซทำกิจกรรมออนชอร์สำหรับรัฐบาลไทย เขาอาจไม่เข้าใจว่า”เฟซไทยไม่ใช่เฟซอเมริกัน”และเข้าใจผิดว่าเขายังได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายที่ครอบคลุมเฟซอเมริกันเหมือนตอนยังไม่มีสำนักงานเฟซที่ไทย เมื่อฉันปิดเฟซจะทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ชัดเจนขึ้น  

นอกจากนี้การปิดเฟซเป็นการแสดงพลังผู้บริโภคให้เห็นว่าผู้บริโภคมีทางเลือกใช้บริการโซเชียลมีเดียชนิดอื่นได้ การหยุดบริโภคเพื่อแสดงพลังของผู้บริโภคเป็นวิธีการสามัญที่ใช้กดดันผู้ผลิตที่มีผลมากกว่าการเขียนจดหมายซึ่งไม่มีผลต่อกำไรและไม่มีผลทางกฎหมายเหมือนคำสั่งศาล กรณีที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือการนัดหยุดใช้บริการธนาคารแบงค์ออฟอเมริกาที่สหรัฐฯเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จุดประสงค์คือการต่อต้านการเก็บค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตเดือนละ 5 ดอลลาร์ ผู้บริโภคนัดกันย้ายเงินออกจากบัญชีไปที่สหกรณ์ออมทรัพย์จนธนาคารยินยอมยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ผู้บริโภคอเมริกันต่อต้านสำเร็จเพราะมีสถาบันการเงินทางเลือกที่ให้บริการทดแทนได้ และจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมนัดย้ายเงินออกจากบัญชีมากกว่า 5 แสนคน 

ในกรณีของเฟซบุ๊ก การปิดบัญชีโดยผู้ใช้ในไทยไม่น่าจะทำให้บริษัทเฟซบุ๊กถอนสำนักงานออกไปจากไทย เนื่องจากการเข้ามาเปิดสำนักงานในยุครัฐบาลทหารก็บ่งชี้แล้วว่าเฟซบุ๊กยอมรับการอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารเหมือนบริษัทข้ามชาติอื่นๆ อย่างมากก็อาจทำให้สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯออกมาอธิบายจุดยืนให้ชัดเจนว่านอกจากการบล็อคบางเพจแล้วให้ข้อมูลอะไรแก่รัฐบาลบ้าง จะได้ทำให้ผู้ใช้ที่ไทยเข้าใจขอบเขตเสรีภาพของตน เข้าใจแล้วจะใช้ต่อไปหรือจะปิดไปเลยก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่แรงกดดันที่จะทำให้สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯออกมาอธิบายนั้นต้องอาศัยการนัดปิดบัญชีของผู้ใช้บัญชีจำนวนมาก   

สิทธิปฎิเสธบริการเป็นสิทธิที่สำคัญยิ่งกว่าสิทธิใช้บริการ เพราะเป็นสิทธิที่คานอำนาจผูกขาดตลาด ผู้บริโภคจะปฎิเสธหรือไม่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล จะปฎิเสธชั่วคราวหรือปฎิเสธถาวรก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลเช่นกัน ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีลักษณะพิเศษคือเป็นผู้ผลิตด้วย  ผลผลิตคือ”ตัวตน”ที่แสดงออกด้วยความจริงบ้างเท็จบ้าง ยิ่งผลิตมากใช้เวลากับเฟซบุ๊กมากเฟซบุ๊กก็ได้ค่าโฆษณามาก  

การหารายได้ของเฟซบุ๊กจึงคล้ายการหารายได้โฆษณาของทีวี ในฐานะผู้ผลิตบทความฉันคิดว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางเข้าถึงผู้อ่านจำนวนมาก เฟซบุ๊กก็ได้รายได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับเนื้อหาที่ฉันนำไปกระจายผ่านทางเฟซบุ๊ก แต่ปัจจุบันฉันคิดว่า ”เงื่อนไขการแลกเปลี่ยน" ทำให้เฟซบุ๊กได้เปรียบมากเกินไป ดังนั้นฉันจะปิดเฟซบุ๊กอย่างถาวรวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 และจะซ้อมปิดเฟซชั่วคราวเป็นเวลา 3 วันในวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2559 ผู้อ่านที่อยากร่วมแสดงพลังของผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมได้    

โซเชียลออฟชอร์

มีโซเชียลทางเลือกหลายชนิด ฉันย้ายไปใช้”โซเชียลออฟชอร์” (ด้วยมุมมองจากไทย) ทื่ชื่อ”มายด์ส” (www.minds.com) ด้วยเหตุผลดังนี้

ก) สถานะออฟชอร์ทำให้”มายด์ส”ไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐไทย    เป็นเหตุผลเดียวกันที่เศรษฐีไทยเปิดบัญชีธนาคารออฟชอร์และจดทะเบียนบริษัทออฟชอร์เพื่อลดภาษี    ถ้าในอนาคต”มายด์ส”เปิดสำนักงานที่ไทยภายใต้รัฐบาลทหาร    ฉันก็จะปิดบัญชีที่”มายด์ส”เช่นกัน

ข) ”มายด์ส”มีส่วนแบ่งตลาดเล็กมาก ดังนั้น”มายด์ส” ก็ยินดีที่ได้ลูกค้าใหม่จากไทยด้วยหลักพันบัญชีต่อวัน  จะยินดีตอบสนองความต้องการและรับฟังข้อเสนอเพื่อปรับปรุงบริการ คล้ายเฟซในยุคแรกๆ

ค) ”มายด์ส”มีวิธีใช้หลายอย่างที่คล้ายเฟซ   ทำให้"ต้นทุนการย้าย" (switching cost) ต่ำ    ในขณะเดียวกันก็มีวิธีใช้บางอย่างต่างจากเฟซทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบได้ชัดเจน  

ง) ”มายด์ส”ไม่ตรวจสอบชื่อจริง     ผู้ใช้มีเสรีภาพจะแสดงตนว่าเป็นใครก็ได้ใน”มายด์ส”ตราบใดที่ไม่ปลอมตัวเป็นผู้อื่นที่มีตัวตนจริงๆ   และควรระลึกว่าบริษัทอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลว่าล็อกอินจากที่ไหนและเมื่อไร   

จ) ”มายด์ส”ไม่จำกัดจำนวนคำที่เขียนไม่เหมือน”ทวิตเตอร์”

ฉ) ”มายด์ส”เป็น”โซเชียลออนชอร์”ในมุมมองของรัฐบาลอเมริกัน    อยู่ภายใต้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิฉันเพราะฉันอยู่ที่สหรัฐฯ     ฉันไม่อยากใช้โซเชียลออฟชอร์นอกสหรัฐฯเพราะไม่มั่นใจในด้านการคุ้มครองสิทธิ

ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านวิธีเปิดบัญชี”มายด์ส”และวิธีใช้ได้ที่เว็บไซต์นี้  http://www.thaiorg.com/topic/16880158

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท