Skip to main content
sharethis

10 พ.ค. 2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลนำระบบจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภัณฑ์มาใช้กับส่วนราชการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2558 และเมื่อหน่วยงานภาครัฐดำเนินการครบทั้งหมดทุกแห่งสิ้นเดือนก.ย.  2558 พบว่า การจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านระบบ E-Bidding, E-Market , Price Performance ทำให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเกือบ 30,000 ล้านบาท เพราะป้องกันการฮั้วประมูลได้มากขึ้น และการประมูลทั้งโครงการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น  นายกรัฐมนตรีจึงกำชับให้ส่วนราชการใช้แนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เพราะช่วยประหยัดเงินงบประมาณ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมขยายระยะเวลามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 2559 โดยรัฐบาลชดเชยงบประมาณให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  รวมเป็นเงิน  2,258 ล้านบาท เพื่อลดภาระในช่วงค่าครองชีพแพง สำหรับบริการรถเมลล์ 800 คันต่อวัน จำนวน 73 เส้นทาง และใช้บริการรถไฟชั้น 3 บนขบวนรถเชิงพาณิชย์วิ่งต่างจังหวัด และรถไฟขบวนธรรมดาระยะใกล้ 152 ขบวนต่อวัน  และนายกรัฐมตรียังสั่งการให้เร่งศึกษาการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้ตรงกลุ่ม เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล
 

เห็นชอบยกเว้นภาษีโอนบ้าน-ที่ดินให้บุตรไม่เกิน 20 ล้าน 

พล.ต.สรรเสริญ ยังเปิดเผยด้วยว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบแก้ไขประมวลรัษฎากร ในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน จากบิดา มารดา โอนให้กับบุตร โดยไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีต่อคน โดยไม่ต้องเสียภาษี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 59 เป็นต้นไป สำหรับแก้กฎหมายในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ ซึ่งบังคับใช้ไปพร้อมกับภาษีมรดก ในปีที่ผ่านมา กำหนดให้การโอนเงินให้กับบุตรหลานไม่เกิน 20 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งระบุเฉพาะตัวเงิน แต่ไม่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านและที่ดิน จึงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เกิดความเป็นธรรม สำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคน เมื่อแบ่งอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรตามกฎหมายเฉลี่ยทุกคน ไม่เกิน 20 ล้านบาท มีความชัดเจนมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการ มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ของบริษัทต่างชาติ ซึ่งสนใจเข้ามาสร้างภาพยนต์ในประเทศไทย เพื่อหวังสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ทำการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับมาตรการคืนเงินให้กับบริษัทต่างชาติให้เหมาะสม เช่น การคืนเงินเมื่อเดินทางกลับ ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินลงทุน หรือหากภาพยนตร์เรื่องใดนำเงินมาใช้จ่ายตั้งแต่ 30 ล้านบาท ขึ้นไป จะได้รับสิทธิ คืนเงินในอัตราร้อยละ 15 และหากมีกระบวนการตัดต่อ ในประเทศให้ได้เพิ่มอีกร้อยละ 5 ขณะที่มาเลเซียให้คืนถึงร้อยละ 30 แต่ที่ประชุมมองว่า ไทยมีจุดเด่นหลายด้านทั้งทำเล แหล่งท่องเที่ยว จึงให้กระทรวงการคลังศึกษาให้ชัดเจน เพราะยังมีเงินจากกองทุนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน นำมาใช้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวได้
 
ขณะเดียวกัน เห็นชอบมาตรการภาษี ในการบริจาคกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการส่งเสริมการวิจัย ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการระดมทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 และเงินจากกองทุน กสทช.ตั้งแต่ปี 2553-59 และกองทุนด้านการกีฬา กองทุนพัฒนาครู และอีกหลายกองทุน รวมเป็นเงิน 230 ล้านบาท รัฐบาลจึงเห็นว่า มีกองทุนจำนวนมากเชิญชวนให้บุคคลธรรมดา บริจาคและลดหย่อนภาษี จึงได้อนุมัติร่างกฎหมายเชิญชวนให้เข้ามาบริจาค โดยยกเว้นเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์หักลดหย่อน กองทุนแต่ละประเภทจะได้รับการหักลดหย่อนแตกต่างกัน บุคคลธรรมดา มีทั้งหักลดหย่อยได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่า หรือหักลดหย่อนไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินรายได้พึงประเมิน ส่วนนิติบุคคลยกเว้นเงินได้เท่าที่บริจาคไม่เกิน 2 เท่า หรือรวมรายจ่ายและต้องไม่เกินร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ
 

ไฟเขียวนำเงินกองทุนอ้อยฯชดเชยชาวไร่ 160 บาทต่อตันอ้อย

นอกจากนี้ อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 160 บาทต่อตันอ้อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเฉพาะฤดูกาลผลิตปี 58/59 และนำจัดเก็บเงินจากส่วนต่างของราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกับราคาอ้อยขั้นต้น จำนวน 25 บาทต่อตัน เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพเงินของกองทุนอ้อยฯ
 
รวมทั้ง ครม.ยังเห็นชอบในหลักการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 5 ด้าน เช่น 1.การปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ครอบคลุมไปยังการผลิตเอทานอล และกฎหมายผังเมือง รองรับการตั้งโรงงานน้ำตาลและการผลิตเอทานอล และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์ส่ิงแวดล้อม  2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการส่งเสริมการปลูกด้วยแปลงขนาดใหญ่ โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ และการป้องกันปัญหาไฟไหม้ภายในช่วง 5 ปี และการนำของเสียจากการผลิตอ้อยไปใช้บำรุงดินในไร่อ้อย
 
3 การการกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อย และการกำหนดต้นทุนให้ได้มาตรฐาน เพื่อความเป็นธรรมและเพิ่มโอกาสเรียกเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 4.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้องส่งเสริมโรงงานน้ำตาล 52 แห่ง จัดทำแปลงโมเดลเกษตรสมัยใหม่ มีการเตรียมตั้งแต่การเตรียมดิน พันธุ์อ้อย การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว โดยกำชับให้กลับไปศึกษาแนวทางทั้งหมดให้ชัดเจน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net