มาแน่ กรธ.ส่งอาสาสมัคร เคาะประตูบ้านนั่งคุยแจงร่างรธน. ก.ค.นี้

9 พ.ค. 2559 ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของ กรธ.เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นฯ กำลังรอจากกระทรวงมหาดไทย 2 อย่างคือ 1. รายชื่อของ ครู ก. ระดับจังหวัด ๆ ละ 5 คน ซึ่งจะเข้าอบรมระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ค. นี้ คาดว่ากระทรวงมหาดไทยจะส่งรายชื่อมาภายในวันที่ 15 พ.ค. 2. ตารางการอบรมของวิทยากรระดับอำเภอ สภาองค์กรชุมชน หรือ ครู ข. ของอำเภอต่างๆใน 76 จังหวัด ซึ่งจะมีขึ้นหลังวันที่ 20 พ.ค. ทั้งนี้ เข้าใจว่าแต่ละจังหวัดกำลังรอความพร้อมของแต่ละอำเภอก่อนจะส่งรายละเอียดเข้ามา และเมื่อในส่วนของครู ข. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีตารางการอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือ ครู ค. ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ 10 – 30 มิ.ย. และเดือนต่อไปจะมีรายละเอียดการดำเนินงานของ ครู ค. ว่า ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ต่อประชาชนอย่างไรบ้าง สำหรับการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าการเคาะประตูบ้านในเดือนกรกฏาคมจะเป็นการสร้างความรับรู้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ กรธ.เผยแพร่โดยสื่อมวลชนและอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความรับรู้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี

“การเคาะประตูบ้าน เดินงานหมู่ใครหมู่มันก็น่าจะพอ และเราใช้สื่อในวงกว้างโฆษณาอยู่แล้ว ก็คงสร้างการรับรู้ได้มากขึ้นๆตามลำดับ เราคัดวิธีการที่ดีที่สุด เช่น เคาะประตูบ้านแล้วขึ้นไปนั่งคุยกัน แต่เวลามันอาจจะไม่มากพอ ถ้าจะไปขอให้มีเวลามากกว่านี้คงไม่ได้ แต่เราจะเคาะประตูบ้านรายครัวเรือน เป็นหลังๆ โดยผู้ที่เป็นอาสาสมัครจะแบ่งกันว่าใครเคาะบ้างหลังไหน” ชาติชาย กล่าว

มหาดไทยสั่งการทุกจังหวัดเตรียมหนุนประชามติ

ขณะที่วานนี้ (8 พ.ค.59) กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติในการออกเสียงประชามติที่ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้น เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม และได้รับความร่วมมืออันดีจากทุกฝ่าย กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัดถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ โดยให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง รวมทั้งขอความร่วมมือกลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในสังกัดทุกประเภท ทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินการออกเสียงประชามติให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และดำเนินการอื่นที่จำเป็นเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทุกระดับ วางตัวเป็นกลางในการออกเสียงประชามติอย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิบัติการใดๆ ในลักษณะชี้นำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไปลงคะแนนออกเสียงเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้หน่วยงานด้านสื่อต่างๆ ของรัฐทั้งสื่อวิทยุ และโทรทัศน์เผยแพร่ข่าวสารการออกเสียงประชามติอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนไปออกเสียงใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด

สำหรับบทบาทของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการออกเสียงประชามติ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
1. การให้ความร่วมมือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ การจัดอบรมวิทยากรซึ่งจะเป็นผู้ที่ลงไปขยายความรู้ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
2. การอำนวยความสะดวกให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น การสนับสนุนบุคคลากร สถานที่ การจัดหน่วยออกเสียง และตรวจสอบทะเบียนราษฎรในส่วนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติทั่วประเทศ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงและแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันออกเสียงไม่น้อยกว่า 15 วัน และการรับลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องยื่นคำขอลงทะเบียนก่อนวันออกเสียงอย่างน้อย 30 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 7 ก.ค. 59 ในวันและเวลาราชการ โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือ นายทะเบียนท้องถิ่นผ่านทางไปรษณีย์ สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. ซึ่งจะปิดก่อนการยื่นด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิลงคะแนนโดยสามารถยื่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นระบบจะปิดการรับสมัครในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 30 มิ.ย. 2559
 
และ 3. ด้านการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในการออกเสียงประชามติ และการช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และพนักงานฝ่ายปกครอง ถือเป็นผู้มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยตามกฎหมาย โดยในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยจะร่วมกับหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ดูแลไม่ให้มีผู้ใดกระทำการผิดกฎหมายการออกเสียงประชามติ อาทิ การกระทำที่มีลักษณะก่อความวุ่นวาย เป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง การขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิ หรืออย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกเสียงให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท