Skip to main content
sharethis

โพสต์รายงานสังคมตอบรับข้อเสนอประหาร 6 วัยรุ่น รุมฆ่าชายพิการจำนวนมาก เผยเตรียมร้องรัฐบาลนำกฏหมายประหารชีวิตกลับมาใช้ ยันดันไทยเกิดความสงบสุขเช่นอารยประเทศอื่น - เปิด ความเชื่อ-ความจริง โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้จริงหรือ?

 

ที่มา เพจ Vikrom Kromadit วิกรม กรมดิษฐ์

8 พ.ค.2559 จากกรณีข่าวและวิดีโอคลิปที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเหตุคนร้ายวัยรุ่น 6 คน ทำร้ายชายพิการจนเสียชีวิต โดย วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ 'ผมจะเป็นคนดี' ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Vikrom Kromadit วิกรม กรมดิษฐ์'  เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เสนอให้ประหารชีวิตกลุ่มคนดังกล่าวทั้งหมดอย่างไม่มีข้อยกเว้นอย่าง และไม่ต้องคำนึงถึงความสงสารใดๆ ในการเป็นชาวพุทธ โดยวิกรม กล่าวว่า "เด็กเหล่านี้กำลังเป็นมะเร็งต่อสังคมที่จะขยายตัวไปเรื่อยๆ และเป็นตัวอย่างให้เด็กอื่นๆให้ทำความชั่วเพิ่มได้อีก" 

"ผมเชื่อว่าถ้าจะประหารชีวิตคนเลวๆสักหมื่นคน ประเทศไทยไม่สูญพันธ์ุอย่างแน่นอน" วิกรม กล่าว

ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ค.59) วิกรม ได้โพสต์รายงานผลตอบรับจากการเสนอดังกล่าว ด้วยว่า หลังจากมีผู้คนเข้ามาดูในเฟซบุ๊กตน 18 ล้านคน กด like กว่า 6 แสนคนและ comments เกือบ 6 หมื่นคน

"ผมเตรียมที่จะส่งให้รัฐบาลในเร็วๆ นี้ เพื่อเรียกร้องให้นำกฏหมายประหารชีวิตกลับมาใช้กับคนร้ายที่ฆ่าคนบริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมโดยเฉพาะคนร้ายฆ่าคนซ้ำซากหลายต่อหลายครั้ง คนชั่วเหล่านี้สร้างปัญหาภาระให้สังคมไทยอย่างไม่รู้จบ และขยายตัวไปสู่เด็กๆ จนกลายเป็นค่านิยมโหดเหี้ยมอำมหิตเช่นปัจจุบัน หากไม่ใช้การประหารชีวิตที่เด็ดขาดอย่างแท้จริงเหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่นและอเมริกา สังคมไทยยากที่จะสงบสุข ยากที่จะมีความปลอดภัยต่อผู้คนทั่วไปได้ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะไม่ตกตำ่มากกว่าไปนี้ ก่อนที่ประเทศ และสังคมนี้จะถูกครอบงำโดยอันธพาล" วิกรม กล่าว

วิกรม ระบุด้วยว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่ส่ง comment หรือข้อความ 6 หมื่นข้อความ และไม่ใช้คำหยาบหรือรุนแรง ตนจะพยายามผลักดันให้สังคมไทยเกิดความสงบสุขเช่นอารยประเทศอื่น ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ ต้องร่วมใจอย่าได้มีความขัดแย้งใดๆ เลย หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาในวันนี้เสร็จ อนาคตสังคม และลูกหลานเราจะไม่มีความสงบสุขอย่างแน่นอน

เปิด ความเชื่อ-ความจริง โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้จริงหรือ?

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เขียนบทความถึงความเชื่อกับความจริงกรณีโทษประหารชีวิต เมื่อหลายปีก่อน เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.amnesty.or.th โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง และทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น
 
ความจริง
 
หลายรัฐบาลเชื่อว่า การสั่งประหารชีวิตนักโทษหลายร้อยคนหรือมากกว่านั้นจะสามารถแก้ปัญหาสังคมหรือปัญหาการเมืองที่เร่งด่วน และประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศยังไม่ตระหนักว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ปกป้องสังคมจากวงจรการกระทำที่รุนแรง มีหลักฐานจากทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน หลายคนอาจแย้งว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจทำให้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ข้อมูลที่ได้ไม่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ ในปี 2547 ในสหรัฐฯ อัตราการฆาตกรรมเฉลี่ยในรัฐซึ่งมีโทษประหารชีวิตอยู่ที่ระดับ 5.71 ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตรา 4.02 ต่อประชากร 100,000 คนในรัฐซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิต เมื่อปี 2546 ในประเทศแคนาดา 27 ปีหลังจากยกเลิกโทษประหารชีวิต อัตราการฆาตกรรมลดลง 44% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2518 สมัยที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลัง และการส่งเสริมวงจรความรุนแรง
 
มีความเชื่อผิด ๆ ว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอย่างเช่นการฆาตกรรมได้ทราบถึงผลที่ตามมาหลังจากการกระทำ อันที่จริงแล้ว บ่อยครั้งที่ฆาตกรกระทำการเช่นนั้นในสภาวะที่อารมณ์พลุ่งพล่านและมีอิทธิพลเหนือเหตุผล หรือเป็นเพราะฤทธิ์ของยาเสพติดหรือสุรา ผู้ก่ออาชญากรรมรุนแรงบางคนมักมีสภาพจิตไม่ปรกติหรือไม่มั่นคง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา มีอย่างน้อยหนึ่งใน 10 คนที่เคยเจ็บป่วยจากอาการทางจิตรุนแรง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าใจเหตุผลถึงโทษประหารหรือผลกระทบที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อกันว่าในคดีเหล่านี้ การใช้โทษประหารชีวิตจะไม่มีผลให้เกิดความยำเกรง นอกจากนั้น ผู้ก่ออาชญากรรมรุนแรงโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อาจจะตัดสินใจก่ออาชญากรรมเช่นนั้นต่อไป แม้จะตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม ปัจจัยที่ช่วยยับยั้งอาชญากรรมเช่นนั้นได้ ควรจะเป็นความพยายามในการเพิ่มมาตรการการตรวจสอบ การจับกุม และการลงโทษ
 
เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตจะมีผลช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรม และยังเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์และเป็นอันตราย เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่สนับสนุนการใช้นโยบายโทษประหารชีวิตเป็นนโยบายสาธารณะ โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรง แต่ไม่สามารถยับยั้งอาชญากรรมได้
 
ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมด้านยาเสพติด
 
ความจริง
 
ในเดือนมีนาคม 2551 ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime - UNODC) เรียกร้องให้ยุติการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดด้านยาเสพติด “แม้ว่ายาเสพติดจะให้ผลร้ายแรง แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเราจำเป็นต้องสังหารบุคคลเนื่องจากเรื่องยาเสพติด” การใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดด้านยาเสพติดเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ ข้อ 6(2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ระบุว่า “ในประเทศที่ยังมิได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตอาจกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายที่ใช้” ในเดือนเมษายน 2550 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสังหารโดยพลการหรือนอกกระบวนการกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นพยานผู้ชำนาญการในการไต่สวนความชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งอินโดนีเซีย ได้กล่าวกับศาลรัฐธรรมนูญว่า “ความตายไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อความผิดด้านการค้ายาเสพติด” นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซีย จีน อิหร่าน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และไทย ต่างยังเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารต่อความผิดด้านยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการใช้โทษประหารชีวิตต่ออาชญากรรมเหล่านั้น มีผลช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรมมากกว่าการจำคุกในระยะยาว
 
ความเชื่อ : ผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือสังหารผู้อื่นก็สมควรจะถูกสังหารเช่นกัน
 
ความจริง : 
 
เราไม่สามารถใช้โทษประหารชีวิตต่อกรณีการสังหารบุคคลได้ หากรัฐกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับสะท้อนภาพของความจงใจของอาชญากรที่จะใช้ความรุนแรงต่อเหยื่อ นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาทั้งปวงย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการตัดสินผิดพลาด ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และปราศจากข้อบกพร่อง เมื่อเป็นการตัดสินว่าใครควรมีชีวิตอยู่และใครไม่ควรมีชีวิตอยู่ การตัดสินตามอัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางอาญา ตั้งแต่ช่วงเริ่มการจับกุมไปจนถึงการพิจารณาการขออภัยโทษในช่วงนาทีสุดท้าย
 
สิทธิมนุษยชนเป็นเอกสิทธิติดตัว และบุคคลพึงได้รับสิทธินี้เสมอเหมือนกันทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือชาติกำเนิด เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากจากบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะก่ออาชญากรรมเช่นใด สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนพึงมี ตั้งแต่บุคคลเลวร้ายสุดไปถึงดีสุด และช่วยคุ้มครองเราทุกคน
 
ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการใช้โทษประหารชีวิต เราอาจพบว่ามีบางคนที่ถูกสังหาร แต่คนที่ก่ออาชญากรรมคล้ายคลึงกันหรือร้ายแรงกว่ากลับไม่ได้รับโทษเช่นนี้ นักโทษที่ถูกประหารไม่ได้มีแค่เพียงผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงสุด แต่ยังรวมถึงคนยากจนซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีฝีมือเพื่อแก้ต่างให้กับตนเองได้
 
ความเชื่อ ข้อเรียกร้องให้ยุติโทษประหารชั่วคราวทั่วโลก อันที่จริงแล้วเป็นความพยายามที่ชาติตะวันตกจะ “บังคับให้เราเชื่อตามคุณค่าทางวัฒนธรรมของพวกเขา”
 
ความจริง
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีที่ในหลายวัฒนธรรมและศาสนาต่างมีคำสอนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่หลายระดับ และเชื่อว่าคำสอนเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นต่อสิทธิมนุษยชน ในเวลาเดียวกัน พวกเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้และเชื่อมโยงกัน แม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นและพัฒนาในบริบทของชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าของชาติตะวันตกเท่านั้น หากยังพัฒนาขึ้นจากหลายจารีตที่แตกต่างกัน และรัฐภาคีทุกรัฐขององค์การสหประชาชาติต่างยอมรับใช้เป็นบรรทัดฐาน และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต มีศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจพูดได้ว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นวาระที่ผลักดันโดยประชาชนจากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งของโลก
 
ความเชื่อ : การขู่จะใช้โทษประหารชีวิตเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยป้องกันลัทธิก่อการร้าย
 
ความจริง
 
ผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติการรุนแรงขนานใหญ่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อสังคม กระทำเช่นนั้นแม้จะตระหนักดีว่าตนเองอาจได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งแสดงว่าพวกเขาแทบไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของตนเองเลย การสั่งประหารบุคคลเช่นนั้นเท่ากับช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของกลุ่มที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ ทำให้เกิดวีรบุรุษพลีชีพและเป็นเหตุให้กลุ่มเหล่านั้นนำไปรณรงค์ส่งเสริมอุดมการณ์ของตนต่อไปได้ แต่หลายประเทศเลือกใช้โทษประหารชีวิตเพื่อควบคุมลัทธิก่อการร้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2548 อิรักผ่านกฎหมายต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ซึ่งให้นิยามเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้ายอย่างกว้าง ๆ และได้ระบุถึงการกระทำที่ถือเป็นการก่อการร้าย แม้การกระทำที่ไม่ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิต และกำหนดบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต กฎหมายนี้และกฎหมายอื่น ๆส่งผลให้มีการสั่งประหารชีวิตคนจำนวนมากในอิรัก
 
ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบที่คนส่วนใหญ่สนับสนุน
 
ความจริง
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยอมรับสิทธิของประเทศต่าง ๆ ที่จะกำหนดกฎหมายของตนเอง อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านั้นจะต้องพัฒนาขึ้นภายใต้ขอบเขตการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ แต่เมื่อมองย้อนไปในอดีต พวกเราต่างรู้สึกหดหู่ใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนั้น การบังคับเป็นทาส การแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ และการกลุ้มรุมทำร้ายแบบศาลเตี้ยเคยได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางในสังคมต่าง ๆ แต่ถือเป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย
 
เป็นธรรมดาที่ประชาชนอาจคาดหวังให้ผู้นำกระทำการอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อต่อต้านความรุนแรง และแสดงความโกรธเกลียดชังต่อผู้ที่มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่านักการเมืองควรเป็นผู้นำที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ด้วยการต่อต้านโทษประหารชีวิต และชี้แจงให้ฐานเสียงของพวกเขาตระหนักว่า เหตุใดรัฐจึงไม่ควรใช้โทษประหารชีวิต
 
จากการวิจัยกว่า 30 ปีเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าการที่คนจำนวนมากสนับสนุนโทษประหารชีวิตเป็นเพราะความปรารถนาให้สังคมปลอดจากอาชญากรรม ดังจะเห็นได้จากการสำรวจความเห็นของประชาชนในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเสนอโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่สามารถขอลดหย่อนโทษได้แทนการประหารชีวิต ทำให้ความนิยมต่อโทษประหารชีวิตลดลงอย่างมาก ในสหรัฐฯ จากการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยบริษัทกัลลัป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 พบว่า เสียงสนับสนุนต่อโทษประหารชีวิตลดลงจาก 65 เป็น 48% เมื่อเสนอให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่สามารถขอลดหย่อนโทษได้แทน
 
ความเชื่อ : การประหารชีวิตเป็นวิธีแก้ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงซึ่งคุ้มค่ามากที่สุด
 
ความจริง
 
เราไม่ควรนำมาตรการที่ช่วยประหยัดต้นทุนมาใช้ หากนำไปสู่การให้อภัยต่อความรุนแรงและการยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ปัจจัยด้านการเงินไม่ควรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะสังหารชีวิตบุคคลหรือไม่ การใช้โทษประหารชีวิตเพื่อลดจำนวนนักโทษเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีจำนวนนักโทษประมาณ 2.2 ล้านคน แต่มีนักโทษประหารเพียงประมาณ 3,000 คน ถ้ามีการสังหารนักโทษเหล่านี้จนหมด ก็แทบไม่ได้ทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลย
 
ความเชื่อ : การฉีดยาเพื่อประหารชีวิตเป็นวิธีสังหารบุคคลที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมีมนุษยธรรมมากที่สุด
 
วามจริง
 
การฉีดยาเพื่อประหารทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาหลายครั้ง ครั้งแรกที่มีการฉีดยาเพื่อประหารที่กัวเตมาลาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนายมานูเอล มาติเนซ โคโรนาโด (Manuel Martínez Coronado) รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก (มีรายงานว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสียงร้องห่มร้องไห้ของภรรยาและลูกของนักโทษ) และทำให้พวกเขาใช้เวลานานมากกว่าจะติดตั้งท่อสายยางเพื่อฉีดยาพิษ แต่แล้วก็เกิดปัญหาไฟดับระหว่างการประหารชีวิตซึ่งทำให้ยาพิษที่กำลังปล่อยอยู่หยุดลง และกว่านักโทษจะเสียชีวิตก็ใช้เวลาถึง 18 นาที และยังมีการถ่ายทอดการประหารครั้งนี้ทางโทรทัศน์ด้วย ในสหรัฐฯ มีการสั่งยุติการฉีดยาเพื่อประหารหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น การที่ผนังเส้นเลือดของนักโทษบางมาก เนื่องจากการใช้ยาด้วยการฉีด
 
กรณีล่าสุดเกี่ยวข้องกับนายโรเมลล์ บรูม (Romell Broom) อายุ 53 ปีซึ่งเป็นคนผิวดำ และรัฐโอไฮโอล้มเหลวที่จะประหารชีวิตเขาด้วยการฉีดยา เมื่อวันที่ 18 กันยายน ทนายความของโรเมลล์ บรูมได้ยื่นเรื่องต่อศาลแขวงเพื่อขอให้รัฐโอไฮโอยุติความพยายามประหารชีวิตเขาอีกครั้ง หรืออย่างน้อยควร “ยุติความพยายามที่จะใช้ขั้นตอนปฏิบัติและวิธีการที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่พวกเขาใช้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552” ทนายความระบุว่า การที่รัฐประสบความล้มเหลว กล่าวคือการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาเส้นเลือดที่จะสามารถฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษได้แม้จะพยายามตั้งหลายครั้ง “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมานเพราะทำให้นายโรเมลล์ บรูมต้องเผชิญกับความตายที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง” โรเมลล์ บรูมได้ลงนามในคำร้องขอให้รัฐทบทวนคำสั่งประหารชีวิตต่อเขา (โปรดดู “Stay Extended Following Failed Execution”
 
ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรมและทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น
 
ความจริง
 
ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ 
 
อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ และจากการศึกษาในระยะเวลา 35ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันแต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม
 
ความเชื่อ : การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย
 
ความจริง
 
การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้ เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้งว่าผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนาหรืออุดมการณ์ และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้นและมันก็จะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น
 
ความเชื่อ : โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่
 
ความจริง
 
ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้นซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
 
ความเชื่อ : คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม
 
ความจริง
 
มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมานและการปฏิเสธให้นักโทษได้ใช้ทนายความ ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้นเป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้กับนักโทษ 144 คนในปี 2516 แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
 
ความเชื่อ : ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม
 
ความจริง
 
การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอาชญากรรมเอง แต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต อย่างเช่นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net