Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงนี้มีการพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะเรื่องการเปลี่ยนข้างทางการเมือง อย่างเช่นกรณีโพสต์ของคุณตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ทเมนท์คุณป้า ที่ออกมาต่อต้านการอุ้มหายของทหารต้วยวลีที่ว่า “แต่ก่อนเด็กๆเคยจินตนาการว่าทำไงถึงหายตัวได้ ตอนนี้รู้แล้ว วิธีง่ายๆ แค่คิดต่างจากรัฐ” ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้านการอุ้มหายของ คสช.ที่ผ่านมา เรื่องน่าสนใจคือความคิดเห็นครั้งนี้ดูขัดแย้งกับจุดยืนทางการเมืองของเขาก่อนการรัฐประหาร ที่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจเสีย การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับจุดยืนเดิมของเขาก็ทำให้เกิดการถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสังคมออนไลน์ เช่นการย้อนถึงประเด็นของจุดเดิมของคุณตุล อย่างเช่นความเห็นเฟซบุ๊กหนึ่งเห็นว่า "คือเวลาพูดแบบนี้มันก็ดูหล่อๆ ดีนะครับ แต่ก็ไม่อาจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการเรียกร้องให้คนพวกนี้เข้ามามีอำนาจ" และมีการตั้งคำถามว่าควรมองการตั้งสเตตัสครั้งนี้จองคุณตุลว่าเป็นการเปลี่ยนฝั่งทางการเมืองจริงหรือไม่  ดังที่ผู้วิจารณ์คนหนึ่งเห็นว่า "การที่เค้าออกมาตั้ง 1 สเตตัส ย้ำว่า 1 สเตตัสนะครับ นี่มันทำให้เค้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่สามารถเทียบได้กับนักวิชาการหรือคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้ตอนนี้ได้เลยหรอครับ" 

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกรณีนี้คือมันแสดงให้เราเห็นถึงทัศนคติทางการเมืองของการแบ่งขั้วในประเทศไทย

การโพสต์ข้อความสั้นๆนี้อาจดูไม่ได้สลักสำคัญเท่าไรนัก แต่มันชี้ให้เราเห็นภาพที่ใหญ่กว่าของการเมืองไทย เกี่ยวกับมุมมองเรื่องการเปลี่ยนข้างและเปลี่ยนความคิด ซึ่งมากกว่าการเปลี่ยนข้างของดารา หรือนักการเมือง แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนข้างของเพื่อนๆครอบครัวและคนใกล้ตัวของเรามากกว่า เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้คนใกล้ตัวซึ่งเคยร่วมสนับสนุนการรัฐประหารหันมาตั้งคำถามกับมัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือเข้าสู่การสนทนาในประเด็นการเมือง โดยไม่เบือนหน้าหนีไปเสียก่อน

บทความนี้พยายามเสนอว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยเรียกร้องการแสดงออกที่เกินจริงนั้นเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย"ใจแคบ"ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งกำลังหยุดพลวัตรการเปลี่ยนกลุ่มอันเป็นธรรมชาติของการเมือง เราควรหันมาทำความเข้าใจมุมมองทางจิตวิทยามากขึ้นเพื่อจะสร้างกลยุทธ์ในการเปลี่ยนประเทศไทยสู้ความเป็นประชาธิปไตย และเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องของ "การเรียนรู้"

บทความนี้พยายามจะตอบคำถามหลายประการเกี่ยวกับเรื่องการรวมกลุ่ม เช่นการรวมกลุ่มสำคัญแค่ไหนกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง? อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเลือกจะย้ายข้างทางการเมือง? อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนข้างเกิดขึ้นได้ยาก? เราควรยอมรับการเปลี่ยนข้างของคนบางกลุ่มบนเงื่อนไขใด? และกลยุทธ์ในการสร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองควรเป็นอย่างไร

คำตอบโต้ต่อการย้ายกลุ่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับการเมือง นั่นคืออะไรกันแน่ที่สำคัญกว่ากันระหว่างความถูกต้องและแรงสนุบสนุนทางการเมือง กลุ่มที่อ้างตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านการเปลี่ยนข้างของคุณตุล โดยมองว่าไม่มีความจริงใจ และหรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้มีกระทำที่มากกว่านี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการรัฐประหาร อย่างที่ความเห็นหนึ่งกล่าวว่า “อยากให้คนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจและทำอะไรห่วยๆแบบนี้ออกมายอมรับ หรือสำนึกบ้างจัง" มุมมองเช่นนี้แสดงถึงเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียกร้องพฤติกรรมทางศีลธรรม หรือการแสดงออกชัดแจ้งจากผู้ต้องการย้ายฝ่าย มันคือการเรียกร้อง "ความถูกต้อง" แต่ผลลัพธ์อาจทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยมีข้อจำกัดอย่างน่าเสีย เพราะพวกมองข้าม "ผลทางการเมือง" ที่เกิดจากการรวมกลุ่มมากกว่า

การย้ายกลุ่มเป็นธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นักทฤษฎีทางการเมืองแนวพหุนิยมให้ความสำคัญกลับการจับกลุ่มทางการเมือง เนื่องจากมันเป็นการที่ผู้คนแต่ละคนซึ่งมีความเชื่อ และความต้องการทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันได้เข้ามาจับกลุ่มกับเพื่อเรียกร้องรัฐบาลสู่ความเปลี่ยนแปลง ในลักษณะเดียวกัน ความคิดฝ่ายซ้ายที่ให้ความสำคัญกับการรวมตัวและเคลื่อนไหวของมวลชน ก็ใช้ความเชื่อว่าประชาชนที่มีจุดยืนและความต้องการที่คล้ายคลึงกันจะสามารถเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ทั้งสองแนวคิดทางการเมืองนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าความเข้าใจที่มากขึ้นผ่านการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จะทำให้ประชาชนสามารถเลือกได้เองว่าการเคลื่อนไหวฝ่ายใดเหมาะสมที่เขาจะร่วมเคลื่อนไหวด้วย ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงสังคมกลุ่มหนึ่งต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มการเมืองสามารถชักนำให้ผู้คนนอกกลุ่มเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาเคลื่อนไหวอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อคนนอกกลุ่มด้วย การยอมรับความเป็นไปได้ว่าอีกฝ่ายจะเปลี่ยนความคิดเป็นฐานคิดหลักของการเมือง หลักการง่ายๆก็คือหากกลุ่มประชาธิปไตยสามารถทำให้คนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมเริ่มเห็นว่าประชาธิปไตยตอบสนองความต้องการของพวกเขามากกว่าระบอบเผด็จการ ก็จะทำให้กลุ่มประชาธิปไตยได้รับฐานสนับสนุนมากขึ้น และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในที่สุด

แต่ในไทยนั้น การอธิบายการเปลี่ยนกลุ่มเช่นนี้ดูจะไม่เป็นความจริง เหตุก็เพราะในการเมืองไทยมีปัจจัยที่ทำให้คนไม่เปลี่ยนข้างทางการเมือง และจำเป็นต้องถูกอธิบายด้วยความเข้าใจด้านจิตวิทยามากกว่าการรวมกลุ่มทางการเมือง

สังคมไทยในปัจจุบันพบปัญหาแบ่งขั้ว (polarized) ซึ่งมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆในระยะสิบปีที่ผ่านมา ลักษณะต่างๆเช่น การใช้เหตุผลด้านความยุติธรรมเข้ามาเรียกร้องให้อีกฝ่ายบรรลุเงื่อนไขบางอย่าง การปฏิเสธการประนีประนอมเมื่อฝ่ายตนมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และการสร้างวัฒนธรรมกลุ่มที่หยุดไม่ให้เกิดการเจรจาได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการแบ่งขั้วที่ทำให้การย้ายกลุ่มหยุดชะงัก และเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะหยุดลง

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการแบ่งขั่วคือการสร้างวัฒนธรรมต่างๆภายในกลุ่มเพื่อกั้นไม่ให้ผู้คนนอกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบีบขับให้ความเป็นกลุ่มและความถูกต้องของกลุ่มตัวเองเด่นชัดขึ้นไปอีก การเรียกร้องการแสดงออกที่เกินจริงต่อกลุ่มสลิ่มกลับใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมนี้ ผมเรียกวัฒนธรรมเช่นนี้ว่า"อุดมคติตาสว่าง” นั่นคือเมื่อคนได้รับรู้ความเป็นจริงที่ไม่ตรงกับที่เขาคิดไว้ในตอนแรก ทำให้เกิดเปลี่ยนความคิดอย่างทันทีทันควัน มองโลกกลับหัวกลับหาง จากที่เคยคิดว่าดีกลายเป็นแย่ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่รู้ว่ากลุ่มคนที่ควรเป็นกลางกลับกลายเป็นสนับสนุนบางฝ่าย หรือแม้แต่การรัฐประหารที่เราเคยสนับสนุนนั้น จริงๆกลับเป็นสาเหตุของปัญหาเป็นต้น ที่ทำให้พวกเขาเลือกเดินทางใหม่ที่ต่อต้านสิ่งเดิมที่เขาเชื่อ เขา "ตาสว่าง” หลังจากถูกหลอกมานาน

ปัญหาของการเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายให้รับผิดชอบ แสดงความสำนึกมองการเปลี่ยนฝั่งในแบบอุดมคติของการตาสว่าง คือเป็นการตั้งเกณฑ์ในการรับคนเข้ากลุ่มให้สูงเกินไป อีกวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างกลุ่มให้กลายเป็นกลุ่มปิดเห็นได้ทั่วไปจากการสร้างวาทกรรมเช่น "สลิ่มแห่งกะลาแลนด์" หรือ "เรามาจากอนาคต" ที่ใช้เพื่อลดทอนสติปัญญาของอีกฝ่าย แต่วาทกรรม "ควายแดง“ ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใช้เพื่อเรียกกลุ่มที่เห็นต่างเช่นกัน ก็ล้วนมุ่งให้เกิดการรวมกลุ่มผ่านการลดทอนความหนักแน่นของเหตุผลโดยกลุ่มตรงข้าม ในทางตรรกะแล้วนั้น การกระทำนี้เรียกว่า ad hominem นั่นคือการโจมตีที่ตัวบุคคลเพื่อให้เหตุผลของเขาฟังไม่ขึ้น แทนที่จะเอาเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาเปรียบเทียบกัน

สิ่งที่น่าเสียดายคือการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนกลุ่มของประชาชนเพื่อเข้าไปอยู่กับกลุ่มที่อาจให้ประโยชน์กับเขามากกว่า ผลลัพธ์เช่นนี้ของวัฒธรรมของฝ่ายประชาธิปไตยใจแคบทำให้เกิดพวกค้างเติ่งขึ้นมา นั่นคือกลุ่มคนที่เคยร่วมกับขบวน กปปส. และอาจถึงขั้นเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อใดๆก็แล้วแต่ในขณะนั้น แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงกลับไม่ชอบการกระทำหลายประเด็นของ คสช. ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญต่างๆ และเปลี่ยนทัศนคติต่อรัฐประหารไปเป็นด้านลบ ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจว่าจะไม่เชื่อ แต่ก็ยังคงไม่นิยามตัวเองว่าเขาอยู่ในอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ดี ตัวอย่างนี้เราเห็นได้เยอะแยะ เช่นการที่คุณทักษิณโพสต์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมานั้น ก็มีคนจำนวนมากที่แชร์ผ่านโซเชียลแต่ระบุว่า "ไม่ได้ชอบทักษิณ แต่ข้อความนี้พูดได้ถูกต้องมาก” เป็นต้น คนกลุ่มนี้พยายามจะเลิกนิยามตัวเองจากกลุ่มเดิม น่าเสียดายที่ในสายตาของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยกลับสร้างเรื่องตลกเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้แทนการมองว่าพวกเขาคือขุมทรัพย์ทางการเมืองที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มที่บอบช้ำจากการกระทำของ คสช.ที่บริหารประเทศได้ไม่ตรงกับที่พวกเขาคาดหวัง จนกระทั่งหันมาบอกกว่า การเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเลย

มาถึงจุดนี้คำถามที่อยู่ในใจกลุ่มประชาธิปไตยหลายคนก็คือ แล้วถ้าคนที่เชื่ออนุรักษ์นิยมแค่ไม่เห็นด้วยบางประเด็น หรือแม้แต่อยากพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี แต่ในใจเขายังเชื่อในระบบเผด็จการ และยังเชื่อว่าคนต่างจังหวัดมีความรู้ด้อยกว่าคนกรุงเทพฯอยู่ล่ะ ? การแค่ออกมาต่อต้านการอุ้มหายของประชาชนก็ไม่ได้แปลว่าเขาเปลี่ยนไปจริง

หากมองจากเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว คำถามนี้ดูจะให้ความสำคัญกับความจริงใจมากจนเกินไปและมองข้ามความคิดด้านจิตวิทยาพื้นฐานที่สำคัญ การกล่าวเช่นนี้อาจมีคนไม่เห็นด้วยอยู่มาก แต่ความจริงก็คือคนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดด้วยเหตุผลและความจริงใจ เราเปลี่ยนความคิดของเราตามกลุ่มทางสังคมที่เราอยู่ต่างหาก บางครั้งข้อมูลที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนใจเลย แต่ต่อให้คุณจะพูดถูกแค่ไหน แต่ถ้าคุณตอกย้ำคนที่เปลี่ยนความคิดว่าพวกเขาเคยผิดแค่ไหนมาก่อน ไม่จะอย่างไรเขาก็จะไม่ต้องการร่วมกลุ่มกับคุณ

ทั้งหมดนี้แลกกับการที่คนที่อ้างว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมายาวนานได้รับก็คือ ความสะใจว่าฉันถูก แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการขยายกลุ่มทางการเมือง และเป้าหมายทางการเมืองในระยะยาวเลย การเปลี่ยนข้างจึงต้องสัญญาที่จะให้ที่ยืนกับคนที่จะเปลี่ยนฝั่งนั้นด้วย

นอกจากนี้แล้ว ในความเป็นจริง การรับรู้ข่าวมากขึ้น อย่างที่บางคนเอาสิ่งไม่ดีของ คสช.ไปให้กลุ่มที่สนับสนุน คชส. ดูนั้น ก็อาจไม่ได้ช่วยให้คนเราเปลี่ยนความคิดทางการเมืองใดๆเลย นักจิตวิทยาหลายคนอย่างเช่น Jonathan Haidt เห็นว่าความเชื่อทางการเมืองและศีลธรรมนั้นไม่ได้เกิดมาจากการใช้เหตุผล แต่เป็นเรื่องของสัญชาติญาณ ซึ่งเราใช้ตัดสินก่อนจะหาเหตุผลด้วยซ้ำไป แทนที่จะรวบรวมเหตุผลและข้อมูลเพื่อตัดสินใจ เราตัดสินใจก่อแล้วจึงหาเหตุผลมารองรับ ในขณะเดียวกันก็ตัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของเราออกไป

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วในมุมมองของจิตวิทยาเหตุผลมีไว้ทำอะไร ? เหตุผลเป็นเรื่องทางสังคมมากกว่า เหตุผลเอาไว้เชื่อมเราเข้ากับคนอื่นๆที่อยู่ในกลุ่ม เราเรียนรู้การใช้เหตุผลชุดหนึ่งเพื่อสร้างการยอมรับและเป็นเครื่องมือเพื่อบอกคนอื่นนอกกลุ่มว่าฉันอยู่กลุ่มนี้ เหตุผลไม่ต่างอะไรกับสัญลักษณ์แปะอกเวลาหรือผ้าสีที่พันรอบศีรษะเพื่อบอกว่าคุณสนับสนุนอะไร และเหตุผลเหล่านี้ก็คือวัฒนธรรมที่ถูกสร้างเป็นกฎเกณฑ์ซึ่งกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่มทางการเมืองอย่างที่เพิ่งได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

"เหตุผล"ที่เรายึดถือก็เป็นเพียงเครื่องมือขอเข้ากลุ่ม และเป็นเกณฑ์วัดที่กลุ่มให้เพื่อเลือกจะรับคนเข้ามาเป็นกลุ่มหรือเปล่า เช่นถ้าคุณจะอยูในกลุ่มคนเสื้อแดง คุณต้องมีความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวมวลชน

ประเด็นตรงนี้เองที่ทำให้มุมมองเรื่องการรวมกลุ่มบนผลประโยชน์ทางการเมืองผ่านการใช้เหตุผลที่เสนอโดยนักทฤษฎีพหุนิยมและการเคลื่อนไหวของมวลชนไม่สามารถใช้อธิบายการหยุดชะงักของการเปลี่ยนกลุ่มในไทยได้  ความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาตรงนี้ชวนมองที่เรื่องของการเมืองในแง่จริงทางปฏิบัติ (practical) มากขึ้นมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มที่มีความคิดแบบเดียวกัน การจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเมืองได้นั้นจำเป็นต้องเริ่มจากการเพิ่มฐานมวลชนที่อยู่ฝั่งเราด้วย เราต้องเน้นความเป็นเพื่อรับคนที่เคยเห็นต่างเข้ามาอยู่ในฝ่ายเรา
 
ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนสังคมไทยสู่ประชาธิปไตยคิดการทำให้คนเข้าหันมาร่วมกลุ่มที่เชื่อในประชาธิปไตยมากขึ้นผ่านการใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาและความรู้สึก มากกว่าการใส่ข้อเท็จจริงที่ตายด้านและการตั้งเงื่อนไขที่ใจแคบ และนั่นเริ่มจากการตั้งเกณฑ์ในการเข้ากลุ่มให้ต่ำลง แต่เพิ่มกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองเมื่อคนกลุ่มนั้นเข้ามาอยู่ในความคิดนี้แล้วให้สูงขึ้น

ปัญหาของกลุมประชาธิปไตยตอนนี้คือการตั้งเกณฑ์ในการเปิดโอกาสให้คนต่างกลุ่มเข้ามาอยู่ในกลุ่มใหม่นั้นสูงเกิน แต่กลับไม่ได้ส่งสัญญาณหนักแน่นเพียงพอต่อคนที่อยู่ในกลุ่มอยู่แล้ว บางคนนิยามตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยเสมอมาเนื่องจากพวกเขาปฏิเสธการรัฐประหารตั้งแต่ก่อนจะเกิดขึ้นจริง แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ออกมาทำอะไรในกรณีที่มีคนหายนอกจากกดแชร์ในเฟสบุ๊ค ดังนั้นการเรียกร้องเอาความถูกต้อง และ"ความรับผิดชอบ" จากกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงไม่ได้ช่วยให้เกิดการย้ายข้างใดๆเลย และการหวังว่าสลิ่มจะต้อง "ตาสว่าง” จึงเป็นอุดมคติที่ขัดกับความเป็นจริงทางจิตวิทยา และทำลายพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง

ฝ่ายประชาธิปไตยควรหันมาสนใจการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ "ปฏิบัติ"  กิจกรรมทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ต่างหาก นั่นคือแทนที่จะเรียกร้องให้ผู้ที่เริ่มจะเข้ากลุ่มต้องแสดงเครื่องพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อกลุ่มที่มากมาย ฝ่ายประชาธิปไตยต้องสร้างกลยุทธ์ที่ดีขึ้นในการทำให้คนที่นิยามตนเองกับฝ่ายของตนแล้วนั้นออกมาแสดงพลังให้มากขึ้น และชัดเจนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของคนที่ย้ายข้าง

นอกจากนี้เราควรให้คำชื่นชมกับคนที่มีความจริงใจในทางการรู้ (intellectual honesty) ของผู้กล้าประกาศถึงการเปลี่ยนข้างอย่างเปิดเผยที่ยอมเปลี่ยนความคิดในทางที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง เพราะมันต้องใช้ความกล้าหาญไม่น้อยในการยอมรับฟังความเห็นที่ต่างของอีกฝ่ายและปฎิเสธความเชื่อเดิมที่เคยมีมา แม้แต่ในกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยังทนไม่ได้ที่จะต้องนั่งดูโทรทัศน์ทุกคืนวันศุกร์และมิวายต้องเปลี่ยนช่องด้วยซ้ำไป กลไกด้านอารมณ์เพื่อปฏิเสธข้อมูลที่ตนไม่เห็นด้วยนั้นมีอยู่ในทุกกลุ่ม เราได้แต่มองภาพรวมของยุทธศาสตร์เท่านั้น

หากกลุ่มประชาธิปไตยต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดขึ้นจริง กลุ่มจะต้องเริ่มจากการเข้าใจหลักการทางจิตวิทยาของการเปลี่ยนกลุ่มทางการเมืองมากขึ้น และเริ่มลดเงื่อนไขในการเห็นด้วยลงให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มคนที่เปลี่ยนใจ แล้วนำแรงไปใส่กับการสร้างวัฒนธรรมกลุ่มที่เปิดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และเพิ่มความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวกับคนในกลุ่มตนเองเสียก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าอะไรคือความคาดหวังของการเข้ามาอยู่



ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Tul Waitoonkiat

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net